รายงานหน้า2 : สภาไร้‘แอ๊กชั่น’ ส.ส.เสียบบัตรแทน

หมายเหตุ ความเห็นของนักวิชาการกรณี ส.ส.เสียบบัตรแทนกันจนเกิดความเสียหายทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2563 ต้องล่าช้าออกไป แต่จนถึงวันนี้ทางสภาผู้แทนราษฎรยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบเพื่อเอาผิด ส.ส.ที่ทำให้เกิดความเสียหาย


 

ยุทธพร อิสรชัย
อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์
ม.สุโขทัยธรรมาธิราช

เป็นเรื่องของสังคมวิทยาการเมือง ที่มีส่วนไม่น้อยในการทำให้เกิดกรณีเสียบบัตรแทนกัน อาจกล่าวได้ว่าเป็นวัฒนธรรมของ ส.ส.ในสภาที่ทำกันมาเป็นประจำ เพียงแต่ไม่ได้เกิดเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นอย่างกรณี พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท ในปี 2557 และกรณี พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2563

Advertisement

เมื่อมองในเชิงสังคมวิทยาการเมืองสะท้อนให้เห็นว่า ส.ส.ไม่ได้ให้ความสนใจเรื่องของงานในสภา เพราะการที่ ส.ส.จะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าได้ทำงานในสภา เข้าประชุมบ่อยครั้งแค่ไหน ลงมติมากเพียงใด แต่การได้รับเลือกตั้งมาจากการลงพื้นที่ พี่น้องประชาชนพบปะได้ง่าย มีอะไรพึ่งพาอาศัยได้หรือไม่ เหล่านี้เป็นปัญหาในเชิงรากฐานการเมืองไทย อันเป็นผลมาจากการจัดทำบริการสาธารณะของภาครัฐที่ไม่สามารถเกิดการกระจายลงสู่พี่น้องประชาชนในระดับชุมชนได้ ดังนั้น การพึ่งพาอาศัย ส.ส.จึงยังจำเป็นอยู่ และ ส.ส.ที่จะได้รับเลือกตั้งก็ต้องเป็นคนที่ประชาชนเข้าถึงหรือพบง่าย เมื่อเป็นเช่นนี้ ส.ส.ก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับการทำงานในบทบาทหน้าที่ทางนิติบัญญัติ

ซึ่งอันที่จริงในหลักการของระบอบประชาธิปไตย แบบผู้แทน ส.ส.ต้องมีบทบาท 3 ส่วน คือ 1.บทบาท ผู้แทนปวงชน ที่จะต้องนำเอาเจตจำนงที่พี่น้องประชาชนมอบส่งผ่านการเลือกตั้งมาทำหน้าที่ด้วยตนเอง จะมอบให้คนอื่นทำแทนไม่ได้ 2.บทบาทหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ การออกกฎหมายต่างๆ ส.ส.ต้องเป็นตัวแทนประชาชนในการพิจารณากฎหมาย ซึ่งท้ายที่สุดจะออกไปบังคับใช้ในสังคม และ 3.บทบาทการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร ซึ่งมีทั้งทางตรง เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ และทางอ้อม เช่น การพิจารณากฎหมายงบประมาณ หรือกฎหมายสำคัญอื่นๆ

แต่เมื่อ ส.ส.ไม่ได้เล็งเห็นความสำคัญในบทบาทหน้าที่ทั้ง 3 ส่วนนี้ จึงทำให้กระบวนการทำงานของ ส.ส.ในสภา เกิดลักษณะของการทำงานโดยให้ความสำคัญกับเรื่องนอกสภามากกว่า นอกจากเรื่องของการเมืองในเชิงสังคมวิทยาแล้ว อีกส่วนในสภาก็มีเรื่องของ “อำนาจแฝง” ด้วย ซึ่งอำนาจแฝงนี้ทำให้ ส.ส.จะต้องลงมติตามคำสั่งของวิป หรือแกนนำพรรค ดังนั้น การลงคะแนนเสียงจึงกลายเป็นการลงคะแนนแบบเหมาเข่ง การเสียบบัตรลงคะแนนจึงกลายเป็นเพียงเรื่องของพิธีกรรมในสายตาของ ส.ส. และท้ายที่สุด ส.ส.จะเข้าประชุม ไม่เข้าประชุม หรือจะฝากบัตรให้ใครเสียบแทนก็ไม่ได้เป็นเรื่องสลักสำคัญอะไร หรืออีกด้าน คือ ส.ส.ไม่ได้รู้สึกถึงการที่ตนเองมีสมรรถนะทางการเมือง จึงไม่ให้ความสนใจ อยู่หรือไม่อยู่ก็ไม่ได้มีผลต่อมติที่จะต้องทำตามคำสั่งของวิป

Advertisement

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าปัญหาเหล่านี้จะยังคงมีอยู่ และไม่อาจแก้ได้ด้วย “กฎหมาย”เพราะแม้จะมีข้อห้ามใดๆ แต่ตราบใดที่สังคมวิทยาการเมืองยังคงเป็นเช่นนี้อยู่ ส.ส.ก็ยังไม่ได้เกรงกลัวกฎระเบียบเพราะต้องให้ความสำคัญกับฐานคะแนนเป็นหลัก ซึ่งในการแก้ปัญหา นอกจากจะใช้กฎต่างๆ ที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งอันที่จริงก็มีระบุไว้ในข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปี 2562 ข้อที่ 80 วรรค 3 ซึ่งเขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “การลงคะแนนแทนกันจะกระทำไม่ได้” และมาตรา 120 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ก็เขียนไว้ชัดเจนว่า ส.ส. 1 คน สามารถลงคะแนนได้ 1 เสียง อีกทั้งการทำหน้าที่ของ ส.ส.ต้องเป็นไปด้วยความซื่อสัตย์ เป็นตัวแทนที่ต้องสะท้อนเจตจำนงของประชาชน จะอยู่ภายใต้อาณัติมอบหมายใดๆ ไม่ได้ ซึ่งก็มีในบทบัญญัติ มาตรา 114 และ 115 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เช่นเดียวกัน

ดังนั้น ในเชิงกฎหมายจึงคิดว่าเพียงพอแล้ว แต่สิ่งที่จะเป็นแนวทางแก้ไข คือการที่ต้องมีการตรวจสอบจากภาคประชาสังคมที่มากขึ้น เพราะการตรวจสอบเหล่านี้จะเข้มข้นกว่าการตรวจสอบในสภาซึ่งเป็นการตรวจสอบทางการเมือง หรือแม้กระทั่งการตรวจสอบด้วยกฎหมาย อย่างการใช้กฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งเราก็เห็นจากกรณีเสียบบัตร 2 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมาหลายปียังไม่มีความคืบหน้ามากนักกับการลงโทษ ส.ส.ที่เสียบบัตรในเวลานั้น ดังนั้น การตรวจสอบจากภาคประชาสังคม เช่น การมีองค์กรเฝ้าติดตาม เก็บรวบรวมประวัติของบรรดา ส.ส. และเอามาเสนอต่อสังคมให้เห็นว่า ส.ส.เหล่านี้มีประวัติอย่างไร มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งหรือไม่

และเลือกตั้งครั้งหน้าควรจะเลือกบุคคลท่านนี้หรือไม่ ก็น่าจะเป็นทางออกที่มาเติมเต็มการตรวจสอบเฉพาะทางการเมืองและทางกฎหมายเท่านั้น


สมชัย ศรีสุทธิยากร
ผอ.ศูนย์วิจัยการเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต

ขณะนี้ผู้เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างรอหาเจ้าภาพที่จะเป็นฝ่ายดำเนินการจากการเสียบบัตรแทนกัน ทำให้ดูเหมือนว่าไม่มีใครต้องการที่จะเข้าไปทำหน้าที่นี้ ทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องมีเจ้าภาพ โดยบุคคลที่จะดำเนินการอย่างเร่งรีบ น่าจะเป็นนายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานสภาผู้แทนราษฎร จะต้องทำหน้าที่เพื่อรับผิดชอบงานในภารกิจของสภา จะต้องเร่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนอย่างเป็นทางการ และหากจะให้มีความเหมาะสมสัดส่วนของ กรรมการฯ ควรจะต้องมีบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนได้เสียเข้ามาร่วมเพื่อให้ทำงานได้อย่างอิสระ ไม่ทำให้เกิดปัญหาจากความเกรงใจ

เนื่องจากในฝั่งของพรรคการเมืองทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ ภูมิใจไทยหรือพรรคการเมืองอื่น เข้าใจว่าพรรคต่างๆ คงไม่ต้องการเข้าไปมีบทบาทในการสอบสวน เพราะจะทำให้เกิดความบาดหมางทางใจระหว่างพรรค เพราะในอนาคตทั้งพรรครัฐบาลหรือพรรคฝ่ายค้านก็ยังมีโอกาสได้ทำงานร่วมกันอีก ดังนั้นความเกรงใจฐานะ ส.ส.ก็เกิดขึ้นทำให้การสอบสวนทำได้ไม่เต็มที่ หรือแม้กระทั่งให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาซึ่งทราบเรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี ต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่ก็มีความเกรงใจ ส.ส.

การสอบสวนเรื่องนี้ทำได้ไม่ยาก เพราะโดยระบบของเครื่องมือที่ใช้สามารถตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ ที่สำคัญต้องดำเนินการกับ ส.ส.ที่เสียบบัตรแทนกันทุกคน หรือผู้ที่ใช้ให้ผู้อื่นเสียบแทน เนื่องจากเครื่องเสียบบัตรทุกเครื่องมีรายชื่อ มีเวลาปรากฏอยู่ในรายงานที่สามารถดึงออกมาสอบสวนได้ เมื่อทราบว่าใครอยู่ในข่ายก็เชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาสอบสวนเพื่อเร่งรัดดำเนินการ และเพื่อให้เป็นผลดีกับนายชวนก็ควรตั้งกรรมการสอบสวนก่อนปิดสมัยประชุมให้ประชาชนเห็นว่าเอาจริง อย่าทำให้สังคมเห็นว่ามีการดึงเรื่อง เพราะเรื่องนี้เป็นปัญหาทางจริยธรรมและมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ท่าทีของ ส.ส.ที่เสียบบัตรแทนกันหรือใช้คนอื่นเสียบแทนจะแสดงสปิริตด้วยการลาออกจาก ส.ส. คงเป็นเรื่องยาก วันนี้ผมยังไม่ได้ยิน ส.ส.ที่เกี่ยวข้องกับการเสียบบัตรออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วยการกล่าวคำว่าขอโทษในการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่างงบฯในวาระ 2 วาระ 3 ทั้งที่ทำให้เกิดความเสียหายจากการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีที่ล่าช้า

เรื่องนี้ถ้าสังคมไม่กดดัน ก็อาจทำให้เหตุการณ์นี้ถูกลืมโดยไม่มีความรับผิดชอบใดๆ เกิดขึ้น

 


ชัยธวัช เสาวพนธ์
อดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในฐานะนักวิชาการอิสระ

ปัญหาการขาดเจ้าภาพสอบเสียบบัตรลงคะแนน หรือลงมติของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ว่า ปัญหาดังกล่าว มีความผิดเกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร เพราะประชาชนกังขาว่ามีการเลือกปฏิบัติ หรือ 2 มาตรฐานหรือไม่ อยากให้นายชวนฟันธงว่าให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ว่ามีการกระทำผิดตามข้อบังคับ หรือจริยธรรมสภาอย่างไรบ้าง ไม่ใช่ลอยตัวหรือโยนให้ฝ่ายข้าราชการสอบข้อเท็จจริงเท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนั้น ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ หากตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และได้ข้อสรุปแล้ว ให้รายงานต่อประธานสภาโดยตรง เพื่อหามาตรการป้องกัน และควบคุม ส.ส.ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด

“ความจริงมีพยานหลักฐานปรากฏมากมายว่ามีการเสียบบัตรแทนกันจริงไม่ว่าสาเหตุใดก็ตาม ก็ไม่สามารถลบล้างความผิดได้ ไม่อยากให้ดึงเวลา หรือเอาประชาชนเป็นตัวประกัน ปล่อยให้เรื่องดังกล่าวผ่านพ้นไป เพราะสภาได้ผ่านร่างงบประมาณปี 2563 แล้ว ซึ่งปัญหาเสียบบัตรแทนกันมีเพียง 2-3 รายเท่านั้น ถือว่าเป็นความผิดส่วนบุคคล ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง และไม่ส่งผลกระทบเสถียรภาพรัฐบาล แต่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ ความน่าเชื่อถือของสภา ต่อสายตาประชาชนมากกว่า”

หากนายชวน หรือสภาไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจมีผู้ร้องว่านายชวนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตาม ม.157 ได้ เนื่องจากความผิดสำเร็จและมีผู้ร้องเรื่องดังกล่าวแล้ว และประชาชนอาจมองว่า ส.ส.มีเอกสิทธิ์คุ้มครองมากเกินไป โดยที่สภาไม่สามารถทำอะไรได้ ดังนั้น นายชวนต้องใช้โอกาสดังกล่าวสร้างบรรทัดฐานและมาตรฐานด้านจริยธรรม คุณธรรม ความรับผิดชอบ ให้มีคุณภาพ มาตรฐานสูงขึ้น เพราะ ส.ส.มาจากประชาชน หรือปวงชนชาวไทยที่เลือกมาทำหน้าที่ดังกล่าว

ควรเป็นแบบอย่างที่ดีของสังคม ไม่ใช่หวังผลประโยชน์ทางการเมืองเพื่อให้รัฐบาลอยู่รอด และสืบทอดอำนาจต่อไปเท่านั้น

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.พะเยา

ถามว่าปัญหาการลงคะแนนเสียงเกิดจากระบบหรือไม่ แน่นอนว่าเป็นส่วนหนึ่ง ทั้งนี้ มนุษย์สามารถปรับปรุงระบบ พัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นหลักคือเรื่องจิตสำนึก ถ้าตรงนี้ไม่ผ่าน ต่อให้มีเทคโนโลยีก้าวล้ำปานใด คนที่คิดจะหาช่องทางที่ไม่ถูกต้องตาม กติกาก็ยังคงทำอยู่ร่ำไป ซึ่งเรื่องการปรับปรุงระบบนั้น มองว่ายังปรับปรุงได้เรื่อยๆ หากมีแนวทางหรือรูปแบบใหม่ๆ ที่น่าสนใจ

จำได้ว่าสมัยก่อนการลงคะแนนยังเป็นการยกมือ เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาราว 10 ปีให้หลังทำให้สบายขึ้น แต่ก็นำมาซึ่งปัญหาเช่นกัน หากถามว่าแบบไหนดีกว่า มองว่าแล้วแต่กรณี ซึ่งหากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก การยกมือโหวตก็ชัดเจนไปอีกแบบหนึ่ง เพราะผู้โหวตต้องอยู่ให้เห็นตัวเป็นๆ แต่หากเรื่องที่พิจารณามีความสำคัญระดับรองลงมา อาจมีความยืดหยุ่นโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

หากวิเคราะห์โดยตรงแล้วคนที่คิดจะทำนอกลู่นอกทางมักทำในกรณีที่เรื่องนั้นมีความสำคัญมาก ซึ่งมีผลกระทบในวงกว้าง ดังนั้น การลงคะแนนทั้งสองแบบน่าจะมีข้อดีและข้อเสียต่างกัน ในอนาคตหากยังใช้ระบบเดิมอยู่ น่าจะมีปัญหาเรื่องการลงคะแนนอีก ทั้งนี้ ตอนนี้พบว่ามีข้อเสนอจากหลายๆ ท่านในโลกโซเชียลซึ่งก็น่ารับฟัง เป็นโอกาสดีที่นายชวน หลีกภัย ประธานสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะได้ประชุมกันว่าควรปรับปรุงระบบให้รัดกุมแน่นหนามากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ อีกทั้งที่ประชุมสภาน่าจะเห็นด้วย หากประธานสภาเป็นผู้นำในการเปิดเวที ระดมความเห็น แต่ถ้าถามว่าดีที่สุดหรือไม่ก็ต้องย้อนกลับไปที่จิตสำนึกของแต่ละคนอยู่ดี

นอกจากนี้ ประชาชน รวมทั้งสื่อมวลชนเองก็ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งมีส่วนช่วยได้มาก เพราะคนที่คิดจะทำคงต้องคิดมากขึ้นว่าตนเองกล้าทำหรือไม่

 

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image