รายงาน : ‘30องค์กรปชต.’เคลื่อน เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ

หมายเหตุ – เนื้อหาจากการประชุมโต๊ะกลมคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน 30 องค์กรประชาธิปไตยเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ

สมชาย หอมลออ

ที่ปรึกษา ครป.

Advertisement

รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่ผู้ร่างโดยเฉพาะนายมีชัย ฤชุพันธุ์ บอกว่าต้องการให้เป็นฉบับถาวร อมตะ นิรันดร์กาลอยู่คู่ไทยชั่วฟ้าดินสลาย ฟังเผินๆ น่าเป็นฉบับที่ดี สมบูรณ์ ไม่ต้องแก้ไขอีก แต่เมื่อพิจารณาจริงๆ ไม่ได้เป็นอย่างนั้น แต่บกพร่องมากที่สุด คนต้องการแก้มากที่สุด แต่จะเป็นอมตะเพราะแก้ยากที่สุด ประเด็นที่ต้องตอบตัวเองและสังคมคือทำไมต้องแก้ จะแก้ในประเด็นใดบ้างและสุดท้ายจะแก้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องยากที่สุดตามกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ 60 โดยเฉพาะ ม.256 อุปสรรคซับซ้อนมาก ยิ่งการต้องได้รับการเห็นชอบจาก ส.ว.อย่างน้อย 84 เสียง และการแก้ประเด็นสำคัญอย่างโครงสร้างรัฐธรรมนูญต้องผ่านการลงประชามติ รวมถึงการแก้ไขมาตรานี้เช่นกัน ส่วนตัวคิดว่าจากเป้าหมายหรือจากหลักการที่ คสช.วางไว้เพื่อสืบทอดอำนาจ ซึ่งต้องยอมรับว่าหลังจากที่ยึดอำนาจ 5 ปี คสช.ประสบความสำเร็จในการสืบทอดอำนาจ แต่จะยั่งยืนแค่ไหนขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันความเรียกร้องต้องการแก้รัฐธรรมนูญมีมากขึ้น ส.ส.หลายพรรคเสนอว่าต้องแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งพรรคที่ปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล

ส่วนจะแก้อย่างไร คิดว่าต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างท่วมท้นจึงจะแก้ไขได้ จึงจะมีพลังขับเคลื่อนในการผลักดันให้ผู้มีอำนาจตามกฎหมายผ่านญัตติในการแก้ในวาระ 1-3 ทั้ง ส.ส.และ ส.ว. นี่คือขั้นตอนที่ยาก ซึ่งถ้าไม่สามารถให้ ส.ส.หรือวุฒิสมาชิกอย่างน้อย 84 เสียงเห็นด้วยกับการแก้ โดยเฉพาะ ม.256 คงจะยาก ยกเว้นจะมีอภินิหาร เช่น วิกฤตการเมืองและเศรษฐกิจ

กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องพึ่งการสนับสนุน กระบวนการผลักดันจากสังคมให้ ส.ส.วุฒิสมาชิกเห็นชอบกับการแก้ หากเสนอประเด็นการแก้ไขที่ตอบโจทย์สังคม ก็จะระดมการสนับสนุนจากประชาชนได้ ส่วนจะแก้อะไร คิดว่าหลายองค์กรอาจมีแนวคิดเรื่องนี้อยู่แล้ว เช่น เอ็นจีโอ อยากแก้เรื่องสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน ทรัพยากร ที่ดิน สิ่งแวดล้อม การตรวจสอบภาครัฐ เป็นต้น

Advertisement

สมชัย ศรีสุทธิยากร

อดีต กกต.

ตอนนี้คิดว่าสิ่งที่ต้องมองให้ออกคือรัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกแบบมาไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้นมีอำนาจ ทำให้ตัวเองได้เปรียบและอยู่ต่อภายใต้กติกาโดยไม่สนใจว่าประชาชนเลือกมาหรือไม่ หรือคนเหล่านี้มีความสามารถบริหารบ้านเมืองจริงหรือไม่ หัวใจอยู่ตรงนี้ ทำให้การเมืองไม่เป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญฉบับนี้ล้วนมีกติกาที่ค้ำจุนคนกลุ่มเดียว ดังนั้นถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงกติกาอย่าหวังว่าปัญหาบ้านเมือง ปัญหาประชาชนจะได้รับการแก้ไข ดังนั้นรัฐธรรมนูญจึงเกี่ยวกับปากท้องประชาชน อย่าไปบอกว่าแก้ปากท้องก่อนแล้วค่อยแก้รัฐธรรมนูญ

สำหรับกระบวนการแก้ไขนั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาให้เกิดการปิดตายในการแก้ วิธีการที่ต้องทำ มีหลายขั้นตอน เช่น ต้องผ่านจุดเริ่มต้นมา 4 ทาง อาจมาจากประชาชน 50,000 รายชื่อ มาจาก ส.ส.100 คนขึ้นไป หรือ ส.ส.บวก ส.ว.150 คน หรือจาก ครม. นี่คือจุดเริ่มต้น แต่ในจุดของการลงมติในวาระที่ 1 ต้องมี ส.ว.84 คน คือ 1 ใน 3 และในวาระ 3 ก็เช่นกัน นอกนั้นการแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ก็ต้องผ่านประชามติอีก ดังนั้นจึงยากมาก สิ่งสำคัญคือถ้าเราเดินตามเกมของสภาแล้วไปสู้ในจุดนั้น
ว่าไปทีละวาระ เมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลไม่เคาะ ไม่มีทางชนะ ดังนั้น ในเชิงวิธีคิดตนมองว่า 1.ต้องให้ประชาชนรู้ปัญหาของรัฐธรรมนูญ เอาเฉพาะจุดที่เป็นหัวใจสำคัญที่คิดว่าให้คนเห็นพ้องต้องกัน อย่าแตกประเด็นมากเกินไป

2.สร้างการริเริ่มจากภาคประชาชน กระบวนการที่เริ่มแล้วคือจะรวบรวมรายชื่อ 50,000 ชื่อ ซึ่งจำเป็นต้องเดินหน้าทำ จะไปแพ้ในวาระ 1 ก็ไม่เป็นไร แต่ให้ประชาชนเห็นว่าเราพยายามแล้ว ให้ประชาชนเห็นว่าใครคืออุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ใครโหวตรับ ไม่รับ ในขณะเดียวกัน การจะประสานเครือข่ายทุกเครือข่ายที่เห็นปัญหาร่วมกันก็ต้องดำเนินการ อย่าคิดแบ่งฝ่ายเขาฝ่ายเรา อย่าคิดว่าอยู่คนละขั้ว แม้เคยวิพากษ์กัน ตอนนี้ขอให้เอาประเทศเป็นที่ตั้ง เราต้องละลายสิ่งนี้ให้หมด ใครเป็นแนวร่วมได้ก็ผนวกกันเข้ามา การดำเนินการจะนานจะช้าในการแก้ไขก็อย่าไปสนใจ แต่ในทางกลยุทธ์ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่ารัฐสภาจะเป็นชุดนี้หรือไม่ กระบวนการแก้ไขต้องต่อเนื่องได้ ไม่ว่าสภาจะถูกยุบหรือไม่ จะมีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่

ส่วนตัวมองว่า ถ้าแก้ก่อนการเลือกตั้งใหม่ได้ยิ่งดี แต่ไม่ง่าย ไม่คิดว่าจะแก้ได้ก่อนการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งใหม่น่าจะเกิดขึ้นเร็ว เพราะรัฐบาลไม่น่าจะอยู่ได้นานภายใต้เสถียรภาพปัจจุบัน

อนุสรณ์ ธรรมใจ

ประธานคณะทำงานเตรียมการเพื่อจัดตั้ง “เครือข่ายภาคีเพื่อการรณรงค์และเคลื่อนไหวการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปเพื่อประชาธิปไตยและประชาชน”

เป้าหมายของเราต้องชัดเจนว่าไม่ควรแค่ต้องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะจะติดกับดักรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก 80 กว่าปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เราติดกับดักตรงนี้มานานแล้ว เรามีรัฐธรรมนูญหลายฉบับมาก มีรัฐประหารบ่อยๆ เป้าหมายคือจะทำอย่างไรให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญเป็นแค่ส่วนหนึ่งแต่เป็นส่วนสำคัญ และเนื่องจากมีองค์กรต่างๆ เคลื่อนไหว มีกิจกรรมอยู่แล้ว ตรงนี้ต้องมานั่งคิดกันว่าจะทำอย่างไรในเชิงยุทธวิธีที่จะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งต้องจัดรูปองค์กร ต้องคุยประสานงานกันบ่อยๆ เพราะเป้าหมายและเจตนาคือต้องสำเร็จ

ขอเสนอให้เวทีนี้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่เราจัดตั้งขึ้นในลักษณะเป็นเครือข่ายประสานงาน การจะให้มีพลัง ต้องมียุทธวิธีชัดเจน ซึ่งจะทำให้บรรลุเป้าหมาย การจัดตั้งองค์กร รวมทั้งงบประมาณและทุน พอถึงจุดหนึ่งถ้าจะสร้างกระแสให้ ส.ว. 84 คน เห็นด้วย ต้องสร้างแรงจูงใจ และสภาพแวดล้อมให้ ส.ว. สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คงจะมีการตั้งองค์กรที่เป็นจุดประสานงาน เราต้องทำให้ได้อย่างปี’35 ซึ่งมีสมาพันธ์ประชาธิปไตย รวมถึงในปี’40 ซึ่งมีคนคอยประสานให้เกิดพลัง

เยี่ยมยอด ศรีมันตะ

ประธานคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ภาคประชาชน

หลังจากเริ่มศึกษารัฐธรรมนูญปรากฏว่าเนื้อหาสาระไม่น่าใช้ทั้งเล่ม จากนั้นค้นดูว่าวิธีแก้จะแก้อย่างไร ในหมวด 15 มาตรา 255-256 พบว่ายุ่งยากมาก ตั้งแต่ต้องมีรายชื่อผู้เสนอ 20 ท่านขึ้นไปเป็นผู้ริเริ่ม และต้องเสนอเป็นร่าง ถามว่าประชาชนที่ไหนจะเสนอร่างได้ ประชาชนที่ไหนจะร่างรัฐธรรมนูญเป็น เลยมาคิดว่าจะแก้ในวิธีการที่ง่ายขึ้นคือเปิดช่องให้เห็นว่าเราจะแก้รัฐธรรมนูญ จะแก้ได้เฉพาะวิธีการแก้ เลยตั้งท่ารวบรวม 50,000 ชื่อให้ครบซึ่งไม่ง่าย สิ่งที่จะเปิดประตูคือ วาระแรกเสนอแก้มาตรา 256 วงเล็บ 2-9 เพื่อเปิดช่องให้ผ่านมติที่ประชุมรัฐสภากึ่งหนึ่ง และวุฒิสภา 1 ใน 3

ถ้าจะไปเสนอร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเป็นเรื่องใหญ่ การแก้ทั้งเล่มไม่มีทางที่จะแก้ได้ แต่ถ้าเปิดประตูจะมีทาง ด้วยหลักการข้อแรกคือ รณรงค์ให้ประชาชนเข้าใจเนื้อหาและความบกพร่องของรัฐธรรมนูญ 60 ต่อมาจะระดมองค์กรภาคประชาชนต่างๆ เข้ามาช่วยกัน และสุดท้ายจะล่ารายชื่อ โดยวางระบบแล้ว ประกอบด้วย 5 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่ม กทม.และปริมณฑล 2.ภาคเหนือ มีศูนย์กลางการประชาสัมพันธ์ที่เชียงรายและลำปาง 3.อีสาน มีศูนย์กลางที่อุดรธานีและสุรินทร์ 4.ภาคใต้ ศูนย์กลางอยู่สุราษฎร์ธานี 5.ภาคกลาง ศูนย์กลางอยู่ที่ลพบุรี นี่คือแนวทางที่จะดำเนินการคร่าวๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image