รายงาน : วิพากษ์ฝ่ายค้าน-รบ. ชงญัตติแก้รธน.2560

หมายเหตุ – ความคิดเห็นของนักการเมืองทั้งจากพรรคร่วมฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาล กรณีนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ.ศ.2560 ซึ่งก่อนหน้านั้น 7 พรรคร่วมฝ่ายค้านได้แนบรายชื่อ ส.ส. 213 คน ยื่นญัตติด่วน ขอให้
สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะ กมธ.วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไปแล้ว

สุทิน คลังแสง

ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน
(วิปฝ่ายค้าน)

Advertisement

กรณีนายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560

ถือเป็นเรื่องดี พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรค ปชป.เดินหน้ายื่นญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หากดูตามหลักการแล้วญัตติของพรรค ปชป.ถือว่ามีประเด็นที่คล้ายกับญัตติของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ซึ่งแนวทางการขับเคลื่อนในสภาก็สามารถนำทั้ง 2 ญัตติมารวมกันเพื่อดำเนินการจัดตั้งคณะ กมธ.วิสามัญขึ้นมาพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะได้พูดคุยกับนายเทพไทถึงแนวทางการขับเคลื่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ต้องดูความจริงใจของ ส.ส.ของพรรค ปชป.คนอื่นๆ ด้วยว่าจะมาร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างจริงใจ จริงจังหรือไม่ หรือแค่ให้นายเทพไทออกมายื่นญัตติตามบทบาท ตามนโยบายที่พรรค ปชป.ได้หาเสียงไว้ แล้วขับเคลื่อนไปไม่สุดทาง หากเป็นอย่างนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะไม่เกิดประโยชน์

Advertisement

ทั้งนี้ อยากเชิญชวน ส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มาร่วมผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย ไม่ว่าจะเป็นการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือมาร่วมลงชื่อผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้

แต่เท่าที่ทราบมี ส.ส.พรรค พปชร.ออกมาระบุว่ารัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ปัญหาเศรษฐกิจก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นต่างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาปากท้อง การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นหน้าที่ของฝ่ายบริหาร โดยรัฐบาล ซึ่งทั้งสองเรื่องสามารถดำเนินการคู่ขนานไปพร้อมๆ กันได้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาปากท้องให้กับประชาชนบางเรื่องก็มาจากรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาไม่เป็นประชาธิปไตย ทำให้ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม หลักการที่ฝ่ายค้านเห็นตรงกันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากตัวแทนทุกฝ่ายผ่านการเลือกของประชาชน หากจัดตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมเชื่อว่าสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ยังคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเห็นด้วยและไม่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

คารม พลพรกลาง

ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ (อนค.)

ถือเป็นเรื่องดีที่นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ยื่นญัตติเรื่องขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 แต่ทั้งนี้ หากเหตุผลและหลักการเหมือนกับญัตติของ 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน การดำเนินงานในสภาถ้าพูดคุยแล้วเห็นตรงกันก็สามารถรวมญัตติเป็นเรื่องเดียวเพื่อจัดตั้งคณะ กมธ.วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องดูด้วยว่าพรรค ปชป.จะขับเคลื่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปจนสุดทางหรือไม่ หรือทำแค่เพราะเป็นการหาเสียงไว้กับประชาชน

ในส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยืนยันชัดเจนว่าจะไม่แก้ไขในหมวดที่ 1 หมวดที่ 2 แต่จะแก้ไขเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยในหลายเรื่องทั้งเรื่องการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล การดำเนินการของพรรคการเมือง ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน

ซึ่งหากดูตามเจตนารมณ์ของผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หวังไม่ให้เกิดรัฐบาลเสียงข้างมากเหมือนในอดีต แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดันมาสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจทหารต้องกลายมาเป็นรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำเสียงเอง แม้จะมีเสียง ส.ว.คอยช่วยสนับสนุนในช่วงโหวตเลือกนายกฯ แต่ไม่สามารถมาช่วยในการบริหารงานในสภาได้ ทำให้รัฐบาลต้องใช้สารพัดวิธีรวมเสียงของพรรคเล็กไว้ให้ได้มากที่สุด

พรรค อนค.ถือเป็นพรรคแรกๆ ที่ชูธงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขณะนี้มีหลายพรรคที่เห็นด้วยกับเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากแก้ไขรัฐธรรมนูญได้สำเร็จไม่เพียงแค่พรรค อนค.ที่ได้ประโยชน์ แต่จะได้ประโยชน์กันทุกพรรค ทุกฝ่าย แม้จะรู้ว่าแนวทางและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญถือว่ามีความยากมากก็ตาม เพราะต้องใช้ทั้งเสียง ส.ว.สนับสนุน ซึ่งมี ส.ว.บางคนไม่อยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพราะจะกระทบกับอำนาจหน้าที่และที่มาของ ส.ว.ที่ตัวเองได้รับประโยชน์อยู่

อย่างไรก็ตามอยากให้ ส.ว.เลิกมองผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นเฉพาะแค่ตัวเอง แต่ควรมองถึงประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ด้วยหากสามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย สามารถลดความเหลื่อมล้ำในเรื่องต่างๆ ให้กับประชาชนได้

ทั้งนี้ แนวทางที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญควรดำเนินการให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายโดยต้องได้รับการสนับสนุนจากพลังของประชาชนในสังคม ซึ่งจะทำให้ ส.ว.ไม่กล้าคัดค้านฉันทามติของประชาชน เพื่อนำไปสู่การตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เหมือนเมื่อครั้งการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540


เทพไท เสนพงศ์

ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

เรื่องการแก้ไขเป็นจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์มาตั้งแต่การไม่รับคำถามพ่วงประชามติ ไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เรื่อยมากระทั่งจุดยืนในการเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายสำคัญเร่งด่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เนื่องจากขณะนี้ใกล้จะปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรแล้ว การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถือว่าเป็นเรื่องสัญญาประชาคมของรัฐบาลก็ควรจะมีความคืบหน้าให้ประชาชนได้เห็น

จึงนำเรื่องนี้เข้าหารือต่อที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของพรรค ไม่ใช่เรื่องของผมคนเดียว ที่สุดที่ประชุมพรรคก็อนุมัติให้ผมดำเนินการต่อด้วยการร่างเป็นญัตติด่วน โดยให้ผู้หลักผู้ใหญ่ 25 คน ที่ถือว่าเป็นคีย์แมนของพรรคเป็นผู้ลงนามรับรอง ก่อนยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรตามขั้นตอน ไม่มีลับลมคมใน หรือเล่ห์เหลี่ยมใดๆ ทั้งสิ้น เป็นการยื่นญัตติด่วนต่อสภาแบบตรงไปตรงมา และเจตนาดีหวังผลให้สามารถตั้ง กมธ.วิสามัญได้สำเร็จ

แต่สิ่งที่ตนหนักใจอยู่ที่ เมื่อครั้ง 219 ส.ส.ฝ่ายค้านได้เข้าชื่อยื่นเสนอญัตติขอให้ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญปี 2560 นั้น นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาคนที่ 2 ในฐานะที่รับผิดชอบเรื่องการบรรจุญัตติและกระทู้ ได้วินิจฉัยว่าไม่ใช่ญัตติด่วน จึงกังวลว่าญัตติด่วนที่ 25 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เข้าชื่อเสนอนั้นจะถูกวินิจฉัยเหมือนกัน โดยไม่รู้จะได้พิจารณากันเมื่อไหร่ เพราะยังมีญัตติค้างรอการพิจารณาอยู่อีกมาก

เหตุที่ต้องเป็นเรื่องด่วนเพราะ 1.ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล ญัตติใดๆ ที่เกี่ยวกับนโยบาย
เร่งด่วนของรัฐบาล ต้องเป็นเรื่องด่วน 2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญยังอยู่ในความสนใจของประชาชน เป็นปัญหาทางสังคมในเชิงความคิดเป็นอย่างมาก จึงบอกกับรองประธานสภาว่าต้องเป็นเรื่องด่วน เพื่อบรรจุวาระในสมัยประชุมนี้รอไว้เพื่อพิจารณาในสมัยประชุมหน้า หรืออีก 2 เดือนข้างหน้าจะได้ตั้ง กมธ.วิสามัญทำงานได้ทันที

ส่วนตัวไม่ขัดข้องหากจะนำญัตติของฝ่ายค้านมาประกบเพื่อพิจารณาควบคู่ไปด้วยกัน เพราะถือว่า
หลักการไม่ต่างกันมาก แล้วตั้ง กมธ.วิสามัญทำงานร่วมกันก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะการจะเปิดทางแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากทุกฝ่ายไม่พร้อมใจกันถือเป็นเรื่องที่ยากมาก จึงคิดว่าหากตั้ง กมธ.วิสามัญได้ในสมัยประชุมหน้า มีเวลา 3 เดือนให้ กมธ.วิสามัญ เชื่อว่าไม่เกิน 6 เดือนนับจากนี้คงมีผลสรุป
ออกมาได้

ถามว่าหนักใจหรือไม่กับพรรคพลังประชารัฐในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายเร่งด่วน เรื่องด่วนก็ต้องเร่งดำเนินการ หากเขาไม่เห็นด้วยก็ต้องตอบสังคมให้ได้ว่ามาบรรจุไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนทำไม แต่หากจะมาสนับสนุนญัตตินี้ของพรรคประชาธิปัตย์ ผมก็พร้อมที่จะยกให้เป็นญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลได้ ไม่มีปัญหา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image