‘สมคิด-อุตตม’โชว์ ประชารัฐสร้างไทย

หมายเหตุนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบนโยบายในการประชุมรวมพลังขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน “ประชารัฐสร้างไทย” ที่อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 21 กันยายน

สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
รองนายกรัฐมนตรี

การประชุมครั้งนี้ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สภาเกษตรกรแห่งชาติ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ได้มาร่วมกันช่วยหาแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

ผมมาประชุมครั้งนี้ไม่ได้มาหาเสียง แต่เป็นการเสนอแนวความคิด แนวทางปฏิบัติ โอกาสแห่งการสร้างประเทศไทย ด้วยแนวคิดที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ไม่ใช่พูดไปวันๆ เราจะไม่จมปลักอยู่กับที่ด้วยแนวคิดเก่าๆ แต่เราจะนำความคิดใหม่ๆ ขับเคลื่อนด้วยแนวทางประชารัฐเพื่อสร้างประเทศไทย

Advertisement

ผมชื่อสมคิด พวกท่านรู้อยู่แล้ว ผมเคยสงสัยทำไมคุณพ่อตั้งชื่อนี้ มาวันนี้อายุผม 66-67 ปีเข้าใจถ่องเท้ ชื่อสมคิดเพื่อให้มีหน้าที่คิด ผมชอบคิด เมื่อคิดสื่อความให้พรรคพวกเพื่อฝูง ผู้ร่วมงานหน่วยงานที่รับผิดชอบให้เข้าใจ รวมใจ สามัคคี เดินหน้าเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ ขณะนี้ทุกหน่วยงานต้องทำหน้าที่เหมือนเครื่องจักร เข้ามาเครื่องกลในการพัฒนาฐานรากไปสู่การเปลี่ยนแปลง

เมื่อ 10 ปีองค์กรเหล่านี้คิดไปคนละทาง พูดกันคนละภาษา แต่วันนี้เป็นการพูดไปในทิศทางเดียวกัน สิ่งเดียวที่ยังขาดอยู่ คือ ทำอย่างไรให้สามารถเสียบปลั๊กเข้ามาร่วมกันได้ ถ้าเมื่อไหร่ร่วมเสียบปลั๊กด้วยกันได้ จะทำให้เปลี่ยนแปลงประเทศได้

เรื่องความยากจน เหลื่อมล้ำไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่ความผิดของใคร หรือรัฐบาลใด แต่เป็นเรื่องเก่าเป็นปัญหาของประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตรกรรม ชีวิตขึ้นอยู่กับพืชผลทางการเกษตร ด้อยทางด้านวิทยาการ ต้องพึ่งพาความเมตตาจากธรรมชาติ ปีไหนธรรมชาติเมตตา สินค้าเกษตรตลาดโลกราคาดี ทำให้กลุ่มเกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ แต่ถ้าปีใดธรรมชาติโหดร้าย ตลาดโลกมีปัญหา ทำให้กลุ่มเกษตกรเดือดร้อน เพราะเขาผลิตพืชผลด้วยพืชเชิงเดี่ยว ไม่มีการใช้เทคโนโลยี ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสิน ขายที่ดิน เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด

Advertisement

รัฐบาลไม่สามารถพึ่งพาประชาชนเหล่านี้ในการพัฒนาประเทศ ทำให้ต้องเน้นอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ ดังนั้น จีดีพีที่เติบโต มีเงินเข้าประเทศมา แต่ไม่สามารถแบ่งปันไปสู่ฐานรากได้ เมื่ออุตสาหกรรมมีมากขึ้น ลูกหลานเกษตรกรต้องเข้าไปเป็นแรงงานรับจ้างในเมืองกลายเป็นคนจนในเมือง เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลง โอกาสทางการศึกษาไม่มี ทำให้เกิดช่องว่างในเรื่องความเหลื่อมล้ำห่างกันไปทุกที

ตรงนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งธนาคารโลกให้ความสำคัญว่าจะแก้ไขอย่างไร ปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำเป็นปัญหาโครงสร้างทางสังคม ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง ไม่ควรถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมือง แต่บางประเทศใช้เรื่องนี้เป็นอาวุธทางการเมือง สร้างความแตกแยก หลายฝ่ายมุ่งมั่นทำลายกัน และสุดท้ายย้อนกลับมาว่าทุกอย่างที่ทำนั้นฉาบฉวย เอาตัวรอด หาเสียง แต่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงใจ ใครหยิบมาทำถูกกล่าวหาว่าฝันหาเสียง แต่ไม่ได้มองว่าถ้าทำได้นั้นเป็นการช่วยสร้างชาติ และควรหยิบยกเรื่องนี้มาเป็นเรื่องใหญ่

ผมมีโอกาสอ่านหนังสือ เขียนโดยนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน เขียนถึงการแก้ปัญหาความยากจน ตั้งแต่สมัยทำงานในพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในจังหวัดหนึ่ง ซึ่งนายสี จิ้นผิงได้ไปเยี่ยมเยียนตำบลหนึ่ง ประกาศเอาชนะความยากจน เปรียบคนจนเหมือนนกที่ออกจากไข่และอ่อนแอ ต้องดูว่าทำอย่างไรที่จะให้นกบินได้และบินไปไกลด้วย มณฑลจีนดังกล่าวกลายมาเป็นต้นแบบการแก้ปัญหาความยากจน เดิมคนจีนในมณฑลดังกล่าวมีอาชีพส่วนใหญ่กสิกรรม เพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว ปรับการปลูกพืชผลภูเขาที่แห้งแล้งไปดูว่าจะปลูกชาได้หรือไม่

ทั้งนี้ อุปสรรคสำคัญที่เกิดความยากจน คือ สภาพจิต ความคิดแห่งความยากจน ซึ่งเป็นคนที่ท้อแท้ รอความช่วยเหลือ และโทษคนอื่น ไม่เคยมองตนเองว่าตัวเองคือกุญแจสำคัญก้าวพ้นความยากจน ชุมชนใดก็ตามหากรู้จักการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ชุมชนเหล่านี้เหมือนลูกนกที่จะโบยบินซึ่งไม่ควรนั่งนอนในไอซียู เพื่อรอหมออย่างเดียวต้องรู้จักลุกขึ้นมาออกกำลังกาย ประสานคนอื่นเพื่อให้แข็งแรงมากขึ้น ตรงนี้ถือเป็นปัญหาแรกที่ไทยต้องเจอ

นอกจากนี้ การแก้ไขปัญหาความยากจน ต้องดูแลให้ตรงจุด ให้เหมือนกับสิงคโปร์ ซึ่งนายลี เซียนลุง นายกฯสิงคโปร์บอกว่า พ่อของเขานั้นมีแนวคิดที่ต้องปฏิรูปตนเองให้ได้ ทำให้สิงคโปร์ต้องมี Desing Thinking หรือแนวความคิดเชิงออกแบบ ดูว่าประเทศสิงคโปร์มีข้อจำกัดอย่างไร ต้องทำอย่างไร ถึงขนาดต้องย้ายสนามบิน เพื่อให้บริเวณนั้นก่อสร้างตึกสูงได้ ผิดกับไทย มีแต่การโจมตี ด่าทอกัน ไทยควรต้องร่วมกันคิด มีแนวคิดตั้งเป็นคณะกรรมการขับเคลื่อนประชารัฐสร้างไทย ดึงสภาเกษตรกรฯ กองทุนหมู่บ้านฯ แบงก์รัฐ และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเข้ามาดูว่าแต่ละชุมชนต้องทำอย่างไร แต่ละชุมชนนั้นแตกต่างกัน ดังนั้นต้องคิดว่าทำอย่างไร และต้องจัดอันดับของการให้ความช่วยเหลือว่าควรจะช่วยอะไรก่อนอะไรหลัง ทำอย่างไรให้เขา เขามีรายได้เพิ่มขึ้นต้องมีคณะ Desing Thinking

มาครั้งนี้ฟัง ธ.ก.ส.พบว่า ธ.ก.ส.ปรับบทบาทจากเมื่อ 20 ปี เน้นแค่การปล่อยสินเชื่อ มาจนถึงขณะนี้บทบาทของ ธ.ก.ส.เข้ามาพัฒนาเกษตรกรและฐานรากนั้น มองเรื่องสินเชื่อเป็นแค่สิ่งสุดท้ายที่จะทำและมีทีมงานไปดูว่าจะทำอย่างไร ที่จะพัฒนาชุมชน นั่นคือแนวทางที่ถูกทาง ขณะนี้ ธ.ก.ส.มีทั้งสนับสนุนเอสเอ็มอี เกษตร    สมาร์ทฟาร์มเมอร์ ไปถึงการปลูกป่า เสนอแนวคิดการพัฒนาเกษตรกรแบบประเทศญี่ปุ่น ตรงนี้ตรงกับที่นายสี จิ้นผิง กำลังทำ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่น ซึ่งต้องมีการเสียบปลั๊กการทำงาน ในอดีตปลั๊กเป็นของแต่ละกระทรวงแต่ละหน่วยงาน แต่เมื่อ ธ.ก.ส.มีสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ทำให้ทุกองค์กรทุกหน่วยงานเข้ามาร่วมกันได้สร้างความรู้ สร้างตลาด ทำให้นกแข็งแรงขึ้นมา

ทั้งนี้ การประชุมเชิญคณะกรรมการกิจการการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาร่วมฟังด้วย เพราะอยากได้งบจาก กสทช.มาทำให้ฐานรากเข้าถึงไอที อินเตอร์เน็ต เพื่อให้ข่าวสารไปถึงฐานราก ถ้าทุกอย่างหมุนไปในจุดหมายปลายทางเดียวกัน ด้วยวิธีเหล่านี้ นกที่เคยอ่อนแอ  แข็งแรงขึ้นทำให้สามารถผลิตสินค้าที่เหมาะสมกับตลาด ค้าขายออนไลน์ได้ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จาก    สมาร์ทฟาร์มเมอร์ จะเป็นสมาร์ทวิลเลจ (หมู่บ้าน) สมาร์ทเนชั่น (ประเทศ)

เมื่อไทยมีแกนนำที่ดี มีแนวทางการเดินที่ชัดเจน ต่อไปถ้าต่างประเทศมาช่วยเหลือ ทำให้เขารู้ว่าจะเชื่อมกับใคร

ทั้งนี้ พื้นฐานที่แข็งแกร่งต้องควบคู่กับการไปสร้างประเทศ พัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป สร้างอีอีซี สร้างสตาร์ตอัพต้องสามารถมาเชื่อมโยงการท่องเที่ยว การเกษตร การสร้างทายาทเกษตรกลับมาพัฒนาบ้านเมือง ประเทศไทยมีคนตาฝาด หูตึงจำนวนมาก เขาบอกว่ารัฐบาลทอดทิ้งคนจน เราไม่ได้ทอดทิ้งเลย กำลังหาทางช่วย ได้ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่า คนจนใช้บัตร 30 บาทรักษาทุกโรค แต่มีบางโรคที่รักษาได้ไม่ทั้งหมด เช่น โรคไต มะเร็ง ดังนั้น อยากให้บัตรสวัสดิการช่วยเหลือการรักษาให้ครอบคลุมโรคเหล่านี้ที่บัตร 30 บาทไม่ได้เข้าไปช่วย ให้ใช้เรื่องประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ เข้าไปช่วย

คนไทยควรร่วมกันเพื่อให้พื้นฐานไทยเข้มแข็ง เราคิดเราพยายามแต่ไม่ได้รับความร่วมมือ มีแต่เสียงด่า มีการกระแทกโลกออนไลน์ ทำให้เกิดความบั่นทอนจิตใจคนที่กำลังจะทำงาน อย่างไรก็ตาม อยากให้คนไทยมาร่วมกันเปลี่ยนแปลงฐานรากให้เข้มแข็ง ต้องใช้เวลา 5-10 ปี หลังจากนั้นชีวิตของฐานรากจะเปลี่ยนแปลงดีขึ้น ในโลกนี้มี 2 โมเดล คือประเทศไม่สนใจเปลี่ยนแปลง รอการช่วยเหลือต้องช่วยทุกปี ยิ่งนานยิ่งอ่อนแอ ในประเทศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาคนแสวงหาความเปลี่ยนแปลง ช่วยตนเอง แม้เกษตรกรมั่งคั่งได้ เช่น ประเทศญี่ปุ่น ตรงนี้จึงเป็นที่มาของประชารัฐสร้างไทย

อุตตม สาวนายน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

ไทยอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง ดังนั้น ต้องถามว่าขยายตัวเศรษฐกิจวัดด้วยรายได้เพียงอย่างเดียวจะเพียงพอไหมที่จะตอบโจทย์พี่น้องประชาชน ดังนั้น รัฐบาลคงจะไม่พูดเรื่องการเติบโตของเศรษฐกิจด้วยตัวเลขจีดีพีอย่างเดียว เพราะในโลกปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงสังคมและเศรษฐกิจ ควรต้องดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน ดูแลการกินดีอยู่ดีประชาชน เพื่อนำไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อต่อสู้กับความผันผวนเศรษฐกิจโลก ซึ่งตรงนี้จะเป็นการตอบโจทย์การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ทั้งนี้ เคยมีคนทำการวิจัยพบว่าประชาชนกว่า 40% ยังตอบว่าความเป็นอยู่ไม่ดีขึ้น ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ ดังนั้น รัฐบาลต้องดูว่ามีแนวทางพัฒนาทำอย่างไรให้เศรษฐกิจฐานรากเข้มแข็ง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตพี่น้องและประชาชน ซึ่งในยุทธศาสตร์ชาติต้องการให้ประเทศเข้มแข็ง เศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง (ทรานส์ฟอร์ม) แต่ต้องมาดูด้วยว่าทำอย่างไรให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพสามารถดูแลพี่น้องประชาชนได้ด้วย

กระทรวงการคลังมีเครือข่ายมากพอสมควร เช่น ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย คลังจังหวัด กรมธนารักษ์ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้มีความตั้งใจเอาเครือข่ายและกำลังของหน่วยงานอื่นๆ มาช่วยกันด้วย ดังนั้น ต้องมีความเชื่อมโยงหน่วยงานอื่น กระทรวงอื่นๆ ซึ่งออมสิน ธ.ก.ส. เอสเอ็มอีแบงก์ จะมีเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ที่ออกแบบการเงินให้กับ “ประชารัฐสร้างไทย”

เรื่องไอทีพบว่าประเทศจีนทำเรื่องพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนด้วยการใช้เทคโนโลยีมาช่วยสำเร็จไปแล้ว ดังนั้น กระทรวงการคลังซึ่งขณะนี้มีระบบอีเพย์เมนต์แล้ว ให้นำระบบอีเพย์เมนต์มาต่อยอดเพื่อให้ระบบนี้เข้าถึงพื้นที่ให้มากสุด เข้าไปช่วยเหลือทางการเงินตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพ ซึ่งอีเพย์เมนต์จะมาช่วยสร้างชุมชนให้มีเศรษฐกิจที่หมุนเวียนที่ดี มีระบบการขนถ่ายสินค้า โลจิสติกส์

ธนาคารกรุงไทยวางระบบอีเพย์เมนต์ให้กับกระทรวง ซึ่งมีร้านค้าในระบบกว่า 1 แสนร้านค้า ทำให้รู้ว่าผู้ถือบัตรสวัสดิการ 14.6 ล้านคนซื้ออะไร ทำให้เรามีข้อมูลว่าจะสร้างศูนย์กระจายสินค้าตรงไหน สินค้าอะไรที่เป็นที่นิยม ขณะนี้กำลังเตรียมการดำเนินการใช้บิ๊กดาต้ามาวิเคราะห์อย่างจริงจัง

ในเรื่องของสวัสดิการ มีเอกสารรวบรวมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่าไทยใช้เครื่องไม้เครื่องมือในการดูแลสังคม หรือตาข่ายสังคมผ่านประชารัฐ ซึ่งการใช้ความช่วยในปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการดำรงชีวิตเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ประชาชนมีแรงจูงใจที่จะทำงานมากขึ้น ตรงกันข้ามกับคำว่าทำให้คนจนมากขึ้น ทำให้คนขี้เกียจ ประเทศอื่นก็ใช้แนวทางนี้ช่วยทำให้เกิดความเข้มแข็งขึ้น แต่การช่วยต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน และส่งสวัสดิการให้ตรงจุด เชื่อว่าทั้งหมดที่กำลังพูดถึงคือประชารัฐสร้างไทย

ในส่วนของกระทรวงการคลังนั้นในเรื่องการส่งผ่านสวัสดิการใช้เครือข่ายที่มี เช่น กรมธนารักษ์ จะดูแลจะกางแผนที่ให้ ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน และ ททท.ดูว่าตรงไหนใช้ที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์มาใช้ตั้งเป็นตลาดให้แผงลอยเข้ามาอยู่ ซึ่งธนาคารออมสินพร้อมจะปล่อยกู้ให้กับแผงลอยดังกล่าว อีกประเด็นกระทรวงการคลังกำลังคิดว่าจะหามาตรการสนับสนุนให้เอกชนและผู้ประกอบการที่มีกำลังให้มาร่วมทำงานด้วย ภาคเอกชนสร้างเครือข่ายต่อยอดห่วงโซ่ ทำให้เกิดการพัฒนาของประเทศ ตอบโจทย์ประชาชน เพื่อคุณภาพชีวิตประชาชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image