รายงานหน้า2 : โมเดล-แก้รธน.60 ปลดล็อก‘ม.256’นำร่อง

หมายเหตุความเห็นนักวิชาการ นักเคลื่อนไหว กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต่อแนวทางและความคาดหวังการทำงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร
รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาหลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

โดยหลักของการทำงานคือ มองถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ อย่างไร หากมีความจำเป็นต้องแก้ไข ทั้งนี้ สิ่งที่เราเห็นชัดเจนคือรัฐธรรมนูญมาตรา 256 มีการกำหนดวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ ซึ่งมีปัญหาอุปสรรคค่อนข้างมาก คือจะต้องเห็นพ้องต้องกันทั้ง 3 ส่วน คือรัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา โดยวุฒิสภาจะมีบทบาทในวาระที่ 1 และ 3 ส่วนฝ่ายค้านจะมีบทบาทในวาระ 3 ซึ่งมันกลายเป็นการกำหนดเงื่อนไขที่แก้ไขได้ยาก ตรงนี้ก็คงเป็นหน้าที่ของกรรมาธิการฯชุดนี้ที่ต้องมองให้เห็นถึงปัญหาต่างๆ
ส่วนหลักเกณฑ์และวิธีการในการแก้ไข ถ้าเราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว เราคิดว่าจะมีหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขได้อย่างไร ที่ต้องกระทบแน่นอนคือรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 อาจจะสร้างกลไกในการแก้ที่อ่อนตัวมากกว่านี้ แต่ปัญหาก็คือจะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายเกิดความไว้วางใจว่าสร้างกลไกที่อ่อนตัวแล้วจะไม่มีการนำประเด็นของเนื้อหาที่จะแก้ไขที่จะนำไปสู่ประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขต้องมีหลักประกันว่าปลดล็อกรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ให้อ่อนตัวลงแล้วจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรว่าจะไม่มีการแก้ไขที่จะไปเอื้อประโยชน์ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือถ้าหากเห็นว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับมีปัญหาแล้วจำเป็นต้องมีการร่างใหม่ทั้งฉบับขึ้นมา จะมีกลไกอย่างไรที่ทำให้การร่างดังกล่าวไม่เป็นการร่างซึ่งจำกัดคน เกี่ยวข้องเฉพาะคน ฝ่ายผู้มีอำนาจประสงค์ให้ทำหน้าที่ในการร่างเท่านั้น แต่สามารถกระจายบทบาทในการร่างไปถึงประชาชนทั้งประเทศได้ ตรงกับแนวทางที่หลายคนบอกว่าน่าจะต้องมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เกิดขึ้น โดยมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในแต่ละจังหวัด เข้ามาทำหน้าที่เป็นสภาในการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่กรรมาธิการฯชุดนี้ต้องคุยกันว่าแนวทางจะเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม การทำงานของกรรมาธิการฯชุดนี้จะนัดหารือกันทุกวันศุกร์ โดยนัดประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 10 มกราคม ระหว่างนี้ให้แต่ละคนไปศึกษาเป็นข้อมูลต่างๆ หรืออาจะใช้เวลาในช่วงนี้ไปรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่ก่อนก็ได้ เมื่อกลับมาประชุมก็จะได้มานำเสนอสิ่งที่แต่ละคนคิดอยู่ หลังจากนั้นก็คงจะสร้างกรอบในการทำงานร่วมกันขึ้นมา ขณะเดียวกันทาง กรรมาธิการฯก็คงต้องวางตารางการทำงานไม่ควรที่จะประชุมไปเรื่อยๆ เพราะท้ายที่สุดอาจจะไม่สามารถทำงานได้ตามกรอบเวลา แม้ว่าเรามีสิทธิขอขยายเวลาการทำงานได้ แต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำเพราะมันจะกลายเป็นว่าไม่สามารถทำงานได้ตามที่ได้รับมอบหมายได้ ดังนั้น เบื้องต้น ต้องทำงานภายใต้กรอบเวลาให้ประสบความสำเร็จ เมื่อครบ 120 วันแล้ว ทางกรรมาธิการฯต้องเสนอต่อสภาได้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น หลักเกณฑ์และแนวทางในการแก้ไขว่าจะมีกี่แนวทางและประเมินผลดี ผลเสียในแต่ละแนวทางด้วย

Advertisement

 

เมธา มาสขาว
เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.)

มีความคาดหวังต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญชุดนี้ เพราะถือว่าทุกพรรคการเมืองมีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน หวังว่าสภาผู้แทนราษฎรจะใช้ กมธ.ชุดนี้นำไปสู่การแก้ไขมาตรา 256 ได้ เพื่อจะนำไปสู่การแก้เพื่อเสนอให้มี ส.ส.ร.62 หรือ 63 เพื่อออกร่างทั้งฉบับ หรือ กมธ.ชุดนี้จะเสนอให้แก้ไขในบางมาตราที่เป็นอุปสรรคเฉพาะหน้าก่อนก็ได้
ตอนนี้ความหวังของการแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ที่กรรมาธิการชุดนี้ ที่จะพิจารณาและประสานความร่วมมือกับ ส.ว.ให้ลงมติเบื้องต้นก่อน เช่น ในการแก้ไขมาตรา 256 หรือแก้ไขบางมาตราที่เป็นปัญหา เช่น บทเฉพาะกาลที่บอกว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก 2 สภารวมกันซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล 5 ปี
กมธ.ศึกษาแก้รัฐธรรมนูญต้องรับฟังปัญหาจากภาคประชาชนที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญประชาชน (ครช.) และภาคีเพื่อรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย ซึ่งมีข้อเสนออยู่ คาดว่าช่วงเดือนมกราคม 2563 จะมีการยื่นหนังสือถึงอาจารย์พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธาน กมธ. แก้รัฐธรรมนูญด้วย
ส่วนข้อเสนอแนะคือ กมธ.ชุดนี้ต้องทำงานให้สภาเป็นทางออกจากวิกฤตที่มีรัฐธรรมนูญเป็นตัวผูกเงื่อนไว้ให้ได้ เพราะถ้า กมธ.ที่มาจากทุกพรรคการเมืองไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ตอบโจทย์สังคม ก็จะสร้างปัญหาระยะยาวที่สังคมจะเห็นว่ารัฐสภาไม่ใช่คำตอบในการแก้ปัญหาประเทศ ดังนั้น กมธ.ชุดนี้คือกุญแจแก้วิกฤต ต้องไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านเท่านั้น แต่ต้องตอบปัญหาทั้งหมดในเรื่องของกับดักที่เราติดหล่มมาเป็น 10 ปี ทั้งการปฏิรูปด้านต่างๆ ที่สำคัญคือปลดล็อกรัฐธรรมนูญ 60

Advertisement

 

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช
ผู้อำนวยการสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล

หากไม่นับรายชื่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว กรอบอำนาจหน้าที่ของ กมธ.ถือว่ายังไม่ชัดเจน โดยอาจได้คุยกันในการประชุมครั้งต่อไป
ส่วนตัวได้ศึกษาตั้งแต่ยังเป็นร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนจะมีการทำประชามติ อีกทั้งเคยร่วมกันทำเสมือนการถกแถลงเกือบทั่วประเทศ เพื่อระดมความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ อาทิ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน นักกฎหมาย ว่าส่วนไหนในร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องให้ความสำคัญ ส่วนไหนที่มีข้อกังวล หรือเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ซึ่งอาจส่งผลกระทบกับการบังคับใช้ต่อไป เราพยายามทำข้อแนะนำอยู่
ทั้งนี้ ด้วยความเป็นร่างรัฐธรรมนูญจึงอาจไม่ได้รับการแก้ไขตามคำแนะนำ หรือคำแนะนำเหล่านั้นอาจไม่ได้นำไปพิจารณา ทำให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีหลายเงื่อนไขที่ทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้ หรือบางอย่างทำให้การดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติเกิดความลำบาก ไม่ชัดเจน
หากกลับไปดูกระบวนการได้มาของรัฐธรรมนูญ 2560 จะพบว่าประชาชนมีส่วนร่วมน้อยมาก ดังนั้น ในฐานะที่รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด เป็นกฎหมายที่ควรได้รับการยอมรับ เป็น กติการ่วมกันของคนในสังคม คิดว่ารัฐธรรมนูญควรมีกระบวนการได้มาที่เกิดการยอมรับและการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายอย่างเต็มที่ เพื่อทำให้เป็นกติกาที่ทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วม มีความเป็นเจ้าของ เกิดความเคารพกฎหมาย ทั้งนี้ หากกล่าวในฐานะการทำงาน กมธ.ก็จะพยายามผลักดันให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างเต็มที่
สำหรับความคาดหวังของ กมธ.ศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขนั้น เราต้องให้ความหวังไว้กับทุกๆ ความเป็นไปได้ ก่อนหน้านี้สังเกตได้ว่าแม้จะมีคนในสังคมจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักวิชาการ เอ็นจีโอ นักศึกษาต่างๆ ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ ดูเหมือนจะไม่ได้รับการตอบสนองมากนัก ไม่ว่าจะจากฝ่ายรัฐบาลหรืออื่นๆ แต่ในตอนนี้หากสังเกตตาม ไม่ว่าจะตัวแทน กมธ. หรือในภาคส่วนอื่นๆ ดูเหมือนจะมีความเห็นพ้องต้องกันว่าน่าจะมีอะไรสมควรต้องแก้ไข
คิดว่าน่าจะมีโอกาสทำให้เกิดการแก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงไปได้จริงๆ และใช้ระยะเวลาไม่มากนัก เพราะถ้านานมากคงจะไม่ไหว กติกาควรเป็นกติกาที่ใช้ได้กับทุกคน เป็นกติกาที่ทุกคนมีส่วนร่วมและยอมรับได้ เป็นที่เคารพของทุกฝ่าย
อยากให้ผู้ที่สนใจติดตาม รวมทั้งสาธารณชน ร่วมกันแสดงความเห็นผ่านทางช่องทางต่างๆ ถึงเรื่องการมีส่วนร่วมของแต่ละคนต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หรือการแก้ไขในอนาคต สิ่งนี้จะเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่คนในสังคมจะได้ร่วมกันร่างกติกาที่สามารถใช้ต่อไปในระยะเวลานานมากๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image