โครงร่างตำนานคน : วิษณุ เครืองาม ชีวิตเปลี่ยนใน ‘เรือแป๊ะ’ : โดย การ์ตอง

อาจจะเป็นเพราะปกก่อนหน้านั้น “หลังม่านการเมือง” กลายเป็นหนังสือดังในแวดวงการเมือง เพราะการอภิปรายเรื่องเป็นเรื่องตายล่าสุดในสภาผู้แทนราษฎร ว่าด้วย “การถวายสัตย์ปฏิญาณ” ของคณะรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นผู้กล่าวนำถูกตั้งขึ้นมาเป็นประเด็นว่าเป็นการ “ไม่ปฏิบัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดบังคับให้ต้องทำ”

โดยมีการนำคำอธิบายของ ดร.วิษณุ เครืองาม ในเรื่องที่เขียนไว้ในหนังสือ “หลังม่านการเมือง” มาเป็นหลักฐานการอภิปราย

ทำให้การนำเสนอประสบการณ์ทางการเมืองที่ “ดร.วิษณุ” คร่ำหวอดมายาวนาน ผ่านหนังสือได้รับความสนใจสูงยิ่งจากนักอ่านผู้มีความสนใจด้านการเมือง เนื่องจากมีเกร็ดทางการเมือง ทั้งที่เป็นความรู้ ความคิด ข้อเท็จจริง และเหตุการณ์ที่น่าสนใจสอดแทรกผสมกันอยู่ ในลีลาการอธิบายที่ติดตามอ่านได้อย่างลื่นไหล รื่นรมย์ อันหมายถึงความน่าติดตามในแบบที่ชวนสนุก

ดังนั้นเมื่อ ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์หนุ่มด้านกฎหมาย และนักการเมืองรุ่นใหม่ไฟแรงของพรรคอนาคตใหม่ หยิบหนังสือเรื่อง “ลงเรือแป๊ะ” อันเป็นประสบการณ์ทางการเมืองล่าสุดที่ ดร.วิษณุ เครืองาม เขียนและวางแผงหมาดมาบอกทำนองว่า “เสียดายที่หนังสือออกมาหลังการอภิปราย เพราะอ่านแล้วมีแง่มุมให้พูดถึงอยู่หลายจุด”

Advertisement

ทำให้ “ลงเรือแป๊ะ” เป็นหนังสือที่ถูกถามถึงมากมายขึ้นมาทันที

ในขณะที่อีกมุมหนึ่ง ตัว ดร.วิษณุ เครืองาม เองถูกตั้งคำถามถึง “ความเปลี่ยนไป” อยู่อย่างคึกคัก

ไม่เพียง “อาจารย์ปิยบุตร” ที่พูดถึงเรื่องความเปลี่ยนแปลงใน “ความเป็น ดร.วิษณุ เครืองาม” โดยเปรียบเทียบกับก่อนหน้าที่จะมาร่วมคณะรัฐมนตรีกับรัฐบาล คสช. กับที่เห็นและเป็นอยู่ในวันนี้ และบอกว่า

Advertisement

“ผมอยากให้ท่านกลับมาเป็นอาจารย์วิษณุคนเดิม ยุติการให้ความเห็น การให้ความช่วยเหลือในทางกฎหมายแก่นายกรัฐมนตรี ให้ท่าน กลับมาเป็นปูชนียบุคคลในวงการนิติศาสตร์ ท่านออกจากเรือแป๊ะ แล้วกลับมาอยู่ในเรือแห่งความยุติธรรมเถอะครับ”

เท่านั้น

คนทั่วไปยังพากันงุนงงสงสัยว่าอะไรทำให้ผู้ที่เคยเป็นหลักในการอธิบายกฎหมายอย่างเป็นที่ยอมรับของสังคม กลายเป็นคนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักที่สุดว่าในมุมของการตีความกฎหมายที่เบี่ยงเบนไป

และเมื่อความเป็นไปที่เกิดขึ้นเช่นนี้ นำไปโยงกับที่ “ดร.วิษณุ” เคยกล่าวไว้ว่า “ลงเรือแป๊ะ ต้องตามใจแป๊ะ”

จึงเกิดข้อสรุปว่าในความคิดของหลายคนว่า เหตุของความเปลี่ยนไปดังกล่าวเกิดจากการตีความโดยมุ่งที่ “ตามใจแป๊ะ”

และนี่เองที่ทำให้หนังสือ “ลงเรือแป๊ะ” มีความน่าสนใจมากขึ้นไปอีก

ความน่าสนใจจึงอยู่ที่ “ชีวิตในเรือแป๊ะ” มีแรงกดดันอะไรที่ทำให้ “ตัวตนของ ดร.วิษณุ ถูกตีความว่าเปลี่ยนไปจากเดิม”

คำตอบในเรื่องนี้ ไม่มีใครรู้ดีเท่า ดร.วิษณุ เครืองาม เอง

เพียงแต่ว่า ในบางคำตอบย่อมมีเหตุที่จะพูดตรงๆ ไม่ได้ ต้องอาศัยการตีความจากคำบอกเล่า

และเมื่อหนังสือ “ลงเรือแป๊ะ” เป็นเรื่องราวในช่วงที่ความคิดของ ดร.วิษณุถูกตั้งข้อสงสัยว่าเปลี่ยนไป

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นแหล่งสำคัญที่จะค้นหาแรงกดดันดังกล่าว

คนคนหนึ่งที่ชีวิตหล่อหลอมมาด้วยองค์ความรู้ที่แน่น จนเป็นหลักสร้างความน่าเชื่อถือในทรรศนะที่แสดงออกได้

อะไรทำให้เปลี่ยนไป ย่อมเป็นเรื่องน่าค้นหา

มหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 24 บูธมติชน T06 ชาเลนเจอร์ 2 อิมแพค เมืองทองธานี วันที่ 2-13 ตุลาคม 2562

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image