รายงานหน้า2 : ‘5จี’ กับเทคโนโลยี ในทศวรรษ 2020

โลกเทคโนโลยีเคลื่อนตัวไปข้างหน้าไม่หยุดยั้ง ไม่เพียงนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยจะคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ และสรรหาวิธีการประยุกต์ใช้สิ่งเหล่านี้ขึ้นมาตลอดเวลาเท่านั้น ยังมีเทคโนโลยีดั้งเดิมจำนวนหนึ่งซึ่งถูกนำมาปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมใหม่จนกลับมาได้รับความนิยมแพร่หลายอีกครั้ง

ยังมีเทคโนโลยีอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งถูกเรียกว่า “เอนเอเบิลเทคโนโลยี” หรือ “แพลตฟอร์มเทคโนโลยี” ที่หมายถึงเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดโอกาสแก่เทคโนโลยีอื่นๆ ให้เป็นไปได้ และช่วยให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมากมายตามมา ตัวอย่างเช่นเทคโนโลยีสมาร์ท
โฟนเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา และเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายรุ่นที่ 5 หรือ 5จี ที่ได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเทคโนโลยีว่าจะเป็นเครื่องมือในการกำหนดเทรนด์เทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับในอีก 10 ปีข้างหน้า ในฐานะเป็นเทคโนโลยีที่เอื้อให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ อีกสารพัดตามมา

ในรายงานประจำปีของ ลักซ์ ซึ่งจัดทำอันดับเทคโนโลยี 20 อันดับที่มี “ศักยภาพสูงที่สุด” ต่อการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของโลกต่อเนื่องไปในอีก 10 ปีข้างหน้า ถึงกับจัดให้ปี 2020 เป็น “ปีแห่ง 5จี” เพราะเทคโนโลยีนี้จะมีบทบาทสูงมากในการเอื้อให้หลากสิ่งหลายอย่างใน “ภูมิทัศน์ดิจิทัล” ที่ขยายตัวไม่หยุดหย่อนอีกหลายส่วนเป็นไปได้ขึ้นมา ตั้งแต่การใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัด ไปจนถึงรถยนต์ที่เคลื่อนที่ได้ตัวเอง (เซลฟ์ ไดรฟ์วิง คาร์) อีกทั้งยังเป็นองค์ประกอบที่จำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ทำให้ “อินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง” หรือ “อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที)” ก้าวรุดหน้าและมีประโยชน์มากไปกว่าที่เคยเป็นมา

ข้อมูลของลักซ์ แสดงให้เห็นว่า เทคโนโลยี 5จี ที่เพิ่งหลุดพ้นจากการเป็นเทคโนโลยีที่ถูกจำกัดกันอยู่แต่ในห้องทดลองมาเมื่อปลายปี 2019 ได้ก้าวเข้าสู่โลกแห่งความเป็นจริงเต็มตัวในปี 2020 นี้ เพราะมีการจดสิทธิบัตร สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องหรืออาศัยประโยชน์จากเครือข่าย 5จี ในปี 2019 แล้วมากกว่า 2,200 สิทธิบัตร และน่าเชื่อว่าจะมีเพิ่มเติมต่อเนื่องต่อไป

Advertisement

การคาดการณ์ดังกล่าว สอดคล้องกับการประเมินของทีมวิจัยด้านเทคโนโลยี, มีเดีย และการสื่อสารโทรคมนาคม (ทีเอ็มที) ของดีลอยท์ คาดการณ์ว่าในปี 2020 จะได้เห็นการแพร่หลายของเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายยุคที่ 5 ที่มีความหน่วงต่ำ, ความเร็วและความเสถียรสูงแพร่หลายออกไปทั่วโลก

ทีเอ็มทีชี้ว่าความแพร่หลายดังกล่าวจะส่งผลให้บริษัทธุรกิจขนาดใหญ่ในระดับโลก เริ่มหันมาใช้งานเครือข่าย 5จี เป็นเครือข่าย

ทีมทีเอ็มทีของดีลอยท์ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า การใช้งาน 5จี จะไม่จำกัดอยู่แต่ในแวดวงโทรคมนาคม หรือการใช้งานสมาร์ทโฟนเป็นหลักอีกต่อไป ตรงกันข้าม เมื่อถึงสิ้นปี 2020 เราจะได้เห็นบริษัทธุรกิจทั่วโลกมากกว่า 100 บริษัทเริ่มชิมลางการใช้งานเครือข่าย 5จี ส่วนตัว (5G Private Network)

Advertisement

บางส่วนจะเป็นการทดลองเพื่อประเมินความคุ้มค่า คุ้มประโยชน์ ส่วนใหญ่อีกส่วนหนึ่งจะเป็นการติดตั้งเพื่อการใช้งานอย่างจริงจังในสภาพแวดล้อมการทำงานของแต่ละอุตสาหกรรม ตั้งแต่โรงงานผลิต, ท่าเรือและท่าขนถ่ายสินค้าต่างๆ สำหรับศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์

ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการของ 5จี เพื่อการอุตสาหกรรม ก่อนที่จะขยับขยายไปในแวดวงอื่นๆ ต่อไป

พอถึงปี 2023 ดีลอยท์ประมาณการเอาไว้ว่า มูลค่าของอุปกรณ์และบริการที่เกี่ยวเนื่องกับเครือข่ายเซลลูลาร์รุ่น 5จี เพื่อการใช้งานในแวดวงอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้นสูงถึง หลายหมื่นล้านปอนด์ หรือเกือบล้านล้านบาทเลยทีเดียว

นอกเหนือจากการมาถึงของยุค 5จี อย่างเต็มตัวแล้ว ลักซ์ยังคาดการณ์ด้วยว่า ในปี 2020 การปฏิวัติครั้งใหญ่ในแวดวงรถยนต์ ด้วยรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจะส่งผลสะเทือนอย่างเต็มที่ วิวัฒนาการของแบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ถูกเร่งเร้าขึ้นจนถึงระดับสูงสุดเท่าที่องค์ประกอบทางเคมีจะอำนวยให้เกิดขึ้นได้ ผลที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออนจะก้าวถึงระดับของเสถียรภาพในแง่ของศักยภาพ แต่พัฒนาการจะเกิดขึ้นตามมาในด้านของน้ำหนักที่ลดลงและระยะทางที่ในการใช้งานต่อการชาร์จประจุเต็มหนึ่งครั้งที่จะเพิ่มมากขึ้น
กว่าเดิม

แบตเตอรี่ลิเธียม-ไอออน ซึ่งพัฒนาถึงขีดสุดนี้ ไม่เพียงน้ำหนักเบาลง จ่ายกระแสได้ระยะทางมากขึ้นเท่านั้น ระดับราคาจะค่อยๆ ลดลงจากต้นทุนที่ต่ำลง การใช้งานสะดวกสบายมากขึ้น ง่ายขึ้น กลายเป็นแบตเตอรี่ “โซลิด-สเตท” ที่มีคุณภาพสูง น้ำหนักเบาและราคาต่ำได้ในที่สุด

ลักซ์ระบุว่า จากการสำรวจพบว่ามีการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรสำหรับแบตเตอรี่ชนิดนี้มากกว่า 500 สิทธิบัตรเมื่อปีที่ผ่านมา และเชื่อว่าเทคโนโลยีนี้จะถูกนำออกจากห้องทดลองมาสู่ท้องตลาดในโลกความเป็นจริงอย่างรวดเร็วเพราะความต้องการของตลาดนั่นเอง
ความต้องการของผู้บริโภคและตลาดที่ต้องการยวดยานใช้ไฟฟ้ามากขึ้นซึ่งผลักดันให้วิวัฒนาการและการปฏิวัติในวงการยานยนต์จนเป็นผลสำเร็จ จะเกิดขึ้นในแวดวงอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรกรรมของโลกเช่นเดียวกัน

การยอมรับความเป็นจริงที่ว่ากระบวนการเลี้ยงและผลิตเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อวัว มีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเกิดก๊าซเรือนกระจก มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการผลิตเนื้อเทียมหรือเนื้อสังเคราะห์ หรือโปรตีนสังเคราะห์ เพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื้อวัวและเนื้อปลา ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นในห้องทดลองจะออกสู่ท้องตลาดมากขึ้น ในเวลาเดียวกันก็จะผลักดันให้เกิดเทคโนโลยี “ปรีซิชั่น ฟาร์มิ่ง” และระบบการเลี้ยงปลาเพื่อการบริโภคแบบใหม่ขึ้นตามมา

“แหล่งโปรตีนในเจเนอเรชั่นต่อไปจำเป็นต้องมีมากเพียงพอต่อการเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นสู่ระดับเกือบ 10,000 ล้านคน ในช่วงปีสองปีที่ผ่านมาเทคโนโลยีทางด้านนี้ได้รับเงินลงทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินการมากขึ้นกว่าเดิมเกือบ 5 เท่าตัว คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนกว่า 200 ล้านดอลลาร์” ลักซ์ระบุ

มลภาวะพลาสติก ที่ส่งผลให้เห็นประจักษ์ในหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นในทะเลและมหาสมุทร เปลี่ยนความกังวลที่เคยมีให้กลายเป็นการปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ส่งผลให้เกิดการวิจัยจำนวนมากที่มุ่งเน้นหาหนทางลดปริมาณขยะพลาสติก โดยใช้กระบวนการทางเทคโนโลยีในการรีไซเคิลพลาสติกแบบก้าวหน้า อย่างเช่น “ไพโรไลซิส” และ “เคมิคัล รีไซเคิล” เป็นต้น

ไพโรไลซิส คือกระบวนการเปลี่ยนองค์ประกอบทางเคมีของพลาสติกด้วยความร้อน ทอนห่วงโซ่พันธะเคมีแบบยาวของพลาสติกให้เป็นแบบสั้น เพื่อให้ระเหยได้ เป็นการเปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลายเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซ หรือนำก๊าซที่ได้ไปผ่านการควบแน่นเพื่อให้กลายเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง

ส่วน เคมิคัล รีไซเคิล หรือเคมิคัล รีไซคลิง ก็เป็นกระบวนการที่มีเป้าหมายเพื่อแตกพันธะทางเคมีของขยะพลาสติกออกจากกัน เพื่อให้แตกตัวลงเหลือส่วนประกอบที่เล็กที่สุด นำไปผ่านกระบวนการทำให้บริสุทธิ์สำหรับนำมาใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตพลาสติกใหม่ได้อีกครั้ง

ลักซ์ระบุว่า จีน เป็นชาติที่มีเทคโนโลยีรีไซเคิลก้าวหน้าเหล่านี้มากที่สุด การจดทะเบียนสิทธิบัตรทางด้านนี้ทั่วโลกนั้น มีมากถึง 55 เปอร์เซ็นต์ที่เป็นสิทธิบัตรจากประเทศจีน

ยังมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นและวิวัฒนาการไปนับตั้งแต่ปี 2020 นี้เรื่อยไปอีกหลายเทคโนโลยีในความเห็นของลักซ์ ตั้งแต่ยานยนต์อัตโนมัติเพื่อการพาณิชย์ ซึ่งใกล้ความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีที่ผ่านมา, เซ็นเซอร์ ใช้เฉพาะจุด, เทคโนโลยีเซลล์พลังงานและพลังงานไฮโดรเจน, ควอนตัม คอมพิวติ้ง, เทคโนโลยีชีวภาพ ที่แตกแขนงออกเป็นหลายประการ ตั้งแต่เทคโนโลยีเชิงพันธุกรรม (จีโนมิคส์), ทรานสคริปโทมิคส์ หรือเทคโนโลยีในการอ่านการแสดงอออกทั้งหมดของยีนต่างๆ ในอาร์เอ็นเอและจีโนม, โปรติโอมิคส์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีว่าด้วยการศึกษาและใช้ประโยชน์จากโปรตีนทุกชนิดที่เป็นผลผลิตของยีนทั้งหมด, เมทาโบโลมิคส์ หรือเทคโนโลยีว่าด้วยความหลากหลาย รวมทั้งวิถีและกลไกของสารเคมี ในเซลล์ที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจำแนก, ทำความเข้าใจถึงบุคลิกลักษณะและปริมาณของโมเลกุลทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างและพลวัตของเซลล์ เนื้อเยื่อ และสิ่งมีชีวิตทั้งหมดนั่นเอง

รวมถึงวิวัฒนาการคืบหน้ามากขึ้นของเทคโนโลยีที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาจนบรรลุถึงศักยภาพในการใช้งานได้อย่างเต็มที่ในปี 2020 อาทิ เทคโนโลยีการประมวลผลภาษาธรรมชาติ (การแปรเสียงพูดเป็นตัวอักษรและแปรตัวอักษรเป็นเสียงพูด), การทำฟาร์มแนวตั้ง และการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ประโยชน์เป็นการทั่วไป นอกเหนือจากการใช้งานเพื่อสกุลเงินดิจิทัล เป็นต้น

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหล่านี้ ย่อมก่อให้เกิดภาวะปั่นป่วน (ดิสรัปต์) ขึ้น พร้อมๆ กับการอำนวยให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตอันใกล้

ซึ่งแน่นอน ทุกภาคส่วน ทุกคน จำต้องเตรียม พร้อมรับมือกันตั้งแต่บัดนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image