รายงานหน้า2 : ธุรกิจขานรับ‘3แสนล.’ ‘พยุงศก.ในประเทศ’

หมายเหตุความเห็นของภาคเอกชนภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจเห็นชอบมาตรการกระตุ้นและดูแลเศรษฐกิจวงเงิน 3.1 แสนล้านบาท ครอบคลุม 3 ด้าน คือ ช่วยภัยแล้ง บรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และดูแลค่าครองชีพกลุ่มประชาชนรายได้น้อย โดยใช้งบกลางวงเงิน 1 แสนล้านบาท และเงินสินเชื่อจากแบงก์รัฐวงเงิน 2.07 แสนล้านบาท

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์
รองประธานกรรมการหอการค้าไทย

จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจครั้งแรก ได้มีการเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ใช้เม็ดเงินรวมทั้งระบบกว่า 3 แสนล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณของรัฐบาล 1 แสนล้านบาท และเงินทุนปล่อยกู้จากธนาคารของรัฐอีก 2.07 แสนล้านบาท แบ่งเป็น 3 ด้าน ได้แก่ 1.การช่วยเหลือภาคการเกษตรที่ประสบภัยแล้ง จำนวน 13 จังหวัด ด้วยการลดดอกเบี้ยเงินกู้ผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 2.มาตรการส่งเสริมการบริโภคภายในประเทศ เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยว รัฐบาลจะสนับสนุนประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปให้ใช้จ่ายข้ามจังหวัด รายละ 1,000 บาท ผ่านระบบ e money ของกรุงไทย พร้อมรับเงินคืน 15% เป็นต้น
และ 3.การลดภาระค่าครองชีพให้กับผู้มีรายได้น้อยด้วยการจ่ายเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ เริ่มเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ รวม 2 เดือน วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท เช่น การแจกเงินพิเศษให้กับผู้ถือบัตรทุกราย โดยผู้มีรายได้มากกว่า 1 แสนบาทต่อปี จะได้รับเงินคนละ 300 บาทต่อเดือน เป็นต้น มองว่าทั้ง 3 มาตรการดังกล่าว เป็นมาตรการที่คล้ายเดิม แต่มีส่วนช่วยทำให้เกิดการ กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศได้
จากการคาดการณ์พบว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะแย่มากๆ เพราะประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกกว่า 60% แต่เมื่อส่งออกในช่วงนี้มีแนวโน้มติดลบหนัก จึงส่งผลให้รัฐต้องเร่งออกมาตรการที่จะช่วยพยุงเศรษฐกิจในประเทศ แต่การเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะทำให้ประชาชนเสพติดการช่วยเหลือในแบบดังกล่าว จึงอยากให้รัฐระมัดระวังในเรื่องนี้ด้วย อย่าลืมว่าในช่วง 3 เดือนนี้มาตรการดังกล่าวไม่สามารถตอบโจทย์ได้ในทันที เพราะงบประมาณยังไม่ผ่าน จึงมองว่าอาจเป็นมาตรการที่ไม่เห็นผลได้ แต่ก็เข้าใจว่าในสถานการณ์แบบนี้จะต้องกระตุ้นกำลังซื้อของระดับฐานรากก่อน
ถามว่ามาตรการดังกล่าวเป็นวิธีที่ดีไหมก็ถือว่าเป็นวิธีที่ดีในระดับหนึ่ง แต่พ่อค้าแม่ค้าในระดับปานกลาง ปัญหาคือพวกเขาเหล่านั้นจะสามารถขายของได้หรือไม่ ผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้อยู่แล้ว รัฐอาจจะต้องเข้าไปช่วยเหลือหรือหามาตรการในการกระตุ้นให้ประชาชน มาซื้อของในร้านระดับปานกลางด้วย เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน
เรื่องของการกระตุ้นการท่องเที่ยว มองว่าเป็นการส่งเสริมในรูปแบบเดิม แต่ค่อนข้างเห็นด้วยกับมาตรการแจกเงิน 1,000 บาท ให้เที่ยวต่างภูมิลำเนาของตนเอง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวไม่เฉพาะเมืองรองแต่เป็นทุกจังหวัดของประเทศไทย ปัญหาต่อไปคือจะสร้างความน่าสนใจให้สถานประกอบการหรือโรงแรมในบางจังหวัดที่ไม่ค่อยเป็นสถานที่ยอดฮิตของนักท่องเที่ยวด้วยวิธีใดต่อไป
เบื้องต้นผมในฐานะประธานหอการค้าภาคกลาง ได้มีการพูดคุย เกี่ยวกับมาตรการดังกล่าวกับสมาชิกสภาหอการค้าภาคกลางพบว่า ในหลายพื้นที่ที่ต้องการทำให้เกิดการท่องเที่ยวในรูปแบบชุมชน หรือการท่องเที่ยวตามวัดหรือสถานที่ประวัติศาสตร์โดยใช้ชื่อศรัทธาทัวร์ มองว่าหากรัฐมีการส่งเสริมในเรื่องนี้มากขึ้นอาจสร้างความสนใจให้กับนักท่องเที่ยวและเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนต่อไป
“จากการที่รัฐได้ออกมาตรการทั้ง 3 ข้อออกมานั้น ผมในฐานะเอกชนไม่เคยคิดที่จะค้าน แต่อยากให้เรามีความร่วมมือคนละครึ่งทาง โดยให้รับฟังเสียงจากเอกชนที่อาจจะขอเพิ่มความคิดเห็นในบางมาตรการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น เห็นด้วยอยู่แล้วกับการที่รัฐหาแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะแบบนี้ และยิ่งในยุคที่รัฐบาลมีเสียงปริ่มน้ำยิ่งต้องช่วยกันในการประคองเศรษฐกิจของประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้”
อกจากนี้ จากการคาดการณ์ของกระทรวงการคลัง ที่คาดว่าในปีนี้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศจะอยู่ที่ 3% นั้น มองว่าหากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวได้ผลมีเงินไหลเข้าประเทศเพิ่มขึ้นก็สามารถทำตามเป้าหมายที่คาดไว้ได้ มองว่าหากทำได้จริงก็ถือว่ารัฐบาลชุดนี้มีคุณภาพอย่างมาก เพราะด้วยปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน รัฐจึงต้องหันกลับมาเน้นเศรษฐกิจในประเทศเพื่อไม่ให้สถานการณ์แย่ไปกว่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image