รายงาน : 3ปีประชามติ‘รธน.’ คนไทย‘ได้-เสียอะไร’

หมายเหตุ – เนื้อหางานเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาส 3 ปีประชามติ รัฐธรรมนูญ “3 ปีประชามติได้อะไร เสียอะไร เอาไงต่อ?” จัดโดยพรรคโดมปฏิวัติ ร่วมกับคณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ (คปอ.) ที่ ม.ธรรมศาสตร์
ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม

โภคิน พลกุล

ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ด้านนโยบายและแผนงานพรรคเพื่อไทย

กฎหมายเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้าง ถ้าเห็นว่าอะไรที่ไม่ดีต้องแก้ไข ยิ่งเรารู้ว่าผิด ยิ่งอยู่สูงเป็นนายกรัฐมนตรีต้องรีบแก้ไข นับตั้งแต่ปี 2550 สังคมไทยกำลังหลงกับวังวนจากการเขียนกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎเกณฑ์สูงสุดที่ไม่ได้ตอบโจทย์ให้กับสังคมไทยทั้งประเทศ แต่ตอบโจทย์คนแค่บางกลุ่มเท่านั้น เพราะสังคมนี้เป็นปัญหาแบบวัฒนธรรมอำนาจนิยม ชอบคิดอยู่ตลอดเวลา และคิดเสมอว่าเราจะมีฮีโร่มาช่วยเสมอ โดยไม่เคยทำให้ภาคประชาชนซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดใน 3 ส่วน คือภาครัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน
ซึ่งเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยเติบโตเลย ดังนั้น ถ้าภาคประชาชนไม่โตประเทศนี้ไปไม่ได้ และจะเจอปัญหามหาศาล

Advertisement

รัฐธรรมนูญต้องทำให้ภาคประชาชนโต ไม่ใช่โตแบบขอทาน แต่ต้องโตโดยที่เขาต้องดูแลกันเอง รับผิดชอบกันเองได้ ดังนั้น การเขียนรัฐธรรมนูญให้ตาย ถ้าไม่สร้างสังคมตัวเล็กให้โต รวมไปถึงเขียนให้ดีแทบตาย แต่เนื้อหากระบวนการไม่ชอบธรรม ก็ไม่มีทางที่ประเทศนี้จะเดินหน้าต่อไปได้ 3 โจทย์ที่ต้องแก้ไขในรัฐธรรมนูญคือ 1.อำนาจ ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง 2.นิรโทษกรรมตัวเองไว้ในรัฐธรรมนูญ และ 3.หน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ การปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญที่ใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำแนวนโยบายให้สอดคล้อง

ถามว่าแล้วพรรคการเมืองจะหาเสียงทำไม ในทรรศนะผมเห็นว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญจะต่อว่าฝ่ายค้านไม่ได้ เพราะตอนหาเสียงทุกพรรคพูดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งใช้ช่องทางของรัฐสภา โดยไม่กระทบต่อการบริหารประเทศของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม วันนี้การที่ฝ่ายค้านเสนอให้แก้รัฐธรรมนูญจะง่ายกว่ารัฐบาลเสนอ เพราะเสียงในสภาของรัฐบาลเฉพาะ ส.ส.มีเสียงไม่ถึงครึ่ง แต่ผมขอเชิญชวนทั้งรัฐบาล ส.ส.และ ส.ว.มา
ร่วมกันแก้ปัญหาประเทศ โดยให้ประชาชนร่วมกันคิดแล้วสภานำมาปฏิบัติ คิดว่าวิธีนี้จะทำให้ประเทศเดินไปได้

เหตุที่ไม่ได้พิจารณาประเด็นประชาชน 5 หมื่นคนเข้าชื่อยื่นต่อสภา เพราะจะเสียเวลาในขั้นตอนการตรวจสอบรายชื่อประชาชน บางครั้งใช้เวลานานถึง 2 ปี สภาชุดนี้อาจจะพ้นหน้าที่ไปเสียก่อน และอาจไม่ได้รับการพิจารณา แต่การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) วิธีการคือแก้มาตราที่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญให้มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อาจจะใช้เวลา 240 วัน เหมือนกับตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2540 จากนั้นเสนอเข้า ส.ส.ร.ทำประชามติ ทูลเกล้าฯ แบบนี้จึงจะเป็นรัฐธรรมนูญโดยประชาชน เห็นชอบโดยประชาชน ทุกอย่างก็จะยุติ ซึ่งเป็นกระบวนการสู่ความปรองดองที่ถูกต้อง เป็นวิธีที่ทำให้ประเทศหลุดจากกับดัก

Advertisement

กรชนก ธนะคูณ

รองเลขาธิการสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ

หลังจากที่มีการรรัฐประหารเมื่อปี 2557 ผู้ใช้แรงงานก็มีการพูดกันว่า หากการเมืองเปลี่ยนไป คนงานในโรงงานจะต้องเผชิญอะไรบ้าง และจะมีโอกาสที่จะได้ทราบ หรือเข้าใจในสิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการไปหรือไม่ แต่ต้องยอมรับว่า บางคนทำงานกินค่าแรงรายวัน บางคนทำงานเกินชั่วโมงในแต่ละวันด้วยซ้ำ การรับรู้จากสื่อจึงถือว่าน้อยมาก หลังจากมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อทำให้ประชาชนหลายคนจึงก็ไม่รู้ แม้จะให้ความรู้ แต่ก็น้อยคนมากที่จะเข้าใจ จนกว่าผลที่ตามมาจากรัฐธรรมนูญจะปรากฏผลออกมา

สาเหตุที่ต้องมาเป็นจำเลยในคดีในระหว่างการรณรงค์ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเมื่อน้องๆ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยมารณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ มาแจกใบปลิวให้ความรู้ประชาชนกับผู้ใช้แรงงาน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดี เราก็ไปช่วยแจกในส่วนที่เกี่ยวกับการลงทะเบียนใช้สิทธิประชามติล่วงหน้า เพราะมิเช่นนั้นจะอดโหวตเสียสิทธิกัน โดยไม่ได้ชุมนุมหรือใช้เครื่องเสียงแต่อย่างไร แต่ก็ถูกจับคุมขังไว้ในโรงพัก 1 คืน เหมือนโดนจับเล่นไพ่มา โดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำผิดอะไร เพราะไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา ก่อนจะถูกส่งตัวมาขึ้นศาลทหาร โดยที่ถูกตั้งข้อหาชุมนุมเกิน 5 คน ยุยงปลุกปั่นตาม ม.116 ป.อาญา และก็ผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติด้วย ล่าสุด ศาลทหารได้จำหน่ายคดีไปศาลสมุทรปราการแล้ว

วันนี้เราเห็นแล้วว่า สิ่งที่เป็นความเดือดร้อนที่มาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเยอะมาก คนตัวเล็กคนตัวน้อยโดยเฉพาะคนงานในโรงงานเวลาจะมีการยื่นข้อเรียกร้องต่างๆ ก็มักจะมีทหารเข้ามาสังเกตการณ์ รวมไปถึงการทำกิจกรรมอะไรก็แล้วแต่ก็ต้องไปขออนุญาต มี กอ.รมน.มาหา คุกคามจนถึงที่ทำงาน ดังนั้น หากสิ่งที่ดำรงอยู่ขณะนี้เราไม่สามารถมีสิทธิเสรีภาพที่มนุษย์ควรจะได้รับ นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เราจะร่วมรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญให้คนตัวเล็กตัวน้อยมีสิทธิมีเสียงอย่างเป็นธรรม โดยที่เราไม่ต้องเรียกร้องจากใคร

ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ทางศูนย์ทนายได้มีการประเมินทิศทางของการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ในอนาคตหากภาคประชาชนจะเริ่มรณรงค์เข้าชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะแม้ว่าโทษตามคำสั่ง คสช. 3/2558 ห้ามชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไปจะยกเลิกไปแล้ว รวมไปถึงทิศทางการจับกุมดำเนินคดีจะเปลี่ยนรูปแบบไปแล้วในขณะนี้ แต่จริงๆ แล้วยังมีการวางรูปแบบ หรือการใช้วิธีการอื่น โดยกฎหมายอื่นมาใช้ลิดรอนสิทธิของประชาชนอยู่ โดยเฉพาะ
อย่างยิ่ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ที่มีการนำมาใช้ในการดำเนินคดีมากขึ้น ทั้งๆ ที่ควรจะเป็นกฎหมายที่มีการส่งเสริมให้มีการชุมนุม แต่กลับมีเนื้อหาในการลิดรอนสิทธิ จำกัดการชุมนุม ที่ควรจะต้องมีการแก้ไข รวมไปถึง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และการเรียกไปคุยหรือการเปลี่ยนวิธี โดยการไปแถวบ้าน ทำให้หวาดกลัว ดังนั้น จึงคิดว่าทิศทางการดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่เหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในระหว่างรณรงค์รายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มมากขึ้น

รังสิมันต์ โรม

ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่

ขอตั้งฉายารัฐธรรมนูญ 2560 ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ 3 ขัง ขังแรก คือขังผู้เห็นต่าง เพราะระหว่างรณรงค์ประชามติมีประชาชนจำนวนไม่น้อยถูกจับกุมและดำเนินคดี หาว่าเราบิดเบือน ทั้งๆ ที่ในเอกสารรณรงค์ก็หยิบเอาเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญกับความเห็นแย้งมาประกบคู่กัน ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งที่ยังอยู่ในระหว่างการถูกดำเนินคดี ขังที่สอง คือขังผู้สร้าง เพราะได้ขัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะผู้สร้างให้อยู่กับเรา แต่ต้องยอมรับว่า กรณีการถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องมาเผชิญวิบากกรรมในสิ่งที่ตนเองสร้างมา รวมไปถึงถูกขังให้อยู่กับมรดก คสช.ทั้ง ส.ว.และยุทธศาสตร์ด้วย
ขังที่สาม คือขังประเทศไทยไม่ให้เดินไปไหน และอยู่กับมันอีกนานแสนนาน

ในฐานะ ส.ส.อนาคตใหม่ มีคิกออฟแคมเปญแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีจุดยืนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพียงแต่การแก้ทั้งฉบับต้องใช้เวลานาน จึงแบ่งให้มีการแก้ระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้น พรรคอนาคตใหม่ต้องการเสียง ส.ส.100 เสียง เพื่อยื่นต่อสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่วันนี้พรรคอนาคตใหม่มี 80 เสียง โดยต้องการยกเลิกบทบัญญัติที่รับรองประกาศและคำสั่ง คสช.ว่าถูกต้องตามกฎหมายและให้ยกเลิกบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับ ส.ว.

ระยะยาวเป็นเรื่องยากเพราะเกี่ยวกับสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องกลับไปที่ประชาชนว่าอยากให้รัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระอย่างไรบ้าง โดยเราต้องกลับไปหาประชาชนว่าเขาต้องการอะไร เพราะนับจากปี 2549 สังคมไทยหาฉันทามติไม่เจอ จนกระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์มาเคลมว่าเขาคือฉันทามติของสังคม โดยเฉพาะการแก้ไขความขัดแย้ง ทั้งที่จริง พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่ฉันทามติของสังคม แต่เป็นเพราะการรณรงค์ช่วงการทำประชามติรัฐธรรมนูญ ภาคประชาชนทำการรณรงค์ได้อย่างยากลำบาก เพราะมีการจับกุมดำเนินคดีกับคนเห็นต่างมากมาย ดังนั้น การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 7 สิงหาคม 2559 จึงไม่ใช่ฉันทามติของประชาชนแต่อย่างใด พล.อ.ประยุทธ์จะเอามาเป็นใบผ่านทางที่บอกว่าผ่านฉันทามติมาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เราไม่อยากทำรัฐธรรมนูญฉบับแก้แค้น ไม่ได้ต้องการสร้างความขัดแย้ง แต่ถ้าจะยุติต้องยุติภายใต้ระบอบประชาธิปไตย

พรรคอนาคตใหม่อยากเห็นการตั้ง ส.ส.ร. แต่ปัญหาคือการเสนอญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาท้ายที่สุดก็ต้องเจอเสียง ส.ว. 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 คน มาร่วมกระบวนการด้วยจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่หากไม่ได้จำกัดแค่ภาคการเมือง แต่รวมถึงภาคประชาชนด้วย ผมคิดว่าการถ่วงดุลเสียงของ ส.ว.อาจจะเป็นไปได้มากขึ้น หากประชาชนลงชื่อตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยอาศัยเสียงประชาชน 5 หมื่นรายชื่อ ดังนั้น วันนี้หากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะอาศัยภาคการเมืองอย่างเดียวไม่พอ เราต้องการทุกเสียงของพี่น้องประชาชนแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยกัน หากปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชนคงไม่มีทางทำได้เลย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image