รายงาน : หอการค้าจังหวัด-เอสเอ็มอี เปิดผนึกถึง‘เจ้าสัว’

รายงาน : หอการค้าจังหวัด-เอสเอ็มอี เปิดผนึกถึง‘เจ้าสัว’

หมายเหตุความคิดเห็นหอการค้าจังหวัดและประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ต่อกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ทำจดหมายเปิดผนึกถึงมหาเศรษฐีในประเทศไทย ให้ทำโครงการที่พร้อมช่วยเหลือประชาชน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19

วโรดม ปิฏกานนท์
ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่

Advertisement

นักธุรกิจรายใหญ่ของประเทศ คือ เจ้าของธุรกิจสำคัญอยู่แล้ว เช่น เจ้าของห้างสรรพสินค้า เครือข่ายขายสินค้าอุปโภค-บริโภค การให้ความช่วยเหลือทำได้ทันที ไม่ว่าจะเป็นการประกาศจำหน่ายสินค้าในราคาประหยัดจริงๆ ทำได้เลยเพราะเป็นการช่วยเหลือสังคม ผมว่ามาเลย ลงมือเลย ลดราคาสินค้าในราคาพิเศษ ลดแลก แจกแถม เพื่อให้ประชาชนได้กินได้ใช้ หรือการบริจาคจำนวนมากๆ ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่สำเร็จรูป ห้างสรรพสินค้าลดราคาค่าเช่าพื้นที่ ลดราคาค่าใช้จ่ายให้ผู้ประกอบการ ทุกคนทำได้เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการลืมตาอ้าปาก ทำให้หายใจได้จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น

เครือซีพีเริ่มทำโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแจกฟรี แบบนี้ละครับที่ช่วยได้จริง ทันเหตุการณ์ รายอื่นก็ทำได้ การมาช่วยกันทั้งระดมความคิดเห็นไอเดียดีๆ จากมุมมองของคนทำธุรกิจที่ประสบความสำเร็จสูง อาจเป็นแนวทางจากการร่วมมือกันทุกฝ่าย เสนอแนวคิดคนละไม้คนละมือ เป็นเรื่องที่ดีที่มาระดมสมองหาทางออกให้กับประเทศ ไม่เพียงช่วยประเทศให้รอด ธุรกิจของเขาเองก็ดีขึ้นแถมเกื้อกูลประชาชนได้ เพื่อให้ทุกคนในประเทศผ่านวิกฤตนี้ไปให้ได้

อนุรัตน์ อินทร
ประธานหอการการค้า จ.เชียงราย

หากเป็นไปได้ให้จะขอเสนอจัดทำแผนช่วยเหลือเกษตรกรในส่วนที่เป็นพืชผลทางการเกษตร สัตว์เลี้ยงและผลไม้ตามฤดูกาล เชียงรายเป็นอีกพื้นที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้หลังเกิดภาวะวิกฤตไวรัสโควิด-19 ทำให้ผลผลิตที่กำลังออกสู่ตลาดไม่มีพื้นที่จัดจำหน่าย เนื่องจากตลาดค้าส่งค้าปลีกหลายจุดปิดตัวหรือชะลอการรับซื้อ ห้างสรรพสินค้าร้านอาหารหยุดกิจการ ทำให้ผลผลิตล้นตลาดและส่อแววที่จะได้รับความเสียหาย เสี่ยงต่อภาวะการขาดทุน

เชียงรายขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีการผลักดันการผลิตสินค้าหรืออาหารปลอดภัย ทำให้พืชผักที่เคยส่งตามร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า งดการรับซื้อ ทำให้ไม่มีตลาดส่ง ลำพังการจำหน่ายในตลาดสดทั่วไปก็ระบายได้น้อย เพราะในตลาดสด ประชาชนก็เข้ามาใช้บริการน้อย นอกจากนี้ ยังมีแหล่งเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำคัญ เช่น การเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม อ.เทิง ที่กำลังแพร่พันธุ์จำนวนมาก ที่ผ่านมาทางหอการค้าหาจุดจำหน่ายตามอำเภอต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ แต่ก็ช่วยได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ยังมีพื้นที่เพาะพันธุ์เลี้ยงปลานิล อ.พาน แหล่งใหญ่ของภาคเหนือ ที่ปริมาณการรับซื้อน้อยลง ขณะเดียวช่วงนี้ผลไม้ที่เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ลิ้นจี่ ที่พร้อมออกสู่ตลาดเป็นผลไม้อายุสั้นเมื่อผลแก่เต็มที่จะอยู่ได้ไม่นาน หากไม่มีตลาดจำหน่ายจะทำให้เสียหายทั้งหมด

หากเศรษฐีจัดโครงการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรแล้วนำไปแจกจ่ายหรือไปจัดจำหน่ายในราคาที่ย่อมเยา เกษตรกรก็สามารถระบายผลผลิตได้ ผู้บริโภคก็ได้บริโภคผลไม้ราคาไม่สูงมาก หรืออาจรับซื้อไปแจกโรงพยาบาล หรือประชาชนด้อยโอกาส หรืออาจจัดหารถรับซื้อผลผลิตไปจำหน่ายนอกพื้นที่ในราคาที่เกษตรกรอยู่ได้ จะทำให้เกษตรกรมีเงินรายได้เลี้ยงครอบครัว ไม่ต้องขาดทุน อยากฝากเจ้าสัวให้จัดโครงการเหล่านี้

นิมิต สิทธิไตรย์
ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี

ผมคงจะเน้นในช่วงของการเปิดกิจการหรือการเปิดกิจกรรมในการค้าขาย หรือการทำมาหากิน เป็นเรื่องที่ต้องระดมความคิดเห็นจากหลายฝ่ายเมื่อประเทศเราเข้าสู่ภาวะที่พอผ่อนปรนได้ มันคงไม่ได้เป็นเฉพาะเรื่องภายใน เป็นเรื่องของการส่งออก การผลิต การค้าขาย และการขนส่งทั้งหมด เพราะฉะนั้น กลไกตรงนี้ผมเข้าใจว่าทางรัฐบาลอยากจะขอความคิดเห็นของภาคธุรกิจรายใหญ่ของประเทศในเชิงประสิทธิภาพสูงสุดในการที่จะเปิดกิจการ เพราะว่ายังไงเปิดก็จะไม่เหมือนเดิม ช่วงต้นๆ คงมีข้อจำกัดอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเฝ้าระวังเรื่องการแพร่เชื้อโควิค-19 และติดเชื้อกันอยู่ ในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้าคงต้องมีการวางแผนในเชิงธุรกิจ

ผมเชื่อว่าในมุมมองของนักธุรกิจใหญ่อาจจะให้ทั้งความเห็นและคงจะสนับสนุนในเรื่องขององค์ประกอบของธุรกิจ การขับเคลื่อนต่างๆ เหล่านี้ถ้าทำไปด้วยความร่วมมือน่าจะดีกว่าในการที่ออกมาตรการโดยการไม่ได้รับฟังความคิดเห็นเสียงสะท้อนเลย ผมคิดว่าน่าจะช่วยได้เยอะ นักธุรกิจรายใหญ่ไม่ใช่เป็นแค่หน่วยคิดแต่เป็นหน่วยประกอบการด้วย เพราะฉะนั้นเอาผู้ประกอบการเข้ามาแสดงความคิดเห็นบางอย่างก็สามารถลงรายละเอียดภาคปฏิบัติได้เลย ไม่ใช่เชิงทฤษฎีอย่างเดียว

ผมคิดว่าช่วยประเด็นนี้ได้ค่อนข้างมาก เมื่อมีมาตรการออกไปแล้วจุดอ่อนก็คือมีมาตรการแล้วเวลาทำจริงมันมีรายละเอียดไม่ได้หมายความว่าทำได้ตามนั้นจริงๆ เช่น เราจะเปิดกิจการเราต้องมีมาตรการ 1 2 3 4 นั่นหมายถึงแนวคิดเพื่อให้ผู้ปฏิบัติมาเช็กอีกที อาจจะมีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมได้ ต้องคิดร่วมกันตั้งแต่ต้นเลยน่าจะดีกว่า

ตระการ คุณาวุฒิ
รองประธานหอการค้าจังหวัดพิจิตร

กรณีที่รัฐบาลอาจขยายการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไป ผมเองเห็นด้วย แต่อยากดูว่าจังหวัดไหนมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังเยอะและเป็นต่อเนื่อง ก็ให้ยืด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอย่าไปปลดล็อกให้ แต่ถ้าจังหวัดไหนไม่มีผู้ติดเชื้อหรือลดน้อยลงก็ขอให้ปลดล็อก เพราะจะได้ออกไปทำมาหากินกันได้ เนื่องจากขณะนี้ เศรษฐกิจกำลังฝืดเคือง ประชาชนกำลังจะอดอยาก

ส่วนเรื่องค่าไฟแพงนั้น ผมเห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะเคาะให้ลดค่าไฟลงมา เพราะประชาชนขณะนี้ไม่มีรายได้ ออกไปหากินไม่ได้ อีกทั้งกำลังตกงานเพราะได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาล ตรงนี้ควรจะเยียวยา เพราะจะมาลดแค่ 30-35% มันน้อยไปหากลด 50% กำลังดี ประชาชนเขาจะอยู่กันได้ระหว่างตกงาน รัฐบาลควรรีบทำเริ่มใช้เกณฑ์กัน ย้อนหลังไปตั้งแต่เดือนมีนาคม เพราะว่าค่าไฟในช่วงมีนาคม จะต้องมาจ่ายในช่วงเมษายนเพราะว่า ประชาชนต่างอยู่บ้านกันแล้ว

ยอมรับว่าประเทศไทยกำลังฝืดเคืองลำบาก ประชาชนออกไปทำมาหากินกันไม่ได้ ต้องอยู่กับบ้านตามนโยบายของรัฐบาล ดังนั้นรัฐบาลเองต้องเร่งออกมาแก้ไขอย่างเร่งด่วน

พรชัย รัตนตรัยภพ
ประธานคณะกรรมการบริหาร เครือข่ายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย

ประเด็นที่รัฐบาลส่งจดหมายถึง 20 เศรษฐี เพื่อให้เข้ามาช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ผมมองว่าการช่วยเหลือต้องขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนที่เข้ามาช่วยเป็นใคร ดำเนินธุรกิจประเภทใด อยากให้แต่ละคนลงมือช่วยเหลือในด้านที่เกี่ยวข้องกับแต่ละคนให้ได้มากที่สุด เพื่อให้กลุ่มธุรกิจที่ประกอบอาชีพในกลุ่มนั้น ได้รับความช่วยเหลืออย่างตรงจุดมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ในส่วนของข้อเสนอแนะที่อยากให้เศรษฐีกลุ่มนี้เข้ามาช่วยเหลือนั้น อาจะต้องทราบอย่างชัดเจนก่อนว่าคนที่จะเข้ามาช่วยเหลือจะเป็นใครบ้าง แล้วแนวทางการช่วยเหลือที่เขาเหล่านั้นยื่นไปทางรัฐบาลเป็นอย่างไร เมื่อนั้น อยากให้รัฐบาลเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี รวมถึงภาคประชาชน ด้วยว่าต้องการอะไรจะได้เป็นการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดประสงค์มากขึ้น

สำหรับมาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือภาคธุรกิจในขณะนี้ มองว่าหลายมาตรการเป็นมาตรการที่ดี แต่ยังเข้าไม่ถึงผู้ประกอบการรายเล็ก อาทิ การปล่อยสินเชื่อของธนาคารเอกชนที่มีการออกมาตรการนี้ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม ผ่านไป 1 เดือนแล้ว ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนออกมาว่าจะปล่อยกู้ในรูปแบบไหน มองว่าช้าไปแล้วสำหรับสถานการณ์แบบนี้ เป็นต้น ตอนนี้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายราย รายได้ในการประกอบธุรกิจหายไป 30% แล้ว เนื่องจากแนวโน้มในการบริโภคน้อยลง รัฐบาลต้องรีบหาทางออกในเรื่องนี้ได้แล้ว กำหนดเงื่อนไขมาให้ชัดเจน รวมถึงต้องผ่อนปรนกฎบางอย่างเพื่อให้เอื้อต่อผู้ประกอบการรายเล็กโดยด่วนก่อนที่ธุรกิจจะล้มหายตายจากไปมากกว่านี้

ในภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มเลิกดำเนินธุรกิจมากที่สุดในตอนนี้ อาทิ ธุรกิจร้านคาเฟ่ขนาดเล็ก ร้านอาหารรายเล็ก และประเภทสินค้าฟุ่มเฟือย ได้แก่ กระเป๋า และเสื้อผ้า เป็นต้น ขณะนี้มีการเลิกดำเนินกิจการไปแล้วกว่า 50% หากไม่มีการช่วยเหลือที่ชัดเจนมีแนวโน้มที่จะเลิกดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้นอีก อยากให้รัฐบาลอนุญาตให้เปิดบางธุรกิจได้แล้ว เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการจ่ายเงินค่าชดเชย และเป็นการช่วยให้ธุรกิจกับมาดำเนินการได้ ถ้าปิดไปนานกว่านี้อาจส่งผลกระทบให้บางธุรกิจขาดสภาพคล่อง จนต้องเลิกจ้างพนักงาน และต้องปิดตัวลงในที่สุด ไม่อยากให้รุนแรงถึงขั้นนั้น

นอกจากนี้ อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องของค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ในภาคธุรกิจ เพราะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับภาคครัวเรือน สิ่งที่ช่วยมาก่อนหน้านี้ ไม่ได้ทำให้ภาระในส่วนนี้ลดลง และอยากให้ช่วยในเรื่องของการลดค่าจดจำนอง จาก 3% ให้เหลือ 0.1% เพื่อให้ผู้ยื่นมีเงินมาหมุนในธุรกิจได้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image