บทนำ : เมืองไร้ความปลอดภัย

เหตุการณ์เครนก่อสร้างโรงแรมริเวอร์การ์เด้นหักโค่นและมีแผ่นเหล็กก่อสร้างร่วงลงมาใส่หลังคากันสาดลานอเนกประสงค์ของโรงเรียนอัสสัมชัญ คอนแวนต์ กรุงเทพมหานคร ทำให้นักเรียนได้รับบาดเจ็บนั้น สะท้อนภาพความประมาทของหน่วยงานภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐในการสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นแก่พลเมืองหลายประการ ประการแรก อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นถือเป็นครั้งที่ 5 ที่เกิดกับทางโรงเรียนตั้งแต่มีการก่อสร้างอาคารโรงแรมดังกล่าว โดย 2 ครั้งแรกเป็นอุบัติเหตุเล็กน้อย ครั้งที่ 3 ไปแจ้งความ เพราะมีน้ำปูนหล่นลงมาขณะยกเครนโดนห้องน้ำเสียหาย ครั้งที่ 4 มีแท่งเหล็กหล่นมา จึงไปแจ้งความอีกครับ

ประการที่สอง การแจ้งความเมื่อเกิดอุบัติเหตุครั้งที่ 4 ได้ไปร้องเรียนที่ฝ่ายโยธา สำนักเขตบางรัก แต่เจ้าหน้าที่บอกว่าจริงๆ แล้วถ้าไม่มีคนบาดเจ็บล้มตายก็ไม่น่ามีประเด็นอะไร ซึ่งภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งที่ 5 นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร ได้มีคำสั่งย้ายนายภัทรกร รังษีภโนดร หัวหน้าฝ่ายโยธาเขตบางรัก ออกจากพื้นที่ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนเป็นต้นไป โดยคำสั่งดังกล่าวระบุว่าให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ฐานปล่อยปละละเลยให้มีการลักลอบก่อสร้างผิดกฎหมาย จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ อีกทั้งเหตุการณ์วัสดุก่อสร้างตกหล่นที่เกิดขึ้นไม่ใช่ครั้งแรกที่มีประชาชนได้รับอันตราย

ประการที่สาม เมื่อ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงตรวจสอบพื้นที่ก่อสร้างพบว่าอาคารดังกล่าวขออนุญาตปรับปรุงอาคารกับสำนักการโยธา กทม. และพบมีการก่อสร้างต่อเติมและดัดแปลงอาคารผิดกฎหมาย สำนักการโยธา กทม.จึงไม่ได้ออกใบอนุญาตให้ พร้อมกับให้กองควบคุมอาคารร่วมกับสำนักงานเขตบางรักลงพื้นที่ตรวจสอบ โดยผู้อำนวยการสำนักงานเขตบางรักได้มีการสั่งระงับการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน แต่ทุกอย่างก็ยังดำเนินการต่อเนื่องและมีปัญหาเกิดขึ้น และ ประการที่สี่ หลังจากมีการตรวจสอบสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุพบว่าผู้ขับเครนไม่ได้รับอนุญาตให้ขับเครน และมีความเห็นว่าเป็นความผิดพลาดของผู้ขับเครน ซึ่งขณะนี้หลบหนีไปแล้ว ยังไม่ติดต่อขอมอบตัว

เมื่อไล่ลำดับทั้่งหมดพบความผิดพลาดที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนจากการก่อสร้างดังกล่าวหลายประการ ทั้งเรื่องการขาดจิตสำนึกถึงความปลอดภัยของชีวิตของฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างและควบคุม การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่มีเจตนาทำให้เกิดความปลอดภัย ซึ่งอาจจะรวมไปถึงข้อกฎหมายที่มีช่องโหว่ ดังนั้น นอกจากจะใช้มาตรการกฎหมายดำเนินการกับผู้ที่ฝ่าฝืน จับกุม ส่งฟ้องผู้ที่กระทำความผิดแล้ว ยังต้องหาวิธีแก้ไข สร้างจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าของชีวิต มีวินัยในเรื่อง “ปลอดภัยไว้ก่อน” เพื่อป้องกันมิให้การกระทำของเราเป็นอันตรายต่อผู้อื่น ต้องไม่ทำให้กรุงเทพฯถูกครหาว่าเป็นเมืองที่ไร้ความปลอดภัย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image