บทนำ : บทบาท‘กมธ.’

บรรดา 26 พรรคการเมือง จัดสรรโควต้าตำแหน่งประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร 35 คณะ สรุปได้ว่า พรรครัฐบาลได้ตำแหน่งประธาน กมธ. 17 คณะ พรรคพลังประชารัฐ 8 คณะ คือ 1.ตำรวจ 2.การสื่อสารและโทรคมนาคมและดิจิทัลเศรษฐกิจ 3.การเงิน การคลัง การธนาคาร และสถาบันการเงิน 4.กิจการสภาผู้แทนราษฎร 5.ทหาร 6.ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 7.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติด และ 8.วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม พรรคประชาธิปัตย์ 4 คณะ คือ 1.พาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา 2.เกษตรและสหกรณ์ 3.แก้ไขหนี้สินแห่งชาติ และ 4.สวัสดิการสังคม ส่วนพรรคภูมิใจไทย 4 คณะ ได้แก่ 1.คมนาคม 2.ท่องเที่ยว 3.กีฬา และ 4.สาธารณสุข พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คณะ คือ ส่งเสริมแก้ไขปัญหาราคาผลิตผลการเกษตร

พรรคฝ่ายค้านได้ 18 คณะ แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 10 คณะ พรรคอนาคตใหม่ 6 คณะ พรรคประชาชาติ 1 คณะ และพรรคเสรีรวมไทย 1 คณะ ส่วนพรรคเล็กที่ส่วนมากอยู่ในสังกัดรัฐบาล ไม่ได้ตำแหน่งประธานกรรมาธิการ แต่ก็จะได้ตำแหน่งกรรมาธิการชุดใดชุดหนึ่งหรือมากกว่า 1 ชุด จากทั้งหมด 35 คณะ เมื่อการจัดสรรลงตัวเรียบร้อย งานของสภาจะยกระดับไปอีกขั้น เพราะกรรมาธิการแต่ละชุด จะทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลด้านต่างๆ ตามหน้าที่รับผิดชอบของ กมธ.และศึกษาหาข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อเสนอต่อรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม ประธาน กมธ.และ กมธ.จะต้องศึกษารัฐธรรมนูญ และระวังไม่ใช้อำนาจหน้าที่จนเกินเลย อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ ไม่เพียงกระทบต่อ กมธ.เอง แต่อาจกระทบต่อภาพลักษณ์ของสภาได้ ดังกรณี ส.ส.กทม.ที่ลงไปศึกษาปัญหาที่ จ.ภูเก็ต จนกระทบกระทั่งกับนายตำรวจในพื้นที่ ส่งผลต่อภาพของรัฐสภา แต่หากทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ตามข้อบังคับและกฎหมายอย่างเต็มที่ กรรมาธิการสามัญจากพรรคต่างๆ จะเป็นตัวแทนปากเสียงความต้องการของประชาชน ช่วยดูแลการบริหารงานกระทรวงต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image