บทนำ วันอังคารที่1ตุลาคม2562 : คนไทยกับ Google

ระหว่างร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 74 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 26 ก.ย. เวลา 12.05 น.ตามเวลาท้องถิ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ปาฐกถาที่ Asia Society ในหัวข้อ “การเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืนระหว่างประเทศ จากความแข็งแกร่งภายในสังคมไทย” โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า อินเตอร์เน็ตเป็นประโยชน์ ถ้าเอามาใช้เรื่องออนไลน์ ขายของ ให้ความรู้ ตนโอเคหมด วันนี้อยากรู้อะไร ก็เปิดดูจาก Google อยากรู้เรื่องอะไร ก็กดเข้าไปมันก็ออกมา มีหมดแหละ พวกเรานักบริหารจะเปิด Google เป็นส่วนใหญ่ ประชาชนจะไม่ค่อยเปิด นั่นแหละทำให้ปัญหามันเกิดขึ้น เพราะเขาไม่เรียนรู้ไง เพราะฉะนั้น การเรียนรู้จากอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์นั้น มีประโยชน์อย่างยิ่ง

คำกล่าวของนายกฯที่ว่าประชาชนไม่ค่อยเปิดกูเกิล ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะประเทศไทย จัดว่าตื่นตัวอย่างมากกับเทคโนโลยีสื่อสารที่ให้บริการถึงเจเนอเรชั่นที่ 4 ของระบบสื่อสารไร้สายหรือ 4G แล้ว และกำลังก้าวสู่ 5G ประชากรไทยขณะนี้ 69.2 ล้านคน ใช้โทรศัพท์ 92.3 ล้านเลขหมาย สถิติยังชี้ว่าคนไทยใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรมือถือ โดยใช้อินเตอร์เน็ตถึงวันละ 9 ชม.เศษ และยังมีสถิติด้วยว่าคนไทยใช้กูเกิล อันเป็นเสิร์ชเอนจิ้นเบอร์หนึ่งของโลก เดือนละเกือบ 900 ล้านครั้ง มากกว่าเฟซบุ๊กที่มีตัวเลขเข้าใช้เดือนละ 400 ล้านครั้งและยูทูบ 370 ล้านครั้ง

เป็นความจริงที่ประชาชนส่วนใหญ่ทั้งหมด ไม่ได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ต หรือการสื่อสารสมัยใหม่ทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ในภาพรวม อินเตอร์เน็ตและระบบออนไลน์ได้เข้าไปสู่วิถีชีวิตของประชาชนและขยายตัวกว้างขึ้นเรื่อยๆ เกิดการเรียนรู้ รับรู้ข่าวสาร เปรียบเทียบสถานการณ์ในไทยและต่างประเทศ ส่งผลให้ประชาชนรู้เท่าทันรัฐ ไม่ได้โง่เง่าจนต้องลดสิทธิเลือกตั้งดังที่เสนอในเวทีม็อบ เรื่องเหล่านี้ เป็นข้อมูลพื้นฐานของประเทศ ที่ผู้บริหารประเทศต้องติดตามและยึดกุม เพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบายและทิศทางการบริหารประเทศ ซึ่งก่อนอื่น จะต้องรู้ซึ้งถึงสภาพที่แท้จริงของประเทศในทุกด้าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image