รายงานหน้า2 : ‘การเมือง’ โต้ ‘ปลัดคลัง’ อยู่เบื้องหลังร้องสิทธิเยียวยา?

หมายเหตุความคิดเห็นของฝ่ายการเมืองกรณี นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า “คนที่เดินทางมาร้องเรียนเรื่องเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ที่กระทรวงการคลัง หลายคนมาร้องสิทธิเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจริง แต่บางคนถูกรับจ้างมา บางคนเป็นคนจากอีกพรรคการเมือง การมาดราม่าหน้ากระทรวงการคลังเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง”

 

สุทิน คลังแสง
ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย (พท.)
และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน)

กรณี นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ระบุว่า “คนที่เดินทางมาร้องเรียนเรื่องเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ที่กระทรวงการคลัง หลายคนมาร้องสิทธิเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจริง แต่บางคนถูกรับจ้างมา หรือบางคนมาเพื่อต้องการรับบริจาคเงิน บางคนจำหน้าได้ว่าเป็นคนจากอีกพรรคการเมือง บางคนเคยเป็นการ์ดของเสื้อสีมาก่อน การมาดราม่าหน้ากระทรวงการคลังเพื่อจุดประสงค์บางอย่างฐ
การที่คนระดับปลัดกระทรวงการคลังที่ถือเป็นข้าราชการประจำในระดับผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงมีทัศนคติและแนวคิดการช่วยประชาชนออกมาเช่นนี้ ถือเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง และเป็นเรื่องที่คนระดับปลัดกระทรวงจะต้องปรับความคิดในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนใหม่ โดยต้องมีทัศนคติในการแก้ปัญหาให้กับประชาชนด้วยความเข้าใจและมีเมตตาให้มากขึ้น
ทั้งนี้ อยากให้ปลัดกระทรวงการคลังตั้งหลักและทำความเข้าใจการแก้ปัญหาเรื่องเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ให้กับประชาชนคนละ 3 เดือนใหม่ เพราะที่ผ่านมาที่ประชาชนมาเรียกร้องที่หน้ากระทรวงการคลังเนื่องจากทั้งหลักเกณฑ์และการคัดกรองผู้ที่มีสิทธิจะได้รับเงินเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ยังไม่มีมาตรฐานเดียวกัน จนทำให้ประชาชนเกิดความไม่เชื่อมั่นในระบบการคัดกรองสิทธิ
ที่ผ่านมาจึงเกิดข้อร้องเรียนและเสียงสะท้อนความไม่พอใจของประชาชนในหลายพื้นที่ต่อกระทรวงการคลังและรัฐบาล ยกตัวอย่าง บางคนเป็น แม่ค้าแผงลอยในตลาดเดียวกัน แต่แม่ค้าอีกคนกลับได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท แต่แม่ค้าอีกคนกลับไม่ได้ ทำให้เกิดคำถามถึงระบบการคัดกรองของกระทรวงการคลังที่ระบุว่าใช้เอไอในการคัดกรองว่ายึดมาตรฐานใด
อีกทั้งที่ผ่านมาระบบการจ่ายเงินเยียวยา 5,000 บาท ของกระทรวงการคลัง ตั้งแต่การลงทะเบียน การตรวจสอบสิทธิว่าใครมีสิทธิที่จะได้รับเงิน 5,000 บาท ใช้เวลากว่า 1 เดือน บางคนถึงเริ่มได้รับเงินเยียวยาและตัวเลขการจ่ายเงินเยียวยาผ่านมากว่า 1 เดือนแล้ว ยอดการเยียวยายังไม่ถึง 50% ของผู้ที่มีสิทธิจะได้รับเงิน ทั้งที่ความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องอาศัยค่าแรงรายวันในการประทังชีวิตคงยากที่จะรอคอยเงินเยียวยาที่นานนับเดือนได้
ส่วนตัวที่อยู่ฝ่ายการเมือง ถ้าจะให้มองเรื่องดังกล่าวว่าเชื่อมโยงกับการเมืองหรือไม่ ในฐานะนักการเมืองคงไม่มีใครคิดนำเรื่องความเดือดร้อน ความเป็นความตายของประชาชนมาเล่นการเมืองอย่างแน่นอน ที่ผ่านมา ส.ส.ฝ่ายค้านต่างช่วยกันลงพื้นที่ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน รับฟังปัญหาเรื่องการไม่ได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท เสนอแนะและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มาแก้ปัญหาให้กับประชาชนโดยเร็วที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติคงต้องรอในช่วงเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการจ่ายเงินเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาท แทนประชาชนทั้งเรื่องหลักเกณฑ์ การคัดกรอง และความโปร่งใสในกระบวนการใช้จ่ายเงินเยียวยาอย่างเต็มที่

Advertisement

 

วันมูหะมัดนอร์ มะทา
ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.)

คงไม่มีการเมืองพรรคไหนสร้างเรื่องขึ้นมา เพราะพรรคการเมืองส่วนใหญ่ทำงานลงไปคลุกคลีช่วยเหลือประชาชน ถ้าคนเดือดร้อนพรรคฝ่ายค้านก็ต้องดูแลประชาชน คงไม่สามารถปล่อยให้ประชาชนอดตายได้ แต่สิ่งที่กระทรวงการคลังทำอยู่ในขณะนี้หรือที่ทำมาแล้วไม่ทันกับความเดือดร้อนของประชาชน และทำได้ไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนได้ช้ามากไม่ทันการณ์ หากประชาชนจะตายคงตายไปแล้ว คนไม่มีความหวังก็ต้องคิดต่างๆ นานา จะไปโทษเขาไม่ได้ ต้องโทษรัฐบาล กระทรวงการคลังคิดทำอะไรที่ชักช้าไม่มีการเตรียมการอะไรล่วงหน้า ดูประเทศอื่นเขาคิดและทำง่ายๆ ประเทศไทยแค่คิดจะลดค่าน้ำค่าไฟก็ทำให้มันยุ่งยาก ไม่มีประชาชนคนไหนจะไปกดแอพพลิเคชั่น หรือคำนวณต่างๆ นานา ดังนั้น ต้องคิดง่ายๆ จะลดค่าไฟก็ลดครึ่งนึง หรือจะลดระยะต้น 6 เดือนก็ลดไปเลย หรือหลังจากใช้ไปเท่าไหร่ก็ตัดสินใจ ในช่วงวิกฤตไม่ควรนำมาคิดเล็กคิดน้อยแบบระบบราชการ เมื่อเกิดวิกฤตแล้วต้องคิดให้เร็วให้ถึงมือชาวบ้านจริงและง่ายที่สุด ชาวบ้านเข้าใจและได้รับการช่วยเหลือเร็วๆ
แต่ต้องชมเชย ส.ส.ซีกรัฐบาลหลายคนได้แสดงความคิดเห็นว่ารัฐบาลได้ดำเนินการช้าและไม่ทั่วถึง สิ่งที่ง่ายๆ ก็ไม่ทำ จะทำให้มันยุ่งยาก ต้องตรวจสอบอะไรต่างๆ ผมคิดว่าไม่เข้าท่า แล้วมาโทษว่าเป็นดราม่าของฝ่ายค้าน ลองคิดดูดีๆ ทำแล้วมีประโยชน์อะไร ชาวบ้านที่เดือดร้อนจริงๆ เขาต้องการแสดงออกไปปีนกระทรวงการคลังคงไม่ใช่ดราม่า ยืนยันเขาไม่คิดอย่างนั้นหรอก และไม่มีดราม่า คนใกล้ชิดข้างปลัดกระทรวงการคลังคงกลัวจะโดนด่า หรือรัฐมนตรีจะด่าเลยไปกระซิบบอกมันไม่จริงหรอก เขาไม่เดือดร้อนจริงเป็นเรื่องการเมือง ก็ยิ่งไปกันใหญ่ ดังนั้น คุณรำไม่ดีก็อย่ามาโทษปี่โทษกลอง การแก้ปัญหาต้องทำให้เร็ว ความเดือดร้อนรอช้าไม่ได้ วันนึงก็มีความหมายสำหรับคนที่เขาเดือดร้อน หากทำได้ช้าจนเขาลังเลว่าจะได้ไม่ได้ จะนำไปสู่การกระโดดตึกฆ่าตัวตาย เพราะเขาไม่รู้อนาคตว่าเขาจะมีกินหรือเปล่า
ดังนั้น ถ้าจะช่วยเหลือก็ให้ตังค์ไปเลย อีกกี่วันจะได้ก็บอกเขาไป ไม่ใช่โยนไปกระทรวงนั้นกระทรวงนี้ ผมว่ารัฐบาลจะเจ๊งเพราะทำงานไม่เป็น ทำงานในระบบราชการในยามวิกฤตในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ถ้าอยู่ในภาวะสงครามทำงานแบบนี้คงแพ้เขาไปแล้ว

Advertisement

 

กรวีร์ ปริศนานันทกุล
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.)

ต้องยอมรับจริงๆ ว่า ผลกระทบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ชาวบ้านได้รับมันลำบากจริงๆ อย่างในพื้นที่จังหวัดอ่างทอง ด้วยความเป็นพื้นที่เกษตรกรรม หลายคนได้รับผลกระทบหนักมาก ผสมกับภัยแล้งในขณะนี้ ทำให้ชาวบ้านไม่มีรายได้
วันนี้ถ้าคนที่ได้เงินเยียวยาจากรัฐบาลมาก็ไม่สามารถเก็บไว้เป็นต้นทุนทำเกษตรกรรมได้เลย ได้มาก็ต้องใช้เพราะไม่มีรายได้ ผมเข้าใจว่าเงิน 5,000 บาท จำนวน 3 เดือนตามโครงการที่รัฐบาลตั้งใจทำเพื่อเยียวยาประชาชนนั้น มีความหมายมากสำหรับชาวบ้าน การออกมาแสดงออกถึงไม่พอใจจากความผิดพลาดในระบบคัดกรองใดๆ ที่หน้ากระทรวงการคลัง ล้วนมีสาเหตุมาจากความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากนโยบายของรัฐทั้งสิ้น เพราะคนที่มาลงทะเบียนต่างคิดอย่างมีความหวังว่ามีสิทธิที่จะได้รับตามคุณสมบัติที่รัฐบาลประกาศออกมา
แม้ผมจะมั่นใจว่ารัฐบาลตั้งใจดีที่จะช่วยเหลือเพื่อแบ่งเบาประชาชนในช่วงวิกฤต แต่ก่อนประกาศออกมาควรที่จะมีข้อมูลให้ชัดเจนว่า พอเพียงสำหรับช่วยเหลือประชาชนจำนวนกี่ล้านคน ถ้ารัฐบาลบอกจำนวนที่ชัดเจนตั้งแต่แรกว่าใครควรจะได้รับ ปัญหาเหล่าจะลดน้อยลงแน่นอน ดังนั้นวันนี้รัฐบาลต้องให้ความเป็นธรรมกับคนที่ควรจะได้ เพราะหลักเกณฑ์ที่ออกมาชัดเจนอยู่แล้ว
ที่สำคัญผมคิดว่านาทีนี้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องไม่เอาการเมืองมาเลอะเทอะเปรอะเปื้อน วันนี้ชาวบ้านเดือดร้อนมากอยู่แล้ว อย่ากล่าวหาว่าชาวบ้านที่มาร้องที่หน้ากระทรวงการคลังมีการเมืองอยู่เบื้องหลังเลย การมาร้องเรียกเพื่อขอให้รัฐบาลเปิดการทบทวนสิทธิให้นั้น เกิดขึ้นเพราะความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม หากการแสดงออกยังอยู่ในกรอบ ไม่ได้ใช้ความรุนแรง หรือเผากระทรวงการคลัง รัฐบาลควรรับฟังและหาวิธีการที่ชัดเจนเพื่อแก้ไขปัญหา ให้ความเป็นธรรมอย่างเท่าเทียมตามกติกาที่รัฐบาลกำหนดออกมา

 

สุเทพ อู่อ้น
ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.)
และประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ผมได้ลงพื้นที่ในฐานะที่เป็นประธาน กมธ.แรงงาน ที่หน้ากระทรวงการคลัง ได้พูดคุยกับคนที่มา ชัดเจนว่าไม่เกี่ยวกับการเมืองเลย แต่มาเพราะได้รับความเดือดร้อนจริงๆ ทั้งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ และประชาชนจากจังหวัดต่างๆ เช่น สมุทรปราการ ราชบุรี สุพรรณบุรี ถามว่าถ้าเกี่ยวกับการเมืองจริงน่าจะต้องมีการจัดม็อบ การที่ปลัดกระทรวงการคลังที่ทำงานข้าราชการกินเงินเดือนจากภาษีประชาชนบอกแบบนี้ ถือเป็นการไม่ให้เกียรติประชาชน ตกลงใครเป็นการเมืองกันแน่
ส่วนผู้บริหารประเทศจะต้องมีความรับผิดชอบ ทั้งเศรษฐกิจ และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คนเหล่านี้ที่เข้าไม่ถึงสิทธิเยียวยาจากรัฐบาลจนตัดสินใจฆ่าตัวตาย ในฐานะที่เป็นรัฐบาลและมีอำนาจเต็มต้องทำหน้าที่แก้ปัญหาให้ประชาชน พอประชาชนออกมาเรียกร้องสิทธิก็บอกว่าเป็นการเมือง การที่ออกมาพูดแบบนี้อาจจะทำให้กลายเป็นผู้บริหารที่ประชาชนไม่ไว้วางใจได้ และการที่บอกว่าเป็นเรื่องการเมืองคนที่ได้ยินก็จะคิดตาม และมองว่าคนที่เดือดร้อนเกี่ยวข้องกับประเด็นการเมือง หากจะแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ประชาชนจะได้รับอะไร และคนที่ไม่ทำอะไรเลย เช่น ฝ่ายค้าน หรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็จะถูกโยนว่าเป็นฝ่ายอยู่เบื้องหลัง แบบนี้ตกลงใครทำการเมืองกันแน่ ยืนยันว่าพรรคฝ่ายค้านไม่มีใครมายุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้
ทั้งนี้ ได้เสนอแนะแนวแก้ไขปัญหาใน กมธ.ในนามของพรรคก้าวไกล โดยมองว่าปัญหาความเดือดร้อนได้เกิดขึ้นถ้วนหน้า การที่รัฐบาลจ่ายเยียวยา 5,000 บาท ในล็อตแรก ก็จัดการให้แล้วเสร็จไป ส่วนเงินกู้ที่จะมาใหม่อีกเป็นล้านล้านบาทนั้นรัฐบาลควรนำมาใช้อุ้มคนไทยที่เดือดร้อน มากกว่าที่จะไปอุ้มกลุ่มนายทุน และควรจ่ายเงินเยียวยาถ้วนหน้าให้แก่ประชาชนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป เดือนละ 3,000 บาท โดยไม่ต้องคัดกรอง จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะดีขึ้น เพราะหากได้รับเงินเดือนละ 3,000 บาท ประชาชนจะมีเงินวันละ 100 บาท เพื่อยังชีพอยู่ได้ คนที่กำลังคิดฆ่าตัวตายอย่างน้อยจะมีเงินจำนวนนี้นำไปใช้จ่าย นอกจากนี้ รัฐบาลจะต้องดูแลในส่วนของภาระหนี้สินของประชาชนอย่างจริงจัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image