รายงาน : วิพากษ์ระเบิดกทม.ปี’62 หน้าเดิม-โยงการเมือง?

หมายเหตุ – ความคิดเห็นของนักวิชาการ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และนักการเมือง กรณีเหตุการณ์ระเบิดในพื้นที่กรุงเทพฯ 5 จุด 9 เหตุการณ์ โดย พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ออกมาให้ความเห็นระบุว่าเป็นฝีมือของกลุ่มคนเดิมๆ มีแนวคิดเดิมๆ คล้ายกับเหตุการณ์ระเบิดในปี 2549

 

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร

Advertisement

ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย (พท.) และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)

เหตุการณ์ระเบิดหลายจุดในพื้นที่ กทม. ก่อนอื่นขอประณามเหตุวางระเบิดครั้งนี้ เพราะอยู่ในช่วงที่ประชาธิปไตยกำลังเดินหน้า เท่าที่ฟังสถานการณ์ล่าสุด พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ออกมาสื่อสารต่อพี่น้องประชาชน ว่าจริงๆ แล้วกองทัพและหน่วยความมั่นคงได้แจ้งเตือนว่าจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อยู่แล้ว อย่างน้อยก็มีความมั่นใจว่าฝ่ายความมั่นคงได้มีหน่วยงานด้านข่าวกรองและเบาะแส

แต่อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ก็ยังเกิดขึ้น สิ่งที่สามารถตั้งสมมุติฐานได้ตอนนี้มาจากมูลเหตุอะไร อย่างแรกคือ การดิสเครดิตรัฐบาล อย่างที่สองคือเป็นการเบี่ยงเบนประเด็นที่สถานการณ์มีความเร่าร้อนที่เกิดขึ้นกับผู้นำรัฐบาลในขณะนี้ หากวิเคราะห์ในส่วนแรกเมื่อฝ่ายความมั่นคงมีเบาะแสส่วนนี้ฝ่ายความมั่นคงจะต้องหาสาเหตุมาให้ได้ เพราะว่าจะมีความสัมพันธ์กับสมมุติฐานที่สอง หากเราสามารถจับตัวผู้กระทำความผิดได้ก็จะสามารถรู้ได้ว่ามีการดิสเครดิตรัฐบาลเกิดขึ้น และทราบถึงมูลเหตุที่แท้จริง ในส่วนนี้ก็จะจบไป ขณะเดียวกันมันก็จะไปกลบในข้อสงสัยที่พี่น้องประชาชนมีข่าวที่รัฐบาลถูกรุมเร้าหรือเปล่า ในตัวนายกรัฐมนตรีทั้งเรื่องการถวายสัตย์ปฏิญานตน คุณสมบัติ หรือเศรษฐกิจ ตอนนี้ได้แต่ภาวนาให้ฝ่ายความมั่นคงจับตัวผู้กระทำผิดได้

Advertisement

ลักษณะการก่อเหตุครั้งนี้ ชัดเจนว่ามีการเตรียมตัว เพราะมีสิ่งบอกเหตุอยู่แล้วจากเหตุการณ์หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา แม้อาจจะไม่ใช่ระเบิดจริง จนต่อเนื่องมาถึงวันนี้ซึ่งต่อเนื่องหลายจุด และจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการทำระเบิด ส่วนจะมีผู้ร่วมขบวนการมากหรือน้อยก็ต้องไปดูที่วัตถุระเบิดว่าเป็นในลักษณะแสวงเครื่องหรือมีการตั้งเวลาไว้หรือไม่ หากใช้ระบบการตั้งเวลาก็ไม่จำเป็นต้องใช้คนมาก หากไม่ใช่การตั้งเวลาก็จำเป็นต้องใช้คนมากขึ้น ส่วนประเด็นที่ ผบ.ทบ.ตั้งประเด็นไว้ว่ามีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์เมื่อปี 2549 ก็ต้องรอฟังการอธิบายจากฝ่ายความมั่นคง แต่ยืนยันว่าคนที่ก่อเหตุมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องระเบิด ซึ่งก็มีจำนวนกลุ่มไม่มากที่สามารถทำแบบนี้ได้ แต่ระยะหลังมาเราปฏิเสธไม่ได้ว่าสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีเหล่านี้ไปปฏิบัติได้ง่าย ก็อาจจะมีกลุ่มใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาดำเนินการได้

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมด ตั้งแต่หน้า ตร. มาที่ศูนย์ราชการ กองบัญชาการกองทัพไทย ในส่วนนี้มีความสัมพันธ์กันทั้งหมด และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เข้ามารับตำแหน่งดูแลในเรื่องความมั่นคง ก็มีความเชื่อมโยงถึงความพยายามดิสเครดิต หรือความพยายามบิดเบือนประเด็นต่างๆ ส่วนเป็นความพยายามในการลองของ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่นั้น ในส่วนนี้ก็คงปฏิเสธไม่ได้ และยกให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายความมั่นคงในการสืบข้อเท็จจริง

ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นเพียงพอที่จะสร้างสถานการณ์หรือไม่นั้น อยากจะบอกว่ายังอยู่บน 2 สมมุติฐานที่กล่าวไปข้างต้น คือ พยายามดิสเครดิตและการเบี่ยงเบนประเด็นต่างๆ หากรัฐบาลไม่สามารถหาคำตอบมาได้อย่างชัดเจน พี่น้องประชาชนก็จะตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความตั้งใจเบี่ยงเบนประเด็นที่รัฐบาลถูกโจมตี ส่วนเป็นการเชื่อมโยงการก่อเหตุในภาคใต้หรือไม่นั้น หากฟังจากที่ ผบ.ทบ.พูดมันก็คือเป็นในลักษณะนั้น แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่ใช่ ผมยังให้น้ำหนักในเรื่องการพยายามดิสเครดิตรัฐบาลอยู่ เพราะมันมีมูลเหตุและเงื่อนไขที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ เพราะมีปัญหามาจากเรื่องความไม่ยุติธรรม เศรษฐกิจทุกข์ยาก ทำให้เกิดความไม่พึงพอใจที่สามารถทำให้คนก่อเหตุแบบนี้ได้ แต่ก็จะไม่ทิ้งประเด็นเรื่องภาคใต้ไป

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติและอดีตประธานคณะกรรมการรณรงค์หาเสียงและกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.)

กรณีการก่อเหตุระเบิดป่วนกรุงเทพฯหลายจุด เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ในฐานะประชาชนคนไทยต้องประณามการกระทำดังกล่าวของผู้ที่ก่อเหตุและผู้อยู่เบื้องหลัง เพราะเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ว่าจะมาจากเหตุจูงใจใดๆ ก็ไม่สมควร
ที่จะเกิดขึ้น

แต่สิ่งที่ผมกังวลคือ ท่าทีของฝ่ายผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องและต้องรับผิดชอบกับเหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้น การแสดงความคิดเห็น หรือท่าทีใดๆ ต่อกรณีดังกล่าวควรอยู่บนหลักฐานและข้อเท็จจริงที่พิสูจน์ได้ โดยเฉพาะท่าทีและความคิดเห็นของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ที่ออกมาให้ความคิดเห็นคล้อยหลังเสียงระเบิดได้ไม่นานว่า “ลักษณะเหตุการณ์รูปแบบการก่อเหตุคล้ายกับเหตุการณ์ในปี 2549 ที่เป็นกลุ่มคนเดิมๆ มีแนวคิดเดิมๆ และมาจากสำนักเดิมๆ” ส่วนตัวผมคิดว่าการออกมาให้ความคิดเห็นของ ผบ.ทบ.ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือว่าเป็นการพูดล้ำหน้าเกินหลักฐานและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งๆ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเจ้าหน้าที่ตำรวจยังสอบสวนและยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการว่าใครเป็นผู้ก่อเหตุตัวจริง

จึงอยากให้รัฐบาลในฐานะที่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบในคดีดังกล่าวต้องรีบคลี่คลายเหตุการณ์ระเบิดใน กทม.ให้ได้โดยเร็ว เพราะมิเช่นนั้นแรงกดดัน การวิเคราะห์และข้อสังเกตต่างๆ จากสังคมและฝ่ายต่างๆ จะพุ่งกลับไปยังรัฐบาลในฐานะที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะประชาชนจะเกิดคำถามขึ้นมาทันทีถึงความเชื่อมั่นต่อการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ประเด็นสำคัญคือ ฝ่ายผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรง หรือทางอ้อม การจะแสดงความคิดเห็นควรอยู่บนหลักฐานและข้อเท็จจริง ไม่ควรจะไปพุ่งเป้า กล่าวหา กลุ่มนั้น กลุ่มนี้ หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามทั้งๆ ที่ยังไม่มีหลักฐานรองรับ ประเด็นนี้อาจส่งผลให้การก้าวข้ามความขัดแย้งที่จะนำไปสู่ความปรองดองจึงยังไม่เกิดขึ้นเสียที ผมเห็นว่าผู้มีอำนาจควรเลิกวางระเบิดความชิงชังให้เกิดขึ้นในใจของกลุ่มที่ถูกมองว่าอยู่ฝ่ายตรงข้ามได้แล้ว

นอกจากนี้ เหตุการณ์ระเบิดที่เกิดขึ้น การให้ข่าวหรือการสื่อสารข้อเท็จจริงต่อสังคมและประชาชน ภาครัฐควรระบุให้ชัดเจนว่า ควรให้หน่วยงานที่รับผิดชอบในการคลี่คลายเหตุการณ์โดยตรงเป็นผู้ชี้แจงความคืบหน้าและข้อเท็จจริงต่อสังคม เพื่อป้องกันความสับสนในการให้ข่าวและแสดงความคิดเห็นที่ดิสเครดิตฝ่ายต่างๆ กันไปมา ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายเลย

 


จรัญ มะลูลีม

อาจารย์ประจำสาขาวิชาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ระเบิดหลอกจนมาเป็นระเบิดจริง ดูเหมือนว่ามีความเชื่อมโยงกัน เป็นการทดสอบความสามารถด้านการดูแลในเรื่องความสงบ ความมั่นคง และความปลอดภัยของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนายกรัฐมนตรีได้อาสาที่จะเข้ามาดูแลด้านความมั่นคง ด้านเศรษฐกิจ และอื่นๆ อีกหลายหน้าที่ ก็อาจจะเป็นกลุ่มก้อนที่ต้องการทดสอบความสามารถของรัฐบาลใหม่ก็เป็นได้ หรืออาจจะพูดได้ว่าเป็นการลองของเพื่อดูความสามารถภายใต้ระบอบที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มากกว่าการใช้อำนาจผ่านระบอบ คสช.ดังเช่นที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจคือ การวางระเบิดครั้งนี้ เป็นการลองของภายใต้หน่วยงานที่สำคัญของรัฐ ซึ่งรัฐเองก็น่าจะมีมาตรการดูแลความปลอดภัยที่เข้มงวดดีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ และนอกจากนี้ พบการวางระเบิดครั้งนี้เป็นไปเพื่อให้เกิดพื้นที่ที่มีการระเบิดมากขึ้น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้น แม้ว่าจะดูไม่รุนแรง ไม่ได้ส่งผลถึงขั้นมีผู้เสียชีวิต แต่ก็ถือว่ามีความถี่และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเกิดขึ้น โดยเฉพาะระยะหลังการท่องเที่ยวของไทยเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง ซึ่งเหตุการณ์นี้อาจจะส่งผลกระทบต่อผู้ที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยในด้านความรู้สึก หรือในทางจิตวิทยา ว่าประเทศไทยในช่วงนี้อาจจะไม่ปลอดภัย เหมือนกับช่วงที่เกิดระเบิดบริเวณราชประสงค์ ที่จะเห็นว่านักท่องเที่ยวหดหายไปเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน เมื่อมีเหตุนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจไทยกำลังมีปัญหา และเป็นช่วงนักท่องเที่ยวถดถอยลงไป ก็น่าจะไม่เป็นผลดีต่อรายได้ของประเทศ

อย่างไรก็ตาม การปกครองภายใต้นายกฯคนปัจจุบันซึ่งเข้ามาอยู่ในระบอบประชาธิปไตยแล้วนั้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผลงานที่รัฐบาลนำมากล่าวอ้างมากที่สุดก็คือ เรื่องการรักษาความมั่นคง ปลอดภัย ดังนั้นเมื่อมาเป็นรัฐบาลใหม่ ผลงานด้านนี้จึงถูกทดสอบตั้งแต่เริ่มต้นของการเป็นรัฐบาลว่าจะมีการจัดการอย่างไร ถือว่าเหตุการณ์ระเบิดในประเทศไทยมีมาเป็นช่วงๆ แต่เมื่อมีการดำเนินคดี ขอให้ได้ติดตามว่าใครเป็นผู้กระทำผิดที่แท้จริง มากกว่าจะรีบสรุป หรือโยนความผิดให้คนจากที่ใดที่หนึ่งต้องเป็นผู้รับผิดชอบเกือบทุกครั้งที่มีการระเบิดในกรุงเทพฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image