ศึกเลือกตั้งซ่อม‘ขอนแก่น’ ฝ่ายค้าน-รัฐบาลถอยไม่ได้

หมายเหตุ – กรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายนวัธ เตาะเจริญสุข สิ้นสมาชิกภาพความเป็น ส.ส.ขอนแก่น เขต 7 พรรคเพื่อไทย เนื่องจากต้องคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิต โดยระหว่างนี้ถูกคุมขังอยู่ ทำให้ต้องมีการเลือกซ่อม ที่เชื่อว่าจะมีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ของพรรคฝ่ายค้านที่ต้องรักษาพื้นที่ของตัวเอง ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลจำเป็นต้องช่วงชิงเพิ่มจำนวน ส.ส.ท่ามกลางรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ จากนี้เป็นความเห็นของนักวิชาการถึงความได้เปรียบเสียเปรียบของแต่ละฝ่าย


อัษฎางค์ ปาณิกบุตร
อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

การต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาลเพื่อช่วงชิงเสียง ส.ส.ในการเลือกตั้งซ่อมเขต 7 จ.ขอนแก่น จะแตกต่างจากการเลือกตั้ง ส.ส.นครปฐม เขต 5 ที่มีการใช้ทุนค่อนข้างสูง รวมทั้งการใช้สื่อบางประเภทปลุกเร้า เพื่อโจมตีจุดอ่อนของพรรคคู่แข่งก่อนลงคะแนนกว่า 1 สัปดาห์ แต่ที่เขต 7 จ.ขอนแก่น เป็นฐานที่มั่นของคนเสื้อแดงในภาคอีสาน หากรัฐบาลจะเอาชนะ จะต้องลงทุนลงแรงใช้ทุนมากกว่า 2 เท่า รวมถึงการใช้อำนาจรัฐยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทุกฝ่ายควรจับตามองอย่างใกล้ชิด อย่าลืมว่าขณะนี้ คสช.หมดอำนาจแล้ว ไม่เหมือนการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม 2562 หลายฝ่ายไม่เชื่อว่าสนามเลือกซ่อมขอนแก่นรอบนี้รัฐบาลจะได้เปรียบ
การเสนอตัวของพรรคเพื่อไทยต้องหาตัวบุคคลลงเลือกตั้งซ่อมที่มีศักยภาพ ไม่ควรเสียเวลากับการยึดหลักการทำโพลหยั่งเสียงกรณีพรรคมีผู้เสนอตัวเลือกหลายคน เพราะจะเป็นผลเสีย ดังนั้นส่วนตัวยังเห็นว่านายอดิศร เพียงเกษ น่าจะเป็นทางเลือกเหมาะสมที่สุด ทั้งชื่อชั้นทางการเมืองและประสบการณ์โชกโชน รวมถึงลูกเล่นวิธีการหาเสียงน่าจะดีกว่าบุคคลอื่นในระยะเวลาสั้นๆ ที่สำคัญหากพรรคร่วมฝ่ายค้าน มุ่งเป้าหมายที่ชัยชนะ ต้องการรักษาฐานเดิมไว้ ก็ไม่ควรส่งผู้สมัครลงไปแข่ง
สำหรับผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐที่แพ้อดีต ส.ส.เขตเดิมกว่า 3,000 คะแนน รอบนี้มีโอกาสแก้มืออีกครั้ง แต่คงประมาทไม่ได้ถ้าเจอกับนายอดิศร ตัวต่อตัวคงสู้กันสนุกสูสีมาก และก่อนการลงคะแนนอย่าลืมว่าช่วงต้นเดือนธันวาคมนี้ ฝ่ายค้านได้ยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พุ่งเป้าไปที่นายกรัฐมนตรีและพรรคพลังประชารัฐ แต่คงไม่มีผลกับคะแนนนิยมมากนัก เพราะภาคอีสานไม่มีกระแสวูบวาบเหมือนการเลือกตั้งในสนาม กทม. อีกทั้งสนามขอนแก่น ใครจะลงคะแนนให้ใครอยู่ที่ความนิยมในตัวบุคคล ไม่ได้ยึดติดกับพรรคมากนัก ขณะที่ปัจจัยพลิกผันจะอยู่ที่การใช้อำนาจรัฐและการใช้กระสุนอย่างหนักหน่วง แต่ต้องระวังกระแสตีกลับถ้าทำไม่แนบเนียน
ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ต้องโปร่งใส จัดการเลือกตั้งไปตามกติกา อย่าอคติ ต้องทำงานให้ทันเกม ต้องทำให้สังคมเห็นว่าเป็นองค์กรอิสระจริงไร้การแทรกแซง

โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

Advertisement

การเลือกตั้งซ่อม เขต 7 ขอนแก่น จะเป็นผลสัมพันธ์จากการเลือกตั้งซ่อมที่นครปฐมก่อนหน้านี้ ที่พลังประชารัฐ (พปชร.) เห็นจังหวะและโอกาส เพราะยังมีฐานเสียงเดิมของผู้สมัครคนก่อนหน้า ซึ่งอาจจะผันแปรมาเป็นฐานเสียงให้กับ พปชร. อีกส่วนหนึ่งคือพรรคเพื่อไทย (พท.) และอนาคตใหม่ (อนค.) ต้องคุยกันในทางยุทธศาสตร์ว่า ครั้งนี้ อนค.จะหลบให้ พท.หรือทั้ง 2 พรรคจะแข่งกัน ซึ่งยังไม่มีความชัดเจน ก่อนหน้านี้มีข่าวว่า อนค.จะหลบให้ พท. เพราะครั้งที่แล้ว พท.หลบให้ อนค. แต่หากดูจากกระแสคะแนนนิยมของอนาคตใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม มีภาวะอาจจะตกต่ำจากเดิมเมื่อเทียบกับการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม
สำหรับ พท.มีฐานเดิมทางภาคอีสานอยู่แล้ว ถือเป็นความได้เปรียบ ขณะที่พปชร.ก็พยายามทำคะแนนนิยมจากโครงการ “ชิม ช้อป ใช้” โครงการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อสร้างฐานคะแนน เพราะการเก็บเกี่ยวให้ได้เสียงข้างมาก มีความจำเป็นกับการเมืองระดับชาติของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
การเลือกตั้งซ่อมที่จะเป็นการต่อสู้อย่างเข้มข้นแน่นอนระหว่าง พท.และ พปชร.
หาก พท.มีมติส่งนายอดิศร เพียงเกษ คิดว่าจะมีโอกาสชนะค่อนข้างสูงจากคะแนนนิยมของนายอดิศรที่มีเครือข่ายนักการเมืองท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต. ส.จ .ส.ท. จำนวนมาก คงจะช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่
การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้มีความหมายอยู่ 2 ประการ คือ 1.พท.ต้องการชนะเพื่อให้เห็นความตกต่ำของ พปชร. ซึ่งจะกระทบไปถึงรัฐบาล และ 2.พปชร.ก็ต้องการเอาชนะ เพื่อที่จะมาเสริมทัพซีกรัฐบาลและทำให้เห็นว่าคะแนนนิยมของพรรคดีขึ้น จึงไม่ใช่แค่ชัยชนะระหว่างตัว ส.ส. แต่คือชัยชนะระหว่างยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านด้วย
แม้รัฐบาลจะมีกลไกอำนาจรัฐอยู่ มีกองทัพ มีข้าราชการ รวมทั้งฐานอำนาจเดิมคอยหนุนอยู่ แต่ตัวชี้ขาดที่แท้จริงคือประชาชนในพื้นที่ ที่ยังผูกพันหรือแปรผันความผูกพันไปแล้ว ส่วนตัวค่อนข้างให้น้ำหนักไปซีก พท.มากกว่า
การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้จะเป็นตัววัดคะแนนนิยมของทั้ง 2 ฟาก และเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองของซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านด้วย

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต

เพื่อไม่ให้การเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต 7 จ.ขอนแก่น มีปัญหาเหมือนการเลือกตั้ง ส.ส.เขต 5 จ.นครปฐม กรณีการประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งล่าช้านานกว่า 2 สัปดาห์ หลังจาก ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ยื่นใบลาออก ทุกฝ่ายควรหารือเพี่อเร่งรัดการทำงานให้มีความชัดเจน อย่าติดกับดักความล่าช้ากับระบบราชการแบบเก่า เนื่องจากอำนาจในการจัดการเลือกตั้งถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกการประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อาจต้องรอการประชุม ครม.ครั้งถัดไป ส่วนการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นอำนาจของกกต.หลังมี พ.ร.ฎ.แล้ว ดังนั้นถ้าปฏิบัติเหมือนการเลือกตั้งเขต 5 จ.นครปฐม จะทำให้ กกต.มีวันทำงานน้อยลง ทั้งการรับสมัคร เวลาการหาเสียงของผู้สมัคร การเตรียมตัวของประชาชนผู้ใช้สิทธิอาจรู้ล่วงหน้าในเวลาที่จำกัด
ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ ครม.ควรมีมติโดยเร็วในการประชุมครั้งต่อไป หาก ครม.ยังไม่สามารถดำเนินการได้ กกต.ก็ควรประสานอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งเบื้องต้นที่เหมาะสม และประกาศอย่างไม่เป็นทางการให้สาธารณะรับทราบถึงโรดแมปการปฏิบัติ เพื่อให้ทุกฝ่ายเตรียมความพร้อมอย่างเท่าเทียมกัน แต่อาจมีปัญหาลงคะแนนเลือกตั้งไม่ทันในวันที่ 22 ธันวาคม ดังนั้นวันลงคะแนนอาจเลื่อนไปในวันที่ 28 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันเสาร์ถัดไป
สิ่งที่น่ากังวลเรื่องการหาเสียงก่อนเทศกาลปีใหม่ อาจมีปัญหาทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ดังนั้น กกต.ควรมีความชัดเจนก่อนการประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง แต่ก่อนหน้านั้น กกต.ยังมีอำนาจที่จะตรวจสอบได้ หากพบเห็นการทุจริต การจัดเลี้ยง การใช้ตำแหน่งหน้าที่ หรือการใช้อิทธิพลบางอย่างเพื่อนำไปสู่การแจกใบเหลือง ใบแดง

Advertisement

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

การเลือกตั้งซ่อมเขต 7 ขอนแก่น เป็นโอกาสของทุกพรรคมากกว่าที่จะบอกว่าเป็นโอกาสของ พปชร.เพียงพรรคเดียว แต่ก็ไม่รู้ว่าพรรคอื่นๆ เช่น อนาคตใหม่ หรือประชาธิปัตย์จะลงแข่งด้วยหรือไม่ หรือจะแข่งเพียงเจ้าของพื้นที่เดิม คือ เพื่อไทยกับพลังประชารัฐ
แต่อย่างที่เข้าใจกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดกลไกในการเลือกตั้งและการจัดการ ส.ส.ค่อนข้างประหลาด มีการจัดการ ส.ส.พึงมีตามคะแนนที่ ส.ส.เขตได้ ถ้าคะแนน ส.ส. เขต 7 ขอนแก่นปริ่มไปอย่างมีนัยสำคัญ ก็ถือเป็นโอกาสของทุกพรรคการเมืองที่จะมี ส.ส.พึงมีเพิ่มขึ้น หรือลดลงก็ได้
กรณีการเลือกตั้งซ่อมที่นครปฐมที่ผ่านมา มีการพูดถึงอนาคตใหม่ที่แพ้พลังประชารัฐ แต่ ส.ส.พึงมีของอนาคตใหม่จะต้องมีเท่าเดิม ซึ่งยังไม่มีคำตอบว่าสุดท้ายจะทำอย่างไร ขณะนี้ยังเท่ากับว่าส.ส.พึงมีของอนาคตใหม่หายไป 1 คน
สำหรับการเลือกตั้งซ่อมที่ขอนแก่น รู้กันอยู่ว่าพื้นที่ภาคอีสานคือฐานที่มั่นของเพื่อไทยมายาวนาน ตั้งแต่ยุคไทยรักไทย แต่พลังประชารัฐก็มีโอกาส อาจจะเป็นในลักษณะที่ส่งใครก็ตามเพื่อต้องคะแนนเข้าพรรคให้มากที่สุด เพื่อเกลี่ยจำนวน ส.ส.พึงมี ขณะที่เพื่อไทยถือว่าจบแล้ว เนื่องจากครบจำนวน ส.ส.พึงมีแล้ว ดังนั้นหากเพื่อไทยแพ้ที่ขอนแก่นก็จะเสียไป 1 ตำแหน่ง แต่ถ้าชนะก็เสมอตัวเท่านั้น
ส่วนระหว่างเพื่อไทยกับอนาคตใหม่ พรรคใดควรจะส่งผู้สมัคร หากมองในแง่มารยาทก็ควรจะเป็นเพื่อไทยที่ควรได้ ส.ส.คืนมา แต่ถ้ามองในแง่การเมือง พรรคฝ่ายค้านก็อาจจะต้องมาคุยกันว่า ส่งคนนี้ลงแล้ว จะได้ทั้งคนนี้และ ส.ส.พึงมีในปาร์ตี้ลิสต์เพิ่มอีก 1 คน เป็นเรื่องของการมองยุทธศาสตร์จำนวนเสียงในสภา
การเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ พลังประชารัฐได้เปรียบแน่นอน เนื่องจาก 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีโครงการซึ่งไม่รู้จะจำแนกว่าเป็นโครงการประชานิยมหรือโครงการประเภทใด อย่าง ชิม ช้อป ใช้ เฟส 1 เฟส 2 โครงการเหล่านี้ทำให้คนจำพลังประชารัฐได้ เวลาหาเสียงก็อาจหาเสียงในลักษณะที่ว่าเลือกคนของพลังประชารัฐ จะได้สานต่อนโยบาย
ดังนั้นพรรครัฐบาลถือว่าได้เปรียบ หากพรรคฝ่ายค้านไม่สามารถหานโยบายหรือจุดขายไปหาเสียงได้ เว้นแต่ฐานเสียงแข็งแกร่งอย่างแท้จริง ซึ่งส่วนตัวมองว่าเพื่อไทยน่าจะทำได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image