รายงาน : ‘หนุ่มสาว’ในการเมือง ประชาธิปไตยทางตรง

หมายเหตุคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาหัวข้อ “คนหนุ่มสาวกับการสร้างการเมืองแบบใหม่ในสังคมไทย” ในโอกาสครบรอบ 70 ปี ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน

กรวีร์ ปริศนานันทกุล

ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย

ครั้งนี้เราได้เห็นพลังของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นเสียงที่ดังและหนักแน่น สามารถเปลี่ยนอนาคตของประเทศไทยได้จริง ขอยกตัวอย่างใน จ.อ่างทอง เดิมเคยมีผู้แทน 2 คน แต่ครั้งนี้เหลือคนเดียว ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 7 อำเภอราว 2 แสนกว่าคน สิ่งที่เห็นจากพรรคอนาคตใหม่คือผู้สมัครที่ไม่มีใครรู้จัก ทำให้หลายพรรคดูถูก ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด สำหรับอ่างทอง ผู้สมัครของพรรคอนาคตใหม่อาจไม่ใช่คนโนเนมขนาดนั้น แต่ก็ได้คะแนนใกล้เคียงกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีอำนาจรัฐอยู่ คือประมาณ 2 หมื่นคะแนน ซึ่งถือว่าเยอะมาก และถ้าถามว่าก่อนการเลือกตั้งใครจะเชื่อว่าอนาคตใหม่จะได้ถึง 80 ที่นั่ง ในมุมนักการเมือง ประเมินเต็มที่ที่ 50-60 ที่นั่ง และจะไม่ได้ ส.ส.เขตแม้แต่คนเดียว ทั้งนี้ ยืนยันได้ว่าอนาคตใหม่ไม่ได้ใช้หัวคะแนนแบบเดิม หลายคนอาจมองหัวคะแนนเป็นสีเทาๆ แต่จริงๆ แล้วนี่คือช่องทางติดต่อระหว่างผู้สมัครกับชาวบ้าน
ตนไม่คิดว่าพรรคอนาคตใหม่ไม่มีหัวคะแนน แค่หัวคะแนนของเขาคือคนรุ่นใหม่ในโซเชียลมีเดียที่ใช้การสื่อสารช่องทางใหม่ไปถึงกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จากเดิม พ่อแม่เป็นคนแนะนำให้ลูกเลือกคนนั้นคนนี้ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว หัวคะแนนของพรรคอนาคตใหม่กลับบ้านไปบอกพ่อแม่ให้เลือกพรรคของพวกเขา ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้สมัครคือใคร แต่นี่คือการรณรงค์ผ่านคนรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง เมื่อปี 2554 มีกระแสนายกฯหญิงคนแรกคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่คิดว่าครั้งนี้มีกระแสมากกว่า แต่เดิมนั้น ความแปลกใหม่หรือความตื่นเต้นทางการเมืองเคยเกิดขึ้น แต่ก็เกิดแค่ใน กทม. แต่ครั้งนี้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ใครจะเชื่อว่าประชาธิปัตย์จะไม่ได้แม้แต่ที่นั่งเดียวใน กทม. ดังนั้น จึงเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปคนรุ่นใหม่จะนำพาการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและอนาคตทางการเมืองที่มีความหวังได้

Advertisement

ส่วนการปรับตัวของพรรคภูมิใจไทยนั้น คงต้องยอมรับ ตนคือคนรุ่นใหม่ที่สุดของพรรคแล้ว แต่มาอยู่บนเวทีนี้กลายเป็นคนรุ่นเก่า ตอนนี้เราจึงอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านของคน 2 รุ่น ตนกลายเป็นคนกลางเก่ากลางใหม่ ซึ่งเป็นโจทย์ที่พรรคต้องปรับโครงสร้างและกลยุทธ์ต่อไป อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือผลพวงของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่หลายคนบอกว่าได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนมาแล้ว แต่ในขณะที่เราบอกว่าพยายามปฏิรูปการเมือง คงต้องถามว่าตอนนี้คือการเมืองที่เราอยากเห็นหรือไม่ คำตอบของตนคือไม่ใช่
ผู้แทนในสภามี 27 พรรค หลังจากการเลือกตั้งยังไม่เห็นหน้าตาของคนเป็นรัฐบาล นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ นอกจากนั้น ยังได้เห็นภาพการต่อรองเพื่อเข้าไปมีอำนาจในรัฐบาล ซึ่งรวมถึงพรรคภูมิใจไทย สิ่งที่เรารู้สึกเหมือนกัน คือได้เห็นการต่อรองทางการเมืองจนน่าเบื่อหน่าย แต่การเมืองนั้นไม่แน่นอน ถ้าในอนาคต พรรคอนาคตใหม่หรือพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ภาพของการเอาคนมาดำรงตำแหน่งอาจไม่มีการต่อรองแบบนี้ แต่เพราะตอนนี้ คนที่เป็นผู้เล่นในการต่อรองยังเป็นคนเก่า ทัศนคติจึงเป็นแบบเดิม จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม่ได้เห็นการตั้งรัฐบาลในรูปแบบใหม่

นอกจากนี้ สิ่งที่อยากเห็นคือ ในพรรคเดียวกันต้องยอมรับความเห็นที่แตกต่างได้ ในภูมิใจไทยมี ส.ส.คนเดียวที่งดออกเสียงในการเลือกนายกฯ คือ นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ซึ่งถือว่าสำคัญมาก สิ่งที่ตนอยากเห็นจากพรรคคือ การมาฟังเหตุผลว่าทำไมเขาโหวตอย่างนั้น ไม่ใช่มาตั้งกรรมการสอบเพราะเขาแหกมติพรรค นี่คือสิ่งที่อยากเห็น ซึ่งไม่ใช่แค่ในการเมืองภาพใหญ่ แต่หมายรวมถึงการทำงานในพรรคภูมิใจไทยด้วย

Advertisement

ศิริกัญญา ตันสกุล

ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบาย และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่

ช่วงที่เข้าไปอยู่ในสนามเลือกตั้งทำให้เห็นปรากฏการณ์การเมืองเก่าที่ยังดำรงอยู่ ทั้งการใช้ระบบหัวคะแนนที่ยังได้ผลและทำให้หลายครั้งการคาดการณ์ไม่เป็นไปตามโพล หลังเลือกตั้งก็มีการใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม จากความผิดพลาดทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ จากนั้นจะเห็นการใช้อำนาจอื่นๆ อีก เช่น คดีความที่พรรคอนาคตใหม่และแกนนำได้รับ บางอย่างเป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์ต่อไป แต่กระบวนการพิจารณาก็อาจมีความไม่ชอบธรรม เพราะการดำเนินการรวดเร็วผิดปกติ ทั้งหมดนี้ทำให้ตั้งข้อสงสัยได้ว่าเป็นการเมืองเก่าในยุค 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ยืนยันว่าจะเล่นการเมืองแบบใหม่ หลายอย่างเป็นเรื่องเซอร์ไพรส์ ทำให้เห็นว่าการเมืองใหม่อาจจะได้ผลจริง เช่น การไม่ใช้หัวคะแนนแต่ก็ยังสามารถได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้น 6.3 ล้านเสียง ซึ่งเราพยายามใช้ประโยชน์จากคะแนนเสียงมาพัฒนาพรรคให้เป็นสถาบันการเมืองต่อไป ในสภาผู้แทนราษฎรเราพยายามทำสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น เช่น อภิปรายด้วยหลักการและเหตุผล และจะทำให้คณะกรรมาธิการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นี่คือสิ่งที่เราประสบมา สิ่งที่เราได้ทำ และสิ่งที่เรากำลังจะทำ

ที่ผ่านมาที่เรายังเจาะเข้าไปในเขตที่อยู่นอกเขตเมืองได้ไม่ดีพอ เพราะระยะเวลาที่กระชั้นชิด พรรคอนาคตใหม่ตั้งมาได้ 1 ปี ก็เข้าสู่การเลือกตั้งทันที ฐานคนในเมืองและการใช้โซเชียลมีเดียมีความได้เปรียบอยู่ แต่การทำงานในเชิงพื้นที่อาจยังเข้าถึงคนได้ไม่มากพอเพราะต้องอาศัยเวลา ต้องค่อยเป็นค่อยไป ความจริงก็มีคนเข้ามาเสนอตัวเป็นหัวคะแนน แต่พรรคเราไม่มีเงินจึงใช้ระบบอาสาสมัครเป็นหลัก ทีมงานลงพื้นที่ด้วยใจ ลงบางเขตต้องเดินเป็น 10-20 กิโลเมตร ก็ต้องทำ

ส่วนข้อสังเกตที่ว่าตอนนี้มีสงครามระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ ก็ต้องยอมรับว่าพรรคอนาคตใหม่ได้กระแสมาจากคนที่มีอายุน้อย แต่เอาเข้าจริงคนที่สนับสนุนพรรคมีหลากหลายวัย ตั้งแต่มัธยมจนถึงอายุ 80 จึงน่าจะเป็นเพราะคาแร็กเตอร์ของพรรคมากกว่าที่ทำให้คนตัดสินใจเลือก แน่นอนว่าในโซเชียลมีการถกเถียงกัน แต่เราพยายามสื่อสารไปยังผู้สนับสนุนว่าไม่ควรที่จะใช้ความเกลียดชังหรือเฮตสปีชใส่กัน ไม่เอาประเด็นความแตกต่างทางความคิด ทัศนคติ อุดมการณ์มาถกเถียง เราพยายามให้การสื่อสารโต้เถียงด้วยเหตุผลซึ่งจะมีแคมเปญเรื่องนี้ในเร็วๆ นี้

เผ่าภูมิ โรจนสกุล

รองเลขาธิการ พรรคเพื่อไทย

ด้านใหม่ที่เห็นคือ เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทำให้ประชาธิปไตยเป็นทางตรงมากขึ้น จากแต่ก่อนผู้นำในพื้นที่เป็นคนชี้นำความคิดทางสังคมให้กับชาวบ้านในชนบท แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ก้าวข้ามส่วนนี้ไป ความสำคัญของการเป็นตัวแทนลดน้อยลง ความเป็นอุดมการณ์ของพรรคมีมากขึ้น

ส่วนตัวจึงไม่คิดว่าพรรคอนาคตใหม่ได้คะแนนมากเพราะใช้โซเชียลในการสื่อสารถึงประชาชน แต่มองว่าเป็นกระบวนการที่ทำให้คนเห็นลักษณะของพรรคมากขึ้นผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งคนจะมองในมุมชัยชนะทางอุดมการณ์มากขึ้นเมื่อใกล้ถึงวันเลือกตั้ง และอนาคตใหม่สามารถแสดงความเป็นพรรคได้อย่างชัดเจนกว่าพรรคอื่น ดังนั้นเมื่อเป็นประชาธิปไตยเป็นทางตรงมากขึ้น พรรคใดที่ชัดเจนมากก็จะยิ่งได้เปรียบ

ส่วนเรื่องความแตกต่างทางความคิดของคนทั้งสองรุ่นมีอยู่ในอดีตและดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน แต่ก่อนเรายังอยู่ในระบบและหลักการเดียวกัน แต่ตอนนี้เราอยู่ในระบอบที่อีกส่วนไม่ได้อยู่ในหลักการ จึงหาทางออกยากขึ้น แต่ทำไมคนรุ่นใหม่จึงเสียงดังขึ้นมา ก็เพราะมีพรรคการเมืองที่สกัดเจตนารมณ์ของคนกลุ่มนั้นได้

ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พรรคการเมืองอื่นก็จะเริ่มแสดงอุดมการณ์เชิงประจักษ์มากขึ้น แต่อาจจะคนละแนวทางกับอนาคตใหม่ ส่วนพรรคเพื่อไทยพยายามเปลี่ยนการเมืองเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบาย ไม่แข่งที่ตัวเลขเบี้ย และพยายามเพิ่มส่วนผสมของกรรมการบริหารพรรคทั้งคนรุ่นใหม่และเก่าให้มากขึ้น ผสานความร่วมมือเครือข่าย ทั้งระดับเยาวชนและนักศึกษา เราเน้นความกลมกล่อมเพราะพรรคการเมืองไม่ควรสะท้อนเพียงจุดใดจุดหนึ่ง แต่ต้องสะท้อนทุกจุด ทุกความต้องการของสังคมให้มาอยู่ในพรรคเดียวได้

พริษฐ์ วัชรสินธุ

อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์

ได้ตัดสินใจถอนตัวออกมาจากพรรคประชาธิปัตย์ และกำลังมองหาบทบาทที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศนี้ ทั้งนี้ การเมืองไทย 10-15 ปีที่ผ่านมา มีสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นและสิ่งเก่าที่ยังอยู่อย่างไรบ้าง ต้องแยกเป็น 2 ประเด็นคือ ส่วนของระบบ และส่วนของสังคมที่ขับเคลื่อนโดยประชาชน ในส่วนระบบนั้น ถ้าถามว่ามีอะไรใหม่หรือไม่ การเมืองได้ถูกเปลี่ยนให้ดีขึ้นหรือไม่ ต้องย้อนไปดูว่าในอดีตที่มีการผลักดันให้ปฏิรูปการเมือง เวลานั้นประชาชนกังวลเรื่องอะไร ซึ่งจะพบว่าคนกังวลเรื่องการซื้อเสียง การใช้อำนาจรัฐมาดึงดูดนักการเมืองจากพรรคอื่น การเขียนกติกาที่ไม่เป็น
กลาง การแทรกแซงสื่อและองค์กรอิสระ การใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเมืองในช่วงการเลือกตั้ง เหล่านี้คือเหตุผลที่ตนต้องออกจากพรรคประชาธิปัตย์ เพราะไม่สามารถเห็นด้วยได้กับการสนับสนุนพรรคที่ตั้งเป้าตอนแรกว่าจะปฏิรูปการเมือง แต่ท้ายสุดแล้วไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรเลยในเชิงระบบ และมีพฤติกรรมแทบจะเหมือนกันกับสิ่งที่เขาเคยบอกว่าจะต่อสู้ ดังนั้น ในเชิงระบบประชาธิปไตย เป็นเรื่องน่าเสียดายที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนเพียงบุคลากรบางคนเท่านั้น และบางเรื่อง เราก็ถดถอยเสียด้วยซ้ำ เช่น การมี ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้ามาเลือกนายกฯ หรือการตีความการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ที่สังคมตีความว่าเป็นการทำให้ฝั่งหนึ่งได้เปรียบ นี่คือสิ่งที่หนักหนาสาหัสกว่า 10-15 ปีก่อนหน้านี้ด้วยซ้ำ

แต่ในทางกลับกัน ในเชิงสังคมที่ขับเคลื่อนโดยประชาชนกลับมีความหวังมากขึ้น อิทธิพลของโซเชียลมีเดียเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับประชาชน ในวงการธุรกิจ เราอาจซื้อสินค้าจากข้างบ้าน การเข้าถึงข้อมูลเป็นระบบอนาล็อก แต่ตอนนี้มีทางเลือกเยอะมาก เข้าถึงสินค้าที่ดีและหลากหลายมากกว่าเดิม พรรคการเมืองก็คล้ายกับร้านค้าที่พยายามขายแก่ประชาชนว่ายาตัวไหนจะดีที่สุดสำหรับประเทศไทย และในฐานะผู้สมัครเขตที่ทำงานร่วมกับทีมงานที่หลายคนมีประสบการณ์การเมืองเยอะมาก ก็มีการแลกเปลี่ยนและต่อสู้ทางความคิดกันตลอดเวลาว่าเราจะสื่อสารนโยบายและอุดมการณ์อย่างไร หลายคนที่มีประสบการณ์แต่อาจไม่ได้คุ้นเคยกับเทคโนโลยี ก็จะบอกให้ทำเหมือนเดิม เคาะประตูทุกบ้าน เพราะถ้าเขาไม่เห็นคุณ เขาก็ไม่เลือก แต่ตนเห็นต่างว่าบางคนแม้เจอตัวจริงของเราแค่เพียง 5 นาที จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเสนออะไร จึงต้องบอกว่ามันถึงเวลาแล้วที่จะใช้เวลามากขึ้นกับการทำโซเชียลมีเดียดีๆ

ตนไม่เคยเชื่อโพล และไม่ตกใจกับผลการเลือกตั้งที่สอบตก ทุกครั้งที่ลงพื้นที่ เราได้เจอคนเพียงไม่กี่คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และน้อยคนมากที่บอกว่าจะเลือกอนาคตใหม่ แต่ตนก็ไม่เชื่อว่าอนาคตใหม่จะไม่มีคะแนนในเขตนั้น เพราะเมื่อดูในโซเชียลมีเดีย พวกเขามีผู้สนับสนุนอยู่เสมอ ดังนั้น ถ้าเรายังใช้วิธีการเดิม อาจไม่สามารถเข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ที่แท้จริงแล้วไม่ได้อยู่ที่บ้าน นี่เป็นเรื่องน่ายินดีที่ได้เห็นว่าการสื่อสารเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่หลายคนอาจไม่สามารถเข้าถึงนักการเมืองในพื้นที่ แต่เขาเข้าถึงข้อมูลและใช้มันเพื่อประกอบการตัดสินใจ ฉะนั้น ไม่ว่าระบบจะชะลอตัวไปเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าสังคมประชาธิปไตยจะก้าวหน้าขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image