นักวิชาการส่องรัฐบาลใหม่ ‘บิ๊กตู่’ คุมไม่อยู่..ไปเร็ว

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการถึงการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ที่มีการต่อรองกันสูงระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และพรรคภูมิใจไทย (ภท.) รวมถึงประเมินการทำงานของ ครม.ใหม่ในการแก้ปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญและแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องชาวบ้าน


 

ผศ.ดร.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถึงคราวที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในการอภิปรายต่างๆ ดังนั้น เป็นธรรมชาติที่ผู้เป็นหัวหน้ารัฐบาลอยากมีสิทธิขาดว่าใครควรอยู่ตรงไหน ซึ่งย้อนแย้งกับความต้องการแต่ละพรรคที่เข้าร่วมรัฐบาล

Advertisement

ทั้งหมดนี้เป็นผลพวงของการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของพรรคเล็กและกระบวนการต่อรอง ซึ่งการจัดสรรเก้าอี้ยังไม่เป็นที่ยุติ แม้ว่าจะมีการแห่ขันหมากสู่ขอ หมายมั่นปั้นมือขอให้ได้กระทรวงต่างๆ แต่ความจริงแล้วต้องกลับมาดูกันอีกครั้งหนึ่ง
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาภายใต้กรอบคิดที่ป้องกันมิให้พรรคใหญ่ได้เสียงข้างมาก ขณะเดียวกันต่อให้พรรคเพื่อไทยได้รับความไว้วางใจในจำนวน ส.ส.เขตสูงสุด แต่ไม่สามารถมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ เพราะในแง่สัดส่วนแล้ว พรรคเพื่อไทยมี ส.ส.พึงมีเท่านั้น

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงโน้มเอียงไปในทางที่บังคับให้เกิดสภาพการณ์ของรัฐบาลผสม ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ที่สภาพการกำหนดกรอบในการเลือกตั้งยังอนุญาตให้มีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้ อีกทั้งมีทัศนคติโน้มเอียงในทางที่อยากให้พรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากเป็นธงนำในการจัดตั้งรัฐบาล รวมทั้งจำกัดการตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

หากพูดกันตามจริง พรรคพลังประชารัฐหรือพรรครัฐบาลในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาไม่สามารถสร้างความศรัทธาหรือสร้างกลไกที่จะทำให้ตัวเองได้รับความนิยม ผลคือต้องนำพรรคขนาดเล็กกว่า 10 พรรคมารวมกัน ทำให้เกิดรัฐบาลผสม

Advertisement

เมื่อรวมกันแบบนี้ สภาพการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีจึงเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ได้เหนือกว่าความคาดหมาย แต่เป็นธรรมชาติของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอง เพียงแต่เขาออกแบบมาเพื่อให้เห็นความอัปลักษณ์ของการต่อรอง เพราะต้องนึกถึงช่วงรัฐบาลผสมช่วงปี 2520 โดยประมาณ หรือปี 2535 โดยประมาณ กระทั่งเกิดรัฐธรรมนูญ 2540
ดังนั้น สภาพการณ์ที่เราเห็นขณะนี้คือการฉายหนังซ้ำในช่วง 2520 โดยประมาณ ต่างกันเพียงครั้งนี้เรามีพรรคผสมจำนวนมาก ทำให้การต่อรองมีความอีหลักอีเหลื่อ ลำพังเพียงการโหวตเลือกนายกฯก็ปริ่มน้ำพอแล้ว

การที่เสียงปริ่มน้ำแบบนี้ แถมยังต้องบริหารประเทศในสภาวะที่เป็นรัฐบาลผสม หาก พล.อ.ประยุทธ์ไม่มั่นใจพอ ยาไม่ดีพอ หรือเชือกที่รั้งไว้ยังไม่พอ จะทำให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพในระยะยาว
ดังนั้น การจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาลในขณะนี้ ตัวรัฐมนตรีจึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะธำรงอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ให้อยู่ต่อไป หากพลาดตรงนี้ก็ลำบาก

การดำเนินงานของรัฐบาลใหม่ ไม่ว่าจะเรื่องการแก้ปัญหาปากท้อง เศรษฐกิจ รวมทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มองว่าเป็นเรื่องที่ผูกกันหมด คงต้องทำไปพร้อมๆ กัน

แต่สิ่งที่อยากติงรัฐบาลขณะนี้คือการยุติคดีความทางการเมือง เพื่อขยับเข้าสู่สภาวะปกติ เข้าสู่โหมดการปรองดองอย่างจริงจัง เช่น เพื่อนนักวิชาการก็โดนหมายเรียก โดนแจ้งความ ทั้งใน จ.เชียงใหม่ หรือกรุงเทพฯ ปัญหาในลักษณะนี้ทางรัฐบาลควรพิจารณายุติ อย่าให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ

ต่อมา เรื่องการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ รัฐบาลเองคงเจอปัญหานี้ โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยเป็นพรรคอันดับ 2 กลายเป็นพรรคอันดับรองลงไปในการเลือกตั้งครั้งนี้ สะท้อนได้ว่าพรรคเองก็อยากแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ต้องไม่ลืมว่าหลักใหญ่ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ที่การตีความ การแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่ชี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญบางประเด็นที่แต่ละพรรคอยากแก้ ทำให้เกิดการตีความว่าเป็นการเปลี่ยนแปลง แก้ไขโครงสร้างของรัฐ นี่เป็นเรื่องใหญ่

แรงผลักดันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แก้ไขรัฐธรรมนญได้ ต้องใช้กระบวนการแก้ไขในหมวดที่ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเสียใหม่ เท่ากับว่าเป็นการย้อนบรรยากาศปี 2535 ที่มีการลุกฮือต่อต้านรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผลคือเราต้องต่อรองกันหลายปีกว่าจะสามารถตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 211 ได้

นี่เป็นสภาวะที่คิดว่าไม่ง่ายนักที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะเดียวกันยังมีความท้าทายปัญหาเฉพาะหน้ามากมาย เช่น บทบาทของไทยในการเป็นประธานอาเซียน บทบาทของการปรับตัวกับการแข่งขันทางเศรษฐกิจว่าจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยให้กลับสู่ภาวะปกติและดีกว่านี้ได้หรือไม่ ซึ่งไม่ง่ายทีเดียว

ผศ.ดร.พิชิต รัชตพิบุลภพ
ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยราชพฤกษ์

สิ่งที่คาดหวังของประชาชนส่วนใหญ่ต่อรัฐบาลชุดใหม่ก็ยังคงเป็นปัญหาเดิม คือ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ที่ประชาชนให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก

ปัญหาดังกล่าวก็เป็นปัญหาหลักของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยเช่นกัน ที่ไม่สามารถแก้แล้วก่อให้เกิดผลลัพธ์อย่างเด่นชัดจนถูกใจประชาชน

อีกทั้งภายใต้การบริหารงานรัฐบาลใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์นี้ จำต้องอาศัยความร่วมมือที่สำคัญจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ทำให้ตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงสำคัญถูกจัดสรรออกไปภายใต้เงื่อนไขการต่อรองที่ยากแก่การปฏิเสธ

การพิจารณาความเหมาะสมของตำแหน่งรัฐมนตรีชุดใหม่นี้จะให้น้ำหนักไปที่ความสามารถในการผลักดันนโยบายสาธารณะที่ได้นำเสนอต่อประชาชนในช่วงการหาเสียงเป็นหลัก ด้วยการตั้งข้อสังเกตเฉพาะพรรคหลักๆ ดังต่อไปนี้

พรรคพลังประชารัฐ บุคลากรที่คาดว่าจะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในครั้งนี้น่าจะเป็นชุดเดียวกับที่ได้เคยร่วมงานกันมาก่อนหน้านี้แล้ว ปัญหาจึงมุ่งไปที่วิธีการแก้ไขนโยบายทางด้านเศรษฐกิจว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหรือไม่ เพราะบุคลากรชุดเดิมจะมีความเชี่ยวชาญในเชิงวิชาการเป็นหลัก แต่ไม่ใช่นักปฏิบัติที่จะขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นรูปธรรม เพราะฉะนั้นการผลักดันนโยบายเรื่องค่าแรง 400-425 บาท/วัน หรือเงินเดือนปริญญาตรี 20,000 บาท น่าจะสำเร็จได้ยาก

ส่วนพรรคภูมิใจไทยนั้น นโยบายที่โดดเด่นคือ กัญชาเสรี การได้รับมอบหมายเพื่อดูแลกระทรวงสาธารณสุขเป็นการตอบโจทย์นโยบายของพรรคนี้มากที่สุด ส่วนกระทรวงคมนาคมน่าจะเป็นปัญหาภาพลักษณ์ที่ยากแก่การอธิบายเรื่องการทับซ้อนกันของผลประโยชน์ระหว่างส่วนตัวกับผลประโยชน์สาธารณะ

สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีข่าวว่าได้รับการมอบหมายให้ดูกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อผลักดันนโยบายประกันราคาสินค้าเกษตรกับนโยบายโฉนดชุมชน ฉะนั้น โอกาสในการเรียกคืนความเชื่อมั่น ความศรัทธาของประชาชนที่มีต่อพรรคสามารถดำเนินการได้ด้วยการแสดงผลงานการบริหารนโยบายข้างต้นให้สำเร็จ เกิดผลลัพธ์ที่เป็นเชิงประจักษ์อย่างเด่นชัด

หากพิจารณาภาพรวมของการจัดตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพบกับปัญหาการบริหารงานภาครัฐที่ขาดการบูรณาการทั้งภายในกระทรวงและต่างกระทรวง อันจะนำไปสู่การทำงานแบบไร้ทิศทาง เพราะต่างคนต่างทำ เป็นไปในลักษณะ เรื่องของน้อง พี่ไม่ยุ่ง

วิโรจน์ อาลี
อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ต้องมาดูว่าหลังจากได้ตัวบุคคลดูแลกระทรวงเศรษฐกิจต่างๆ คนที่อยู่ในแต่ละพรรคจะมีนโยบายอะไร และมีศักยภาพในการผลักดันนโยบายเหล่านี้ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมได้อย่างไร

รัฐบาลที่แล้วจะให้ความสำคัญกับตัวโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ รวมไปถึงตัวศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งก็ยังไม่ได้เห็นผลอะไรมากนัก แต่ก็มีเริ่มต้นไปบ้างแล้วในเรื่องของโครงการอีอีซีและรถไฟความเร็วสูง

แต่ต่อจากนี้จะเป็นประเด็นในเรื่องเศรษฐกิจรากหญ้า และกำลังการบริโภคจะฟื้นขึ้นมาได้อย่างไร การจับจ่ายใช้สอยต่างๆ จะฟื้นขึ้นมาได้อย่างไร หลายคนตั้งตารอดูตรงนี้ว่า คนที่จะเข้ามาดูกระทรวงเศรษฐกิจต่างๆ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

หากคนที่เข้ามาดูกระทรวงเศรษฐกิจต่างๆ เป็นหน้าเดิม มีแนวนโยบายแบบเดิมๆ ก็อาจทำให้บรรยากาศมีปัญหาได้ แต่หากเปลี่ยนคนแล้วจะมีแนวนโยบายที่ชัดเจนอย่างไร ทำให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในโครงการที่สำคัญภายใน 5-6 เดือนแรกได้ ก็จะฟื้นความเชื่อมั่นได้พอสมควร แต่ในภาพรวมที่รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ ทำให้รู้สึกอกสั่นขวัญแขวนกันมากพอสมควร

ส่วนรองนายกฯที่จะเข้ามาดูเรื่องเศรษฐกิจน่าจะเป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ทำให้ทิศทางการทำงานไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก กระทรวงการคลังไม่มีใครแย่งก็น่าจะอยู่ในมือของพรรคพลังประชารัฐ ตัวละครที่จะเข้ามาเล่นน่าจะเป็นสี่ยอดกุมารเหมือนเดิม ยกเว้นกระทรวงพาณิชย์ที่แข่งกับพรรคประชาธิปัตย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ยกให้พรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว

หากพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาดูกระทรวงเศรษฐกิจทั้ง 2 กระทรวงนี้ คำถามคือจะทำงานสอดคล้องกับกระทรวงเศรษฐกิจกระทรวงอื่นอย่างไร เช่น กระทรวงคมนาคม ที่พรรคภูมิใจไทยได้ไป จะยอมให้สานต่อโครงการต่างๆ ตามที่รัฐบาลเดิมวางไว้ให้หรือไม่ เพราะเขาเองก็ต้องการทำผลงานที่อย่างน้อยแม้จะเป็นโครงการของรัฐ แต่ต้องมีโครงการอื่นๆ ที่ต้องผลักดันตามมา

หากให้พรรคพลังประชารัฐเข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ แล้วให้พรรคร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการ จะเกิดการขัดแย้งขึ้นหรือไม่ ต้องดูหลังวางตัวบุคคลรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการประจำกระทรวงเศรษฐกิจต่างๆ อย่างชัดเจนแล้ว แต่ดูแล้วมันไม่ง่ายสำหรับทุกฝ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image