ส.ว.ป้ายแดงเปิดใจ ทำหน้าที่อิสระ-โหวตนายกฯ

หมายเหตุความเห็นจากสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดใหม่ถึงการทำหน้าที่ต่างๆ ของ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญใหม่ รวมถึงการร่วมโหวตลงมติให้ความเห็นชอบผู้ที่เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีด้วย


 

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์

หน้าที่และอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แบ่งเป็นหน้าที่หลัก และหน้าที่ที่เพิ่มเข้ามาตามบทเฉพาะกาล หน้าที่หลัก คือเรื่องการติดตาม ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร การตั้งกระทู้ถาม การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักเสมือนรัฐธรรมนูญฉบับอื่น

Advertisement

แต่ในบทเฉพาะกาลระบุให้ ส.ว.มีหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร หรือ ส.ส. อีกทั้งยังมีหน้าที่สำคัญที่สุดคือการติดตามการปฏิรูปในช่วง 5 ปี ซึ่งเป็นไปตามคำถามเพิ่มเติมหรือคำถามพ่วงร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่ผ่านการลงประชามติไปแล้ว

ประเด็นวิพากษ์วิจารณ์รายชื่อ ส.ว.ชุดนี้เสมือนสภาพี่น้อง หรือสภาเครือญาตินั้น แท้จริงแล้วเป็นไปตามมาตรา 269 ที่จะให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้เลือกเพิ่มเติมจากคณะกรรมการสรรหา ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น เมื่อ คสช.เป็นผู้เลือกก็คงคัดเลือกจากบุคคลที่รู้จักหรือคุ้นเคย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องกระจายไป เนื่องจากรัฐธรรมระบุว่าต้องเลือกจากผู้ประกอบอาชีพต่างๆ เพื่อให้เกิดความสมดุล ซึ่งผลจากการคัดสรรก็จะได้บรรดา ส.ว.ที่กระจายไปตามกลุ่มอาชีพต่างๆ นอกเหนือจากกลุ่มความมั่นคง

Advertisement

ดังนั้น ส.ว.ต้องมีอิสระ ถ้าสิ่งที่รัฐบาลทำถูกก็ต้องสนับสนุน หากทำผิดก็ต้องค้านตามหน้าที่ แต่ในส่วนที่คิดว่าเป็นหน้าที่หลักและสำคัญมากๆ คือบรรดา ส.ว.มาตามบทเฉพาะกาล ดังนั้น ลักษณะที่ให้ คสช.เลือกก็เป็นไปตามบทเฉพาะกาลเท่านั้น

หลังจาก 5 ปีแล้ว คำพูดที่กล่าวว่าต้องการให้ปิดสวิตช์ ส.ว. คิดว่าหากครบ 5 ปีตามนั้นแล้ว ทุกอย่างก็จะเป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ส.ว.ทุกคนจะมาจากการเลือกกันเองตามกลุ่มต่างๆ ดังนั้น หน้าที่สำคัญของ ส.ว.ก็คือการปฏิรูป

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้ ส.ว.ต้องมีความอิสระ ไม่ตกอยู่ในอำนาจใดๆ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรืออำนาจของใครทั้งสิ้น ส.ว.ควรจะต้องเป็นองค์กรอิสระที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาบ้านเมือง เพราะจากประสบการณ์หลายครั้งเราพบว่าที่สุดแล้ว การเลือกตั้งอาจไม่สามารถผลักดันรัฐบาลทำงานได้ตามเป้าหมาย

ความเป็นอิสระของ ส.ว.จึงถือว่ามีความสำคัญ ส่วนกรณีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงจุดยืนการทำหน้าที่ของ ส.ว.ในขณะนี้นั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมไทยและสังคมโลก ที่ชอบมีการวิพากษ์วิจารณ์ ตราบใดที่ระบบการศึกษายังไม่สอนให้คนคิดถึงการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนนี้ที่ประเทศไทยถือว่าอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน ทุกคนต้องมีสติ ตั้งมั่น และทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อบ้านเมือง

ผมเชื่อในพลังของคนไทยว่าอะไรที่ไม่ถูกต้องจะไม่ยอมปล่อยให้ผ่านไปอย่างแน่นอน ยืนยันว่าตัวผมเองมีอิสระพร้อมทำหน้าที่ ส.ว. ไม่มีใครมาสั่งให้ยกมือเลือกใครเป็นนายกฯได้ และตอนนี้ก็ยังไม่มีใครมาติดต่อให้ยกมือเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนจะยกมือเลือกใครนั้น ผมคงไม่สามารถบอกได้ เพราะยังไม่ถึงเวลา

วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

หลังจากที่มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น ส.ว.กระทั่งได้ไปรายงานตัวที่รัฐสภาแห่งใหม่ ก็ได้รับเอกสารถึงกฎระเบียบต่างๆ เป็นจำนวนมาก ผมเอาเอกสารเหล่านั้นมาอ่านเพื่อทำความเข้าใจ ก่อนที่จะไปทำหน้าที่ ส.ว.อย่างเต็มตัว

อย่างไรก็ตาม ในอดีตเมื่อปี 2535 ผมเคยเป็นเลขานุการประธานรัฐสภา ตอนนั้นผมรู้ถึงกฎระเบียบต่างๆ อย่างครบถ้วน แต่มันก็ผ่านมา 20 กว่าปีแล้ว ไม่นึกเลยว่าวันนี้จะได้กลับมาที่เดิมอีกครั้ง การกลับมาวันนี้แตกต่างจากในอดีตไปพอสมควร จึงต้องมาทำความเข้าใจเสียใหม่ รวมถึงทำความคุ้นเคยกับสถานที่และบรรดาสมาชิก ส.ว.ทั้ง 250 คน

งานที่ผมสนใจ หากเป็นงานนอกกรรมาธิการ ผมสนใจงานด้านการปฏิรูปเป็นพิเศษ เพราะผมคิดว่านี่เป็นโอกาสที่เราจะได้ทำการปฏิรูปโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในกระทรวงหรือว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่การเป็น ส.ว.ก็มีส่วนในการขับเคลื่อนปฏิรูปได้ โดยผมสนใจทั้งงานด้านสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองผู้บริโภค การปฏิรูประบบราชการ การพัฒนาสังคมชีวิตความเป็นอยู่

ส่วนงานในกรรมาธิการ ซึ่งคือการติดตามตรวจสอบ แต่แท้จริงแล้วคนในระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงและอธิบดี จะไม่ค่อยมาชี้แจงต่อกรรมาธิการด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่จะให้ระดับผู้อำนวยการสำนักงานมาเป็นคนชี้แจงแทน จากประสบการณ์ผมเห็นว่า เจ้าหน้าที่ทุกระดับมีความคิดสร้างสรรค์ มีไอเดียที่ควรจะนำไปต่อยอดพัฒนา แต่พวกเขาไม่สามารถที่จะนำเสนอต่อผู้เป็นนายได้ ดังนั้น ในส่วนหนึ่งผมเห็นว่าจะใช้โอกาสนี้ช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตัวเล็กๆ ที่มีไอเดียความคิดสร้างสรรค์ โดยผมคิดว่าจะเป็นตัวกลางในการนำความคิดใหม่ๆ ต่อยอดเพื่อพัฒนาต่อไป

ผมคิดว่าทุกคนที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ส.ว.จะต้องรับฟังเสียงวิจารณ์ เพราะเป็นธรรมดาของประเทศประชาธิปไตย ที่จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป

อย่างไรก็ตาม แม้ ส.ว.ชุดนี้จะมีที่มาจากการแต่งตั้ง แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 114 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า แม้ ส.ว.จะมีความเกี่ยวข้องกัน แต่การทำหน้าที่นั้นจะผูกมัดครอบงำกันไม่ได้ นอกจากนี้รัฐธรรมนูญยังกำหนดผู้ที่ได้รับเลือกเป็น ส.ว.เมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้วจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปอีก 2 ปี ฉะนั้น จึงเปล่าประโยชน์ที่จะเข้าไปเป็น ส.ว.เพื่อหาเครือข่ายต่อยอดอนาคตทางการเมืองของตัวเองต่อไป

ส่วนการเลือกนายกรัฐมนตรี ผมคิดว่าทุกอย่างเป็นอิสระ เพราะกระทั่งถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครมาบอกให้ผมยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง

คำนูณ สิทธิสมาน

ส.ว.ชุดนี้มีหน้าที่แตกต่างไปจาก ส.ว.ทั่วไป โดยหลักการที่พิเศษออกมา 3-4 ประการคือ 1.ติดตามการปฏิรูปประเทศ เร่งรัดกำกับให้เป็นไปตามแผน โดยที่ทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ว่าใครจะมาเป็นก็ต้องรายงานทุก 3 เดือน 2.ร่วมพิจารณาร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศกับสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่ต้น กล่าวคือ เหมือนการพิจารณาในสภาเดียว

ประการที่ 3.สำคัญมาก คือในกรณีมีร่างกฎหมายที่เป็นการแก้ไขและผู้กระทำความผิดไม่ต้องรับโทษ หรือกฎหมายที่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมอย่างร้ายแรงแล้วร่างกฎหมายนั้นถูกยับยั้งไว้ ไม่ว่าจะโดยวุฒิสภา หรือสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับวุฒิสภา หรือไม่เห็นด้วยกับกรรมาธิการร่วม โดยปกติจะให้รอ 180 วัน สภาผู้แทนราษฎรหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้ในทันทีโดยสภาเดียว บทเฉพาะนี้ให้เป็นอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาที่จะร่วมพิจารณากับสภาผู้แทนราษฎร การที่จะผ่านออกไปต้องมีมติ 2 ใน 3 นี่เป็นอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มเข้ามา 3 ประการตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนอีก 1 ประการที่เพิ่มขึ้นจากผลของคำถามเพิ่มเติมคือการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งก็จะทำหน้าที่ไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ส่วนตัวไม่มีความกังวลในสถานการณ์ทางการเมืองที่สังคมจับตา แต่ตระหนักดีว่าในเมื่อสังคมจับตาเช่นนี้ก็จะต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต มีหลักคิดในการทำงาน สามารถอธิบายได้ อย่างเช่นที่กล่าวมาก็จะเห็นได้ว่าทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เสมือนว่าให้ช่วง 5 ปีของอายุของสมาชิกวุฒิสภาชุดแรกเป็นระยะเปลี่ยนผ่านของประเทศ ซึ่งเมื่อครบกำหนด 5 ปี อำนาจหน้าที่เหล่านี้ก็จะหมดไปโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องแก้ไขใดๆ

กรณีการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ห่วงว่าจะถูกมองว่าอยู่ฝ่ายไหน เพราะไม่สามารถห้ามการวิพากษ์วิจารณ์ได้ คงมีทั้งคนเห็นด้วยและคนไม่เห็นด้วย แต่ในการทำหน้าที่ของตัวเอง ถ้าสามารถตอบคำถามได้ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไร

ผาณิต นิติทัณฑ์ประภาศ

หน้าที่หลักของการทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เป็นไปตามที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญกำหนด แต่งานหลักอีกอย่างหนึ่งที่ ส.ว.จะต้องทำหน้าที่คือเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ จะต้องสนองต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยสมาชิกวุฒิสภาจะต้องช่วยกันดูแลและเสนอแนะต่อรัฐบาล ซึ่งมองว่าเป็นงานและหน้าที่ที่สำคัญมากๆ ส่วนตัวไม่มีความกังวลใดๆ ที่ ส.ว.ชุดนี้ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เชื่อว่าจากความรู้และประสบการณ์การทำงานของตัวเองที่พอมีอยู่นั้น ตั้งแต่รับราชการจนกระทั่งมาเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งหน้าที่สำคัญที่ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเคยทำหน้าที่เสนอแนะในเรื่องการปฏิรูป จึงเห็นว่าเรื่องยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะช่วยสนองความต้องการของประชาชนได้

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมีการเตรียมตัวในเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติว่าจะทำอะไรหรือด้านใด เนื่องจากมีคนจำนวนเยอะมาก เพราะฉะนั้นก็จะช่วยๆ กัน เราก็ต้องมาดูว่าเราสนใจอะไรเป็นพิเศษ ควรจะช่วยด้านใดเป็นพิเศษได้บ้าง เพราะเราคงไม่สามารถดูได้หมดทุกด้านพร้อมกันหมด แต่ต้องช่วยๆ กันดู อย่างไรก็ตาม ตนจะพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ตามที่ได้รับแต่งตั้งมาทำหน้าที่สำคัญตรงนี้ อีกทั้งประเทศเป็นของเราทุกคนจำเป็นต้องช่วยกันให้สำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของชาติไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image