รายงานหน้า2 : จับตา‘เครือข่ายภาคี’ เคลื่อนไหวแก้‘รธน.’

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการกรณีภาคประชาสังคม นักวิชาการ องค์กรประชาธิปไตย ผู้นำทางการเมืองมอบหมายให้นายอนุสรณ์ ธรรมใจ เป็นประธานคณะทำงานเตรียมการเพื่อจัดตั้ง “เครือข่ายภาคีเพื่อการรณรงค์และเคลื่อนไหวการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตยและประชาชน” เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การเสนอให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เป็นการเสนอทางเลือกเพื่อสร้างความชอบธรรม ให้มีน้ำหนักในแง่สร้างความกดดันทางการเมือง อย่าลืมว่าพรรคพลังประชารัฐรู้สึกว่าตัวเองไม่เห็นด้วย แต่รับปากเพราะเป็นเงื่อนไขในการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ แน่นอนว่าหากนำไปสู่กระบวนการนี้แต้มต่อทางการเมืองของพลังประชารัฐจะสูญเสียไป ดังนั้นกลยุทธ์ที่ใช้จากภาคการเมือง ภาคประชาชน โดยการตั้ง สสร.นั้น แน่นอนว่าจะมีน้ำหนักความชอบธรรมสูงมาก แต่ทั้งนี้จะติดขัดเงื่อนของเวลา กล่าวคือ การใช้รูปแบบกดดันโดย สสร.ตามแนวทางรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเมื่อปี 2540 วัตถุประสงค์ฟังดูดี แต่ในทางการเมืองก็เพื่อลดอำนาจในสิ่งที่รัฐบาล คสช.เคยทำทิ้งไว้ ซึ่งสิทธิประโยชน์ตรงนี้ส่งผ่านไปยังความได้เปรียบทางการเมืองของพรรคพลังประชารัฐ โดยฝ่ายที่ได้เปรียบจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจจะอ้างเรื่องของฉันทามติว่าได้ทำแบบสำรวจแล้วหรือยังว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ถึงทางตันของปัญหา แต่ในแง่หนึ่งเราจะเห็นว่าทางตันของปัญหาคือ อำนาจของนักการเมืองต่างหาก ซึ่งผู้ที่ได้เปรียบโดยฝั่งวุฒิสมาชิกที่มาจากรัฐธรรมนนูญปี 2560 ก็จะพูดถึงคุณูปการหรือประโยชน์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้หลายอย่างโดยเฉพาะยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่ไม่พูดถึงจุดด้อยของฝั่งตน ในขณะที่ฝั่งสูญเสียประโยชน์ก็จะพูดถึงข้อสูญเสียหรือสิทธิทางการเมืองจากรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จะพูดกันคนละมุมคนละด้าน จะเลือกพูดในบริบทที่ตัวเองอยากจะอธิบายกับสังคมมากกว่า
ถือว่ายากที่จะทำให้มี สสร. เพราะเงื่อนไขคือการซัดทอดเวลา อย่าลืมว่าเมื่อเข้าไปสู่กลไกระเบียบ เมื่อมีเสียงเห็นชอบ ก็จะนำไปสู่การขอเพื่อตั้งคณะกรรมการศึกษา ก่อนจะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องผ่านฉันทามติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก จึงมองว่าถ้าตั้งได้ จะตั้งได้จากภายนอก เป็นรูปแบบเหมือนคณะติดตามหรือคณะทำงานศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในลักษณะคณะกรรมการเงามากกว่า ซึ่้งกว่าจะไปถึงจุดที่ได้รับการรับรองทางกฎหมายก็เกรงว่าจะเสียเวลาไปมากพอควร
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ได้มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง นี่ต่างหากที่ใช้เป็นจุดกดดันไปยังผู้ที่มีอำนาจ โดยเฉพาะฝั่งนักการเมืองว่าจะมีความจริงใจมากน้อยแค่ไหนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากตั้ง สสร.ได้จริง ในแง่การเดินหน้าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเรื่องเวลา อย่างที่พรรคเพื่อไทยเสนอว่า 240 วัน เกรงว่าจะไม่พอ เพราะต้องทำเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังทั้งภาคประชาชนและหลายเครือข่ายสาขาอาชีพมากกว่านี้ การที่ต้องดึงตัวแทนของภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบรัฐธรรมนูญต้องใช้เวลาในการตั้งคณะกรรมการศึกษาก่อน เพื่อให้ได้ตัวแทนหรือฉันทามติ
ของแต่ละส่วนว่าเห็นชอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ขณะเดียวกันก็จะมีกลุ่มการเมืองหรือกลุ่มเคลื่อนไหวที่ออกมาสนับสนุนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และยังไม่เห็นพร้อมที่จะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งได้
ดังนั้นจะต้องตั้งเวทีสาธารณะในการพูดคุยรับฟังทั้งคนที่เห็นด้วยและคนที่เห็นต่าง ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะตั้งเวทีเฉพาะคนที่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น เพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย สิ่งสวยงามที่สุดคือต้องยอมรับฉันทามติจากคนที่เห็นต่างด้วย ต้องพูดคุยกันให้มากขึ้น ดังนั้น เงื่อนไขระยะเวลาจะต้องกำหนดกรอบให้ชัดเจน ถ้าพรรคการเมืองเป็นผู้กำหนดกรอบก็แทบจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ดังนั้นระยะเวลา 1 ปี – 1 ปีครึ่ง จึงเหมาะสมในการเดินสายให้ความรู้ ทั้งส่วนของนักการเมืองและภาคประชาชนต้องทำควบคู่กัน ไม่ควรจะวางกรอบขอบเขตเฉพาะกลุ่มที่มีรสนิยมทางการเมืองเดียวกันมาร่วมขึ้นเวทีเสวนาด้านเดียวเท่านั้น เพราะจะเกิดเหรียญด้านเดียว ไม่สามารถมองปัญหาได้อย่างรอบด้าน
ส่วนที่ว่าจะยึดหลักรัฐศาสตร์ ไม่ยึดหลักนิติศาสตร์ เพราะเกรงจะติดกับ คสช.นั้น หากมองในความเป็นจริง หลักนิติศาสตร์ การกระทำใดๆ จะถูกตีความโดยเอาข้อกฎหมายมาอ้าง ไม่สามารถปฏิเสธคำวินิจฉัยในแบบนิติศาสตร์ได้ แต่หลักรัฐศาสตร์จะยืดหยุ่นกว่า การบังคับใช้หรือการใช้ดุลพินิจจะรู้สึกมีชีวิตชีวามากกว่า เหมือนเสกรัฐธรรมนูญให้มีชีวิต แต่ถ้ารัฐธรรมนูญเสกด้วยนักนิติศาสตร์เมื่อไหร่ก็ตาม จะไม่สามารถกำหนดทางเลือกให้ตัวเองได้เลย ต้องเป็นไปตามหลักที่นักนิติศาสตร์นิยมกำหนดทิ้งไว้เท่านั้น แต่หากจะให้เหมาะกับสภาพการณ์ปัจจุบันต้องใช้ทั้ง 2 หลักผสมกัน คือ ยึดหลักนิติศาสตร์ไว้เพื่อเป็นบรรทัดฐาน แต่ก็ไม่ใช้มากจนเกินไป ให้หลักรัฐศาสตร์มองเรื่องของเจตนาด้วย ว่าเจตนาของคนที่ขับเคลื่อนหรือคนที่เขียนรัฐธรรมนูญมีความปราถนาให้บ้านเมือง 5-10 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไร ไม่ใช่การวางกรอบไว้เพื่อรักษาอำนาจของฝ่ายกลุ่มการเมืองที่กลุ่มของตัวเองเขียนขึ้นเพื่อเอื้อกลุ่มของตัวเองเท่านั้น

 

Advertisement

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

การแก้รัฐธรรมนูญจะดำเนินไปโดยที่ฝ่ายรัฐบาลไม่ยอมได้ลำบาก จะเห็นได้ว่าเงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้มีเฉพาะฝ่ายประชาชนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงฝ่ายการเมืองด้วย ยิ่งดูมาตราในการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเห็นได้ว่าค่อนข้างยากที่จะแก้ไขได้ แม้ขณะนี้ฝ่ายค้านได้ดำเนินการโดยมีการหารือกับภาคประชาชนแล้ว รวมทั้งฝ่ายนักกิจกรรมและนักวิชาการก็เห็นพ้องต้องกัน แต่เบื้องต้นจะดำเนินการฝ่ายเดียวไม่ได้ ต้องมีแรงหนุนจากฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายที่กุมอำนาจอยู่ด้วย
การแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 256 กำหนดว่าต้องใช้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ซึ่งความจริงเป็นไปได้ แต่เมื่อเสนอเข้ารัฐสภาต้องผ่านถึง 3 วาระ ซึ่งจะเกิดสภาวะเดิมคือฝ่าย ส.ว.ไม่ยอม ทำให้ข้อเสนอในการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปไม่ได้ในขั้นรับหลักการซึ่งต้องขานชื่อในขั้นที่ 2 เป็นการพิจารณาเรียงมาตราและใช้เสียงข้างมาก ระบบการนำเสนอญัตติไม่ยากเท่าไหร่ แต่การที่จะยอมรับในวาระสุดท้ายในขั้นที่ 3 ต้องใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้ง 2 สภา ซึ่งถ้าฝั่งวุฒิสภาไม่เห็นด้วยก็ยาก เพราะกำหนดไว้ด้วยว่าในจำนวนนี้ต้องมี ส.ส. ทั้งที่ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ประธานสภา ประกอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของทุกพรรคการเมืองดังกล่าวรวมกัน วุฒิสภาต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 กำหนดล็อกไว้เช่นนี้ทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นการยาก นอกจากนี้ ถ้าคิดถึงโมเดลที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่งใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะแก้เงื่อนไขที่จะให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดย สสร.จากการเลือกตั้งของประชาชนนั้น ในขณะนี้ยังไม่มีแรงผลักดันมากพอที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระดับนั้น เรายังไม่เห็นแรงกระเพื่อมที่จะทำให้ฝ่ายรัฐบาลรู้สึกว่าการเดินทางไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยให้มี สสร.จะเป็นไปได้ แต่ก็หวังว่าถ้าท่านมองเห็นความจริง เห็นความผิดรูปของการเมืองไทยในปัจจุบัน ก็ควรอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดการปฏิรูปอย่างแท้จริง ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้เกิดการการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยเอารัฐธรมนูญปี 2540 เป็นตัวตั้ง
อย่างไรก็ตาม หนทางนี้ถ้าปราศจาก ส.ว.ก็เดินลำบาก ทางนั้นต้องเห็นประโยชน์ที่จะเกิดจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นไปได้จริงก็ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะลดความตึงเครียดของระบบการเมือง แต่ต้องใช้กำลังภายใน ต้องใช้แรงของประชาชน และจำนวนคนบนท้องถนนเพื่อที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งก็เสี่ยงต่อสังคมที่จะเกิดความรุนแรง เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ เพราะเชื่อว่าจะมีคนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะกลุ่มที่บอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างมาให้พวกเขา ส่วนภาคประชาชนขณะนี้ก็เริ่มเห็นกันแล้วว่า วิกฤตเรื่องการจัดการพื้นที่บางอย่าง เช่น เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมด้วยหรือมีส่วนร่วมได้น้อย ซึ่งถ้าไม่ขยับหรือเดินหน้าในจังหวะที่เหมาะสมก็จะทำให้เกิดความตึงเครียดทางการเมือง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ทางที่ดีที่สุด ต้องรู้จังหวะ ฝ่ายที่กุมอำนาจก็ต้องรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบาไม่ทำให้ระบบตึงเครียดโดยไม่จำเป็น นี่คือส่วนสำคัญและจำเป็นต้องนึกถึง
ส่วนความท้าทายอื่นๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของเพื่อนบ้านที่อีกไม่กี่ปีจะพ้นจากการเป็นประเทศรายได้ต่ำ เข้าสู่ระดับเดียวกับเรา คำถามคือประเทศเราที่อยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ถ้าสถาปัตยกรรมทางการเมืองไม่ลื่นไหลพอ ไม่ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพก็จะส่งผลต่อระบบการเมืองอื่นๆ
ถ้าคิดในแง่ดี คิดหาทาง โดยยึดว่าบ้านเมืองไม่ใช่ของคุณคนเดียว แต่มันเป็นของพวกเราทั้งหมดร่วมกัน ก็จำเป็นที่จะต้องฟังเสียงคนอื่นบ้าง การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องจำเป็น เพราะการออกแบบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่กลัวเสียงข้างมากจนทำให้ระบบการเมืองบิดเบี้ยว เข้าไปตรวจสอบคนที่ใช้อำนาจทางการเมืองแทบจะไม่ได้ และเกิดความตึงเครียดขึ้นมาอีกชั้น ฉะนั้นอะไรก็ตามที่จะลดความตึงเครียดตรงนี้ได้ ได้โปรดทำเถอะครับ อย่าขวางทางเลย
เจตนาทุกครั้งเวลาที่เราบอกให้ยึดหลักรัฐศาสตร์ คือให้ยึดหลักการที่เป็นพื้นฐานของการเข้ามาอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนทางการเมือง ว่าเราจะแสวงหาความผาสุกร่วมกันจึงมาอยู่ในรัฐนี้ เราเคารพสถาบันทางประเพณีของเรา เราอยากจะให้สถาบันอยู่สถาพรกับสังคมไทย แต่เราก็อยากจะให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง ได้กำหนดทิศทางของตัวเอง เราอยากจะให้รัฐบาลถูกตรวจสอบได้บ้าง มีข้อถ่วงดุลบ้าง อย่าให้เป็นรัฐบาลแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ถ้าพูดกันในเงื่อนไขนี้ หลักการทางรัฐศาสตร์ก็ควรจะดึงเอามาใช้ให้มากขึ้น และคำนึงถึงสิ่งที่ไม่ต้องเขียนเป็นตัวอักษรก็ได้ เพราะต่อให้เราเขียน แต่ไม่ดำเนินการตามนั้น ความผิดพลาดก็เกิดขึ้นได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image