ครบ 2 ปี ขึ้นภาษีบุหรี่ รายได้สรรพสามิตลด คนสูบไม่ลด อุตสาหกรรมยาสูบร่อแร่

ผ่านไป 2 ปีกับการขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่  ในที่สุดการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) จำเป็นต้องออกมา ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีบุหรี่จาก 20% เป็น 40% ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เพราะจะมีผลกระทบรุนแรงซ้ำเติมความบอบช้ำของ ยสท.เพิ่มไปอีกหลายเท่าตามที่กรมสรรพสามิต กระทรวงการคลังได้ให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมาว่า กรมสรรพสามิตจะเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อหาข้อสรุปว่า 1.จะเลื่อนขึ้นภาษีบุหรี่ 40% ต่อไปหรือไม่  หรือ 2.ให้ขึ้นอัตราภาษีบุหรี่แบบขั้นบันได 5% ทุก 2 ปี เพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยาสูบได้มีเวลาปรับตัว  ก่อนนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ

ตลอดสองปีนับแต่มีการขึ้นภาษีสรรพสามิตยาสูบ มีการเก็บภาษีมหาดไทยและภาษีผู้สูงอายุจากสินค้าบุหรี่เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 12  ของภาษีสรรพสามิต เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2560 ทำให้บุหรี่ถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70-80 โดยขึ้นราคาขายไปอยู่ที่ซองละ 60 บาท  จากเดิมซองละ 40 บาท  ทั้งยังดูเหมือนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมยาสูบจะถูกนำขึ้นแท่นสังเวยผลกระทบรุนแรงถึงขั้นชี้เป็นชี้ตาย ในขณะที่การคาดหวังผลลัพธ์การใช้ภาษีเพื่อลดอัตราการบริโภคยาสูบดูจะยังห่างไกลเป้าหมาย  ไล่เรียงสถานการณ์ของแต่ละฝ่ายได้ดังนี้

การยาสูบแห่งประเทศไทยกำไรลดฮวบ 

Advertisement

สถานการณ์อุตสาหกรรมยาสูบในช่วงสองปีที่ผ่านมาสะท้อนผลกระทบจากภาระภาษีที่สูงขึ้น คือบุหรี่ราคาซองละ 60 บาท มีภาระภาษีถึง 48 บาท (ร้อยละ 80 ของราคา) ทำให้กำไรของ ยสท. ผู้ผลิตบุหรี่รายใหญ่ที่มีรัฐบาลเป็นเจ้าของ มีผลการดำเนินงานย่ำแย่ ลงอย่างต่อเนื่อง

จากข้อมูลที่เปิดเผยโดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) งบการเงินล่าสุดของ ยสท. ช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2562  (ต.ค.2561 – มี.ค. 2562) ยสท. มีกำไรสุทธิเพียง  347 ล้านบาท ลดลงร้อยละ  40 จากกำไรสุทธิในช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2561 ที่เคยได้ 588 ล้านบาท และลดลงถึงร้อยละ  92 จากช่วงเดียวกันของปีงบประมาณ 2560  ที่เก็บได้ 4,723 ล้านบาท จึงเป็นไปได้สูงว่าในปีงบประมาณ  2562  ยสท. จะไม่สามารถนำส่งรายได้เข้ารัฐได้ติดต่อกันเป็นปีที่สอง จากที่เคยสามารถนำส่งรายได้ให้รัฐปีละ 8,000 – 9,000 ล้านบาท ทำให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กำกับดูแล ยสท.ต้องสั่งการให้ ยสท. เร่งปรับตัว  หาช่องทางเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากใบยาสูบที่รับซื้อจากเกษตรกร เพื่อให้แข่งขันได้ในตลาด

Advertisement

เกษตรกรชาวไร่แทบสูญอาชีพทำกิน 

เมื่อ ยสท.ขาดทุนหนักอย่างฉับพลัน  เกิดผลกระทบลูกโซ่ไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมต้นน้ำ  คือ เกษตรกรชาวไร่ยาสูบกว่า 50,000 ครอบครัวทั่วประเทศที่ถูกลดโควตาการรับซื้อใบยาสูบลงร้อยละ 50  ทั้งสองฤดูกาลผลิต ต้องสูญเสียรายได้จากอาชีพทำกินรวมกว่า 2,000 ล้านบาท หนี้สินพอกพูนทั้งหนี้ในและนอกระบบ   ขณะที่รัฐบาลไม่มีการส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนที่สร้างรายได้ใกล้เคียงกับการปลูกใบยาสูบ  ม็อบชาวไร่บุกกรุง  ยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดสองปี  แม้ว่าในเดือนธันวาคม 2561  คณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติเงินชดเชยให้เป็นเงินเกือบ  160 ล้านบาท ภายใต้เงื่อนไขชดเชยให้ครั้งเดียว ทั้งที่ตัดโควตาสองปีซ้อน  นางคำพา ขีดแต้ม  อายุ 56 ปี ชาวไร่ยาสูบจังหวัดเพชรบูรณ์  กล่าวอย่างสิ้นหวังว่า “ไม่รู้จะไปทำกินอะไรหากไม่ได้ปลูกใบยาสูบที่ปลูกกันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อ  ตอนนี้เงินชดเชยที่ได้รับก็หมดแล้ว ก็ได้แต่ขอกู้เงิน ธกส.ต่อไป”

ขณะเดียวกัน เกษตรกรชาวไร่ยาสูบอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขึ้นภาษียาเส้นในอัตรา 20 เท่าเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา  รวมตัวกันมายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการการเกษตรของสภาผู้แทนราษฎรและต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม  เรียกร้องว่า ถ้าจะขึ้นภาษียาเส้นก็อยากให้ขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปจะดีกว่า

บุหรี่เถื่อนทะลัก ร้านค้าปลีกยอดขายตก

ร้านค้าปลีกรายเล็กรายน้อยในชุมชนจำนวนราว 4-5  แสนราย ได้รับผลกระทบเพราะ ราคาบุหรี่และยาเส้นแพงขึ้น  ทำให้ยอดขายบุหรี่ลดลงมากเพราะคนสูบหันไปซื้อบุหรี่หนีภาษีราคาถูกซองละ  10-30 บาท โดยสมาคมการค้ายาสูบไทยได้ขอให้นิด้าโพล สำรวจความคิดเห็นร้านค้าปลีกที่จำหน่ายยาสูบจำนวน 1,029  ร้านเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 83 ขายบุหรี่ได้น้อยลงหลังจากรัฐขึ้นภาษีบุหรี่ในเดือนกันยายน 2560   ร้อยละ  73 ขายยาเส้นได้น้อยลงหลังจากขึ้นภาษียาเส้นเมื่อพฤษภาคม 2562  และร้อยละ 90 ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีบุหรี่อีกครั้งในวันที่ 1 ตุลาคม 2563

จำนวนนักสูบยังไม่ลด 

มองในฝั่งสุขภาพ การใช้นโยบายภาษียาสูบก้าวกระโดดเช่นนี้ รัฐบาลจะหวังผลให้เกิดการลดการบริโภคยาสูบ โดยมีเป้าหมายลดลงเหลือร้อยละ 14.7 ภายในปี 2568  นั้น จะทำได้จริงหรือ?   มาดูตัวเลขผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของประชากร พ.ศ. 2560 พบว่า จากจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น 55.9 ล้านคน เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน  (ร้อยละ 19.1)  เทียบกับปี 2558  ที่มีผู้สูบบุหรี่ร้อยละ 19.9 เท่ากับในสองปีมีอัตราลดลงเพียงร้อยละ 0.8 ทั้งที่มีการขึ้นภาษีบุหรี่ติดกันมาโดยตลอดในช่วงเวลาดังกล่าว  เพราะในขณะที่ภาษีบุหรี่เพิ่มสูงขึ้น กลับทำให้ ยาเส้นและบุหรี่หนีภาษี กลายเป็นสินค้าทดแทนไปโดยปริยาย  โดยปริมาณการผลิตยาเส้นเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจาก 12 ล้านกิโลกรัมในปี 2560 เป็น 26 ล้านกิโลกรัมในปี 2561

รายได้สรรพสามิตยาสูบลด

ตั้งแต่ขึ้นภาษียาสูบเมื่อเดือนกันยายน 2560 กรมสรรพสามิต  นักสูบหันไปสูบบุหรี่หนีภาษีและยาเส้นที่ไม่ได้เสียภาษีหรือเสียภาษีในอัตราที่ต่ำมากแทน  กรรมสรรพสามิตจึงไม่สามารถเก็บภาษีบาปจากบุหรี่ได้เพิ่มขึ้นมาเป็นเวลา 2 ปีติดต่อกัน  โดยในปีงบประมาณ  2560 ก่อนขึ้นภาษีเคยเก็บได้  68,603  ล้านบาท แต่หลังจากขึ้นภาษีแล้ว  เก็บได้ 68,548 ล้านบาท และ 67,410 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2561 และ 2562 ตามลำดับ

จะเห็นว่านโยบายภาษีสรรพสามิตยาสูบที่สร้างผลกระทบและความสูญเสียให้กับหลายฝ่ายเช่นนี้  รัฐบาลควรต้องกลับมาพิจารณานโยบายกันใหม่  โดยวางแผนดำเนินการให้ชัดเจนทั้งระยะสั้นและระยะยาว  มองหาทางเลือกที่สร้างผลกระทบน้อยลง แต่ทุกฝ่ายสามารถไปถึงเป้าหมายของตนเองได้ทั้งฝั่งสุขภาพและฝั่งอุตสาหกรรม  

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image