รายงาน : ฟังเสียง‘นักกฎหมาย’ วิเคราะห์คดี‘ยุบอนค.’

หมายเหตุ – ความเห็นบางส่วนจากคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ในวงเสวนาหัวข้อ “วิเคราะห์คดียุบพรรคอนาคตใหม่” จัดโดยคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์


ปริญญา เทวานฤมิตรกุล
คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

พรรคการเมืองมีสถานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ซึ่งมีผลตามมาในเรื่องสำคัญคือการตีความเรื่องสิทธิหน้าที่ ทั้งนี้ ในพระราชบัญญติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 62 มีการพูดถึงเรื่องรายได้ของพรรคการเมือง ซึ่งมาตรานี้มีการแก้ไขต่างจาก พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับที่ผ่านมา ซึ่งในวงเล็บสุดท้ายเขียนว่า “อื่นๆ” จึงเปิดช่องได้มากมาย

นอกจากนี้ ในมาตรา 62 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ระบุว่า พรรคการเมือง “อาจ” มีรายได้… ดังนั้น ข้อสำคัญคือหากไม่ทำตามมาตรา 62 จะมีบทลงโทษตามมาตรา 122 แต่ประเด็นคือในมาตรา 62 วรรค 1 ไม่มีบทลงโทษ แต่ลงโทษเฉพาะวรรคที่ 2 และ 3 นั่นแปลว่าในวรรค 1 ไม่ใช่บทบังคับ เมื่อไม่มีบทบังคับจะมีบทลงโทษได้อย่างไร ดังนั้น ต่อให้ตีความว่าเงินกู้เป็นรายได้ก็ไม่เข้ามาตรา 62 อยู่ดี หรือถ้าเข้าก็ไม่ใช่บทบังคับ ไม่มีบทลงโทษ แต่ประเด็นสำคัญคือความเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนต่างหาก

Advertisement

ประเด็นที่สามคือ แม้ว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองไม่ได้ห้ามการกู้เงินไว้โดยชัดเจน แต่ก็ไม่ได้รับรองว่าให้กระทำได้ ดังนั้น หากไม่มีกฎหมายเขียนไว้ว่าทำได้ แปลว่า ทำไม่ได้ ห้ามทำ ซึ่งใช้กับองค์กรของรัฐ หรือถ้าไม่มีกฎหมายห้ามแปลว่าทำได้ ซึ่งใช้กับพลเมือง โดยประชาชนเองก็มีสิทธิตราบเท่าที่ไม่มีกฎหมายจำกัด ทั้งนี้ ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น

หากดูนิยามของพรรคการเมืองใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 4 แล้ว บอกว่า พรรคการเมืองหมายถึงคณะบุคคลที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมือง โดยได้จดทะเบียนพรรคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ อีกทั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 45 ระบุไว้ชัดเจนว่าบุคคลย่อมมีเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทางระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งมีการรับรองสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่รวมกันเป็นพรรคการเมือง ดังนั้น ขอบเขตสิทธิเสรีภาพในการตั้งพรรคการเมืองจะต้องอยู่ในวิถีทางประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น หากจะต้องยุบพรรคก็มีด้วยเหตุเดียวคือมีพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง แต่ของเรามีเหตุยุบพรรคที่กว้างขวางมากมาย ดังนั้น พรรคการเมืองจึงอยู่ในซีกของพลเมือง ไม่ใช่องค์กรของรัฐ แปลว่าเมื่อไม่มีกฎหมายห้ามก็สามารถทำได้ จะบอกว่าการกู้เงินผิดกฎหมายก็ต้องมีเขียนไว้ว่าผิด

เรื่องสำคัญที่ต้องพูดต่อคือความเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน แม้จะเป็นการรวมกันของพลเมือง แต่พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ดังนั้น การตีความจึงต้องตีความแบบเป็นองค์กรของรัฐ ซึ่งในมาตรา 25 ของรัฐธรรมนูญมีหลักการสำคัญระบุว่า การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นได้ และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนก็มาจาก พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 4 คือการเป็นพรรคการเมืองในประเทศไทยต้องจดทะเบียน ดังนั้น เมื่อจดทะเบียนแล้ว พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน ดังนั้น พรรคการเมืองจึงเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ต้องตีความเป็นองค์กรของรัฐใช่หรือไม่

Advertisement

พรรคการเมืองมีหน้าที่ดำเนินตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองกำหนด ถ้าบอกว่าต้องทำอะไรต้องทำ ห้ามอะไรต้องห้ามทำ ส่วนคำแนะนำคือจะทำหรือไม่ทำตามก็ได้ เช่น มาตรา 62 ก็เป็นคำแนะนำเนื่องจากมีคำว่า “อาจ” ถามว่ามีการห้ามเรื่องกู้เงินหรือไม่ ไม่มี แล้วจะผิดได้อย่างไร อีกทั้งพรรคการเมืองมีแต่สิทธิหน้าที่ ไม่ได้มีอำนาจ ดังนั้น ถ้าไม่มีกฎหมายห้ามให้ทำเรื่องใดก็ไม่อาจบอกได้ว่าผิดกฎหมาย หมายความว่า นิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนไม่ได้ทำให้เกิดการตีความว่าพรรคการเมืองต้องตีความแบบองค์กรรัฐ

การกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดว่าต้องคิดดอกเบี้ยเท่าไหร่ และไม่ได้แปลว่าเป็นการค้าเสมอไป ซึ่งคณาจารย์นิติศาสตร์ มธ.เขียนไว้ชัดเจนว่าการคิดอัตราดอกเบี้ยเป็นสิทธิเสรีภาพของผู้กู้และผู้ให้กู้จะตกลงกัน หากคิดตรรกะว่าคิดดอกเบี้ยต่ำกว่า ส่วนที่ต่ำกว่าจึงเป็นเรื่องเงินบริจาค ดังนั้น จึงมารวมกับเงินบริจาคเดิม และเกิน 10 ล้านบาท จึงผิดตามมาตรา 66 เรื่องนี้มีความสำคัญเพราะการคิดดอกเบี้ยหรือไม่เป็นสิทธิและการตกลงกันระหว่างสองฝ่าย หากคิดดอก เอามารวมกันนั้นไปไกลเกิน อีกทั้งมาตรา 66 ต้องเป็นการบริจาค ไม่ใช่เงินกู้ ซึ่งเมื่อมีการคืนเงินก็ไม่นับว่าเป็นการบริจาคอยู่แล้ว ทว่าศาลก็ไม่ได้ยุบพรรคด้วยประเด็นนี้ แต่ยุบด้วยดอกเบี้ยที่ไม่เป็นปกติทางการค้า ซึ่งมองว่าค่อนข้างมีปัญหามาก ต่อให้เรายอมรับว่าสามารถนำดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าปกติทางการค้าคิดว่าเป็นเงินบริจาคได้ โทษตามมาตรา 66 ก็ไม่ถึงยุบพรรคอยู่ดี

เรื่องที่น่าสนใจ คือ เมื่อผิดมาตรา 66 แล้ว ต้องผิดในมาตรา 72 โดยอัตโนมัติหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นก็สงสัยว่าเหตุใดจึงเขียนแยกมาตรากัน อีกทั้งความผิดและบทลงโทษก็ไม่เหมือนกัน และทั้งสองมาตรานี้มีองค์ประกอบความผิดที่แตกต่างกัน เมื่อ พ.ร.ป.พรรคการเมือง ไม่ได้ห้ามพรรคกู้เงิน ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ย การกู้เงินจึงไม่ผิดกฎหมาย และดอกเบี้ยก็เป็นไปตามการตกลง ดังนั้น การจ่ายดอกเบี้ยตามการตกลงของผู้กู้และผู้ให้กู้จึงกลายเป็นเป็นสิ่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย หรือเป็นแหล่งที่มาที่มิชอบด้วยกฎหมาย นำไปสู่การยุบพรรคได้อย่างไร

การยุบพรรคไม่ได้กระทบต่อสิทธิของกรรมการบริหารพรรคหรือพรรคการเมืองที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนโดยตรง แต่กระทบต่อสมาชิกพรรค ที่กระทบยิ่งกว่าคือผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เขาเลือกพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป ดังนั้น ถ้าจะยุบพรรคต้องเคร่งครัดตามกฎหมาย คือผิดแจ้งชัดเจนถึงมีเหตุผลมากเพียงพอ

ณรงค์เดช สรุโฆษิต
คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ

ส่วนตัวได้ฟังเทปที่ตุลาการวินิจฉัยการยุบพรรคอนาคตใหม่ และมีคำถามไปถึงตุลาการเสียงข้างมากด้วยความเคารพดังนี้ 1.ข้อเท็จจริงที่ศาลตั้งเป็นข้อสงสัยซึ่งมองว่างบการเงินปี 2561 เป็นหนี้ 1.49 ล้านบาท แต่ทำไมถึงทำสัญญากู้ถึงกว่า 190 ล้านบาท เรียนถามว่า เวลาทำธุรกิจการค้านั้น หากวันนี้เป็นหนี้ 1.4 ล้านบาท อาจถูกเรียกเก็บเงินใน
อนาตอันใกล้อีกหลายล้านบาทก็ได้ จะแปลกหรือไม่หากนิติบุคคลต้องการเสริมสภาพคล่องโดยการขอวงเงินไว้เพื่อจะใช้ชำระหนี้อันจะถึงกำหนดในอนาคต

2.ศาลระบุว่าอัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับไม่เป็นไปตามปกติการค้า ถามว่าอะไรคือปกติการค้า ซึ่งหากมองจากอัตราดอกเบี้ยที่อัตราตามกฎหมายในมาตรา 654 ของกฎหมายแพ่งบอกว่าเรียกอัตราดอกเบี้ยได้สูงสุดคือร้อยละ 15 ต่อปี เมื่ออ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการเฉลี่ยอัตราดอกเบี้ย MRR ของ 5 ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ วันที่ทำสัญญาเงินกู้วันที่ 2 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวันทำสัญญากู้ฉบับแรก 161 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย ซึ่ง 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อยู่ที่ 7.18 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี สูงกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี MRR

ต่อมาสัญญากู้เงินฉบับที่สองวันที่ 11 เมษายน 2562 อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 แบงก์ใหญ่คือ 7.18 เปอร์เซ็นต์ต่อปี แต่นายธนาธรคิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 24 เดือนของ 5 ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่าสัญญากู้นี้มีหลักประกัน อาจมีความเป็นไปได้ว่าอัตราดอกเบี้ยอาจสูงกว่า MRR แต่คงไม่สูงกว่าเท่าไหร่ ทั้งนี้ สัญญากู้ฉบับที่สองรับเงินแค่ 2.7 ล้านบาท

คำถามต่อมาคือ อัตราดอกเบี้ยตามสัญญาแรกคือ 7.5 เปอร์เซ็นต์ ส่วนตัวมองว่าไม่ผิดปกติ สัญญาที่สอง 2 เปอร์เซ็นต์อาจน่าสงสัย สมมุติว่าผิดปกติ หากใช้เกณฑ์ตามกฎหมายคือ 7.18 คิดดอกเบี้ยตามสัญญาที่สองคือ 7.5 เปอร์เซ็นต์ คือนำเงินต้นไป 2.7 ล้านบาท ดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 200,000 บาทต่อปี เมื่อรวมกับเงินบริจาค 85 ล้านบาท ก็เท่ากับ 8.7 ล้านบาท ไม่เกินเพดาน 10 ล้านบาท

แต่ถ้าคิดตรงๆ คือการคิดดอกเบี้ย 2 เปอร์เซ็นต์ แต่ดอกเบี้ยตามกฎหมายมาตรา 7 คือ 7.5 ก็เอา 7.5 ลบ 2 เท่ากับ 5.5 ดังนั้น เงินต้น 2.7 ล้านบาท ดอกเบี้ยเท่ากับ 148,500 ต่อปี เมื่อรวมกับเงินบริจาค 85 ล้านบาท เท่ากับ 8.6485 ล้านบาท ไม่ถึง 10 ล้านบาท ดังนั้น นี่คือคำถามว่าอะไรคืออัตราดอกเบี้ยและเบี้ยปรับไม่เป็นไปตามปกติการค้า และเมื่อนับรวมกันจริงๆ แล้วเกิน 10 ล้านบาทหรือไม่

หากมองย้อนกลับไปใน พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 มีนิยามคำว่า “ประโยชน์อื่นใด” ซึ่งเขียนไม่เหมือนกับ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ซึ่งในฉบับปี 50 เขียนว่า เงินบริจาคหมายความว่า ให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด อันมีค่าคำนวณเป็นเงินได้กับพรรคการเมือง ซึ่ง “ประโยชน์อื่นใด” ตามมาตรา 4 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 เขียนว่า ประโยชน์อื่นใดหมายความรวมถึงการให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย ฉะนั้น เงินต้นทั้งก้อนถือว่าเป็นการบริจาค แต่กฎหมายปัจจุบันไม่ได้เขียนเช่นนั้น

3.ข้อพิรุธที่ศาลใช้วินิจฉัยว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา 66 คือแม้มีการชำระเงินคืนหลายครั้ง แต่การชำระหนี้ครั้งแรกวันที่ 4 มกราคม 2562 ชำระเงินสด 14 ล้านบาท หลังจากให้กู้เงิน 2 วัน ถือว่าผิดปกติ ดังนั้น มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่าเงินเข้าวันที่ 3 หรือ 4 มกราคม พรรค อนค.ไม่อยากเสียดอกเบี้ยแพง มีเงินเท่าไหร่ก็คืนเสียก่อน ซึ่งมีความเป็นไปได้ แต่ศาลไม่ได้วินิจฉัยความเป็นจริงข้อนี้

ส่วนเรื่องความผิดปกตินั้น วันที่ 4 ม.ค.62 พรรคอนาคตใหม่นำเงินสด 14 ล้านบาท คืนนายธนาธร ซึ่งความจริงแล้วเงินจำนวนนี้มีน้ำหนักมาก หากศาลไต่สวนในประเด็นนี้อาจสงสัยว่านายธนาธรนำเงินไปเก็บไว้ที่ไหน ธนาคาร หรือบ้าน หรืออื่นๆ เมื่อไม่มีการไต่สวน ข้อเท็จจริงเหล่านี้จึงไม่ปรากฏ

4.สัญญากู้ฉบับที่สองทำ 30 ล้านบาท ศาลบอกว่ามีพิรุธ เพราะรับเงินจริงแค่ 2.7 ล้านบาท หากใครที่ประกอบธุรกิจคงทราบว่าเราต้องสำรองเงินสดไว้ และ 5.ศาลบอกว่ามีความผิดปกติวิสัยทางการค้า เพราะสัญญากู้เดิมยังจ่ายเงินคืนไม่ครบ แต่ให้กู้ใหม่ได้หรือ ดังนั้น ต้องถามเพื่อนๆ ที่ประกอบธุรกิจการค้าดูว่ามีลักษณะเช่นนี้หรือไม่

น่าเสียดายที่สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้รับการไต่สวน จึงไม่พบเจตนาที่แท้จริงของคู่กรณีในเรื่องนี้ได้ เมื่อไม่สามารถค้นพบได้ ศาลจึงสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผิด ซึ่งไม่ใช่ เพราะเมื่อมีข้อสงสัยต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขาบริสุทธิ์

ต่อมาคือเรื่องสถานะพรรคการเมืองและกฎหมายที่ใช้บังคับ คิดว่าแวดวงวิชาการส่วนใหญ่เข้าใจหมดว่าพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชนโดยสภาพ ซึ่งนิติบุคคลตามกฎหมายไทยต้องมีการจัดตั้ง เพื่อรับรองสถานะนิติบุคคลของการรวมกลุ่มของบุคคลธรรมดา แต่การขึ้นทะเบียนไม่ได้เปลี่ยนสถานะที่เขารวมกลุ่มบุคคลโดยสมัครใจของเอกชนเป็นมหาชนแต่อย่างใด ถ้าจะพูดให้ชัดคือพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชนที่จดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายมหาชน คือ พ.ร.ป.พรรคการเมือง

คำถามคือนิติบุคคลทำอะไรได้หรือไม่ได้ และอยู่ภายใต้หลักกฎหมายใด ทั้งนี้ ระบบกฎหมายบ้านเรา เฉพาะพรรคการเมืองเท่านั้นถึงจะส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งได้ พรรคการเมืองมีอภิสิทธิ์บางอย่างที่บุคคลธรรมดาไม่มี ดังนั้น ในมิตินี้มีกฎหมายมหาชนเข้ามาเกี่ยว พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชน แต่จะมีกฎหมายพรรคการเมืองระบุขั้นตอนและวิธีการได้มาซึ่งตัวผู้สมัครของพรรค ซึ่งนี่เองที่มีมิติกฎหมายมหาชนเข้ามาเกี่ยวข้อง

แต่คำถามที่เราถามกันอยู่คือเรื่องกู้เงินซึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายแพ่ง พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลเอกชนกำลังจะทำนิติกรรมทางแพ่ง จะทำได้หรือไม่อยู่ภายใต้กฎหมายเอกชน ไม่มีกฎหมายห้าม จึงทำได้ ทั้งนี้ ข้อห้ามตามกฎหมายพรรคการเมืองมีอยู่มากมาย แต่เรื่องการกู้ยืมเงินซึ่งเป็นนิติกรรมทางแพ่ง และไม่มีการเขียนข้อห้ามไว้ จึงสามารถทำได้

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image