บทนำวันที่31ธันวาคม2562 : โจทย์ร้อนจาก 2562

ปี 2562 เป็นปีที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง คือ การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 24 มี.ค. 2562
อย่างไรก็ตาม ด้วยผลของกฎกติกาที่ออกแบบเฉพาะ กำหนดให้เกิดรัฐบาลและฝ่ายค้าน ดังสภาพที่เห็นกันอยู่
ผลของกฎกติกา ทำให้เกิดคะแนนเสียงที่ห่างกันไม่มาก ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน
และกลายเป็นปัญหาของรัฐบาล ที่ต้องยุ่งยากเสียเวลาไม่น้อยไปกับการบริหารสภาพปริ่มน้ำ
ส่งผลต่อการทำงาน ความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไปพร้อมกัน
ภาพสะท้อนการทำงานของรัฐบาล และสภา ในปี 2562 ที่กำลังจะผ่านไป เห็นได้ชัดจาก “ฉายา” ที่กลุ่มสื่อที่ทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภาจัดทำขึ้น
และเผยแพร่เป็นข่าวไปแล้ว
นี่คือเรื่องดีของระบอบประชาธิปไตย ที่สื่อสามารถร่วมสะท้อน ร่วมตรวจสอบบทบาท การทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งเป็นผู้ใช้งบประมาณ จากภาษีอากรของประชาชนด้วย
จากฉายาดังกล่าว หากสกัด สังเคราะห์ เอาเนื้อหาออกมาใคร่ครวญ จะพบว่า การเมืองประเทศไทย ย่ำเท้าอยู่กับที่ ยังไม่ได้ไปถึงไหน
แม้ว่าได้มีการ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” มาเป็นเวลาถึง 6 ปีแล้วก็ตาม

แม้ว่ามีการเลือกตั้งแล้ว กฎหมายที่ให้อำนาจพิเศษอย่างมาตรา 44 ได้ยกเลิกไปแล้ว
แต่การสืบทอดอำนาจ การรักษาอำนาจและกลไกอำนาจเดิม ยังดำรงอยู่ โดยกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ
โดยเฉพาะบทเฉพาะกาล ที่กำหนดให้ 5 ปีแรก สมาชิกวุฒิสภา มีอำนาจกำหนดและลงมติรับรองผู้ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี
ทำให้เกิดอำนาจพิเศษตามบทเฉพาะกาล อยู่เหนือผลการเลือกตั้ง เหนือเจตนารมณ์ของประชาชน ผู้ใช้สิทธิเลือก ส.ส. เลือกพรรคการเมือง เข้าสภา
หรือการกำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำได้ยากยิ่ง การกำหนดให้ ส.ส. ย้ายพรรคได้ ในกรณีกระทำผิดทางการเมืองแล้วถูกขับจากพรรค
นอกจากนี้ ยังกระจายอยู่ในกฎหมายลูก รวมถึงในกฎหมายพรรคการเมืองและกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งเห็นปัญหามาแล้วจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา
และเปิดโอกาสให้ใช้กฎหมาย ใช้กลกไกฎหมายเอารัดเอาเปรียบทางการเมือง
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า กฎกติกาเหล่านี้ เป็นที่มาของสิ่งที่เรียกว่า “รัฐเชียงกง” รวมไปถึง “สภางูเห่า”

จากสภาพดังกล่าว เริ่มมีคำถามว่า เราจะออกจากสภาพเช่นนี้ได้อย่างไร
จะพ้นจาก “ล็อก” ของกฎกติกา และกฎหมายที่ไม่เปิดโอกาสให้กับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
ธรรมชาติของสรรพสิ่ง กำหนด “ทางออก” ไว้เสมอ และการปิดกั้นทางออก แม้จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองกับฝ่ายหนึ่ง แต่ในภาพรวมมักจะก่อให้เกิดวิกฤตที่ไม่เกิดประโยชน์กับใครเลย
รัฐบาลและฝ่ายค้าน เห็นพ้องต้องกันว่า จะต้องศึกษาหาทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเห็นชอบตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาชุดหนึ่ง
ถือเป็นความพยายามหาทางออกอย่างหนึ่ง
สิ่งสำคัญคือ ฝ่ายกุมอำนาจ ฝ่ายกุมเสียงข้างมาก จะต้องมีความจริงใจในการหาทางออกจากปัญหาร่วมกัน ยอมละทิ้งความได้เปรียบที่ไม่ชอบธรรม เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม
ปี 2562 ได้บอกชัดเจนแล้วว่า ปัญหาคืออะไร ปี 2563 น่าจะเป็นปีแห่งการปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่ทางออกร่วมกัน
เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image