วิเคราะห์ : โควิด ลาม ปากท้อง กดดัน รัฐบาล วัดผล โมเดล ‘บิ๊กตู่’

วิเคราะห์ : โควิด ลาม ปากท้อง กดดัน รัฐบาล วัดผล โมเดล ‘บิ๊กตู่’

วิเคราะห์ : โควิด ลาม ปากท้อง กดดัน รัฐบาล วัดผล โมเดล ‘บิ๊กตู่’

การบริหารจัดการประเทศไทยในสถานการณ์โควิด-19 ระบาดก้าวเข้าใกล้วันที่ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ขออนุมัติเอาไว้
ครม.อนุมัติให้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินจนถึงวันที่ 30 เมษายน
ดังนั้น ก่อนวันเวลาสิ้นสุด จะต้องมีการประเมินสถานการณ์ว่าจะทำอย่างไรต่อไป
จะต่ออายุการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป หรือว่าเลิกใช้ เพื่อเปิดทางให้ทุกชีวิตกลับคืนสู่ภาวะปกติ
ขณะที่การติดเชื้อโควิดต่อวันของประเทศไทย แม้จะลดลงมาก โดยลดลงเหลือแค่หลักสิบ
แต่ก็ยังมีสถานการณ์การแพร่ระบาดอยู่ทั่วประเทศ
ขณะที่การใช้มาตรการเคอร์ฟิว และการชะลอการเดินทางเข้าประเทศ จะช่วยให้สถานการณ์การแพร่ระบาดดีขึ้น
แต่ดูเหมือนว่าปัญหาปากท้องกลับทวีความรุนแรงมากขึ้น
รุนแรงทั้งความรู้สึกอดอยาก และความรู้สึกไม่พอใจ
ภาพของคนเดินไปรับอาหารแจกตามท้องที่ต่างๆ และภาพของคนที่เดินทางไปกระทรวงการคลังเพื่อ “อุทธรณ์” คำขอรับเงิน 5,000 บาท เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อธิบายสถานการณ์ได้ดีกว่าคำบรรยายใดๆ
ในสถานการณ์เช่นนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องตัดสินใจ

ทบทวนย้อนเหตุการณ์กลับไปเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ในประเทศ โมเดลการบริหารงานที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้คือ การออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ตามมาด้วยการจำกัดการเดินทางด้วยการประกาศเคอร์ฟิว
เป็นการใช้อำนาจสั่งให้ “หยุด”
ใช้กลไกราชการทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ลงไปคุมสถานการณ์
แต่งตั้งปลัดกระทรวงเข้ามาดูแลในรายละเอียดในทางปฏิบัติ และรายงานต่อนายกฯ
ลดบทบาทฝ่ายการเมือง ทั้งคณะรัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ทุกอย่างใช้การบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจ
รัฐบาลเป็นผู้สั่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นแขนขา โดยใช้กลไกกำนันผู้ใหญ่บ้านลงไปดูแลประชาชน
เป็นโมเดลการบริหารที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำมาใช้

ผลการบริหารปรากฏว่า ฝ่ายการเมืองถูกกีดกันออกไปอยู่นอกวง
ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล มีบทบาทเพียงตอบโต้กับฝ่ายที่เห็นต่างแทนรัฐบาล
ตอบโต้ความเห็นของ เทพไท เสนพงศ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ตอบโต้กับข้อเสนอของ ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตพรรคอนาคตใหม่
กระทั่งบางคน ถึงวิพากษ์วิจารณ์ประชาชน ดังเช่น ผู้ช่วย ส.ส.จังหวัดกาญจนบุรี พรรคภูมิใจไทย กระทำ
เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่ ส.ส.สงขลา พรรคพลังประชารัฐ ก็เคยกระทำ
จนในที่สุดต้องออกมาขอโทษ
ทางด้าน ส.ส.จากพรรคฝ่ายค้าน ก็เคลื่อนไหวได้ในวงจำกัด ทำหน้าที่เสนอแนะรัฐบาล แม้ว่ารัฐบาลจะไม่รับฟัง แต่ก็ถือว่าได้พูดแทนประชาชนในพื้นที่
การเมืองในช่วงนี้จึงดูไร้บทบาท

Advertisement

อย่างไรก็ตาม การจัดการตามโมเดลบริหารดังกล่าว ได้ปรากฏรอยโหว่ขึ้นมา เมื่อเริ่มปฏิบัติการเยียวยาประชาชน
หนึ่ง เป็นรอยโหว่ที่เกิดจากข้อมูลที่นำมาใช้ในการบริหารไม่ครบถ้วน
กรณีการลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ เงิน 5 พันบาท เป็นเวลา 3 เดือน นั้นยืนยันปัญหาได้ชัดเจน
เพราะคนที่ประกอบอาชีพอิสระ ลูกจ้างแรงงาน ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งเดิมคาดว่ามีอยู่ 8 ล้านคนนั้น
แท้จริงแล้วมีมากกว่านั้นมาก
อาทิ ระบบตีความว่า คนในครอบครัวเกษตรกรทุกคนเป็นเกษตรกร ซึ่งถือว่าไม่มีคุณสมบัติรับเงิน 5 พันบาท
แต่คนในครอบครัวเกษตรกร เป็นคนที่ประกอบอาชีพอิสระ ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม มีอยู่เยอะมาก
ที่สำคัญคือ คนในครอบครัวเหล่านั้นได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จริงๆ
ดังนั้น เมื่อระบบปฏิเสธการช่วยเหลือ คนกลุ่มนี้จึงเกิดความเครียด
เพราะเกรงว่าจะไม่มีเงินใช้จ่าย กลัวว่าจะไม่มีอะไรกิน

สอง เป็นรอยโหว่ที่มาจากความล่าช้าในการเข้าถึงปัญหา
ทั้งนี้เพราะทันทีที่รัฐบาลประกาศให้ทุกคน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ปัญหาปากท้องก็เริ่มขึ้นมาทันที
แต่รัฐบาลต้องแสวงหาเม็ดเงิน ต้องแสวงหาวิธีการที่จะไปแจกจ่ายให้ทั่วถึง ครบถ้วน ต้องไม่สองมาตรฐาน ต้องโปร่งใส ไร้ทุจริต เป็นต้น
การดำเนินการดังกล่าว รัฐบาลต้องใช้เวลา เช่น การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท การกำหนดมาตรการส่งเงินไปช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจ และการสกัดการรั่วไหล กลับปะทุขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทำให้การเยียวยามาช้ากว่าปัญหาปากท้อง
ยิ่งเมื่อผนวกกับกระบวนการที่มีปัญหาซ้ำซ้อน ก็ยิ่งทำให้เกิดความล่าช้าเข้าไปอีก

อีกประการหนึ่ง คือ กระบวนการสื่อสารจากส่วนกลางลงไปทั่วประเทศ
รัฐบาลใช้กลไกการแถลงข่าวรายวันของ ศบค. หรือศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
การดำเนินการของศูนย์สถานการณ์โควิด มีประสิทธิภาพมากในการควบคุมการระบาด
ข้อมูลทางการสาธารณสุขทั้งของโลกและของไทย เผยแพร่สู่ประชาชนอย่างเร็วและดี
แต่ข้อมูลการเยียวยา กลับมีปัญหาการสื่อสาร
การให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ เรื่องงบประมาณเงินเยียวยา 5 พันบาทว่า เหลือจ่ายแค่ 1 เดือน เดือนอื่นๆ ต้องรอ พ.ร.ก.เงินกู้นั้น ทำให้ผู้ประสบปัญหาปากท้อง เกิดความหวั่นไหวทันที
เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์เองก็สัมผัสได้ว่าพลาด
วันรุ่งขึ้น จึงต้องออกมายืนยันอีกครั้งว่า รัฐบาลมีเงิน

Advertisement

ด้วยโมเดลการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มีธงนำเป็นกฎระเบียบ คำสั่ง และเจ้าหน้าที่รัฐ
เป็นธงนำเหมือนกับที่ คสช. เคยใช้เมื่อตอนยึดอำนาจเมื่อปี 2557
ผลที่เกิดขึ้นในตอนนั้นคือ ประชาชนให้การยอมรับเรื่องการทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย
เป็นการตอบรับในช่วงเริ่มต้น
แต่เมื่อระยะเวลาเนิ่นนาน ปัญหาปากท้องเริ่มขยายตัว สิ่งที่ตามมาอย่างรวดเร็วคือไม่พอใจรัฐบาล
ในยุค คสช. พล.อ.ประยุทธ์ รับมือกับอารมณ์ของสังคมด้วยการประกาศเลือกตั้งทั่วไป
ในยุคโควิดนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ใช้โมเดลการบริหารไม่แตกต่างกัน
นั่นคือ ใช้กฎระเบียบเป็นธงนำ ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และออกคำสั่งเคอร์ฟิว
ใช้เจ้าหน้าที่รัฐ และกลไกราชการในการขับเคลื่อนแก้ปัญหา
แต่เมื่อเวลาเนิ่นนาน ปัญหาโควิดกำลังลามไปเป็นปัญหาปากท้อง
พล.อ.ประยุทธ์ จะใช้วิธีการใดรับมือกับอารมณ์ของสังคม
สถานการณ์ต่อไปจะเป็นเครื่องพิสูจน์โมเดลการบริหารงานแบบ พล.อ.ประยุทธ์
พิสูจน์ว่า การบริหารงานที่เป็นอยู่ จะทำให้ปัญหาปากท้องบรรเทาลงไปได้หรือไม่
พิสูจน์อีกว่า โมเดลการบริหารแบบ พล.อ.ประยุทธ์ เช่นที่ปรากฏนี้
สามารถทำให้คนในชาติ อยู่รอดปลอดพ้นวิกฤตนี้ไปได้อย่างไร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image