หมายเหตุ – นายสันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซี กรุ๊ป (Sea Group) บริษัทแม่ของ การีนา ช็อปปี้ แอร์เพย์ ได้เขียนบทความเรื่อง “บาซูก้า” การคลัง-สิงคโปร์ยิงแล้ว ไทยเอายังไง? พร้อมให้สัมภาษณ์พิเศษ “มติชน” มีการนำเสนอหลายด้านเพื่อให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ในสถานการณ์วิกฤตอย่างทุกวันนี้ ประเทศไทยต้องใช้วัคซีน 3 เข็มฉีดเข้าไปพร้อมๆ กัน โดยต้องฉีดให้เร็ว เพื่อให้ทันต่อการระงับอาการระบาดที่เกิดขึ้น ไม่ให้ลุกลาม พยุงตัว เพื่อเตรียมพร้อมให้กลับมาฟื้นตัวได้โดยเร็วที่สุด เป็นโจทย์ที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ
วัคซีนแก้โควิด 3 เข็มครอบคลุมทั้ง
สาธารณสุข การคลัง และการเงิน
วัคซีนเข็มแรก พุ่งเป้าหมายไปที่การควบคุมดูแลด้านสาธารณสุข เพราะวิกฤตเกิดขึ้นในครั้งนี้ ที่กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทุกประเทศทั่วโลก ไม่แค่ประเทศไทย ต้นทางของวิกฤตครั้งนี้ เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 พูดได้ว่าเป็น “วิกฤตที่มีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง” ดังนั้น มติด้านสาธารณสุขต้องเข้มข้น
ก่อนหน้านี้เราจะเห็นตัวอย่างมาแล้ว แม้หลายประเทศงัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อการอุดการไหลของตลาดหุ้นตลาดเงิน ก็ยังไม่ได้ผลเต็มที่ ช็อกทุกวงการ อย่าง สิงคโปร์ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ จนถูกขนานนามว่าปืนใหญ่ “บาซูก้า” ทางการคลัง ด้วยเตรียมใช้เงินขนาดใหญ่ถึง 11% ของจีดีพีของประเทศสิงคโปร์ หรือประมาณ 3.4 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรืออีกหลายประเทศในเอเชีย แม้แต่สหรัฐเองก็ออกมาตรการต่างๆ ออกมา
แต่ในระยะแรกๆ ปรากฏว่ายังไม่รับการตอบสนองจากนักลงทุน ตลาดหุ้นไม่ได้สนใจไม่ว่าจะออกมาตรการทุ่มเงินกันอย่างไร แต่กลับหันไปดูตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่าเป็นอย่างไร เพิ่มแค่ไหน จำนวนรุนแรงขึ้น หรือจำนวนลดลงหรือยัง มาเป็นปัจจัยตัดสินใจลงทุนหรือถอนตัว เมื่อเห็นว่าโรคยังระบาดลุกลามเข้าประเทศต่างๆ ไปทั่วโลก ถึงวันนี้ก็ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน เมื่อสัญญาณว่าคุมเรื่องการระบาดของการแพร่เชื้อโวรัสโควิด-19 ไม่อยู่ ย่อมกระทบต่อตลาดหุ้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก
ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องทำให้เกิดความมั่นใจว่าจะสามารถหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
ในส่วนนี้รัฐบาลต้องเตรียมให้เพียงพอและรองรับในทุกด้าน ตั้งแต่จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ มาตรการ เข้มข้นด้วยทั้งเรื่องการคัดกรองและการตรวจเชื้อทางการแพทย์ เช็กให้ได้ว่าการแพร่ระบาดของโรคอยู่ที่ใด ตอนนี้จำนวนคนไทยที่ติดเชื้อไวรัสยังสูงและยังเห็นว่าควบคุมไม่ได้ ขณะที่หลายประเทศที่ทำก่อนเรากำลังลดจำนวน ทั้งจีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ แม้ดูว่าการแพร่ระบาดซาลง แต่เขาก็ไม่ประมาท เพราะเชื่อว่าโรคยังอาจระบาดได้อีก จึงเตรียมความพร้อมตลอด ล่าสุดสิงคโปร์ก็ประกาศมาตรการเพิ่มปิดเมืองต่อ
เมื่อรู้ว่าการแพร่ระบาดอยู่ที่ใด ก็ต้องแยกคนออกมาให้ชัดเจน ต้องรู้เส้นทางของเชื้อติดต่อจากที่ใด ต้องสแกนหาแหล่งให้เจอ ทำไปพร้อมกับการสร้างความมั่นใจว่าจะดูแลควบคุมได้ รวมถึงเมื่อจำนวนคนติดเชื้อเพิ่มขึ้น ต้องพร้อมรับในการดูแลรักษาทันที ตั้งแต่จำนวนเตียง เครื่องช่วยหายใจ เครื่องมือทางการแพทย์ ยารักษา และหน้ากากอนามัย รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ในการรักษาและป้องกันทั้งคนดูแลและถูกดูแล
เข็ม 2 คือ ชะลอเศรษฐกิจดับ ก็ต้องไปดูเรื่องเยียวยาผู้ที่ได้รับกระทบแล้ว และกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็มีความแตกต่างกันไป ทั้งกลุ่มอาชีพและความเดือดร้อนที่รอการเยียวยา ต้องแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ตอนนี้ถ้าจะให้อยู่ในช่วง “จับแช่แข็งชั่วคราว” เพื่อต้องการให้สถานการณ์อยู่ในสภาพนอนหลับ แต่ก็ต้องมีสายต่อท่อให้น้ำให้อาหารประทังชีวิต และมีสายหล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจ น่าจะทุกประเทศได้เร่งออกมาตรการกันมากมาย
หากเปรียบเทียบว่าเศรษฐกิจมีสภาพเหมือนกำลังจมน้ำครั้งใหญ่ นโยบายของรัฐบาลสิงคโปร์กำลังพยายามช่วยไม่ให้คนและบริษัทจมน้ำตาย ให้เขามีที่เกาะและพยุงตัวไปได้ มาตรการต่างๆ มีทั้งช่วยคนงาน ครัวเรือนรายได้น้อย ธุรกิจ รวมถึงสังคมและจิตวิทยา
รัฐบาลสิงคโปร์ ระยะแรกประกาศชดเชยค่าจ้างให้กับบริษัทต่างๆ 25% ของค่าจ้างทั้งหมดเป็นระยะเวลา 9 เดือน จากเดิมเคยประกาศจะช่วยแค่ 8% เป็นระยะเวลา 3 เดือน หากเป็นอุตสาหกรรมที่โดนหนักเช่น การบิน การท่องเที่ยว ร้านอาหาร จะชดเชยให้ถึง 50-75% ของค่าจ้าง หรือกลุ่มอาชีพอิสระจะได้เดือนละ 1,000 เหรียญสิงคโปร์ เป็นเงินไทยประมาณกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 9 เดือน อันนี้คือกลุ่มที่ต้องทำงานอยู่ รัฐร่วมมือเอกชนขนาดใหญ่ทำโครงการ เอสจี ยูไนเต็ด จ๊อบส์ (SGUnited Jobs) สร้างงานใหม่ 10,000 ตำแหน่ง ในภาคเศรษฐกิจที่กำลังขาดแคลนคน เช่น ภาคสาธารณสุข เช่น คนตรวจอุณหภูมิ ภาคการขนส่ง เช่น กลุ่มส่งอาหารและสินค้าจำเป็น
อีกส่วน เมื่อคนไม่ต้องออกจากงานแล้ว ก็มาศึกษาต่อว่าจะช่วยคนกลุ่มนี้อย่างไรในอนาคต จะสนับสนุนอย่างไร เช่น ฝึกทักษะหรือทำงานด้วยระบบออนไลน์ อย่างตอนนี้ก็เห็นแล้วว่าการทำงานด้วยระบบเทคโนโลยีและการทำออนไลน์ให้ความสะดวก และขยายธุรกิจได้มากขึ้น คนไม่เคยรู้ ควรใช้เวลานี้ทำให้เขารับรู้และสอนเขาทำให้ชำนาญ
ในหลายประเทศ รัฐบาลเทงบช่วยส่งเสริมกลุ่มเอสเอ็มอี สนับสนุนให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยร่วมมือกับแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ นอกจากจะช่วยในระหว่างที่ต้องทำงานจากที่บ้าน (Social Distancing) แล้วยังช่วยให้เกิด ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น (Digital Transformation) ในระยะยาวอีกด้วย นอกจากนี้มีหลายโครงการที่ช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือคนงาน (Upskill and Reskill) เพราะเวลาที่งานประจำเงียบเหงาเป็นเวลาดีที่สุดที่จะเรียนรู้พัฒนาตนเอง โดยเฉพาะหากไม่ต้องห่วงเรื่องจะโดนไล่ออก
ในประเทศไทยดูจากจำนวนคนที่ลงทะเบียนขอรับเงินเยียวยาจากการว่างงาน เกินกว่า 20 ล้านคนแล้ว
เข็มที่ 3 เน้นไปเรื่องมาตรการทางการเงิน บทบาทสำคัญอยู่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทำมาแล้วคือลดอัตราดอกเบี้ย ก็น่าจะมีลดอีกได้ในอนาคต ธปท.ยังสามารถใช้อำนาจปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำพิเศษ (ซอฟต์โลน) และช่วยเหลือตลาดพันธบัตร แยกความช่วยเหลือราย เรียลเซ็กเตอร์ ในตลาดทุนอะไรสำคัญก่อนหลัง อะไรเดือดร้อนแค่ไหน ต้องอุดการไหลของเรียลเซ็กเตอร์และพยุงไม่ให้จมน้ำ ที่เริ่มทำกันใหญ่แล้วในสหรัฐ ประเทศในยุโรป ผลักดันให้ธนาคารชาติเข้าไปช่วยเหลือเรียลเซ็กเตอร์ คล้ายกับซอฟต์โลน ธนาคารชาติให้เงิน แล้วให้ธนาคารต่างๆ ปล่อยกู้ต่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำที่สุด
ประเทศไทยเลือกใช้บาซูก้าก็ไม่แปลก!!
จากภาวะวิกฤตโลกที่กำลังเผชิญกันอยู่ ไม่แปลกที่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยและลดผลกระทบจากโควิด-19 รัฐบาลไทยจะใช้ “บาซูก้า” การคลังการเงิน หรือระดมใช้เงินสูง 10% ของจีดีพีประเทศ หรืออาจมากกว่านั้น ในการเข้ามารับมือและแก้ปัญหาข้างต้น ดูจากทั่วโลกถือว่าเป็นเรื่องจำเป็น แต่ต้องคำนึงเรื่องความโปร่งใส เงินใช้กับอะไรบ้าง เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องส่งสัญญาณให้ประชาชนได้รับรู้
ลองเทียบกับมาตรการกระตุ้นของประเทศไทยที่ออกมา 2 ชุด รวมมูลค่าประมาณ 3.1% ของจีดีพีไทย เพราะฉะนั้นหากดูในเชิงสัดส่วนของจีดีพี เท่ากับของสิงคโปร์ใหญ่กว่าของเราเกือบ 4 เท่า หรือถ้าเราอยากจะเห็นภาพว่า 11% ของจีดีพีใหญ่สักขนาดไหน ก็เท่ากับมูลค่าประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท
ทำไมหลายประเทศต้องใช้เงินขนาดใหญ่ อย่างรัฐมนตรีคลังสิงคโปร์บอกว่า นี่คือวิกฤตที่สิงคโปร์ไม่เคยเผชิญมาก่อนและมีความซับซ้อนสูงมาก ยอมรับว่าเศรษฐกิจอย่างเดียว จีดีพีในปี 2563 น่าจะติดลบ 1-4% โดยสิงคโปร์มีการเตรียมพร้อมถึงขนาด ที่ว่าปัญหาโควิด-19 อาจจะยืดเยื้อเป็นปี
ไม่ได้มีแต่สิงคโปร์ที่จัดบาซูก้าการคลัง เพื่อพยุงเศรษฐกิจในวิกฤตรอบนี้ สหรัฐจัดกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์ ขนาดกว่า 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 10% ของจีดีพีอเมริกา
หรือรัฐบาลมาเลเซียเองยิ่งจัดหนักอัดฉีดมาตรการเศรษฐกิจมูลค่าถึง 17% ของจีดีพีมาเลเซีย แม้นักวิเคราะห์บางคนบอกว่าประมาณครึ่งหนึ่งไม่ควรนับเป็นมาตรการการคลัง เพราะเป็นการพักหนี้เฉยๆ แต่ถึงหักส่วนนั้นออก บาซูก้าของมาเลเซียขนาดใหญ่ถึง 10% ของจีดีพีมาเลเซีย
หากเทียบกับมาตรการเดิมๆ ที่ไทยให้แค่โอนงบประมาณหรือกู้เงิน 2-3 แสนล้านบาท ก็น่าจะไม่พอไหม เห็นด้วยยาแรงต้องมาจากกระทรวงการคลัง และวิกฤตระดับประวัติศาสตร์ครั้งนี้อาจต้องเผื่อใจไว้บ้างว่า แม้ทำทั้งหมดนี้ก็อาจยังไม่พอ และอาจบอกว่าเศรษฐกิจหลายประเทศโดนศึกหนักกว่าไทย เลยต้องใช้ยาแรงกว่า
แต่หากดูจากประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท.มองจีดีพีไทย ลบ 5.3% จะเห็นว่าเป็นสถานการณ์หนักที่สุดตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 และหนักกว่าตัวเลขประมาณการจีดีพีของสิงคโปร์มองไว้ลบ 1-4% และมาเลเซียมองว่าจะไม่ติดลบ ขณะที่ตอนนี้ไทยโดนปัญหาอื่น เช่น ภัยแล้งด้วย
เราอาจนึกว่ารัฐไม่มีเงิน แต่ฐานะการคลังของเราเข้มแข็งกว่ามาเลเซียและสหรัฐอเมริกาเสียอีก หนี้ภาครัฐของไทยอยู่ที่ 41% ของจีดีพี เทียบกับมาเลเซียอยู่ที่กว่า 52% ของจีดีพี ขณะที่อเมริกาประมาณ 107%
แถมรัฐบาลไทยยังกู้ในตลาดพันธบัตรได้ดอกเบี้ยต่ำกว่ามาเลเซียเสียอีก โดยดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปีของไทยอยู่ที่ 1.5% เทียบกับมาเลเซียอยู่ที่ 3.4%
ผมไม่ได้บอกว่าเราต้องรีบควักกระเป๋าจัดบาซูก้าการคลังขนาด 10% ของจีดีพีหรือกว่าล้านล้านบาทแบบไม่ลืมหูลืมตา เพราะคุณภาพก็สำคัญเช่นกัน แม้มองในเรื่องมาตรการทางการคลังต้องไปถูกที่ เพื่อช่วยเหลือคนที่เปราะบางที่สุด ต้องไปถูกเวลา คือช่วยเขาทันและช่วยนานพอให้พ้นระยะวิกฤต
เรื่องคุณภาพที่ว่าสำคัญ เริ่มมองเรื่องการสื่อสารต้องชัดเจนมากขึ้นด้วย อย่างที่ผ่านมาการออกมาตรการ สื่อสารไม่ชัดเจน ทำให้คนอยากใช้สิทธิเข้าใจว่าลงทะเบียนก่อนได้ก่อน จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของเงื่อนไขที่จะได้รับความช่วยเหลือเยียวยาไม่ใช่ใครได้ทำได้ ทำให้ตัวเลขโดดมาก ก็พันไปกับเรื่องการจัดหางบประมาณ เป็นต้น
อีกเรื่อง คือ ผู้บริหารต้องฟังผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะแก้วิกฤตโควิด-19 โจทย์ไม่ง่าย แต่เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้น ทำผิดพลาดกันได้ แต่เมื่อฟังแล้วว่าผิดพลาดตรงใด ก็นำมาปรับตัวให้ทัน ความเสียหายจะลดลง อย่างสิงคโปร์ เมื่อเขาคุมการแพร่ระบาดได้ ใครๆ ก็ชมเขาว่าชนะแล้ว แต่สิงคโปร์ขี้ระแวง จึงยังตั้งการ์ดตลอดไม่ลดแขน ทำให้เมื่อการระบาดกลับมารอบ 2 เขาจึงปรับตัวได้เร็วและคุมได้ในเวลาเร็ว อย่างตอนนี้เลื่อนปิดเมืองเพิ่ม และขยายความช่วยเหลือไปอีก
อีกเรื่อง ในทีมบริหารจัดการ ควรครบทั้งภาคดูแลผลกระทบทางสาธาณสุข ภาคเศรษฐกิจ และภาคสังคม เพื่อจะได้หารือที่เดียวว่าการออกนโยบายหรือมาตรการอะไรแล้ว จะไม่ส่งผลกระทบต่ออีกด้าน และรู้ว่าจะช่วยเหลือไปพร้อมกันอย่างไร อย่างนักระบาดวิทยาก็จะรู้เรื่องว่าจะคุมการระบาดอย่างไร ไม่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์เศรษฐกิจ กลุ่มนี้ต้องเตรียมรับผลกระทบปิดเมืองกระทบคนเท่าไหร่และเยียวยาอย่างไร ตอนนี้ก็มีเรื่องประกันสังคม ของภาคท่องเที่ยวที่จะร้องขอให้ช่วยเหลือ ก็เป็นเรื่องที่ต้องเร่งรับมือ
ถามถึงวิกฤตครั้งนี้จะยาวนานแค่ไหน!!!
เชื่อว่ายังไม่มีใครตอบได้ บางประเทศดูเหมือนการระบาดโควิด-19 ซาลง แต่อยู่ก็กลับมาอีก หลายประเทศเมื่อเขามีบทเรียนหนักมากในรอบแรก เมื่อการกลับมาระบาดอีกครั้ง ก็รู้ว่าจะรับมือและแก้ปัญหาให้ได้เร็วขึ้นอย่างไร ดังนั้น ประเทศไทยควรเตรียมทำใจไว้เลย อาจกินเวลายาวนานกว่าที่เราคิด 3 เดือนอาจยังไม่จบหรือจบก็ไม่สนิท อาจเป็น 6 เดือน 9 เดือน หรือข้ามปี โอกาสอาจกลับมาระบาดอีกรอบ อย่างจีน หรือสิงคโปร์ เขาก็มองว่าโรคระบาดอาจกลับมาได้อีก เขาจึงไม่ประมาทเฝ้าระวังตลอดเวลา
บทเรียนโควิด-19 มีค่าต่อ
การสร้างอนาคตเศรษฐกิจ!!!
จากนี้เมื่อ 3 เข็มนำมาใช้สมบูรณ์แล้ว อยากให้เตรียมพร้อมยาเข็มที่ 4 เป็นการมองข้ามไปถึงหลังพ้นวิกฤตโควิด-19 แล้ว อนาคตประเทศต้องทำอย่างไรต่อ ควรเตรียมตั้งทีมขึ้นมาดูแลโดยตรง หลายเรื่องเราเห็นบทเรียนแล้ว เช่น แม้เดินทางไม่ได้ แต่ก็มีระบบการสื่อสารและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยในการติดต่อสื่อสาร ต่อการดำรงชีวิตและการทำธุรกิจได้ งบประมาณที่จะต้องสนับสนุนกันอีกก้อนใหญ่
โดยสรุป ควรมองข้ามช็อตสำหรับลงทุนเพื่ออนาคตในยุคหลังโควิด-19 ด้วย ดังเช่นสิงคโปร์ ในยามเผชิญสงครามเศรษฐกิจถดถอยที่รุนแรงและซับซ้อนขนาดนี้ คุณภาพอย่างเดียวอาจไม่พอ การใช้กระสุนการคลังที่ถูกขนาด และทันท่วงทีเป็นสิ่งสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อประเทศไทยยังมีฐานะการคลังที่แกร่งพอและกำลังเผชิญความท้าทายทางเศรษฐกิจระดับนี้ อาจต้องกล้าคิดกันแล้วว่าได้เวลางัดบาซูก้าออกมาใช้แล้ว
ขอให้มั่นใจเครดิตประเทศไทยดีกู้เงินได้เลย