รายงาน : เปิดชีวิต-ผลงาน‘ป๋าเปรม’ ประธานองคมนตรี2รัชกาล

หมายเหตุ – “มติชน” รวบรวมประวัติและผลงาน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ถึงแก่อสัญกรรมในวัย 99 ปี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 ที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า

เกิด-เรียนที่สงขลาก่อนเป็นทหาร

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2463 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นบุตรของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) และนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) เป็นบุตรคนที่ 6 ในจำนวนพี่น้อง 8 คน เข้ารับการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2469 ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา หมายเลขประจำตัว 167 สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เมื่อปีพ.ศ.2478 เข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7-8 แผนกวิทยาศาสตร์ ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย หมายเลขประจำตัว 7587 ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ณ โรงเรียนเทคนิคทหารบก (ปัจจุบันคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) เมื่อปี พ.ศ.2481 โดยเข้ารับการศึกษาเป็นรุ่นที่ 5 มีเพื่อนร่วมรุ่น 55 นาย สำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2484 ใช้เวลาเพียง 3 ปี ไม่ครบ 5 ปี ตามหลักสูตร เนื่องจากเกิดกรณีพิพาทระหว่างรัฐบาลไทยกับฝรั่งเศสขึ้น จึงจำเป็นต้องให้นักเรียนนายร้อยออกรับราชการก่อนกำหนด

ร่วมรบสงครามมหาเอเชียบูรพา

Advertisement

เริ่มรับราชการเป็นผู้บังคับหมวด ประจำกรมรถรบ เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2484 ปฏิบัติหน้าที่ ณ สมรภูมิรบปอยเปต ประเทศเขมร ในกรณีพิพาทในอินโดจีนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศส และได้รับแต่งตั้งให้เป็นว่าที่ร้อยตรี (รับกระบี่ในสนามรบ) เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2484

พ.ศ.2485-2488 เกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา จึงได้รับคำสั่งให้ไปประจำการเป็นกองหนุนของกองทัพพายัพ จังหวัดลำปาง ต่อมากองทัพเคลื่อนย้ายไปอยู่เชียงราย และได้รับคำสั่งให้ไปขึ้นอยู่กับกองพล.3
ที่เชียงตุง จนได้เลื่อนยศเป็น ร้อยเอก และเป็นผู้บังคับกองร้อยที่ลพบุรี

พ.ศ.2489-2492 เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 2 กองพันที่ 1 กรมรถรบ ได้เข้าศึกษาเป็นนายทหารฝึกหัดราชการ โรงเรียนนายทหารม้า เมื่อจบการศึกษาได้กลับมารับตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยเดิม และรักษาราชการ
ผู้บังคับกองพันที่ 1 กรมรถรบ

Advertisement

1 กรกฎาคม 2492 ได้รับพระราชทานยศ พันตรี

พ.ศ.2493 เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ 3 กองพันทหารม้าที่ 4 จังหวัดอุตรดิตถ์ รองผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 4 และรองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์อีกตำแหน่งหนึ่ง

พ.ศ.2495 ได้รับทุนจากกองทัพบกโดยการสอบแข่งขันได้ไปศึกษาต่อที่ The United States Army Armor School รัฐเคนตักกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา สำเร็จการศึกษาเมื่อต้นปี พ.ศ.2497 กลับมารับราชการเป็นอาจารย์ในแผนกวิชายุทธวิธี กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะ กองพลน้อยทหารม้า (กรุงเทพฯ)

วันที่ 30 มกราคม 2497 ได้รับพระราชทานยศ พันโท

พ.ศ. 2497-2498 เป็นผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 5 กรมทหารม้าที่ 2 และเป็นอาจารย์หัวหน้าแผนกวิชาทหาร กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะ

วันที่ 1 มกราคม 2499 ได้รับพระราชทานยศ พันเอก

พ.ศ.2501 เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า จังหวัดสระบุรี เป็นรอง
ผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า

พ.ศ.2506 เป็นรองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้า ศูนย์การทหารม้า และเป็นรองผู้บังคับการจังหวัดทหารบก สระบุรี

พ.ศ.2509-2510 เข้าศึกษาในวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 9 (ยศพันเอก) เดินทางไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น และเกาหลี

ขึ้นพล.ต.ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า

วันที่ 1 ตุลาคม 2511 ได้รับพระราชทานยศ พลตรี และให้ดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกสระบุรี พ.ศ.2512 เป็นองครักษ์เวร เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์

วันที่ 1 ตุลาคม 2516 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 2 จังหวัดสกลนคร

1 ตุลาคม 2517 ได้รับพระราชทานยศ พลโท และดำรงตำแหน่ง แม่ทัพภาคที่ 2 พ.ศ.2518 เป็นราชองครักษ์พิเศษ

1 ตุลาคม 2520 ได้รับพระราชทานยศ พลเอก และดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั่วไปฝ่ายทหาร

พ.ศ.2521 เป็นผู้บัญชาการทหารบก จนเกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2523 และคณะรัฐมนตรีได้มีมติต่ออายุราชการอีก 1 ปี 26 สิงหาคม 2524 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้อำลาการรับราชการทหาร

เป็นนายกรัฐมนตรีของไทยคนที่ 16

เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2523 พระบาทสมเด็จ
พระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นับเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 16 ของประเทศไทย โดยก่อนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เริ่มรับราชการทางการเมืองโดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวุฒิสมาชิก เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2511 เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2515 เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่
12 พฤศจิกายน 2520 และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ต่อมา เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2522 พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ 3 มีนาคม 2523 จนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2531 รวมทั้งสิ้น 3 ครั้ง มีคณะรัฐมนตรีทั้งหมด 5 ชุด รวมเวลา
ทั้งสิ้น 8 ปี 5 เดือน หลังจากการปฏิเสธการรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ร.9โปรดเกล้าฯแต่งตั้งเป็นองคมนตรี

ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรี เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2531 ต่อมาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2531 ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศยกย่อง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ไว้ในฐานะรัฐบุรุษ และเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2541 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นประธานองคมนตรีในสมัยรัชกาลที่ 9 จนถึง วันที่ 13 ตุลาคม 2559

ภายหลัง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สวรรคต เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 แผ่นไทยได้เริ่มรัชสมัยใหม่ โดยก่อนที่จะมีการเฝ้าฯ กราบบังคมทูลอัญเชิญพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่เสด็จขึ้นทรงราชย์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้ปฏิบัติหน้าสำคัญยิ่ง นั่นคือ การเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม-1 ธันวาคม 2559

เป็นประธานองคมนตรี 2 รัชกาล

จากนั้น ในวันที่ 1 ธันวาคม 2559 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลอัญเชิญพระรัชทายาท พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในขณะนั้นดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จขึ้นทรงราชย์ เป็นพระมหากษัตริย์ สืบราชสันตติวงศ์ ณ ห้อง UPPER MAIN CR.M (ห้อง ว.ป.ร.) พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

จากนั้น ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.เปรม เป็นประธานองคมนตรี ในรัชสมัยรัชกาลที่ 10 ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2559 เป็นต้นไป และเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในวันที่ 4 ธันวาคม 2559

จากนั้น ในวันที่ 7 ธันวาคม 2559 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานพระราชวโรกาสให้ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี นำองคมนตรี ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่ 10 คน เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ ในโอกาสดังกล่าว ได้มีพระราชดำรัสทรงยินดีและทรงขอบใจแก่คณะองคมนตรี และมีพระราชดำรัสถึง พล.อ.เปรม ความว่า

“ขอบใจ และแสดงความยินดี ขอบใจที่มีน้ำใจช่วยงาน ที่ว่าคณะองคมนตรีในยุคนี้ ปัจจุบันนี้ก็จะได้รับการมอบภารกิจ ตลอดจนได้รับโอกาส หรือหน้าที่ที่จะให้คำแนะนำ ตลอดจนช่วยกันดำรงความมั่นคงสถาบันของประเทศชาติ ตลอดจนแบ่งงานกันให้ละเอียดอีกครั้งว่าใคร ทำอะไร เรื่องทำงานก็จะให้ขอคำแนะนำ ตลอดจนปรับความสำคัญในการทำงานของประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายเกี่ยวกับสถาบันและประเทศชาติ เป็นเรื่องของแผ่นดิน มีเรื่องต่างๆ ที่จะมอบให้ก็มาก ดังที่ได้คุยกันนอกรอบแล้ว ขอขอบคุณ และได้ป๋ามาเป็นประธาน ก็อุ่นใจแล้ว ทุกคนก็เคยทำหน้าที่ถวายรัชกาลก่อน หลายคนก็เชื่อมือกัน มีความสุข ตั้งใจทำงานได้ ขอบคุณ”

ถวายงานเต็มกำลังความสามารถ

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 10 พล.อ.เปรมได้ถวายงานปฏิบัติหน้าที่สนองพระเดชพระคุณ อย่างเต็มกำลังความสามารถ อาทิ

การนำองคมนตรี ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ในหลายโอกาส ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

การได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นผู้แทนพระองค์ในพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ ลานพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2560, และในวันที่ 9 มิถุนายน 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็น
ผู้แทนพระองค์ ไปในพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหา
อานันทมหิดล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ณ พระลานพระราชวังดุสิต

นอกจากนี้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เฝ้าฯ รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงงานในหลายโอกาส อาทิ เสด็จฯ ทรงถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561

และในโอกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานอุ่นไอรัก คลายความหนาว สายน้ำแห่งรัตนโกสินทร์ ณ พระลาน พระราชวังดุสิต และสนามเสือป่า พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้สวมชุดราชปะแตน โจงกระเบน เยี่ยมชมงานอุ่นไอรักฯ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2561

1 ใน 8 บุคคลถวายน้ำอภิเษก

พล.อ.เปรมถวายงานพระเจ้าแผ่นดิน 2 รัชกาลจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต โดยได้ปฏิบัติหน้าที่ที่สำคัญยิ่งและเป็นการถวายงานครั้งสุดท้ายของตนเองในแผ่นดินรัชกาลที่ 10 ก่อนถึงแก่อสัญกรรม

ด้วยได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็น 1 ใน 8 บุคคลสำคัญของประเทศ ถวายน้ำอภิเษกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 โดย พล.อ.เปรม ถวายน้ำอภิเษกทิศหรดี (ตะวันตกเฉียงใต้) เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562

ในวันนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทอดพระเนตรเห็นว่า พล.อ.เปรม ชราภาพมากแล้ว พระองค์ทรงโน้มพระวรกายเข้าไปใกล้ พล.อ.เปรม เพื่อให้ พล.อ.เปรม ได้ถวายน้ำได้อย่างสะดวกสบายขึ้น

ภายหลังภารกิจสำคัญอันยิ่งใหญ่ในชีวิตเสร็จสิ้นลงอย่างงดงาม หลังจากนั้น 19 วัน พล.อ.เปรม ถึงแก่อสัญกรรม ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2562

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image