รายงานหน้า2 : นักวิชาการไขสงสัย อภิปรายปีละครั้ง ยึดวงรอบการทำงานสภา

หมายเหตุ ความเห็นจากนักวิชาการกรณีการยื่นอภิปรายทั่วไป ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ระบุว่า “การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 151 มาตรา 152 หรือมาตรา 153 แล้วแต่กรณี ให้กระทําได้ปีละ 1 ครั้ง” โดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ระบุว่าให้ทำได้วงรอบละ 12 เดือน ไม่ได้ยึดตามปีปฏิทิน พร้อมเสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาประเด็นดังกล่าว

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและวิจัยการเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต

รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ชัดเจนว่าปีหนึ่งจะต้องอภิปรายตามข้อบัญญัติที่กำหนดไว้ โดยการอภิปรายมี 3 ประเภท โดยประเภทแรก การเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 151 อภิปรายโดย ส.ส.มีการลงมติ ประเภทต่อมาตามมาตรา 152 อภิปรายโดย ส.ส.ไม่มีการลงมติ และประการสุดท้ายอภิปรายโดย ส.ว. โดยไม่มีการลงมติมาตรา 153 เพราะฉะนั้นในเวลา 1 ปี จะอภิปรายได้ปีละครั้งในแต่ละมาตรา ที่ผ่านมาโควต้าการอภิปรายตามมาตรา 152 ได้ถูกใช้ไปแล้ว จะเหลือการอภิปรายตามมาตรา 151 และ 153 สามารถทำได้
เมื่อถามว่าใน 1 ปีให้อภิปราย 1 ครั้ง จะยึดตามปีอะไร ส่วนตัวมีความเห็นสอดคล้องกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ยืนยันว่าต้องยึดปีการทำงานของรัฐสภา เพราะว่า 1 ปี มี 2 สมัยเปิดประชุมครั้งละ 120 วัน และปีของรัฐสภาจะเริ่มตั้งแต่วันแรกที่มีพระบรมราชโองการให้เปิดประชุมสภาวันแรก แล้วนับไปให้ครบ 1 ปี จึงไม่ได้หมายความว่าเมื่อถึงเดือนมกราคม 2563 แล้วจะต้องยื่นญัตติอีก ประเด็นนี้ไม่เห็นด้วย
สำหรับประเด็นที่อาจส่งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัยนั้น เชื่อว่าเบื้องต้นทุกฝ่ายคงเข้าใจตรงกันโดยเฉพาะนายชวน หลีกภัย ประธานสภา สามารถให้ความเห็นได้ทันที ไม่จำเป็นต้องขอให้วินิจฉัย หรือต้องไปถามความเห็นจากเจตนารมณ์ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของสามัญสำนึกที่ระบุถึง 1 ปีคือการทำงานของรัฐสภา และมีวิธีการปฏิบัติที่ยึดถือมาในอดีต
แม้ว่ากฎหมายเก่าจะไม่กำหนดโควต้าให้อภิปรายเพียงปีละ 1 ครั้ง แต่เมื่อมีการกำหนดไว้แล้ว ผู้ร่างก็คงไม่ต้องการให้รัฐบาลต้องเป็นภาระมากเกินไปในการถูกซักฟอก เพราะการอภิปรายแต่ละครั้งคนเดือดร้อนไม่ใช่รัฐบาลหรือนักการเมือง แต่ข้าราชการประจำทุกกระทรวงต้องเดือดร้อนด้วย เพราะต้องเตรียมข้อมูลให้รัฐบาล ทำให้การทำงานของภาครัฐต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก
ส่วนการเปิดอภิปรายช่วงปลายเดือนธันวาคมไม่ใช่ปัญหา ต้องดูว่าสมัยประชุมครั้งนี้จะปิดเมื่อใด ก็ต้องทำให้เสร็จก่อน ซึ่งความเหมาะสมอยู่ที่การพิจารณาของพรรคฝ่ายค้านอาจจะมีเหตุผลประกอบ แต่ถ้าผมเป็นฝ่ายค้านน่าจะหาจังหวะอภิปรายหลังช่วงเทศกาลปีใหม่จะเหมาะสมกว่า เพราะก่อนปีใหม่ทุกคนมีภารกิจมากมาย ทั้งการพักผ่อน การเฉลิมฉลอง ถ้าเป็นต่างประเทศหลังวันที่ 15 ธันวาคม คนจะเริ่มไม่ทำงานกันแล้ว และความสนใจของประชาชนที่ติดตามอาจจะไม่มาก บวกกับการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่เขต 7 จ.ขอนแก่น ช่วงปลายปี อาจประเมินว่าความสนใจทางการเมืองจะถูกเบี่ยงเบนไปจุดอื่น

Advertisement

 

ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

ในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทั้งการลงมติและไม่ต้องลงมติ แต่ละประเภทให้ทำได้ปีละ 1 ครั้ง และหากจะต้องวินิจฉัยว่าจะต้องนับปีอย่างไร ส่วนตัวเห็นว่าจะต้องนับจากวงรอบการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ส่วนการใช้ปีปฏิทินกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ ขณะที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าสภาผู้แทนราษฎรมีวาระคราวละ 4 ปี ในการดำรงตำแหน่ง ดังนั้นจึงใช้สิทธิอภิปรายตามบทบัญญัติแต่ละมาตราได้เพียง 4 ครั้งในวงรอบการทำงานของสภา
แต่ถ้าจะให้ ชัดเจนประธานสภาผู้แทนราษฎรควรจะต้องวินิจฉัย หรืออาจจะไปค้นหาเหตุผลจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มอบหมายให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาหรืออาจส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยเป็นหลักอ้างอิง ทำให้ประเด็นข้อถกเถียงมีข้อยุติได้ ถ้าไม่ชัดเจนอาจมีปัญหาทางกฎหมายในภายหลัง หากมีการยื่นญัตติหรือมีการอภิปรายแล้ว หรือมีการวินิจฉัยกฎหมายเป็นทางอื่นก็จะมีปัญหา
ต้องยอมรับว่าการอภิปรายครั้งนี้อยู่ในช่วงที่รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมาก ทั้งปัญหาเศรษฐกิจรวมไปถึงกระแสการไม่ลงรอยระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล กรณีพรรคภูมิใจไทย หรือว่ามีข่าวเรื่องการปรับเปลี่ยนตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ว่ารัฐบาลอาจไม่มั่นใจในความเป็นเอกภาพและเสถียรภาพพอสมควร ดังนั้นถ้าให้ฝ่ายค้านอภิปรายก็มีความเสี่ยง เพราะมีการลงมติ เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการวินิจฉัยในข้อกฎหมาย แต่เชื่อว่าหลักในการเปิดอภิปรายจะเป็นไปตามความเห็นที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ได้ชี้แจงไว้ ส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหาหรือทำให้ฝ่ายค้านมีข้อข้องใจ

Advertisement

 

ฐิติพล ภักดีวานิช
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

แม้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 จะระบุเรื่องการยื่นญัตติไว้ชัดเจน แต่ส่วนตัวมองว่าการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรืออภิปรายการทำงานของรัฐบาลขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการทำงานและแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งหน้าที่ของสภาคือการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร ฉะนั้น จึงไม่ควรยึดติดว่า 1 ปีจะสามารถยื่นได้กี่ครั้ง
หากดูจากต่างประเทศ เช่น กรณีเบร็กซิทในอังกฤษ มีการอภิปราย หรือมีการเรียกร้องให้เลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งคือการให้ประชาชนเลือกว่าจริงๆ แล้วรัฐบาลควรทำงานต่อไปหรือไม่
ดังนั้น ในตรรกะเดียวกัน การอภิปรายไม่ไว้วางใจควรจะอยู่ที่ประสิทธิภาพการแก้ปัญหา ณ เวลานั้นของรัฐบาลว่ามีอะไรที่เป็นเรื่องเร่งด่วนของประเทศมากกว่า หากรัฐบาลสะท้อนว่าไม่มีความสามารถในการแก้ปัญหา คิดว่าน่าจะเปิดให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ ซึ่งเป็นช่องทางให้ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร และไม่ควรกำหนดว่าฝ่ายนิติบัญญัติมีสิทธิตรวจสอบเพียงปีละ 1-2 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในเงื่อนไขของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ให้นับจากวันโปรดเกล้าฯ หากดูแล้วก็มองได้ว่าเป็นการลากยาวการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลมีเกมยืดเวลาอยู่ตลอด แต่ส่วนตัวที่มองคือ นี่เป็นสิ่งหนึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญควรพิจารณาว่า หากตั้งข้อกำหนดว่ายื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ปีละ 1 ครั้ง การตรวจสอบถ่วงดุลจะมีประสิทธิภาพหรือไม่

 

พัฒนะ เรือนใจดี
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ระบุว่า การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ ให้กระทำได้ปีละหนึ่งครั้ง ทั้งนี้ ไม่มีคำว่า “นับจากโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี” ปรากฏอยู่เลย ซึ่ง 1 ปีดังกล่าวนี้ให้นับตั้งแต่การเริ่มต้นปฏิบัติหน้าที่ของสภา
ผู้แทนราษฎร
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเริ่มตอนไหนจะมีค่าเท่ากัน เนื่องจากคนที่เป็นผู้แทนราษฎรกับคนที่เป็นรัฐมนตรีได้เป็นผู้แทนประมาณ 2 เดือนก็จัดตั้งคณะรัฐมนตรีแล้ว ดังนั้น ความคิดที่ว่าจะเริ่มตอนไหนจึงไม่หนีกัน
แต่ถ้ากล่าวว่าต้องครบ 1 ปีนับจากวันโปรดเกล้าฯ ถึงจะอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ แบบนี้เป็นการบิดเบือน เช่น คณะรัฐมนตรีชุดนี้มีขึ้นเดือนกรกฎาคม ถ้าจะยื่นได้ต้องหลังกรกฎาคม 2563 แบบนี้เป็นการบิดเบือน ฉะนั้น การจะนับตอนเป็นผู้แทน หรือนับตอนเป็นรัฐมนตรีจึง
ไม่หนีกัน
ส่วนจะมีผลต่อการเปิดประชุมสภาเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่นั้น เรื่องนี้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทราบดีอยู่แล้ว เพราะนายชวนระบุวันที่ไว้เรียบร้อยแล้ว
ดังนั้น เรื่องราวตรงนี้ไม่น่าจะเป็นความกังวลของฝ่ายค้านหรือพี่น้องประชาชนที่ต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบฝ่ายบริหาร เพราะเป็นอำนาจตามมาตรา 154 ของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน
 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image