เสียงสะท้อนรับมือ‘โควิด’ ช่วยอย่างไรให้ตรงจุด?

หมายเหตุเสียงสะท้อนจากภาคเอกชน เกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ในการช่วยเหลือประชาชนจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ภายใต้ข้อจำกัดหลายด้าน

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

แนวคิดของรัฐบาลในการออก พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉิน วงเงินกว่า 2 แสนล้านบาท เพื่อนำมาดูแลเศรษฐกิจระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า ก่อนหน้านี้ยกตัวอย่าง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายลดอัตราดอกเบี้ย 2% ให้กับผู้ประกอบการรายละไม่เกิน 20 ล้านบาท ในกรณีลักษณะนี้ควรจะนำมาผูกโยงกับเงินกู้ที่จะเข้ามาพยุงเศรษฐกิจในระยะต่อไปด้วยว่า งบ 2 แสนล้านบาทที่จะเอามานี้ จะเอามาใช้กระตุ้นอย่างไร หากจะนำมาให้ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) กู้เพื่อนำไปฟื้นฟูธุรกิจของตนเองต่อไป ก็ต้องดูว่าอัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่เท่าใด จะเท่า ธปท.ที่ 2% หรือจะคิด 0% เลยหรือไม่ ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นจะต้องมองไว้ว่า จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการที่มีความจำเป็นและต้องการกู้เงินจริงๆ สามารถกู้ได้ เพราะอย่างกรณีของ ธปท. วงเงินกู้ 20 ล้านบาท ขณะนี้คนที่สามารถกู้เงินได้หรือมีหลักทรัพย์ในการค้ำประกัน ในส่วนของผู้ประกอบการในระดับเอสเอ็มอีก็คงไม่มีหลักทรัพย์อะไรสามารถใช้ค้ำประกันได้แล้ว ทำให้ต้องมาดูว่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง หากมีบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยก็ต้องดูว่าจะมีแนวทางการช่วยเหลืออย่างไร เพราะตอนนี้ยังไม่ได้เห็นแนวทางการช่วยเหลือที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม มองว่าหากมาตรการใหม่ออกมา ก็ต้องช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้จริงและต้องมีแผนชัดเจนว่าจะนำเม็ดเงินเข้าไปสนับสนุนในส่วนใด และจะสร้างประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง

Advertisement

คนที่ปริ่มน้ำแล้ว แทบจะหายใจไม่ออกอยู่แล้ว แต่ตอนนี้มีโอกาสขายของได้มากขึ้น เพราะมีความต้องการจากต่างประเทศเข้ามา ภาครัฐจะต้องเข้าไปดูว่าจะสามารถช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้เขาสามารถเดินหน้าต่อได้ และไม่ต้องปิดกิจการหรือเลิกจ้างพนักงานไป ประโยชน์จะเกิดขึ้นกับตัวธุรกิจเองและแรงงานที่ไม่ต้องเสี่ยงในการตกงานด้วย

หากมีการนำเม็ดเงินกว่า 2 แสนล้านบาทนี้ออกมาใช้ในการพยุงเศรษฐกิจจริง อันดับแรกที่ควรทำคือ นำเม็ดเงินเข้าไปช่วยธุรกิจที่ในช่วงที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนต้องปิดหรือหยุดกิจการไป จะต้องหามาตรการมาช่วยเหลือให้ธุรกิจเหล่านั้นสามารถเดินต่อไปได้ ต่อมาต้องช่วยเหลือธุรกิจที่ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ แต่ว่าเป็นการเดินแบบฝืดๆ เพราะยังต้องจ่ายค่าแรงให้พนักงานตามปกติ แต่ว่ารายได้มีน้อยลง และหายากมากขึ้น ทั้งยังมีต้นทุนสูงขึ้น ตรงนี้จะต้องมีแนวคิดในการช่วยเหลืออย่างไรเพิ่มเติมออกมา โดยการหาแนวคิดหรือหามาตรการช่วยเหลือออกมาคงจะต้องแบ่งเป็นเรื่องๆ ไป เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้มีหลายปัญหามาก ทั้งบางกิจการที่ต้องหยุดไป เพราะการท่องเที่ยวที่ซบเซาลง ไม่ว่าจะเป็นกิจการท่องเที่ยวทั้งหลาย โรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร

อีกพวกหนึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาคการส่งออก ตั้งแต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากปัญหาค่าเงินแข็งหนักมาก จนมีกิจการบางรายที่เจ๊งแล้ว และมีบางรายเกือบจะเจ๊งตามไป แต่มีบางรายเริ่มกลับมาทำธุรกิจได้ จากความต้องการของต่างประเทศที่มีเพิ่มขึ้นในขณะนี้ ภาครัฐจะต้องเร่งเข้าไปดูแลว่าจะสามารถช่วยเหลือเอกชนเหล่านั้นได้อย่างไรบ้าง

Advertisement

ในระยะเริ่มต้น อาจจะเริ่มด้วยเม็ดเงิน 2 แสนล้านบาทนี้ก่อน สมมุติว่าหากจะมีมาตรการใดออกมาจะทำให้ธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งต้องหยุดกิจการไปก่อน 1-3 เดือนต่อจากนี้ ตามคำสั่งของรัฐบาล ภาครัฐเองจะต้องเข้าไปช่วยพยุงธุรกิจเหล่านั้นทันที อาทิ การช่วยจ่ายค่าแรงงานให้เลย 50% หรือ 75% เพื่อให้แรงงานอยู่ได้ก่อน และไม่เกิดการเลิกจ้างต่อไป เมื่อธุรกิจนั้นๆ สามารถกลับมาขับเคลื่อนต่อได้ เขาก็ยังมีแรงงานที่สามารถเริ่มงานได้ทันที เพื่อให้ธุรกิจที่กำลังหยุดชะงักไปสามารถกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้อย่างไม่ลำบากมากนัก

สำหรับมาตรการแจกเงินที่ทยอยมีอย่างต่อเนื่อง ควรจะทำต่อหรือไม่นั้น ต้องดูว่าจะมีการปิดเมืองแบบนี้อีกนานแค่ไหน คือถ้ายังปิดต่อไปเรื่อยๆ การแจกเงินแบบนี้ก็จะเป็นตัวช่วยอย่างหนึ่ง ทำให้หมดปัญหาสังคมได้ เพราะการที่เศรษฐกิจไม่หมุนเวียน และคนตกงานเยอะมากๆ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินในอนาคต เป็นอีกขั้นหนึ่งที่ต้องมองเห็นปัญหาให้ได้ และเมื่อมองเห็นปัญหาแล้ว มาตรการแจกเงินจะต้องเป็นตัวช่วยในการทำให้ประชาชนมีกินมีใช้ ถึงจะไม่ดีเท่าเดิม แต่ก็จะไม่ถึงกับอยู่ไม่ได้

ในระยะยาวภาครัฐควรที่จะดำเนินการใน 2 ด้านเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป 1.ต้องส่งเสริมแบบสนับสนุนกิจการที่ย่ำแย่ไป ต้องช่วยดูแลว่ากิจการเหล่านั้น จะปรับเปลี่ยนมาทำธุรกิจหรือประกอบกิจการใหม่อะไรได้ อาทิ ธุรกิจร้านอาหารที่ไม่สามารถนั่งกินที่ร้านได้ ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นระบบดิลิเวอรีแทน แต่บางธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวเองได้ อาทิ ร้านตัดผม หากปิดไป 1 เดือนคงไม่ใช่ปัญหา แต่หากปิดต่อเนื่อง ก็ต้องหามาตรการสำรองไว้ เพื่อให้สามารถเข้าไปพยุงได้ทันทีหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น 2.กลุ่มคนที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ขณะนี้ภาครัฐออกมาตรการแจกเงินเยียวยาแล้ว 3 เดือน ในระยะต่อไป ภาครัฐจะต้องหาวิธีในการทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้มีงานทำ ทั้งในอาชีพเดิมหรือวิชาชีพใหม่ๆ เพิ่มเติม

สำหรับกลุ่มคนที่หาเช้ากินค่ำ ทำงานเป็นรายวัน ไม่ได้อยู่ในระบบ และไม่มีหลักประกันในชีวิต รัฐบาลควรเข้าไปช่วยเหลือมากที่สุด ต้องพยายามหางานให้ เพื่อนำคนกลุ่มนี้เข้ามาในระบบให้มากที่สุด จะต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ามาอยู่ในงานที่มั่นคงมากขึ้น ภาครัฐจะต้องเปิดลงทะเบียนคนว่างงาน เพื่อให้ภาครัฐหางานให้ แต่ต้องฝึกทักษะอาชีพในสาขาที่ตลาดต้องการ เพื่อให้กลายเป็นแรงงานที่ภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการต้องการ นอกจากจะมีงานทำต่อในระยะยาวแล้ว ก็ยังเป็นการยกระดับ และเพิ่มความมั่นคงในชีวิตมากขึ้นด้วย

ว่าที่ ร.อ.จิตร์ ศิรธรานนท์
รองประธานหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง หอการค้าไทย

แนวทางการสนับสนุนช่วยเหลือภาคส่วนต่างๆ เป็นเรื่องที่ผู้นำประเทศจะต้องพิจารณาถึงโครงการต่างๆ ในเรื่องของการพัฒนา ยกเว้นเรื่องการแก้ปัญหาภัยแล้งหรือเรื่องที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ไม่สามารถตัดงบประมาณได้ แต่โครงการอย่างการทำถนนหรือซ่อมแซมถนน หรือการซื้ออาวุธ เป็นเรื่องที่รอได้ ควรให้มีการชะลอไว้ก่อน เพื่อนำงบประมาณส่วนนี้กลับมาช่วยเหลือ เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ถ้าไม่พอมีทางเดียวคือการกู้ยืมเงิน จะมาจากไหนเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องพิจารณา

อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ใช่การผลักภาระทั้งหมดไปให้รัฐบาล ทุกภาคส่วนแม้กระทั่งแรงงานเองก็ต้องช่วย จะอยู่แบบเดิมเหมือนที่เคยได้รับเงินเดือน เดือนละหลายหมื่น แล้วจะขอให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนเท่านั้น ไม่สามารถทำได้ ต้องปรับลดความต้องการเพื่อประคับประคองการดำรงชีวิตในแต่ละวันไปพลางก่อน รัฐมีหน้าที่หลักที่ต้องเข้ามาช่วยอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ทุกคนจะโยนความรับผิดชอบทั้งหมดไปให้รัฐ รัฐเองก็จะรับไม่ไหว เนื่องจากภาระเศรษฐกิจซบเซามาก่อนหน้านี้แล้ว

ในสถานการณ์ปัจจุบันคล้ายการอยู่ในภาวะสงคราม คนจะกินดีอยู่ดีเป็นไปไม่ได้ เพียงขอให้มีชีวิตอยู่รอดไปในแต่ละวัน โดยเฉพาะขณะนี้ที่รัฐบาลมีมาตรการเยียวยา จำนวน 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ผู้ไม่ได้รับผลกระทบก็มีการลงทะเบียนด้วย เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และเป็นการซ้ำเติมสิ่งต่างๆ ให้ย่ำแย่ลงไปอีก ทุกคนต้องมีความรับผิดชอบในตัวเองว่าภาวะนี้คือภาวะวิกฤต ช่วยให้คนอื่นที่ย่ำแย่กว่าให้สามารถอยู่รอดได้ต่อไปจะดีกว่า และเพื่อเป็นการประทังไม่ให้เกิดมิจฉาชีพ รวมถึงการลักวิ่งชิงปล้น เพราะหากท้องไม่อิ่มจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

หากทุกคนมีความรับผิดชอบ เงินจำนวนนี้จะลงไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้อย่างตรงจุด และรวดเร็ว เพราะลำพังการลงทะเบียน และมีการตรวจสอบ ส่วนตัวก็ไม่รู้ว่าอีกกี่เดือนหรืออีกกี่ปีเงินจำนวนนี้ที่จะลงไปช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบสักที

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image