รายงานหน้า2 : วิพากษ์‘กกต.บายพาส’ สั่งโทษประหาร‘อนค.’

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการประเด็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ กรณีพรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค เป็นเงินจำนวน 191 ล้านบาท โดยอ้างถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 93 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองที่เปิดช่องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นพร้อมรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานส่ง กกต.พิจารณาได้เลย

 

พัฒนะ เรือนใจดี
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

มาตรา 93 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง คือ การยื่นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีเหตุเข้าหรือไม่ที่จะยุบพรรค โดยมาตรา 91 92 93 และ 94 เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “เหตุดังต่อไปนี้ นำไปสู่การยุบพรรค” ยกตัวอย่างเช่น รับเงินต่างชาติ ยอมให้คนครอบงำไปมีสาขาพรรคในต่างประเทศ เป็นต้น หากเข้าเหตุเหล่านี้ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ยุบพรรค โดยมี กกต.เป็นเหมือนบุรุษไปรษณีย์ คอยส่งเรื่อง
ทั้งนี้ เมื่อดูว่า กกต.ส่งไปเพื่ออะไร เท่าที่ทราบเห็นว่า กกต.ไม่ได้ส่งไปให้ยุบพรรค แต่ส่งไปตีความว่าเงินกู้ถือเป็นรายได้ หรือ รายรับ ส่งไปถามในข้อกฎหมายที่เถียงกันระหว่างนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กับ กกต. ซึ่ง นายปิยบุตรแย้งว่าสามารถทำได้เพราะไม่มีกฎหมายเขียน แต่ กกต.ถือว่าตรงนี้เป็นรายรับ จึงส่งเรื่องถามศาล หากศาลเห็นเช่นที่ กกต.ว่า กกต.ก็ส่งเรื่องกลับไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกทีเพื่อจะพิทักษ์ แต่ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการตีความกฎหมาย ซึ่งศาลอาจจะไม่ตีความให้ก็ได้
สำหรับมาตรา 91 92 93 และ 94 ถือว่าร้ายแรง เพราะเป็นเหตุของการยุบพรรคและถอนสิทธิรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เปรียบเป็นโทษประหารทางการเมือง ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องดีที่ กกต.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำว่า “เงินกู้” ว่า เมื่อไม่มีกฎหมายระบุ สามารถกู้ได้หรือไม่ แต่เมื่อ กกต.ถามแล้วศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า เงินกู้ถือเป็นรายรับ รายรับถือเป็นประโยชน์อย่างอื่น เมื่อเกินกว่า 10 ล้าน อย่างนี้เขาก็เล่นงานแน่ กกต.ก็ต้องดำเนินการต่อไป ไม่อย่างนั้นจะเป็นการละเว้นต่อหน้าที่
ถามว่าฝั่งผู้ถูกร้องมีโอกาสที่จะชี้แจงหรือไม่ ส่วนตัวมองว่าขณะนี้ข้อเท็จจริงนิ่งหมดแล้ว นายธนาธรก็บอกว่าให้กู้จริง จึงไม่มีความจำเป็นที่จะชี้แจ้ง เพราะเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ไม่ใช่ข้อเท็จจริง กล่าวคือ ศาลคิดอย่าง กกต.หรือคิดเหมือน นายปิยบุตร ศาลอาจมองว่าทำได้ก็จริง แต่ไปเข้ารายรับ เป็นเรื่องประโยชน์ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จึงขึ้นอยู่กับการตีความทางฎหมายของศาล
อย่างไรก็ตาม ทางหนีทีไล่ของพรรคอนาคตใหม่ คือ Wait and see คอยดูก่อนว่าจะไปอย่างไร ไม่ต้องดิ้นรน เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนนั้น ปล่อยไป กกต.ดำเนินการตามฐานะที่เป็นผู้ควบคุมการเลือกตั้ง ซึ่งต้องทำแบบนั้น และหลังจากนี้ให้ดูว่าศาลชี้มาในลักษณะไหน พรรคอนาคตใหม่ยังมีโอกาสเพิ่มเติมให้ กกต.ได้ หมายความว่าถ้าศาลชี้มาในทางที่เป็นลบ เราเห็นในประเด็นอะไรเพิ่มเติม พรรคก็สามารถส่งให้ กกต.ประกอบได้อีกที แต่ตอนนี้ กกต.ยึดเพียงข้อเท็จจริงที่ว่ามีการกู้เท่านั้นเอง

Advertisement

 

วันวิชิต บุญโปร่ง
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การที่นายทะเบียนพรรคการเมือง ส่ง กกต.พิจารณา เพื่อมีมติเสนอไปยังศาลรัฐธรรมนูญนำไปสู่การวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่นั้น ดูแล้วเหมือนอ่านเจตนารมณ์ของผู้กู้และผู้ให้กู้ของพรรคอนาคตใหม่ว่ามีเจตนาที่ไม่ชอบ แม้ว่าในกฎหมายจะไม่ได้ระบุว่าห้ามกู้เงิน แน่นอนว่าตรงนี้อาจเป็นเรื่องการใช้กฎหมายในการซิกแซ็ก โดยผู้ตีความอาจมองในรูปกฎหมายธุรกิจที่หากไม่ได้ระบุไว้ก็อาจจะสามารถทำได้ แต่ประเด็นนี้เปรียบเสมือนว่าคือกฎหมายมหาชน ที่จะต้องดูเจตนารมณ์ของผู้ร่างเป็นสำคัญ โดยส่วนตัวเข้าใจว่าเจตนารมณ์ผู้ร่างกฎหมายพรรคการเมืองไม่ต้องการให้เกิดการครอบงำของนายทุน ที่จะมามีอิทธิพลเหนือพรรคหรือชี้เป็นชี้ตายอนาคตของกรรมการบริหารพรรค หรือสมาชิกพรรคการเมืองนั้นๆ ดังนั้น นายธนาธรในฐานะหัวหน้าพรรคการเมือง ให้พรรคตนเองกู้เงิน แน่นอนว่าสิทธิประโยชน์ในเรื่องรายได้ที่จะต้องตอบแทนคืนกลับเข้าสู่กระเป๋าของเจ้าของเงินกู้ คือ นายธนาธร โดยอาจในรูปแบบดอกเบี้ย หรืออาจนำไปสู่การครอบงำหรือการสั่งการได้
การที่ กกต.ยื่นส่งศาลทันทีโดยไม่ให้ชี้แจง ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องของวิธีการมากกว่า โดยปกติจะใช้การรับคำร้องจากการชี้แจงทางเอกสาร หรือการชี้แจงผ่านตัวบุคคลก็ได้ แต่ที่ผ่านมา ส่วนมากหากดูแล้วว่าจะเป็นการเยิ่นเย้อ เสียเวลา และข้อมูลหลักฐานที่ได้รับมาเพียงพอแล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องเรียกพยานมาสอบถามเพิ่มเติม เพียงแค่เอกสารชี้แจงข้อสงสัยที่ กกต.เคยเรียกตรวจสอบก็น่าจะเพียงพอ ไม่จำเป็นที่จะต้องขยายเวลาก็ได้ เป็นไปตามความเห็นของ กกต. ยกเว้นว่าผู้ถูกร้องมีหลักฐาน หรือข้อมูลใหม่ ก็อาจทำเรื่องยื่นคำร้อง เป็นสิทธิที่ทำได้ อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญอาจเห็นแล้วว่าข้อมูลเพียงพอ ไม่จำเป็นต้องเรียกมาตรวจสอบก็ย่อมได้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล
ในเชิงอนาคตทางการเมือง อาจเป็นเหมือนโทษประหารทางการเมืองที่ดูรุนแรง แต่เมื่อดูทิศทางการต่อสู้ของนายธนาธรและพรรคอนาคตใหม่แล้ว เห็นว่าไม่ได้ยุติเพียงเท่านี้ ยังสามารถเคลื่อนไหวนอกสภาได้โดยรูปแบบกิจกรรมอาจจะแตกต่างไปจากเดิม เราอาจจะเห็นได้จากกิจกรรมที่โหมโรงช่วงนี้และยาวไปถึงปีใหม่ การชุมนุมแบบเดิมอาจเปลี่ยนไป อาจเป็นการระดมมวลชนในรูปแบบการทำกิจกรรมที่มีลักษณะอิงล้อกับสังคม โดยไม่ให้ขัดกับกฎหมายชุมนุม เช่น กิจกรรม “วิ่งไล่ลุง” แม้รูปแบบนี้อาจไม่ชี้ชัดว่าเกี่ยวข้องกับพรรคอนาคตใหม่ แต่ก็นำไปสู่การเชื่อมโยง หยิบประเด็นความไม่พอใจของผู้คนต่อรัฐบาลชุดนี้อิงแนบไปกับความรู้สึกที่พรรคอนาคตใหม่ประสบชะตากรรมเช่นนี้ก็เป็นได้
ดังนั้น โทษประหารทางการเมืองอาจจะเจ็บปวดสำหรับสมาชิกกรรมการบริหารพรรค โดยเฉพาะคนที่มีความจงรักภักดี หรือมีความตั้งใจมุ่งมั่นกับการทำงานของพรรคอนาคตใหม่ แต่ก็เชื่อว่าพรรคอนาคตใหม่น่าจะหาช่องทางต่อสู้จนถึงที่สุด การอธิบายทางสังคมให้เป็นเหตุเป็นผลตามที่ตัวเองคิดว่ายังมีต้นทุนทางสังคมหลงเหลืออยู่ มีเหตุผลอะไรที่มีน้ำหนักพอให้สังคมรับฟังมากขึ้น คือหนทางสำหรับพรรคอนาคตใหม่ ประเด็นต่อมาคือ การรักษาจำนวน ส.ส.ที่มีแนวโน้มเริ่มจะมีระยะห่างจากพรรคว่ายังยืนอยู่ในบ้านหลังเดิมนามพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ เพราะหากยุบพรรคจะกลายเป็นหมือนนกแตกรัง ที่สามารถไปเกาะต้นไม้ที่มีความมั่นคงมากกว่าเดิม หรือจะยังอยู่รังเก่า นี่ต่างหากคือโจทย์ที่ท้ายที่สุด

Advertisement

 

สมลักษณ์ จัดกระบวนพล
อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ในฐานะที่เคยเป็นผู้พิพากษาและเป็นกรรมการ ป.ป.ช.และทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาประธานกรรมการ ป.ป.ช. การพิจารณาคดีของศาลหรือการตั้งคณะไต่สวนของ ป.ป.ช. จะไม่ทำแบบที่ กกต.ดำเนินการแบบนี้กับพรรคอนาคตใหม่ คือ การไม่ให้โอกาสผู้ถูกร้องได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาหรือได้ดำเนินการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่เลย ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 ระบุชัดเจนว่า ให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะแน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น ทั้งนี้ หลักสำคัญสมัยที่ตนเป็นผู้พิพากษา ถ้าเราสืบพยานโจทก์แล้วเห็นว่าหนักแน่นมั่นคงลงโทษจำเลยได้แล้วจำเลยสืบพยานทีหลัง เราจะให้โอกาสจำเลยสืบพยาน หาพยานมาแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่เลย
จากการที่ได้ฟังข่าว กกต.ทราบว่า กกต.ใช้เวลาน้อยมาก ไม่ได้ให้โอกาสพรรคอนาคตใหม่ได้สืบพยานเพื่อแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่ สรุปสำนวนแล้วเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคเลย แม้การยุบพรรคจะไม่ใช่โทษทางอาญาแต่มันเป็นโทษที่หนักหนามาก การยุบพรรคหรือการห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นโทษที่หนักหนามากๆ มองว่าเปรียบเสมือนการประหารชีวิตทางการเมืองเลย เพราะฉะนั้นคดีสำคัญเช่นนี้และมีบทลงโทษที่หนักแบบนี้ จะต้องไต่สวนและให้โอกาสผู้ถูกร้องแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่จึงจะวินิจฉัยได้ ดังนั้น รู้สึกแปลกใจว่า กกต.มีกฎหมายอะไรพิเศษที่ทำแบบนี้ได้
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวมีความมั่นใจว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยึดหลักการการพิจารณาคดีตามที่ดิฉันได้กล่าวไปข้างต้น คือ การให้โอกาสผู้ถูกร้อง ไม่ใช่เพียงดูแค่เอกสารและพยานที่ กกต.เสนอไปเท่านั้น ต้องมีการสืบพยาน ไต่สวนข้อเท็จจริงก่อนที่จะสรุปหรือมีคำวินิจฉัยออกไป นี่คือหลักการของกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image