09.00 : INDEX บทบาท ประธาน ชวน หลีกภัย อภิปราย ประยุทธ์ พลังประชารัฐ

คำเตือนอันมา จากนายวิรัช รัตนเศรษฐ มิให้อภิปรายไม่ไว้วางใจย้อนหลังไปยังยุค คสช. โดยเฉพาะในกรณีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา

น่าคิด น่าพิจารณา

เพราะมาตรการของฝ่ายรัฐบาลก็คือ 1 ประท้วง และหากประท้วงแล้วประท้วงเล่า ผู้อภิปรายในซีกฝ่ายค้านยังคงกระทำก็จะยกระดับมาตรการเป็น 1 เสนอปิดการประชุม

ในฐานะที่เป็นรัฐบาลเสียงข้างมาก ข้อเสนอจากประธานวิปรัฐบาลมีความเป็นไปได้สูง แต่ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา จะเห็นคล้อยตามพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

Advertisement

ที่สำคัญอย่างที่สุดก็คือความเห็นจาก “ประธานรัฐสภา”

 

ข้อเสนออันมาจาก ประธานวิปรัฐบาล นายวิรัช รัตนเศรษฐ มิได้เป็นข้อเสนอใหม่ หากแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็คิดเช่นนี้

Advertisement

คือให้จำกัดรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เอาไว้เพียงรัฐบาล หลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562

ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลหลังรัฐประหารก่อนหน้านี้

นั่นเท่ากับเป็นการตัดตอนไม่เพียงแต่ในทางประวัติศาสตร์ หากตัดตอนความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 กับรัฐบาลหลังการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562

แม้ด่านแรกที่ฝ่ายค้านจะต้องเจอคือพรรคพลังประชารัฐ แต่ด่านสำคัญยังเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

นั่นก็คือ คำวินิจฉัยของ นายชวน หลีกภัย

 

อย่าลืมเป็นอันขาด ว่า นายชวน หลีกภัย เป็น ส.ส.มาตั้งแต่การเลือกตั้งเมื่อปี 2512 ในยุคของรัฐธรรมนูญ 2511 ในยุคของเผด็จการจอมพลถนอม กิตติขจร

มีความเข้าใจในนิติประเพณีทางการเมืองมาต่อเนื่องและยาวนานกว่า 5 ทศวรรษ

ทั้งยังเคยเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายบรรหาร ศิลปอาชา โดยการขุดตั้งแต่สูติบัตรเมื่อเดือนสิงหาคม 2475 มาอภิปรายกลางสภา

คำถามก็คือ นายชวน หลีกภัย จะมีบทสรุปอีกครั้งอย่างไร

เป็นบทสรุปอันคล้อยตามความต้องการของ คสช. ของพรรคพลังประชารัฐ หรือว่าเป็นบทสรุปของผู้ที่เดินหนทางรัฐสภามาอย่างมั่นแน่ว

ด่านนี้ท้าทายมโนธรรมสำนึก นายชวน หลีกภัย ยิ่ง

 

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image