วิเคราะห์ 12 เมษายน 2563 : มอง โควิด มอง การเมือง และ ยุคหลังโควิด

วิเคราะห์ 12 เมษายน 2563 : มอง โควิด มอง การเมือง และ ยุคหลังโควิด

วิเคราะห์ 12 เมษายน 2563 : มอง โควิด มอง การเมือง และ ยุคหลังโควิด

การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของประชาชนและประเทศชาติในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดกำลังคืบหน้า
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ใช้มาตรการเข้มข้นทั้งด้านการบริหาร และด้านเศรษฐกิจ เพื่อตอบโจทย์งานด้านสาธารณสุข
ด้านการบริหาร รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และตามมาด้วยการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 22.00 ถึง 04.00 น. เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้ผู้คนออกมาชุมนุม ใช้ชีวิตใกล้ชิด เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
ทั้งนี้เพราะทางสาธารณสุขได้สรุปวิธีการป้องกันการระบาดเอาไว้แล้วเป็นข้อๆ
เริ่มจากแนะนำให้ใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ล้างมือบ่อยๆ รับประทานอาหารปรุงสุก
รวมถึงรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล 1.5-2 เมตร
แล้วมาเริ่มบังคับด้วยการเคอร์ฟิว ไม่ให้คนออกมาชุมนุม เพื่อป้องกันความเสี่ยง
รวมไปถึงการเข้มงวดเรื่องการบินเข้าประเทศ และตรวจคัดกรองคนที่เดินทางเข้าประเทศ
ทั้งหมดนี้รัฐบาลดำเนินการไปตามคำแนะนำทางสาธารณสุข
ขณะที่การดำเนินการด้านเศรษฐกิจ รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก. 3 ฉบับ โดยเป็น พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และอีก 2 พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อระดมเงินเอาไว้ใช้ในยามวิกฤต
รวมวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท

การระดมเงิน 1.9 ล้านล้านบาทนี้ เพื่อนำมาเยียวยาและดูแลคนไทยที่ต้องอยู่ในสภาพ “หยุดงาน”
เงินก้อนใหญ่ที่แจกให้กับผู้ที่มีอาชีพอิสระ ลูกจ้างนอกระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด คนละ 5,000 บาทต่อเดือน ที่เริ่มแจกให้ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน
ก็เพื่อส่งเงินให้แก่คนที่ต้อง “หยุดงาน” ตามคำสั่งของรัฐบาล
เช่นเดียวกับเงินก้อนใหญ่ ที่ประกันสังคมนำมาช่วยลูกจ้างที่กำหนดขั้นต่ำ 5,000 บาท
เช่นเดียวกับเงินที่ต้องนำไปช่วยผู้ประกอบการ และอื่นๆ เพื่อให้ทุกคนไม่อดอยาก
ตามหลักการแล้ว การระดมเงิน 1.69 ล้านล้านบาทนั้น มีเสียงตอบรับเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่
แต่สิ่งที่มีเสียงคัดค้านคือ วิธีการใช้ และการนำเงินไปกระจายให้ครอบคลุมกลุ่มต่างๆ
การใช้โดยการผ่านกระบวนการราชการ อาจจะเป็นปัญหาเช่นเดียวกับที่เคยมีปัญหา
การใช้จ่ายผ่านกรอบความคิด “การเมือง” ที่ต้องการหาเสียง ก็อาจจะเป็นปัญหา
รวมไปถึงการจับจ้องกอบโกยประโยชน์จากเม็ดเงินมหาศาล
รวมถึงการที่รัฐบาลใช้กลไกแบบเดียวกับ คสช. ในการบริหารจัดการ
การกีดกัน นักการเมือง สกัดกั้น ท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วม
ปัญหาการบริหารที่เคยเกิดขึ้นหลังปี 2557
อาจจะกลับมาหลอกหลอน

ในขณะที่การต่อสู้เพื่อความอยู่รอดของประชาชนกำลังดำเนินการต่อไป เริ่มมีผู้มองถึงวิถีชีวิตของไทยในยุคหลังโควิด
การเปลี่ยนแปลงการทำงานจากอยู่ที่อาคารสำนักงานไปอยู่ที่บ้าน หรือที่เรียกกันว่า “เวิร์ก ฟรอม โฮม” กำลังเป็นแนวทางที่ภาคธุรกิจกำลังทำ
แม้ด้วยเจตนาของกระทรวงสาธารณสุข อยากให้ทุกอย่าง “หยุดนิ่ง” เพื่อ “หยุด” การระบาด
แต่สำหรับภาคธุรกิจ และประชาชนแล้ว การทำมาหากินยังคงมีความจำเป็น
เวิร์ก ฟรอม โฮม เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยให้การทำงานขับเคลื่อนไปได้
และเชื่อว่า อีกหลายแนวทางจะเกิดขึ้นเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด
แต่ละแนวทางจะยืนอยู่บนความปลอดภัยทางสาธารณสุข
โดยเฉพาะเรื่องการทิ้งระยะห่างระหว่างกัน 1.5-2 เมตร
แนวคิดที่เกิดขึ้นและกำลังจะเกิดขึ้นเหล่านี้ เมื่อพิสูจน์ได้ว่าสามารถทำให้ธุรกิจอยู่รอด
เมื่อยุคโควิดผ่านพ้นไป แนวคิดและวิธีการทำงานดังกล่าวจะกลายเป็นตัวเลือกของธุรกิจ
แนวคิดและวิธีการดังกล่าวอาจทำให้ธุรกิจหลังยุคโควิดเปลี่ยนไป

Advertisement

การอยู่รอดของประชาชนเช่นเดียวกัน จะมีผลกระทบต่อการเมืองหลังยุคโควิด
ทั้งนี้เพราะหลังจากนี้วิกฤตเศรษฐกิจจะยังคงเกิดขึ้นทั่วโลก และยังไม่รู้ว่าความสาหัสจากการอดอยากจะมากน้อยเพียงใด และจะยาวนานแค่ไหน
แต่คาดกันว่า กลุ่มคนจนในปัจจุบันจะได้รับผลกระทบถึงขั้นอดอยาก ขณะที่ชนชั้นกลางที่พอมีพอกินก็จะขาดแคลน คน 2 กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจะกลายเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
กลุ่มคนเหล่านี้มีประสบการณ์การบริหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาตั้งแต่ปี 2557
ได้ฟังข่าวสารมาตั้งแต่ “เราจะทำตามสัญญา” มาจนถึง “เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
มองเห็นการบริหารงานโดยการใช้ระบบราชการนำ และทิ้งระบบท้องถิ่น และขจัดพรรคการเมืองและนักการเมืองออกไป
ถ้าการบริหารงานดังกล่าวสัมฤทธิผลก็แล้วไป
แต่หากการบริหารงานดังว่า เป็นต้นเหตุให้เกิดความอดอยาก และความขาดแคลน
คนกลุ่มดังกล่าวที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด จะคิดเช่นไรกับ “การเมือง”
ความเชื่อมั่นในตัวผู้นำ ความศรัทธาในรูปแบบการบริหาร จะยังคงอยู่นิ่งโดยไม่เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่
นี่เป็นความท้าทายของการเมืองไทยหลังยุคโควิด
การเมืองที่สุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image