ชำแหละนโยบายรบ.‘บิ๊กตู่’ อะไรเร่งด่วน‘ก่อน-หลัง’!?

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการกรณีรัฐบาลใหม่ร่างนโยบายในด้านต่างๆ และเตรียมจะแถลงต่อรัฐสภาภายในเดือนกรกฎาคมนี้

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

นโยบายวาระเร่งด่วนของรัฐบาล จะให้บรรลุผลเป็นรูปธรรมในระยะเวลาสั้น คิดว่ายาก นโยบายคร่าวๆ ของรัฐบาล 4-5 ประการ จะเห็นผลได้นั้น ใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 1 ปี แต่ในทางการเมืองทางสังคม สามารถมีนโยบายเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เรื่องนี้รัฐบาลยังไม่ได้ให้ความสำคัญเท่าที่ควร อาทิ ปัญหาหนี้สินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ปัญหาเหล่านี้เราสามารถใช้กลไกอำนาจรัฐในการที่จะทำให้เกิดกระบวนการลดหรือประนอมหนี้ได้ เพราะโยบายเหล่านี้สามารถทำให้คนมีความรู้สึกร่วมว่ารัฐบาลมีความจริงจัง เอาใจใส่ต่อปัญหา จะทำให้ความรู้สึกการขับเคลื่อนนโยบายมีแรงสนับสนุน
แต่สิ่งที่รัฐบาลกำหนด 4-5 ประเด็น ไม่สามารถเกิดผลเป็นรูปธรรมได้ทันที ประกอบกับปัญหาบางประการเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างไม่สามารถสำเร็จได้ภายในระยะเวลาสั้น ต้องใช้เวลา ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขกฎหมายหรือปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและสังคมภายนอก สิ่งที่รัฐบาลน่าจะรีบทำอย่างเร่งด่วนคือ นโยบายที่มีผลต่อสถานการณ์ปัญหารุนแรงเฉพาะหน้าก่อน เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาเรื่องปากท้อง พืชผลทางการเกษตร
เมื่อเป็นรัฐบาลร่วมถึง 19 พรรค การจะนำนโยบายของทุกพรรคมารวมกันทั้งหมด เป็นเรื่องยาก รัฐบาลต้องทำเป็นกรอบกว้างๆ ยกตัวอย่างด้านเศรษฐกิจ ไปดูนโยบายด้านเศรษฐกิจของพรรคต่างๆ ว่าเรื่องใดไปด้วยกันได้ ก็นำมารวมกัน แต่บางนโยบายมีความแตกต่าง ก็ต้องมาพิจารณาเฉพาะ
ส่วนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าดูจากสถานการณ์ทางสังคม ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลกลับมีท่าทีนิ่งเฉย ถามว่าทำไม ก็อาจเป็นเพราะด้านหนึ่งของรัฐบาลชุดนี้มีความสัมพันธ์ค่อนข้างสูงกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ รัฐบาลเกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เขาอาจจะมีความคิดจะแก้ แต่คงไม่ทำทันที
ทั้งนี้ ผลสำรวจความเห็นประชาชนชี้ให้เห็นว่ามีปัญหา ต่อไปหากรัฐบาลบริหารงานภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะเกิดปัญหา คิดว่าแม้จะไม่อยู่ในวาระเร่งด่วน แต่ต้องส่งสัญญาณ เพื่อแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลรับฟังความคิดเห็นประชาชนต่อกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

Advertisement

 

สุขุม นวลสกุล
อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะบรรจุนโยบายใดเข้าไปเป็นนโยบายของรัฐบาลบ้าง แต่ดูในเบื้องต้นเป็นไปได้สูง ว่ารัฐบาลจะนำหลายนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชนมาใช้จริงๆ เช่น แนวทางการแก้ไขปัญหาพืชผลทางการเกษตร การแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ค่าแรงขั้นต่ำ รวมไปถึงนโยบายด้านกัญชาของพรรคภูมิใจไทย
ส่วนเรื่องเดียวที่ยังไม่ชัดเจน คือ ประเด็นทางการเมืองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นข้อเสนอจากพรรคประชาธิปัตย์ แต่เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่ใช่เรื่องด่วนสำหรับนโยบายของรัฐบาล เพราะหากดูจากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน พบว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ไขมากสุดคือเรื่องของปากท้อง
จากนี้ต้องรอดูว่านโยบายของแต่ละกระทรวงจะใช้แนวทางของพรรคการเมืองใดเป็นหลัก เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หากใช้นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ แล้วพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา พอใจ ทุกอย่างก็จบ ไม่มีปัญหา และสิ่งที่ต้องดูกันต่อไปคือนโยบายที่ประกาศใช้นั้น จะได้ผลหรือไม่
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อมีการร่วมรัฐบาลแล้ว ปัญหาต่างๆ จะลดราวาศอกลงไป พรรคการเมืองต่างๆ จะไม่ก่อปัญหาแย่งกันจนทำให้รัฐบาลพัง เพราะนั่นเท่ากับการฆ่าตัวตาย
สิ่งที่รัฐบาลใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องพึงระวังคือการเฝ้าจับตาดูของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะประชาชน เพราะรัฐบาลนี้ถือว่ามาจากการเลือกตั้ง มีฝ่ายค้านตรวจสอบ ไม่เหมือนในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องระวังพอสมควร เช่น การใช้จ่ายงบประมาณ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองนั้น บางครั้งก็ต้องใช้เงิน เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ปากท้องของประชาชนดีขึ้น บางครั้งนโยบายก็จะเหมือนกับการแจกเงิน แต่เมื่อมีฝ่ายค้านแล้วเชื่อว่าการควบคุมตรวจสอบย่อมจะดีกว่าที่ผ่านมามาก
การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องจะเป็นตัวบ่งชี้ว่ารัฐบาลนั้นจะอยู่ได้หรือไม่ แต่กระนั้นจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่เห็นว่ามีนโยบายใดจะสร้างผลงานเด่นให้กับรัฐบาลชุดนี้ เพราะรัฐบาลใหม่นั้นไม่ต่างจากรัฐบาลชุดเดิมมากเท่าไหร่ โดยไม่คิดว่าประชาชนจะพอใจในด้านใดมากไปกว่าด้านของความสงบเรียบร้อย ดังนั้น ความท้าทายของรัฐบาลใหม่คือการแก้ไขปัญหาปากท้อง โดยภายใน 3-6 เดือน หากปัญหาของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข รัฐบาลก็จะเจอศึกหนัก ได้รับการกดดันให้มีการเปลี่ยนแปลง และรัฐบาลนี้ไม่มีเวลาที่จะฮันนีมูน
พีเรียดแล้ว

Advertisement

 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในภาพรวมของร่างนโยบาย ทุกปัญหาเป็นเรื่องด่วนทั้งนั้น ประเด็นหลักจะอยู่ที่สวัสดิการ ค่าแรง และต้นทุน เป็นเรื่องธรรมดาของรัฐบาลผสม ปัญหาใหญ่ต้องเผชิญคือฉันทานุมัติของสังคมและพรรคการเมืองว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร การแก้รัฐธรรมนูญก็เป็นเรื่องใหญ่ และสะท้อนสถานการณ์ทางการเมืองไทย เพราะที่ผ่านมากว่าจะตั้งรัฐบาลได้ใช้เวลาหลายเดือน เพราะไม่ยอมรับหลักพื้นฐานประชาธิปไตยเสียงข้างมาก แต่พยายามจะขยับให้พรรคเสียงข้างน้อยได้เข้ามา จึงเป็นปัญหาว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เหมือนรัฐธรรมนูญอนุญาตให้พรรคเสียงข้างน้อยเป็นรัฐบาลได้ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาล และ ส.ว.ที่รัฐบาลที่ไปเลือกมา จึงยากจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ประชาธิปัตย์เองก็ไม่ได้เป็นพรรคเสียงข้างมาก
ต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 มีความพยามยามจะแก้ไขสัดส่วนของ ส.ว. แต่ในที่สุดถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นกิจกรรมมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรัฐ เป็นสัญญาณไม่ดีนักต่อความพยายามริเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ไม่ได้มาจากฝั่งรัฐบาล
ปัญหาที่เป็นเรื่องด่วนมีมาก เป็นภาพสะท้อนว่า 1.จะปรองดองกันอย่างไร เพราะยังไม่เห็นท่าทีจะขยับ นี่คือโจทย์ใหญ่ทุกคนไม่ส่งเสียงดังออกมา ยกเว้นพรรคฝ่ายค้านและคนได้รับผลกระทบโดยตรง 2.ปัญหาปากท้อง เป็นเรื่องผลประโยชน์ที่สัมพันธ์กันกับกลุ่มทุนที่เข้าไปช่วยสนับสนุนรัฐบาล และ 3.ปัญหานโยบายเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กับนโยบายการเกษตรอื่นๆ เช่น ราคายางตกต่ำ ราคาข้าวตกต่ำ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญเข้าใจปัญหาและสามารถเสนอทางออกได้ เงื่อนไขทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยสำหรับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองซึ่งยังไม่เกิดขึ้น ถึงแม้รัฐบาลเองจะเคยพูดถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่หากปราศจากฉันทานุมัติจากฝ่ายรัฐบาลและ 250 ส.ว.ก็ยากจะเกิดขึ้นได้เพราะต้องใช้เสียงข้างมากแบบพิเศษในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
สิ่งที่อยากเห็นที่สุดในตอนนี้ แน่นอนว่าเป็นเรื่องการปรองดองและการสร้างสันติสุข แม้ไม่ใช่เรื่องที่พูดกันง่ายนัก แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ยังเป็นเรื่องที่พูดกันเงียบ อย่างอื้ออึง

 

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

เป็นมติร่วมกันในเบื้องต้นว่าพรรคร่วมรัฐบาลมองปัญหาปากท้องและความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ เรื่องการกระตุ้นราคาพืชผลทางการเกษตรถือเป็นนโยบายหลักที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน แนวทางการนำนโยบายโดยเฉพาะเรื่องกัญชาเสรีเข้าบรรจุในร่างนโยบายสะท้อนนิมิตหมายอันดีในเรื่องทิศทางการทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพและได้ประโยชน์ร่วมกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล จึงสามารถจินตนาการล่วงหน้าได้ว่าอนาคตการตัดแข้งตัดขาหรือขัดกันซึ่งผลประโยชน์ระหว่างพรรคร่วมไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะการที่นายกรัฐมนตรีเรียกปฐมนิเทศคณะรัฐมนตรีแน่นอนว่าจะต้องมีข้อตกลงร่วมกัน และแสดงว่ามีการพูดคุยกันระยะหนึ่งแล้ว
ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นรองที่หลังจากทำงานไป 1 ปี อาจจะเป็นเงื่อนไขการต่อรองทางการเมืองมากกว่า การที่ประชาธิปัตย์บรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นนโยบายหลักในการหาเสียงของพรรคเป็นการประเมินสถานการณ์ ณ ขณะนั้น ว่าทิศทางการได้เปรียบ-เสียเปรียบทางการเมืองของตนเป็นอย่างไรและใช้จุดนี้มาสร้างแรงกดดันทางการเมือง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการใช้เป็นเครื่องมือเพื่อหยั่งเชิงเรื่องกาลเทศะทางสังคมมากกว่า หากผู้คนในสังคมไม่เอาด้วยก็จะถูกตำหนิว่าเล่นเกมทางการเมืองเกินไป เขารู้ทิศทางลมเป็นอย่างดีว่าพรรคร่วมโดยเฉพาะประชาธิปัตย์ที่เคยบรรจุเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะอยู่ในภาวะที่รอได้
จึงเป็นหลักประกันให้เชื่อได้ว่ารัฐบาลชุดนี้น่าจะประคองอยู่ด้วยกันไปได้ค่อนข้างนาน การซื้อเวลาอยู่ในภาวะที่ต่างฝ่ายต่างสามารถได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน ประชาธิปัตย์สามารถตอบกับเครือข่ายหรือฐานเสียงมวลชนว่าพรรคได้พยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้ ในขณะเดียวกันพลังประชารัฐที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากรัฐธรรมนูญก็รู้ว่าสามารถทอดระยะเวลาการศึกษาได้พอสมควร ที่สำคัญยังมีกลุ่มวุฒิสมาชิกที่ได้ประโยชน์ทางอำนาจจากบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญมาเป็นตัวกลางเพื่อรับกระสุนการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง หรือรับเผือกร้อนแทน
ในขณะที่พรรคร่วมจะได้ประโยน์ในการอ้างว่าได้บรรลุวัตถุประสงค์และมีเจตนาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว แต่อาจจะติดอุปสรรคขวากหนามจากวุฒิสมาชิก หรือกระทั่งนำไปสู่การทำประชามติซึ่งก็ไม่สามารถเป็นหลักประกันได้ว่าจะผ่านหรือไม่ กล่าวง่ายๆ คือมีเวลาพอสมควรที่จะนำไปสู่จุดของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
การที่รัฐบาลชุดนี้มองเรื่องการแก้ปัญหาปากท้องและขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจก่อน เพราะเป็นเรื่องที่สามารถสร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ได้เร็วกว่านโยบายอื่นๆ เรื่องแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้ระยะเวลาและต้องถามความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก คนที่เข้ามาพยามยามผลักดันย่อมมีนัยยะหวังผลทางการเมืองทั้งสิ้น
เชื่อว่าฝ่ายค้านน่าจะโจมตีภาพรวมมากกว่าตัวนโยบาย โดยเฉพาะตัวบุคคลที่มาบริหารตำแหน่งกระทรวง การจัดสรรรัฐมนตรีที่เป็นที่เคลือบแคลงทางสังคมจะกลายเป็นหมู่บ้านกระสุนตก ในขณะเดียวกันเรื่องนโยบายสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้เป็นเรื่องปกติ แต่การที่จะดิสเครดิตหรือลดความน่าเชื่อถือได้ง่ายและเร็วที่สุด และสร้างแรงกระเพื่อมในทางสังคมได้คือการวิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่เข้ามารับผิดชอบด้านนโยบาย โดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ เห็นผลชัดที่สุด สิ่งที่จะเป็นแรงกดดันอย่างสูงของผู้ทำหน้าที่คือการ
กระตุ้นราคาพืชผลทางการเกษตรให้เป็นไปตามที่โฆษณาล่วงหน้าไว้เพื่อพิสูจน์ความเชื่อมั่น
ประเด็นต่อมาคือการรับมือภัยแล้งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะราคาพืชผล การเตรียมน้ำสำรอง ระบบทดน้ำชลประทานในพื้นที่ภาคกลางหรือพื้นที่การเกษตรที่จะส่งผลต่อความนิยมชมชอบหรือการวางแผนล่วงหน้า หรือแม้กระทั่งการวางแผนแก้ไขน้ำท่วมซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่รัฐบาล คสช.แก้ไม่ได้และถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอด ทั้งการแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ กทม. หรือพื้นที่เมืองใหญ่ที่ยังไม่เห็นการแก้ไขเป็นรูปธรรม
ดังนั้น การแก้ปัญหาเร่งด่วนไม่ใช่เพียงแค่การผลักดันนโยบายใหม่ แต่ยังมีการแก้ไขปัญหาที่คั่งค้างและการรับมือปัญหาที่จะเกิดขึ้น หากจะปรับเปลี่ยนแก้ไขนโยบายก็ยังพอมีเวลา เชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้จะต้องอยูด้วยกันเพื่อให้ผลงานออกมามีประสิทธิภาพและออกดอกออกผลให้เร็วที่สุด เพราะสถานการณ์กำลังบีบบังคับให้พรรคร่วมต้องมีความสามัคคีกันเป็นพิเศษ
นโยบายที่อยากเห็นที่สุดคือการแก้ไขแผนเผชิญเหตุ เช่น ภัยแล้งจะเกิดในอนาคต จะมีผลระทบต่อพื้นที่ทำการเกษตร และราคาพืชผล ถ้าไม่สามารถแก้ไขเยียวยาส่วนนี้ได้ก็อาจเกิดการรวมกลุ่มชุมนุม จะมีผลต่อความนิยมและความน่าเชื่อถือเป็นอย่างมาก แม้หลายคนจะบอกว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่นั่นก็หมายถึงความไร้ประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐและภาคการเมืองที่ได้ใส่ใจฐานเสียงส่วนใหญ่ จึงต้องแก้ไขปัญหาล่วงหน้าในประเด็นนี้ ทั้งการทดน้ำ กักน้ำเพื่อใช้สำรองในช่วงฤดูร้อน แน่นอนว่ากระทรวงเกษตรฯจะเป็นกระทรวงแรกๆ ถูกจับตาทุกวี่วันถึงความมีประสิทธิภาพของผู้รับผิดชอบ และนโยบายแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นด้วย
ส่วนนโยบายอาจก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ คือนโยบาย 425 บาท ค่าแรงขั้นต่ำ เพราะเป็นไปได้ว่าจะเกิดภาวะเงินเฟ้อ ไม่สอดรับกับภาวะสังคมในปัจจุบันที่การจับจ่ายซบเซา ไม่รู้ว่าเป็นเจตนาวางกลยุทธ์ทางการเมืองหรือไม่ ถึงให้หม่อมราชวงศ์
จัตุมงคล โสณกุล ไปคุมกระทรวงแรงงาน แน่นอนว่ากระทรวงแรงงานจะต้องเสนอหรือเห็นชอบพิจาณารายได้ขั้นต่ำไปยังกระทรวงการคลังด้วย ซึ่งคำแนะนำในฐานะที่ท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ผู้ว่าการแบงก์ชาติเก่า ก็ไม่น่าจะเห็นดีเห็นงามกับนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ แม้ว่าจะไม่กระทบกับเสถียรภาพของพรรคร่วม แต่เจตนาการวางหม่อมราชวงศ์จัตุมงคล ก็เพื่อให้รู้ว่าทำไม่ได้ โดยใช้หลักการและเหตุผลของนักเศรษฐศาสตร์มาสร้างคำอธิบายให้เกิดความน่าเชื่อถือและเกิดการยอมรับ และให้สังคมคิดว่าจะต้องรอต่อไป ต้องทำการศึกษาไปก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image