มองปรากฏการณ์‘อนค.’ ตบเท้าออก-แกนนำเปลี่ยนไป

หมายเหตุ – ความเห็นนักวิชาการต่อปรากฏการณ์ของพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ทั้งอดีตผู้สมัคร-สมาชิกจำนวน 120 ราย พร้อมกันลาออกจากพรรค โดยอ้างแกนนำพรรคไม่รักษาสัจจะ เปลี่ยนไปหลังเลือกตั้ง อุดมการณ์แตกต่างกัน เป็นต้น

ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี

ส่วนตัวมองว่าการลาออกของสมาชิกพรรค อนค.เป็นสิทธิส่วนบุคคลสามารถทำได้ แต่เรื่องอุดมการณ์ในระบบการเมืองไทย อนค.อาจเป็นพรรคเดียวที่มีความชัดเจนเรื่องจุดยืน หรืออุดมกาณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตย การที่สมาชิกพรรคลาออกอาจไม่สามารถตีความได้ทันทีว่าจุดยืนเปลี่ยน แต่อาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกัน แน่นอนอาจมีการตั้งคำถามว่าจุดยืนหรืออุดมการณ์ของสมาชิกเหล่านี้อยู่ตรงไหน ควรจะต้องมองว่าหลังจากออกจาก อนค.แล้ว สมาชิกเหล่านี้มีกิจกรรมทางการเมืองอย่างไร เข้าสังกัดพรรคไหน ถ้าสมมุติว่าไปอยู่กับฝั่งรัฐบาล หรือพรรคที่ไม่ยึดหลักประชาธิปไตยก็อาจจะสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ได้มีจุดยืนทางการเมืองแบบประชาธิปไตยตั้งแต่ต้น

ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะเป็นเรื่องของขาลง เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ในระบบพรรคการเมือง แต่ช่วงนี้มีประเด็นเรื่องการยุบพรรคที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาลาออกของสมาชิกพรรค ลาออกจึงไม่น่าจะเป็นขาลงของพรรค หรือเรื่องการบริหารจัดการที่ผิดพลาดสักทีเดียว เรื่องการบริหารจัดการของพรรคก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ทุกพรรคก็มีปัญหาเหมือนกัน อยากให้มองในแง่ระบบการเมืองประชาธิปไตยทุกคนมีสิทธิที่จะสังกัดหรือย้ายพรรคเป็นเรื่องปกติ อย่าง สหรัฐอเมริกา คนที่เคยเป็นเดโมแครตก็ย้ายมาเป็นริพับลิกัน หรือริพับลิกันย้ายมาเดโมแครต หรือไม่สังกัดสมาชิกพรรคใด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในสังคมประชาธิปไตย ใครจะเข้าออกเมื่อไหร่ก็ได้ พรรค อนค.ก็ต้องพิจารณาว่าปัญหามาจากตรงไหน แต่ไม่ควรที่จะพยายามแก้ตัว ถ้าเป็นเรื่องเหตุผลส่วนตัวหรือปัญหาเกี่ยวกับพรรคก็เป็นสิ่งที่พรรคต้องพิจารณา พรรคเองไม่ควรจะมองว่าเป็นสิ่งที่ปกติ หรือผิดปกติ หรือเป็นสิ่งที่จะต้องมาคอยแก้ข่าว หรือแม้กระทั่งหลายแหล่งข่าวก็พยายามตีว่าเป็นประเด็นใหญ่ เราควรจะมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ แต่ปัญหาคืออะไร เป็นหน้าที่ของพรรคที่จะต้องวิเคราะห์ และสืบหาปัจจัยที่ทำให้คนออกจากพรรค ไม่ว่าจะปัจจัยภายนอก หรือปัจจัยภายใน จากการบริหารพรรคเอง เพื่อให้พรรคอยู่ได้

Advertisement

เรื่องของคดีความหรือการใช้อิทธิพลทางการเมืองดังที่เกิดขึ้นกับ อนค. ทำให้สังคมตั้งคำถามได้หลายประเด็น แต่วิธีการเหล่านี้คล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรคเพื่อไทย (พท.) ถ้ากลุ่มอำนาจเก่ายังคิดเช่นนี้อยู่ ก็เป็นวิธีคิดที่ผิดมาก ต่อให้ยุบพรรค อนค. ก็ไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นใหม่ หรือคนที่เห็นด้วยกับ อนค.จะหยุดกิจกรรมต่างๆ จะเห็นจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับ พท. มีการยุบพรรคหลายครั้ง แต่ไม่ได้ทำให้ พท.สลายไป กลับทำให้พรรคยิ่งเข้มแข็งขึ้น กลุ่มอำนาจเก่าควรจะคิดว่าการใช้กลไกทางกฎหมายหรือวิธีการต่างๆ ที่จะปิดกั้นโอกาสทางการเมืองของพรรคใหม่ อย่าง อนค. หากมีการยุบพรรคเกิดขึ้น อาจจะไม่ใช่วิธีที่ฉลาด ยิ่งจะสร้างความเข้มแข็งให้กับกลุ่มคนเหล่านี้มากยิ่งขึ้น เกิดแรงสนับสนุนมากขึ้น เพราะหลายประเด็นไม่ได้เป็นความผิดถึงขั้นต้องยุบพรรค หลายประเด็นก็ทำให้เห็นว่าการใช้อำนาจทางการเมืองของกลุ่มอำนาจเก่าในการพยายามที่ป้องกันการเสียอำนาจเดิม ปิดกั้นกระแสของพรรคใหม่ เป็นวิธีการที่กลุ่มอำนาจเก่าใช้ได้

แต่ความจริงแล้วในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป สังคมที่เปลี่ยน การเข้ามาของโซเชียลมีเดียทำให้การสื่อสารกว้างขึ้น โอกาสที่จะปิดกั้นเสรีภาพทางการเมืองของกลุ่มคนที่เห็นต่างกับกลุ่มอำนาจเก่าเป็นไปได้ยากมากขึ้น และการใช้อำนาจอิทธิพลทางการเมืองในการกดดัน ไม่ใช่วิธีที่จะช่วยให้กลุ่มอำนาจเก่าสามารถคงอำนาจได้ไว้ตลอดไป

ผศ.ดร.วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

Advertisement

ข่ าวการลาออกของสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) มองได้ 2 มุม ทางสมาชิกก็อธิบายว่าเป็นความอึดอัดไม่สบายใจกับแนวทางต่างๆ ที่ได้คุยกันไว้เบื้องต้น จึงประกาศขอแยกทาง แม้จะมีความคิด ความหวังดีต่อกันอยู่ ส่วนอีกมุมเป็นการตีความว่ามีการแลกเปลี่ยนพูดคุยเรื่องตอบแทนตำแหน่งหรือผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว ไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร

อุดมการณ์ที่เปลี่ยนไปของบางคนก็มีส่วน หากมองในมุมที่ผู้ออกมาอ้างหรือโพสต์เฟซบุ๊กว่าบางเรื่องรับไม่ได้ แต่แง่อุดมการณ์โดยรวม ความเป็น อนค.น่าจะยังยอมรับกันได้อยู่ เพียงแต่อาจจะมีรายละเอียดที่ไม่โดนใจกันจึงขอแยกทางกันเดิน อีกส่วน เป็นไปได้ที่อาจจะเกิดจากการที่ อนค.มีกระแสอย่างต่อเนื่อง อาจมีผลไม่มากก็น้อยในเรื่องกระแสความนิยม กับคนที่เป็นสมาชิกในปัจจุบันและที่ออกไปแล้ว เพราะ อนค.มีข่าวออกมาไม่เว้นแต่ละสัปดาห์ มีประเด็นใหม่เพิ่มเข้ามาอย่างเนื่อง เรียกได้ว่าพายุกระหน่ำเข้ามาที่พรรค

ระบบการจัดการภายในพรรคเป็นส่วนสำคัญ ทางกรรมการบริหารพรรคจะต้องตระหนักอย่างมาก ต้องคุยกันอย่างมีส่วนร่วมว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ การที่จะเติบโตและยั่งยืนต่อไปไม่ใช่เรื่องง่าย มีบทพิสูจน์หลายพรรคที่อยู่ไม่ยืดยาว บางพรรคมาเป็นกระแสแล้ววูบไป อนค.จะต้องดูอดีตเป็นบทเรียนที่พิสูจน์มาแล้วว่า เวลามาแรง มาเร็ว เวลาไปก็ไปเหมือนพายุเช่นกัน มีหลายพรรคในอดีตที่ฮือฮาเกรียวกราว ถึงช่วงหนึ่งกระแสตก เรื่องความไม่เหนียวแน่นภายในพรรคก็สำคัญ อุดมการณ์ที่เกาะเกี่ยวและการให้เกียรติกัน การมีส่วนร่วมของพรรคเป็นหัวใจ และเป็นโจทย์สำคัญที่หัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคจะต้องเข้าถึงและทำให้ได้ในทางปฏิบัติ

การลาออก 120 คน จะมองแบบเอาเปอร์เซ็นต์เทียบไม่ได้ แม้ว่าเปอร์เซ็นต์จะน้อย แต่ก็เป็นช่องที่ทำให้เกิดรูโหว่ของพรรค เป็นจุดที่จะขยายวงได้ จึงต้องไม่มองข้ามประเด็นเหล่านี้ แม้จะบอกว่าในหนึ่งวันคนสมัครเข้าพรรคมากขึ้น แต่ให้คำนึงให้มากกว่าว่าเป็นเพราะอะไรคนจึงไหลออก เพราะการไหลเข้าเป็นกระแสที่ อนค.มีอยู่แล้ว

ส่วนมุมที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค อนค.ตั้งข้อสังเกตเป็นเรื่องปกติของการต่อสู้ทางการเมืองที่อำนาจอีกฝ่ายจะต้องหาทางสกัด ไม่ว่าจะโดยชัดแจ้งหรือโดยเบื้องหลัง ประเด็นคือ มีแผลเมื่อไหร่จะถูกเปิดเมื่อนั้น การเคลื่อนไหวของแกนนำคนสำคัญของพรรค อนค. จะต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น อีกฝ่ายจ้องอยู่ตลอดเวลา ต้องระมัดระวังตัวเองให้มากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ดี แต่อะไรก็ตามที่เราคิดมองข้าม เช่น การแสดงออกทางสื่อสาธารณะ การโพสต์ต่างๆ จะต้องทำด้วยความระมัดระวัง

อาจเป็นเรื่องปกติในแง่ของการต่อสู้ เป็นเรื่องที่มีมาทุกยุคสมัย แต่จะมากในช่วงนี้ก็อาจมองได้ว่าไม่ปกติ โดยเฉพาะในช่วงการทำงานของรัฐบาลและฝ่ายค้าน น่าจะเดินไปได้อย่างราบรื่นกว่านี้ แต่เราจะเห็นว่ามีข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้ โดยเฉพาะ อนค.ถือว่าโดนกระหน่ำหลายยก อาจมองในแง่ความไม่ปกติก็ได้ว่า มีความพยายามหาประเด็นต่างๆ หาช่องทางที่จะดำเนินการกับ อนค.สอดคล้องกับที่ว่า กรรมการบริหารพรรคจะต้องพิจารณาประเด็นต่างๆ อย่างถี่ถ้วน การเคลื่อนไหวของแกนนำพรรค อย่าให้เขาเปิดแผลได้ เนื่องจากประเด็นมีมาเรื่อยๆ ล่าสุด ช่อ
พรรณิการ์ วานิช โฆษกพรรคก็มีประเด็นเงินบริจาค 1 ล้าน
มุมมองจากข้างนอก หากมองเข้าไปเห็นว่า อนค.น่าจะใช้กลยุทธ์ “สงบ กลบความเคลื่อนไหว” บ้าง ก็น่าจะดีขึ้น อย่าตอบโต้ เคลื่อนไหวช่วงนี้มากนัก กลยุทธ์นี้น่าจะใช้ได้อยู่ และน่าจะทำให้สถานการณ์ดูสงบราบเรียบขึ้น

รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

จํ านวน 120 คน ที่ยื่นลาออกจาก อนค. แต่ละคนมีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป ไม่ควรจะเหมารวมทั้งหมดแล้วอธิบายด้วยเหตุผลเดียว แต่จะมองในทางลบหรือบวกก็ได้ เพราะบางคนการที่เข้ามามีกิจกรรมทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมชีวิต อาจคิดว่าเราจะได้อะไรจากการกระทำนี้ ไม่ได้หมายความถึงผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงเหตุผลอื่นๆ เช่น การได้รับการยอมรับคล้ายกับเป็นการเข้าไปอยู่ในเครือข่ายบางอย่างเพื่อเป็นหนทางที่นำไปสู่ความต้องการส่วนตัว และอนาคตข้างหน้า

ส่วนตัวเคยทำงานองค์กรกลางในการสังเกตการเลือกตั้งปี 2535 สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน ตอนนั้นเราหาอาสาสมัครจำนวนมาก ในตอนแรกได้อาสาสมัครอย่างดี แต่ขณะเดียวกันก็มีคนที่ต้องการนั่นต้องการนี่เข้ามาอยู่ในกลุ่มอาสาสมัคร บางคนก็เป็นสายของพรรคการเมืองบ้าง มีความหลากหลาย แต่ละคนมีเป้าหมายที่ต่างกันออกไปเพื่อสนองความมุ่งหวังส่วนตัว เช่น ตอนแรกบางคนเห็นว่าธนาธรมีเงิน ก็คิดว่าเป็นช่องทางหนึ่งเกี่ยวกับอาชีพของเขาในการเข้ามาทำกิจกรรมทางการเมือง แต่ตอนหลังปรากฏว่าแนวคิดคนละอย่าง ธนาธรบอกว่า อนาคตใหม่ ไม่ใช่พรรคการเมืองของเขา แต่เป็นพรรคการเมืองของทุกคน ฉะนั้นจึงต้องมาลงขัน ลงแรงกัน มีบางคนที่ต้องควักกระเป๋าส่วนตัวแล้วไม่ได้อะไรตอบแทน เช่นนี้ ในแง่ของคนที่ลาออกก็น่าเห็นใจว่าเขาอาจจะเบี้ยน้อยหอยน้อย ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเสียสละได้ ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่า เหตุใดหัวหน้าพรรคหรือคนอื่นๆ ไม่มาช่วยเรื่องการเงินบ้าง เป็นสาเหตุของคลื่นใต้น้ำมาโดยตลอด หรือเช่นในบางจังหวัด เวลาจะไปประชุมพรรคจะต้องเดินทางไปเอง เดินทางมาจากต่างอำเภอบ้าง เป็นค่าใช้จ่ายทั้งหมด พรรคไม่ได้ออกให้ โดยปกติพรรคการเมืองอื่นจะมีเงินถุงเงินถังจึงสามารถออกให้ได้ การทำงานเช่นนี้หากไม่มีสตางค์ที่จะทำให้ไหลไปได้ก็จะลำบาก ยกเว้นว่าจะเป็นพรรคคอมมิวนิสต์ หรือนักศึกษาเข้าป่าที่เรียกร้องอย่างสุดโต่ง แต่ อนค.ไม่ได้เรียกร้องขนาดนั้น และไม่ได้สนับสนุนเรื่องการเงิน จึงอาจเป็นปัญหาพื้นฐานสำหรับคนที่ไม่ได้อะไรเลย เท่าที่รู้จักบางคน เป็นผู้ช่วย ส.ส.ก็ไม่ได้ อันนั้นก็ไม่ได้ นี่ก็ไม่ได้ จึงมีความไม่พอใจ และมีคณะกรรมการบริหารพรรคบางคนต้องลาออกจากงานประจำมาทำหน้าที่ตรงนี้และได้เงินเดือน จึงเกิดการลักลั่นกันภายในคณะกรรมการบริหารบางคน ก็น่าเห็นใจว่าเขาลาออกจากงานอื่นมาทำ แต่ในความคาดหวังของพรรคที่จะเป็นพรรคมวลชนจะต้องเสียสละ คนจำนวนมากไม่อยู่ในฐานะเสียสละได้

ที่ว่าเป็นขาลง ของ อนค.ไม่จริง ตรงกันข้าม อนค.ได้เสียงดีมาก ได้รับการตอบรับที่ดีมาก สังเกตได้จากประเด็นที่ อนค.ถูกโจมตีก่อนหน้านี้ แต่ก็เพราะเหตุประเด็นนี้ที่ทำให้เขาได้รับเลือกมาก ตอนหลังเปลี่ยนเป็นการโจมตีเรื่องอื่น เช่น เรื่องถือหุ้น ฯลฯ เป็นเรื่องผิวเผิน ส่วนตัวมองว่าพรรค อนค.เป็นช่องทางการแสดงออกของคนที่อึดอัดเกี่ยวกับพฤติกรรมของชนชั้นสูงที่ไม่รู้จะระบายอย่างไร อนค.เป็น Expression ของการแสดงออกด้านนี้ นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.นครปฐม ในฐานะที่บ้านอยู่ อ.นครชัยศรี รู้ว่าตระกูลสะสมทรัพย์มีเครือข่ายที่แน่นมายาวนาน จึงไม่น่าประหลาดใจที่ชนะเลือกตั้ง ไม่ได้หมายความว่า อนค.จะเสียงตกลง เนื่องจากครั้งนี้ตระกูลสะสมทรัพย์ระดมอย่างหนักในเครือข่าย

แน่นอนว่า อนค.กำลังตกอยู่ในสถานการณ์การโจมตีของกลุ่มอำนาจเก่า ย้อนไปก่อนหน้านี้ พท.ก็โดนแบบนี้ ทักษิณ ชินวัตร โดนโจมตีหลายเรื่อง อำนาจอะไรที่มาท้าทายเขา อำนาจเก่ายอมไม่ได้ ย้อนกลับไปไกลอีกหน่อย อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยังเคยถูกมองว่าท้าทายอำนาจ ซึ่ง อ.ป๋วยไมได้คิดเช่นนั้น คนที่มีชื่อเสียงขึ้นมาหรือเป็นที่ยอมรับในสังคมจะต้องอยู่ฝ่ายเขา ตัวอย่างคือ หมอประเวศ วะสี ใครที่ขึ้นมาท้าทายอำนาจแม้เพียงเล็กน้อยก็จะมีความพยายามทำให้ถูกต่อต้านและทำให้ล้มไป แต่จะล้มได้เมื่อไหร่ก็แล้วแต่จังหวะ ถ้าไม่เข้ากับเขา ก็เสร็จ

ต่อจากนี้ อนค.คงลำบาก อนาคตข้างหน้าก็ทำได้ยาก แน่นอนว่าจะต้องถูกรบกวนอย่างมากและตลอดไป ถูกแซะโดยลำดับจากอำนาจของคนที่ครองอำนาจอยู่ ที่ผ่านมา อนค.ก็ไม่ได้วางตัวเสียหาย ไม่ได้ประมาทอำนาจเก่า แต่จะต้องระวังมากขึ้นกับคนที่จะเข้ามาในพรรค เป็นข้อที่ลำบากมาก เราจะคัดกรองอย่างไร เพราะมีข้อขัดแย้งระหว่างการที่จะสร้างพรรคให้เป็นพรรคมวลชน ซึ่งต้องใหญ่และมีสมาชิกมาก ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังคนที่อาจจะเป็นกลุ่มอำนาจเก่าเข้ามาบ่อนเซาะข้างใน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image