เสียงสะท้อนต่อวีซ่า ‘ป้อม-ป๊อก’ สืบทอด-คุมงานมั่นคง

หมายเหตุ – ความเห็นของนักวิชาการกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดใจกับสื่อมวลชนเสนอเงื่อนไขจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขอกระทรวงด้านความมั่นคง คือกลาโหม มหาดไทย มาดูแล เพื่อให้งานเดินหน้าต่อไป โดยวางตัว พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา คุมกระทรวงต่อ


 

ยุทธพร อิสรชัย
รองศาสตราจารย์ประจำสาขาวิชาคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

โดยทั่วไปของการจัดตั้งรัฐบาล สามารถแบ่งกระทรวงออกเป็น 3 กลุ่มคือ ด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม และจะพบได้ว่ากระทรวงด้านความมั่นคงจะอยู่กับพรรคที่เป็นแกนหลักจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในกรณีนี้หากเป็นพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ไม่ว่าจะกระทรวงมหาดไทยหรือกระทรวงกลาโหม รวมทั้งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงอาจอยู่กับพรรค พปชร.ซึ่งเป็นเรื่องปกติแต่ประเด็นคือ สิ่งเหล่านี้ควรออกมาจากมติของพรรคที่เป็นแกนหลักจัดตั้งรัฐบาล ไม่ใช่ออกมาจากการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนเดียว จะเห็นได้ว่าพรรคพลังประชารัฐแทบไม่พูดถึงเลยว่าตัวเองอยากคุมกระทรวงไหน หรือมีทิศทางกำหนดยุทธศาสตร์รัฐบาลอย่างไรหากได้เป็นพรรคแกนหลักจัดตั้งรัฐบาล กลายเป็นว่าพล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้แสดงความคิดเห็นแทน ทั้งที่ความจริงแล้วไม่ได้มีตำแหน่งใดในพรรคเลย แม้ว่าจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พปชร.ก็ตาม

Advertisement

ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ต้องถูกกำหนดหรือมีการแสดงความเห็นที่มาจากพรรคพลังประชารัฐ ไม่ใช่ออกมาจาก พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งตำแหน่งบุคลากรเหล่านี้จะเป็นใครก็ได้ จะเป็น พล.อ.ประวิตร หรือ พล.อ.อนุพงษ์ท่านเดิมก็ได้ แต่ขอให้มาจากพรรค พปชร.เป็นผู้แสดงความเห็น เพราะสุดท้ายแล้วบรรดาข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่า คสช.มีความเกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐจะมีน้ำหนักมากขึ้น

อย่าลืมว่าสังคมคงต้องการให้ภาพลักษณ์ของความเป็นทหารลดลงไป เพราะเมื่อมีการเลือกตั้งแล้ว บทบาทของฝ่ายพลเรือนควรมีมากกว่า ประกอบกับ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ไม่ได้ลงเลือกตั้งใดๆ เท่ากับว่าอยู่ในโควต้ารัฐมนตรีคนนอกของพรรค ซึ่งไม่ได้เป็นภาพลักษณ์ที่ดีทั้งกับพรรคพลังประชารัฐหรือแง่บุคคล ดังนั้นทางที่ดีที่สุดคือ หากท่านเหล่านี้จะกลับมาควรต้องเป็นรายชื่อที่ออกมาจากพรรค พปชร.และเป็นความคิดเห็นของพรรคที่ชี้ให้เห็นว่ามีข้อดีอย่างไรที่จะต้องมี 2 ท่านเหล่านี้ ไม่ใช่เกิดจากรัฐบาลปัจจุบันซึ่ง 2 ท่านนี้ก็ยังอยู่ในตำแหน่ง และอาจจะกลายเป็นผู้กำหนดรัฐบาลชุดหน้าจนสะท้อนให้เห็นว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ได้มีความหมายอะไรเลย

การเมืองไทยในอดีตแทบจะทุกรัฐบาลมีรัฐมนตรีคนนอกเข้ามา เพียงแต่รายชื่อรัฐมนตรีคนนอกมาจากพรรคการเมืองเป็นหลัก ไม่ได้มาจากรัฐบาลชุดรักษาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ แต่โดยหลักแล้วเมื่อมีการเลือกตั้งมี ส.ส. มีพรรคการเมือง ใครจะนั่งตรงไหนอย่างไรควรรอฟังมติพรรคดีกว่า รอให้ถึงวันที่พรรคเข้ามาทาบทามท่าน ภาพจะออกมาสวยงามมากกว่า

Advertisement

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

หากยื้อและดึงดันที่จะตั้ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กลับเข้ามาจะเกิดปัญหา 2 เรื่องคือ 1.สัญลักษณ์ของความเป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ติดตามตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาด้วยไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์มาอย่างเดียว แต่องคาพยพ ขุนพลหลักของ คสช.ยังกลับเข้ามาร่วมรัฐบาลชุดใหม่ สิ่งนี้จะนำไปสู่กระแสกดดันต่างๆ จนมีการตั้งคำถามว่า เมื่อมาถึงยุครัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแล้ว ไม่ควรมีภาพลักษณ์เช่นนี้หลงเหลืออยู่หรือไม่ มิฉะนั้นค่าใช้จ่ายทางการเมืองที่จะกลับมาจะแสนแพง

อย่าลืมว่าการนำ พล.อ.ประวิตรซึ่งเป็นหมู่บ้านกระสุนตกกลับเข้ามาเป็นเป้าสังหารทางการเมืองเป็นเรื่องอธิบายยาก เพราะจะขาดความสง่างามและความชอบธรรม อีกทั้ง พล.อ.ประวิตรยังได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ครั้งนี้ตัวเองยังมาเป็นรัฐมนตรีกลาโหมอีก หรือหากไม่เป็นรัฐมนตรีกลาโหม แล้ววุฒิสมาชิกครั้งหน้าที่จะเข้ามาจะกล้าอภิปราย ทักท้วง แนะนำ วิจารณ์รัฐบาลชุดนี้โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตรหรือไม่

2.กรณี พล.อ.อนุพงษ์นั้น เก้าอี้กระทรวงมหาดไทยเป็นเก้าอี้ที่นักการเมืองและพรรคการเมืองต่างๆ หมายปอง โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐเองที่เหน็ดเหนื่อย ลงเรือ เสียสละ ต่อสู้มาซึ่งการได้รับจำนวนตัวเลขให้น่าสนใจจนสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้น เขาไม่ควรสูญเสียหรือสละเก้าอี้ตัวนี้ให้กับบรรดา คสช. ฝ่ายการเมืองอยากมีความชอบธรรม ต้องการเข้าไปดูแล ทั้งนี้ เก้าอี้ฝ่ายความมั่นคงซึ่งเป็นเก้าอี้ที่มีลักษณะพิเศษ ควรมีนักการทหารเข้าไปดูแลก็จริง แต่นายพลในกองทัพใช้ไปหมดแล้วหรือ ได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว.จนไม่มีใครสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีได้อีกแล้วหรือ

ที่สำคัญคือการจัดตั้งรัฐบาลรอบใหม่ควรนำบุคคลที่มีต้นทุนทางสังคมและเป็นบุคคลที่ได้รับการยอมรับในเบื้องต้น ไม่ว่าจะกระทรวงด้านความมั่นคง กระทรวงด้านเศรษฐกิจ หรือด้านอื่นๆ เพื่อให้ภาพออกมาน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับ ดังนั้น การที่ พล.อ.ประยุทธ์เลือก 2 ท่านนี้เข้ามาก็เพื่อเป็นหลักประกันทางความมั่นคง เพราะหากไม่มีพี่ๆ ทั้งป้อมและป๊อกมาช่วยดูแลอาจจะเกิดความโดดเดี่ยวทางการเมือง ไม่มั่นใจหรือไว้ใจว่าพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐจะปกป้อง คุ้มครองตัวเองได้มากน้อยแค่ไหนในพลังทางการเมือง

นี่เป็นโอกาสสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์ต้องยื่นเงื่อนไขแลกเปลี่ยน หากอยากให้ พล.อ.ประวิตรและ พล.อ.
อนุพงษ์ถอยออกมาจากทางการเมือง ดังนั้นรายชื่อคณะรัฐมนตรี 2 ฝั่ง ทั้งทางพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมต้องเป็นรายชื่อที่มีคุณภาพและน่าเชื่อถือ เป็นการแลกเปลี่ยนกัน ต้องไม่เอาบุคคลที่สังคมตั้งคำถามนี้ ในเมื่อฝั่งทางการเมืองหรือภาคการเมืองตั้งคำถามต่อหมู่บ้านกระสุนตกอย่าง พล.อ.ประวิตร ฉะนั้นพล.อ.ประยุทธ์ควรใช้จังหวะนี้ในการปรับเปลี่ยนหรือปรับเก้าอี้ให้เหมาะสม หากในอนาคตคิดว่าไม่สามารถดำเนินการบริหารในคณะรัฐมนตรีต่อได้ อาจทำการแต่งตั้งกลับเข้ามาเหมือนเดิมก็ได้ ดังนั้น เบื้องต้นต้องพิสูจน์ความจริงใจต่อกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล หรือในพรรครัฐบาลด้วยกันเอง

ต้องลดพื้นที่ความเป็นสัญลักษณ์หรือมรดกของ คสช.ให้มากที่สุด เพียงแต่ในความสะดวกใจหรือสบายใจที่ให้ พล.อ.ประวิตรหรือ พล.อ.อนุพงษ์กลับเข้ามา เพราะหมู่บ้านกระสุนตกไม่ได้พุ่งเป้าอยู่ที่นายกฯคนเดียว ดังนั้น แรงกดดันทางการเมืองทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ทำงานทางการเมืองได้ง่ายขึ้น เพราะมี พล.อ.ประวิตรเสมือนกำแพงยืนบังให้อยู่

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

การแสดงความคิดเห็นของนายกรัฐมนตรี เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าหลักการคัดเลือกคนเข้ามาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของประเทศไทยไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความรู้ความสามารถเป็นหลัก แต่อยู่บนพื้นฐานความสำคัญของบุคคล ซึ่งขบวนการอันนี้ควรจะเปลี่ยนได้แล้วซึ่งมันไม่น่าจะเกิดขึ้น จริงๆ แล้วไม่ได้เกิดขึ้นกับรัฐบาลทหารอย่างเดียว มันเกิดขึ้นทุกรัฐบาล รัฐบาลพลเรือนก็มีปัญหาเหมือนกัน เรื่องของความสัมพันธ์ส่วนบุคคลได้รับความสำคัญมากกว่าในเรื่องคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญของคนที่จะเป็นรัฐมนตรีแต่ละด้านที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งบริหารประเทศ ในแต่ละกระทรวง ลักษณะแบบนี้เป็นกระบวนการการสรรหาตัวรัฐมนตรีที่ควรจะเปลี่ยนได้แล้ว เป็นกระบวนการที่ไม่ได้ทำให้ประเทศชาติเจริญขึ้น ควรที่จะได้คนที่มีคุณภาพมาทำงาน ได้คนที่มีความเชี่ยวชาญจริงๆ ควรที่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคลที่จะมาเป็นรัฐมนตรี

นอกจากเรื่องคุณสมบัติแล้วจะต้องมีเรื่องของความโปร่งใส ความรู้ความสามารถและตรวจสอบได้ เพราะฉะนั้นกระบวนการที่นายกรัฐมนตรีมีความชัดเจนอย่างนี้ ผมว่าไม่ได้เป็นประโยชน์กับประเทศเลย จริงๆ แล้วก็เกิดขึ้นกับรัฐบาลพลเรือนด้วยเหมือนกัน การให้ความสำคัญส่วนบุคคลเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะให้มาเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ ก็มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์เรื่องของคะแนนเสียงของพรรคที่ร่วมรัฐบาลเป็นประเด็นที่ไม่ควรมีอยู่แล้วในการจัดตั้งรัฐบาล

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่

พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้อยู่ในฐานะคิดหรือพูดว่าเอาใครเป็นรัฐมนตรีสมัยหน้า เพราะยังไม่รู้ว่าพรรคไหนเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ต้องรอการตั้งรัฐบาลก่อน อย่าพูดไปเรื่อยเพราะยังไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีรอบสอง ไม่มีสิทธิแต่งตั้งรัฐมนตรีเอง

โดยหลักการต้องให้พรรคชนะเลือกตั้งและมีเสียงข้างมากในสภาจัดตั้งรัฐบาล ถือว่ามีความชอบธรรม เพราะมาจากเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ส่วน พล.อ.ประยุทธ์แม้ว่าเป็น 1 ในรายชื่อพรรคพลังประชารัฐที่เสนอเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยก็ตาม แต่ไม่ได้เป็น ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่ควรแสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image