รายงานหน้า2 : ‘วิรไท’ชี้ศก.ไทยเผชิญ5มิติ เร่งเพิ่มผลิตภาพ5แนวทาง

หมายเหตุ นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในงานสัมมนา ครบรอบ 25 ปี สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ International Forum on Transforming Productivity for Tomorrow Success ในหัวข้อ “Productivity ปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย” ณ ห้องแกรนด์ฮอลล์ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

ผลิตภาพเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะเป็นตัวที่จะกำหนดประสิทธิภาพของเศรษฐกิจไทยในอนาคต โดยหากคิดให้กว้างขึ้น แท้จริงแล้ว ผลิตภาพไม่ได้สำคัญต่อเฉพาะศักยภาพของเศรษฐกิจเท่านั้น แต่สำคัญมากกับการอยู่ดีกินดีของทุกคนในอนาคตด้วย พูดง่ายๆ ผลิตภาพคือ ประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรในวิถีการทำงาน และวิถีการใช้ชีวิตของเราด้วย เนื่องจากทรัพยากรไม่ใช่เพียงวัตถุดิบ เครื่องจักร ที่ดิน หรือแรงงานเท่านั้น แต่ต้องมองไปถึงผลกระทบของสิ่งแวดล้อม และเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดด้วย

การเพิ่มผลิตภาพหมายถึง การที่เราสามารถทำงานได้ดีขึ้น เก่งขึ้น หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้ทรัพยากรเท่าเดิม การเพิ่มผลิตภาพอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก สำหรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การสร้างรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในระยะยาว

แต่เวลาที่พูดถึงผลิตภาพในประเทศไทย จะพบว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหา มีข้อจำกัดในด้านผลิตภาพอยู่หลายมิติ โดยจะยกข้อจำกัดที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ 5 มิติหลัก ได้แก่ 1.ผลิตภาพโดยรวมของประเทศไทย (ทีเอสพี) ค่อนข้างต่ำ และไม่เพิ่มขึ้นมากนักในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่ประเทศอื่นมีพัฒนาการด้านผลิตภาพเร็วกว่าประเทศไทยมาก โดยหากมองย้อนหลังไป 30 ปี ผลิตภาพของไทยอยู่ใกล้เคียงกับผลิตภาพโดยรวมของมาเลเซีย และอยู่ในระดับที่สูงกว่าผลิตภาพโดยรวมของอินเดียเกือบ 40% แต่ปัจจุบันผลิตภาพโดยรวมของมาเลเซีย สูงกว่าไทย 30% ส่วนอินเดียเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับไทยแล้ว
2.แรงงานจำนวนมาก 1 ใน 3 ของแรงงานไทยในภาพรวม 38 ล้านคน เป็นแรงงานที่อยู่ในภาคการเกษตร ที่มีผลิตภาพค่อนข้างต่ำ และผลิตภาพเติบโตชะลอตัว โดยปัจจุบันผลิตภาพในภาคการเกษตรของไทยเพิ่มขึ้นช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้านของไทยหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม นอกจากนี้ การเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่น ที่มีผลิตภาพสูงกว่าก็ทำได้ยาก เพราะแรงงานส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่ในภาคการเกษตร ขาดการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับภาคอุตสาหกรรมและบริการ ซึ่งหากเรายังเดินต่อไปแบบนี้ ปัญหาผลิตภาพต่ำในภาคเกษตร จะยิ่งทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น และอาจนำไปสู่ปัญหาทางสังคมในอนาคตได้

Advertisement

3.ช่องว่างของผลิตภาพระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) กว้างขึ้นในหลายอุตสาหกรรม จากข้อมูลพบว่า สัดส่วนของผลิตภาพแรงงานในธุรกิจขนาดใหญ่สุด 10% แรก เมื่อเทียบกับธุรกิจเล็กสุด 10% สุดท้าย ส่วนต่างเพิ่มขึ้นจาก 3.1 เท่า ในปี 2539 เป็น 7.7 เท่า ในปี 2554 และหากนับถึงปัจจุบันก็จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอีก ความแตกต่างของผลิตภาพธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจเอสเอ็มอี ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายใหญ่ได้ เกิดปรากฏการณ์ “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ที่รุนแรงมากขึ้น แต่เอสเอ็มอีเป็นแหล่งจ้างงานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้เมื่อเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่สามารถแข่งขันหรือเพิ่มผลิตภาพได้ ค่าจ้างแรงงานของคนไทยส่วนใหญ่ ก็จะถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย

4.ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับของทางการที่ซ้ำซ้อนหรือล้าสมัยจำนวนมาก โดยจากการวิจัยพบว่า ทุกวันนี้เรามีกฎระเบียบและข้อบังคับมากกว่า 1 แสนฉบับ และกฎระเบียนจำนวนมาก ไม่สอดคล้องกับบริบทของเศรษฐกิจไทยในโลกปัจจุบัน และโลกใหม่ที่เทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาทิ ผู้ประกอบการค้าปลีก จะต้องขออนุญาตจากหน่วยงานราชการมากถึง 8 แห่ง และเวลาที่เราพูดถึงการปฏิบัติตามกฎระเบียบเหล่านี้ กฎระเบียบเหล่านี้จะเป็นต้นทุนของผู้ประกอบกิจการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ภาระที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ ต้นทุนเมื่อคิดเพิ่มเข้าไปต่อหน่วยสินค้าในการผลิต จะสูงกว่าต้นทุนของธุรกิจขนาดใหญ่มาก นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบและข้อบังคับที่ไม่จำเป็นอีกหลายประการ ที่เป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มผลิตภาพของในประเทศ อาทิ ประเทศไทยมีขั้นตอนจำนวนมากในการนำเข้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ที่ต้องใช้กระบวนการในการขออนุญาตหลายอย่าง ทำให้ธุรกิจไทยไม่สามารถนำเข้าเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มาใช้ประโยชน์ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมได้เต็มที่ ทั้งที่เครื่องพิมพ์ 3 มิติ เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญมากในอนาคต และเป็นเทคโนโลยีที่จะมีบทบาทเปลี่ยนรูปแบบการผลิตในหลายๆ ห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งธุรกิจในหลายประเทศใช้ประโยชน์จากเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ได้ดีและกว้างไกลมากกว่าธุรกิจในไทยมาก สาเหตุก็มาจากขั้นตอนข้อบังคับการนำเข้าที่มากเกินไป

5.นโยบายของภาครัฐหลายเรื่อง ที่สะสมต่อเนื่องมาจากอดีต ไม่เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภาพของผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ เรามีนโนบายหลายเรื่องที่ไม่ส่งเสริมการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจไทย เป็นสาเหตุที่ทำให้ผลิตภาพในหลายๆ อุตสาหกรรมอยู่ในระดับต่ำ เพราะผู้ประกอบการที่มีอำนาจในการผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาด มักไม่มีแรงจูงใจที่จะพัฒนา วิจัยสิ่งใหม่ในการผลิต หรือคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ในหลายๆ กรณี การประกอบกิจการของรัฐวิสาหกิจ หรือกฎเกณฑ์ของภาครัฐเอง ส่งเสริมให้เกิดการผูกขาด ทำให้ผู้ประกอบการไม่กี่รายมีอำนาจเหนือตลาด อาทิ กฎเกณฑ์กำหนดการลงทุนและกำลังการผลิตขั้นต่ำของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเบียร์ ทำให้โรงเบียร์ขนาดเล็กไม่สามารถจัดตั้งได้

Advertisement

ตัวอย่างนโยบายของภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภาพคือ นโยบายการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าไปเรื่อยๆ ทั้งในภาคเกษตรกรรมและในภาคธุรกิจ ซึ่งนโยบายให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่า ไม่ช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตยกระดับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น หรือปรับเปลี่ยนไปผลิตสินค้าอื่นที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า โดยจากงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ สะท้อนให้เห็นว่านโยบายช่วยเหลือเกษตรกรไทยส่วนมาก เป็นการช่วยเหลือในระยะสั้นๆ และเป็นการช่วยเหลือแบบซ้ำแล้วซ้ำอีก ส่งผลให้เกษตรกรทำเหมือนเดิมในแต่ละปี ขาดแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิต และการบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดีขึ้น โดยปัจจุบันมาตรการช่วยเหลือที่มีเป้าหมายในการเพิ่มผลิตภาพการผลิตในระยะยาว มีเป็นส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับมาตรการช่วยเหลือทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น นโยบายบางอย่างยังสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตเน้นเรื่องปริมาณ มากกว่าคุณภาพ ที่จะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม อาทิ นโยบายรับจำนำข้าวแบบไม่จำกัดปริมาณ ส่งผลให้เกษตรกรเลือกปลูกข้าวที่มีคุณภาพต่ำ เพราะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว และนำไปรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลได้มากกว่าข้าวที่มีคุณภาพสูง

ปัญหาผลิตภาพต่ำ และเพิ่มขึ้นช้าของเศรษฐกิจไทย หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังและรวดเร็ว จะยิ่งส่งผลรุนแรงขึ้นในอนาคต ด้วยเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ 1.การแข่งขันในตลาดโลกจะทวีความรุนแรงมากขึ้น เพราะความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเปิดโอกาสให้คู่แข่ง พัฒนาผลิตภาพได้อย่างก้าวกระโดด หากมองย้อนกลับไปในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา เราเคยมองว่าสิงคโปร์ จีน มาเลเซีย ใต้หวัน เกาหลีใต้ เป็นคู่แข่งที่สำคัญทางเศรษฐกิจไทย แต่ปัจจุบันประเทศเหล่านั้นพัฒนาผลิตภาพก้าวหน้ามากกว่าไทยสูงมาก ทำให้การขาดการพัฒนาผลิตภาพอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภาพที่อาศัยวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นพื้นฐาน จะยิ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยตกลงเรื่อยๆ

2.การเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย ทำให้ประชาชนวัยทำงานลดน้อย 6 ปีต่อเนื่อง และจะลดลงเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต หากเราไม่พัฒนาผลิตภาพเพื่อชดเชยกับแรงงานที่ลดลง รายได้และคุณภาพชีวิตของคนไทยก็จะลดลงต่ำลงไปด้วย เพราะคนไทยทุกคนมีภาระในการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ผ่านภาษีที่ต้องจ่ายเป็นประจำ ยิ่งกว่านั้นเมื่อแรงงานจำนวนมากอพยพเข้ามาทำงานในเมืองมากขึ้น ได้ทำให้ปัญหาสังคมสูงวัยในภาคเกษตรรุนแรงมากขึ้น โดยปัญหาแรงงานสูงวัยมีผลต่อเนื่อง ในการพัฒนาผลิตภาพในภาคเกษตร เพราะมีข้อจำกัดในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพได้

3.สภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ที่จะทำให้ความเสี่ยงในภาคการผลิตมีมากขึ้น ทำให้ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมใด มีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น ดังที่เห็นจากปัญหาน้ำท่วม หรือภัยแล้ง ที่เกิดถี่ขึ้นและรุนแรงมากนัก โดยปัญหานี้ไม่ได้ส่งผล กระทบต่อภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมและบริการที่เกี่ยวของกับภาคการเกษตร อุตสาหกรรมท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องใช้ปริมาณน้ำสะอาดในการผลิตสูง โดยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จะทำให้ขาดแคลนน้ำสะอาดในหลายพื้นที่ และจะก่อให้เกิดโรคติดต่อใหม่ๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคพืช โรคสัตว์ และโรคของคน ซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตของคนทุกคน
การเพิ่มผลิตภาพเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้คนไทย ในทุกภาคส่วน มีรายได้สูงขึ้น มีเงินออม และสามารถลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง รวมถึงรับมือกับภัยพิบัติในอนาคตได้ดีมากขึ้น

วิธีเดียวที่จะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทยได้ในระยะยาว ท่ามกลางภาวะที่โลกกำลังจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

คือ ต้องเร่งพัฒนาผลิตภาพในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจสังคมไทย ซึ่งมีอย่างน้อย 5 แนวทางสำคัญ ที่อาจมีนัยยะสำคัญทางนโยบายต่อการเพิ่มผลิตภาพในประเทศไทย ได้แก่

1.การเพิ่มผลิตภาพต้องทำอย่างทั่วถึง เน้นไปที่ผู้ประกอบการรายย่อย และแรงงานทักษะต่ำที่ขาดโอกาสในการพัฒนาผลิตภาพ ต้องตระหนักว่าเป้าหมายสูงสุดในการพัฒนาผลิตภาพคือ การทำให้ความเป็นอยู่ของคนไทยในภาพรวมดีขึ้น ซึ่งจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้ก็ต่อเมื่อผลิตภาพโดยรวมของประเทศไม่ได้สูงขึ้นจากการผลิตภาพของกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เท่านั้น และไม่ได้เพิ่มจากคนที่มีฐานะดี การศึกษาสูง หรือแรงงานที่มีทักษะสูงเท่านั้น แต่ต้องกระจายโอกาสในการเพิ่มผลิตภาพไปทั่วทุกภาคส่วนด้วย

2.อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในการเพิ่มผลิตภาพ โดยเฉพาะผลิตภาพของภาคการเกษตรและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ในอดีตมักเชื่อว่าเอสเอ็มอีเสียโอกาสให้กับผู้ประกอบการขนาดใหญ่ เพราะมีขนาดของกิจการที่เล็กกว่า โดยเฉพาะธุรกิจที่มีต้นทุนคงที่ แต่การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มและการเข้าเทคโนโลยีสมัยใหม่ของประชาชน ที่เป็นลูกค้าของธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะการเข้าถึงสมาร์ทโฟนสามารถช่วยลดต้นทุน และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้หลากหลายด้าน

3.ภาครัฐต้องเร่งลดอุปสรรคต่างๆ เพื่อเพิ่มผลิตภาพในกระบวนการทำงานภาครัฐเอง และส่งเสริมการทำงานของระบบตลาด เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทย และการใช้ชีวิตของคนไทยมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงภาครัฐจะต้องมีการส่งเสริมธุรกิจที่เป็นธรรมระหว่างธุรกิจด้วยกันเอง และที่สำคัญระหว่างธุรกิจเอกชนและรัฐวิสาหกิจด้วย เพราะรัฐวิสาหกิจมักมีผลิตภาพต่ำกว่าธุรกิจของเอกชน แต่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งรัฐวิสาหกิจหลายแห่งก็มีอำนาจในการผูกขาด โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจกลุ่มสาธารณูปโภค ในปี 2562 โครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคของไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 90 จาก 141 ประเทศในภาพรวม ต่ำกว่ามาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย สาเหตุหลักมาจากระบบขนส่งไฟฟ้าและน้ำประปามีสัดส่วนในการสูญเสียสูง และระบบน้ำประปาก็มีความน่าเชื่อถือของประชาชนอยู่ในระดับต่ำ โดยรัฐวิสาหกิจที่มีผลิตภาพต่ำ ไม่ได้ทำให้รัฐวิสาหกิจนั้นแข่งขันไม่ได้เท่านั้น แต่จะส่งผลทำให้ต้นทุนในการใช้ชีวิตของทุกคนสูงกว่าที่ควรจะเป็น รวมถึงยังต้องจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ และมีประสิทธิภาพด้วย

4.ภาครัฐต้องสร้างระบบแรงจูงใจที่เหมาะสม เพื่อส่งเสริมธุรกิจและประชาชนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้สอดคล้องกับสภาวะในปัจจุบัน และให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ในหลายครั้งรัฐบาลมีความจำเป็นต้องออกมาตรการระยะสั้น เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือโรคติดต่อ แต่เราก็ต้องถามตัวเอง และแยกมาตรการเยียวยาระยะสั้นเหล่านั้น ออกจากยุทธศาสตร์ในการพัฒนาผลิตภาพในระยะยาว ไม่อย่างนั้น ธุรกิจหรือคนที่ได้รับการเยียวยา ก็จะใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ทำเหมือนเดิม ปัญหาผลิตภาพต่ำก็จะไม่ได้รับการแก้ไข ภาครัฐควรต้องหลีกเลี่ยงการออกมาตรการที่ไม่เอื้อต่อการยกระดับผลิตภาพในประเทศโดยไม่จำเป็น และหากมีการใช้เงินอุดหนุนก็ควรมีเงื่อนไข หรือแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทิศทางที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ และการพัฒนาผลิตภาพในอนาคต

และ 5.การตระหนักว่าการเพิ่มผลิตภาพในประเทศไทย สามารถทำได้ในทุกระดับ และไม่จำเป็นต้องเป็นโครงการที่มีการลงทุนสูงเท่านั้น เพราะหลายๆ โครงการในการเพิ่มผลิตภาพไม่ได้ใช้ต้นทุนสูง หรืออาจไม่มีต้นทุนในการดำเนินการ เมื่อเทียบกับผลิตภาพที่ได้รับ อาทิ ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา หลายประเทศให้ความสำคัญกับการยกเลิกกฎเกณฑ์ของภาครัฐที่ล้าสมัย หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ที่ใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี ในการทบทวนกฎเกณฑ์ข้อบังคับมากกว่า 11,000 รายการ และยกเลิกกฎเกณฑ์ต่างๆ มากกว่าครึ่ง ซึ่งมีการประมาณว่าการยกเลิกกฎเกณฑ์เหล่านั้นไป สามารถช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจมากกว่า 4.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ใน 10 ปี และเพิ่มการจ้างงานมากกว่า 1 ล้านตำแหน่ง

เทคโนโลยีในปัจจุบันกำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้หากองค์กรใด หรือธุรกิจใดสามารถนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาผนวกกับวิธีการบริหารจัดการสมัยใหม่ ก็จะสามารถพัฒนาผลิตภาพได้อย่างก้าวกระโดด ส่วนระดับบุคคล ก็สามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มผลิตภาพและเพิ่มคุณภาพชีวิตได้ เพียงแค่เปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยอมปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และวิถีชีวิตของเรา รวมถึงพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ให้แน่ใจว่าเราเท่าทัน และสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image