‘คลัง-แบงก์ชาติ-กลต.’ ผนึกกำลังรับมือโควิด-19

หมายเหตุกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สมาคมธนาคารไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน และผู้แทนรัฐบาล ร่วมแถลง “มาตรการรองรับสถานการณ์โควิด-19” ทำให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง ที่อาคารสำนักงาน ก.ล.ต. เมื่อวันที่ 22 มีนาคม

วิรไท สันติประภพ
ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ทวีความรุนแรงขึ้น สร้างความกังวลให้แก่ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ราคาสินทรัพย์ผันผวนสูง นักลงทุนในหลายประเทศเทขายสินทรัพย์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง กระทบสภาพคล่องของตลาดการเงิน ส่งผลให้ตลาดการเงินไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ภาครัฐในหลายประเทศจึงได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินอย่างต่อเนื่อง

Advertisement

แม้ระบบสถาบันการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพดี ธนาคารพาณิชย์ไทยมีเงินกองทุนเข้มแข็งและไม่มีปัญหาสภาพคล่อง แต่สถานการณ์สภาพคล่องตึงตัวในระบบการเงินโลก และกลไกตลาดการเงินที่ทำงานต่างจากสภาวะปกติ ได้เริ่มส่งผลต่อตลาดการเงินไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน เพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจ โดยเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลกว่าหนึ่งแสนล้านบาทในช่วงวันที่ 13-20 มีนาคม 2563 ลดและยกเลิกการออกพันธบัตร ธปท. และล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงินได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ธปท.พร้อมที่จะเข้าดูแลตลาดพันธบัตรรัฐบาลให้ทำงานได้ตามปกติ ด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติม เพื่อไม่ให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลผันผวน

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ยังมีความผันผวนสูง ทำให้ผู้ถือหน่วยลงทุนบางส่วนเร่งไถ่ถอนหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตราสารหนี้ ส่งผลให้กองทุนรวมตราสารหนี้บางแห่ง ต้องเร่งขายตราสารหนี้ที่ส่วนใหญ่มีคุณภาพดีในราคาต่ำกว่าปกติ เพราะการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงิน ส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น อาจส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการไถ่ถอนหน่วยลงทุนอื่นๆ ตามมา จนกระทบต่อการทำงานของกองทุนรวมตราสารหนี้และตลาดตราสารหนี้ในประเทศ รวมถึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาคเอกชน เศรษฐกิจ และประชาชนเป็นวงกว้าง

กระทรวงการคลัง ธปท. และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง และเห็นควรออกมาตรการสนับสนุนเสถียรภาพตลาดการเงินไทย จะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงินขยายผลต่อไป โดยมาตรการดังกล่าวประกอบด้วยการดำเนินงานใน 3 ด้านดังต่อไปนี้

Advertisement

1.กองทุนรวมตราสารหนี้ ธปท. จัดตั้งกลไกพิเศษเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้แก่กองทุนรวมผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารพาณิชย์ที่เข้าซื้อหน่วยลงทุนจากกองทุนรวมตลาดเงิน (Money market fund) และกองทุนรวมตราสารหนี้ที่เป็นกองทุนเปิด (Daily fixed income fund) ที่ถือสินทรัพย์คุณภาพดีแต่ได้รับผลกระทบจากการที่ตลาดการเงินขาดสภาพคล่อง สามารถนำหน่วยลงทุนดังกล่าวมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้ โดยจะดำเนินการจนกว่าสถานการณ์ในตลาดการเงินจะเข้าสู่ภาวะปกติ จากการประมาณการเบื้องต้นพบว่ามีกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีสินทรัพย์คุณภาพดีที่สามารถนำมาวางเป็นหลักประกัน เพื่อขอสภาพคล่องจาก ธปท.ได้ มูลค่ารวมกว่าหนึ่งล้านล้านบาท

2.ตราสารหนี้ภาคเอกชน สมาคมธนาคารไทยธนาคารออมสิน ธุรกิจประกันภัย และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ร่วมกันจัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ วงเงินเริ่มต้น 70,000-100,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนในตราสารหนี้ภาคเอกชนออกใหม่ของบริษัทที่มีคุณภาพดี แต่ประสบปัญหาตลาดขาดสภาพคล่องจนส่งผลให้ไม่สามารถต่ออายุ (rollover) ตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ครบทั้งจำนวน

3.ตราสารหนี้ภาครัฐ ธปท. พร้อมที่จะดูแลให้กลไกตลาดตราสารหนี้ภาครัฐทำงานได้อย่างราบรื่น มีประสิทธิภาพ และมีสภาพคล่องเพียงพอ ผ่านการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง
มาตรการเหล่านี้จะเสริมสภาพคล่องของตลาดการเงินและช่วยให้กลไกตลาดตราสารหนี้กลับมาทำงานได้อย่างปกติท่ามกลางภาวะตลาดการเงินโลกที่ผันผวน และจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนตราสารหนี้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จะร่วมกันติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะร่วมมือในการดำเนินมาตรการเพิ่มเติม เพื่อให้มั่นใจว่าตลาดการเงินทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ เป็นปัญหาการขาดสภาพคล่องในตลาดการเงินที่ส่งผลให้การทำงานของตลาดการเงินไม่ปกติ ในขณะที่กองทุนรวมตราสารหนี้โดยรวมมีสินทรัพย์ที่มีคุณภาพดีและความเสี่ยงต่ำ จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกหรือเร่งไปไถ่ถอนหน่วยลงทุนกองทุนรวมตราสารหนี้ในภาวะที่ตลาดการเงินไม่ปกติ เพราะอาจส่งผลให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่ควรโดยไม่จำเป็น

ทั้งนี้วัตถุประสงค์กองทุน ให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว (Temporary liquidity shortage) ให้สามารถชำระคืน หรือ โรลล์โอเวอร์ (rollover) หุ้นกู้ต่อไปได้ เพื่อดูแลเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยเฉพาะการระดมทุนในตลาดแรกให้ทำงานได้เป็นปกติ (Market functioning) และลดทอนความเสี่ยงเชิงระบบ (Systemic risk) ต่อภาคเศรษฐกิจและระบบการเงิน โดยต้องเป็นประเภทกองทุนเปิดสำหรับนักลงทุนสถาบัน

ที่มากองทุนเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 70,000-100,000 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องสำหรับหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปี 2563-2564 และอาจพิจารณาขยายขนาดกองทุนในภายหลัง ระดมทุนจากนักลงทุนสถาบัน อาทิ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารออมสิน บริษัทประกัน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เป็นต้น ประมาณ 2-3 ปี

ส่วนเงื่อนไขการขอรับความช่วยเหลือ คือบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) เป็น    อินเวสต์เมนต์ เกรด (investment grade) ตั้งแต่ BBB- ขึ้นไป ณ วันจัดตั้งกอง และต้องเป็นบริษัทที่มีฐานะการดำเนินงานดีอยู่ (viable) เพียงขาดสภาพคล่องชั่วคราว บริษัทต้องดำเนินการจัดหาเงินทุนจากแหล่งภายใน เช่น เพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม หรือบริษัทแม่ หรือหาแหล่งเงินทุนภายนอก เช่น สินเชื่อ ในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 50% ของยอดที่จะครบกำหนด

ส่วนกลไกการทำงานของกองทุน คือ เมื่อผ่านเงื่อนไขตามที่กำหนด บริษัทผู้ออกตราสารสามารถให้ผู้จัดการออกตราสาร (Arranger) หรือผู้จัดจำหน่ายตราสาร (Underwriter) ติดต่อมายังกองทุน เพื่อเสนอขายตราสารหนี้ระยะสั้น (ไม่เกิน 270 วัน) กองทุนโดยคณะกรรมการการลงทุนจะพิจารณารับซื้อตราสารหนี้ระยะสั้น ที่เสนอขาย ณ อัตราส่วนลดที่กองทุนกำหนด เช่น ราคาตลาด + ส่วนเพิ่ม เพื่อให้บริษัทสามารถนำเงินไปไถ่ถอนหุ้นกู้เดิมที่จะครบกำหนด เมื่อตราสารครบกำหนด กองทุนอาจพิจารณาให้โรลล์โอเวอร์ ต่อได้หากจำเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะช่วยพิจารณาผ่อนปรนหลักเกณฑ์กำกับดูแลบางประการ เพื่อให้กองทุนสามารถดำเนินการได้โดยเร็ว

ประสงค์ พูนธเนศ
ปลัดกระทรวงการคลัง

มาตรการที่คลังเตรียมเสนอ ครม.เป็นมาตรการที่จะเข้าไปดูแลลูกจ้างที่กระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และลูกจ้างในกิจการที่รัฐประกาศให้หยุดกิจการชั่วคราว เช่น โรงแรม ร้านอาหาร ร้านนวด โดยจะมีมาตรการทั้งด้านการเงิน และมาตรการเติมสภาพคล่องให้กลุ่มลูกจ้างดังกล่าวสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะเมื่อรัฐมีคำสั่งให้หยุดกิจการก็ต้องมีมาตรการไปช่วยดูแล มาตรการที่ออกมานั้นเป็นส่วนเสริมจากประกันสังคมที่จ่ายชดเชยการหยุดงานให้ รวมถึงมาตรการที่จะออกมานั้นจะครอบคลุมกลุ่มลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม มีหลายแนวทางที่จะดูแล

ส่วนการแจกเงิน 2 พันบาทที่รัฐบาลเคยมีแนวคิดก่อนหน้านี้ ขอให้รอดูการประชุม ครม.วันอังคาร 24 มีนาคมนี้ มาตรการอาจดีกว่าที่คิดกัน หลังจากมาตรการผ่าน ครม.แล้ว จะมีผลทันที ยืนยันว่ารัฐบาลมีเงินดูแลกลุ่มคนดังกล่าวและเตรียมพร้อมวงเงินไว้แล้ว

กอบศักดิ์ ภูตระกูล
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง

วันอังคารที่ 24 มีนาคมนี้ กระทรวงการคลังมีมาตรการดูแลและเยียวยาเศรษฐกิจระยะที่ 2 เสนอต่อที่ประชุม ครม. โดยมาตรการออกมาเน้นดูแลประชาชน รายย่อย และลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 และจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ หลังจากนี้ ครม.เศรษฐกิจ จะหารือกระทรวงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อหามาตรการเยียวยาแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม

กระทรวงการคลังกำลังสรุปข้อเสนอทั้งหมดเข้า ครม. ขอให้รออีก 2 วัน จะมีความชัดเจนของมาตรการออกมา ถ้ามาตรการชุดที่ 2 ไม่พอรัฐบาล พร้อมออกชุดที่ 3 มาช่วย เพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 กำลังเกิดขึ้นกับประชาชน และรายย่อย

เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่เพิ่มเพื่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image