รายงาน : ‘เอกชน’ส่องกล้อง ‘ปลดล็อก’ฝ่าโควิด

รายงาน : ‘เอกชน’ส่องกล้อง ‘ปลดล็อก’ฝ่าโควิด

รายงาน : ‘เอกชน’ส่องกล้อง ‘ปลดล็อก’ฝ่าโควิด

หมายเหตุนักธุรกิจแสดงความคิดเห็นต่อมาตรการผ่อนปรน 6 กิจการของ ศบค. ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 3 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา เมื่อครบ 14 วัน จะมีการประเมินมาตรการอีกครั้ง

ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร
ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)

Advertisement

ในระยะเริ่มต้นขณะนี้ยังต้องรอประเมินผลตอบรับ จากการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ในช่วงแรกก่อน เพราะหากไม่มีการประเมินผลที่ดี อาจทำให้ทุกอย่างแย่ลงได้ เชื่อว่าหากผลตอบรับหลังจากรัฐบาลผ่อนปรนล็อกดาวน์ให้แล้วอยู่ในทิศทางที่ดี ในระยะถัดไปรัฐบาลจะต้องผ่อนปรนในธุรกิจอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก ท้ายสุดจะต้องคลายล็อกดาวน์ทั้งประเทศแน่นอน เพราะหากประเมินแล้วพบว่า หลังจากผ่อนปรนแล้วตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่ได้กลับมาเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือรุนแรงกว่าเดิม การปิดเมืองต่อไปก็คงไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น ซ้ำยังส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจหนักมากกว่าที่เป็นอยู่อีก แต่หากผ่อนปรนไปแล้ว พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรุนแรง สถานการณ์แย่ลง ตรงนี้จะต้องกลับมาคุยกันใหม่อีกรอบ มองว่าหากเป็นแบบนั้น รัฐบาลจะต้องกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์
แบบเข้มข้นขึ้น และมีมาตรการควบคุมโรคระบาดมากกว่าเดิม จะทำให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงักต่อไปการฟื้นตัวจะทำได้ช้า และอาจมองไม่เห็นทิศทางการกลับมาดีขึ้นของเศรษฐกิจไทย ทั้งในปีนี้และปีหน้า

ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มนิ่งขึ้นแล้ว ทำให้แต่ละจังหวัดก็เริ่มประเมินผลในส่วนของตนเองว่าจะสามารถกลับมาผ่อนปรนหรือคลายล็อกดาวน์ เพื่อกลับมาดำเนินการได้ตามปกติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรับมือโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมาของแต่ละจังหวัด ว่าสามารถทำได้ดีมากน้อยเพียงใด

ขณะนี้มองว่า หากจังหวัดที่ทำได้ดีมากในช่วงที่ผ่านมาก็น่าจะพิจารณาในการเปิดธุรกิจและจังหวัดเหล่านั้นให้กลับมาเป็นปกติได้ก่อน เลือกพื้นที่หรือจังหวัดที่พร้อมกัน หลังจากนั้นค่อยทยอยเปิดจังหวัดที่มีความพร้อมอื่นๆ ตามมา ในส่วนของจังหวัดที่ยังมีความกังวลอยู่เป็นจังหวัดในพื้นที่ภาคใต้ จังหวัดที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน และจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวต่างๆ อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี และกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีความเสี่ยงอยู่ เพราะมีคนอยู่ในพื้นที่จำนวนมาก ความแออัดมีโอกาสเกิดขึ้นมากกว่าพื้นที่จังหวัดอื่นๆ จังหวัดเหล่านี้ เมื่อมีความเสี่ยงมากกว่า ก็ต้องเก็บไว้ก่อน ทยอยประเมินสถานการณ์ไปเรื่อยๆ รอให้มีความพร้อมมากที่สุดก่อน ค่อยเปิดตามปกติ เพราะหากเร่งรีบ แล้วเกิดการกลับมาระบาดระลอก 2 น่าจะยาวและหนักกว่ารอบแรกแน่นอน

Advertisement

แม้มีการผ่อนคลายแล้ว แต่ในวงการท่องเที่ยวยังไม่มีสัญญาณบวกใดๆ เชื่อว่าคงยังไม่เกิดการเดินทางท่องเที่ยวขึ้นในระยะสั้นๆ นี้แน่นอน ทำให้ธุรกิจอื่นๆ สามารถเปิดได้ก่อน เพราะเปิดแล้วมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ อาทิ ร้านอาหาร ร้านทำผม ทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ธุรกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คงจะไม่ได้อานิสงส์จากการผ่อนปรนหรือคลายล็อกดาวน์ในขณะนี้ เพราะยังไม่มีใครอยากออกเดินทาง แต่ก็อาจมีการเดินทางแบบไปกลับมากกว่าการพักค้างคืน

หากคลายล็อกดาวน์ได้ทุกธุรกิจและทั่วประเทศ ผลดีที่จะเกิดขึ้นคือ ทำให้เศรษฐกิจกลับมาเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง ภาคธุรกิจเริ่มมีความผ่อนคลายมากขึ้น เพราะปัญหาหลักที่หนักหนาในขณะนี้ อยู่ในส่วนของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) ที่มีสัดส่วนจำนวนมากในประเทศไทย ตั้งแต่เกิดโรคระบาดก็ไม่มีรายได้เข้ามา ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ การปลดล็อกดาวน์ก็จะเริ่มทำให้ภาพรวมดีขึ้น มีการเคลื่อนไหว เกิดการใช้จ่ายและซื้อขายระหว่างภาคธุรกิจมากขึ้น แต่สิ่งที่ยังเป็นห่วงตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้โควิด-19 ไม่กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง เป็นเรื่องสำคัญที่สุดในตอนนี้ นอกจากนี้ ยังมีความกังวลในส่วนของมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ที่ไม่ได้มีการใส่ใจปฏิบัติตามอย่างแท้จริง เริ่มไม่กลัวกันแล้ว เพราะเห็นสถานการณ์ทรงตัวและเริ่มนิ่ง ทำให้คนเริ่มไม่อยากทำตามข้อปฏิบัติเพื่อลดความเสี่ยง จะเห็นภาพความแออัดในห้างสรรพสินค้า หรือปริมาณคนจำนวนมากในระบบขนส่งสาธารณะ ตรงนี้จะเป็นจุดเสี่ยงที่น่ากังวลว่าจะทำให้โรคระบาดกลับมาใหม่อีกครั้งหรือไม่ ภาครัฐจะต้องหารือกับกระทรวงสาธารณสุข ในการออกมาตรการปฏิบัติในการดำเนินชีวิตประจำวันออกมา เพื่อให้ประชาชนถือเป็นแนวปฏิบัติร่วมกัน

ต้องหาวิธีทำอย่างไรให้สามารถบริหารจัดการและควบคุม ผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการในสถานที่ต่างๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร หรือสนามกีฬา เพื่อควบคุมความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัส แต่ก็ต้องยอมรับว่าในธุรกิจขนาดเล็ก การจัดซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มันก็เป็นต้นทุนที่ต้องมีเพิ่มเติม แต่ในระยะที่ผ่านมา รายได้แทบไม่มีเพิ่มเติม การหาอุปกรณ์ป้องกันเข้ามาเพิ่ม อาจเป็นเรื่องยากในการหาแหล่งเงินทุนได้ ที่ผ่านมา การป้องกันด้วยการล้างมือบ่อยๆ พกเจลล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย หากทำร่วมกันได้ทุกคน ก็สามารถช่วยป้องกันความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่งแล้ว

สำหรับปัญหาในตอนนี้เท่าที่ฟังมาคือ มีกลุ่มผู้ประกอบการขนาดเล็กมากๆ ที่เรียกร้องเข้ามาในส่วนของสินเชื่อนอกระบบ อยากให้ภาครัฐเข้าไปดูแลการทวงหนี้หรือตามเงินคืน เพราะกลุ่มเจ้าหนี้เริ่มที่จะเริ่มทวงหนี้ และดำเนินการยึดทรัพย์สินที่ใช้ในการค้ำประกันแล้ว หากถูกยึดรถหรือเครื่องมือทำมาหากินไป ก็คงเป็นเรื่องยากที่ผู้ประกอบการเหล่านั้น จะกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้

เกรียงไกร เธียรนุกุล
รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ขณะนี้ประเทศไทยเพิ่งมีการคลายล็อกดาวน์เพียง 2-3 วันเท่านั้น ยังไม่สามารถระบุว่าได้ว่าควรมีการขยายเพิ่มขึ้น หรือควรล็อกดาวน์มากขึ้น เพราะต้องใช้เวลาในการติดตามสถานการณ์ประมาณ 14 วัน เป็นระยะฟักตัวของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจที่เปิดให้บริการแต่ต้องมีมาตรการดูแล คือ ร้านตัดผม และร้านอาหาร จากการติดตามแต่ละร้านก็พบว่ามีมาตรการดูแลทั้งหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ เฟซชิลด์ โดยในส่วนของร้านตัดผมพบว่าไม่ค่อยมีปัญหา เพราะข้อขั้นตอนชัดเจน ตัดผมครั้งละ 1 คน ขณะที่ร้านประเภทชาบู ปิ้งย่าง พบว่าทางร้านให้ความร่วมมืออย่างดี มีอุปกรณ์ มีฉากกั้น มีการแยกหม้อ ให้นั่งรอด้านนอก กำหนดเวลารับประทาน 1 ชั่วโมงครึ่งถึง 2 ชั่วโมง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน

อย่างไรก็ตาม พบว่าในส่วนของร้านอาหารการที่ต้องนั่งห่างกัน 1 เมตรครึ่งถึง 2 เมตร สำหรับร้านอาหารขนาดเล็กยังเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก จึงได้เห็นเทศกิจออกตรวจและให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด พบว่าร้านอาหารขนาดเล็กบางส่วนได้รับการยกเว้น ไม่ต้องมีอุปกรณ์ครบ โดยเฉพาะเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิที่เริ่มมีราคาแพง แต่ในมุมของเอกชนมองว่า รัฐบาลควรเข้ามาดูแลเรื่องนี้ใกล้ชิด ควรกำหนดให้ทุกร้าน ทุกกิจการที่ได้รับอนุญาตให้เปิด ต้องมีอุปกรณ์เพื่อป้องกันโควิด-19 ครบทุกประเภท ไม่ควรผ่อนผัน เพื่อให้ไทยสามารถพ้นโควิด-19 ได้จริง เช่นเดียวกับจีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน

ล่าสุดจากการติดตามราคาของเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิพบว่าแพงขึ้นประมาณ 3 เท่าตัว วางขายในออนไลน์ นำเข้าจากจีนอยู่ที่เครื่องละ 3,000 บาท จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 1,000 บาท อยากให้กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ผลิตอาจร่วมกันผลิตเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิที่กำลังเป็นที่ต้องการ เพื่อให้ราคาถูกลงและเพียงพอกับความต้องการ ให้ร้านค้าเล็กๆ สามารถซื้อได้ ไม่เช่นนั้นหากผ่อนผัน ปล่อยให้แต่ละร้านดำเนินการ อุปกรณ์ไม่ครบ อาจทำให้ไทยเกิดปัญหามีผู้ติดเชื้อกลับมาจนต้องล็อกดาวน์รอบ 2 เช่นเดียวกับสิงคโปร์ และญี่ปุ่น

นอกจากนี้ อีกส่วนหนึ่งที่อยากให้ภาครัฐจับตาและอาจขอความร่วมมือบรรดาเจ้าของพื้นที่สำหรับเช่าที่มีทั่วประเทศให้เห็นใจบรรดาร้านค้าปัจจุบันอาจลดค่าเช่าให้อยู่แล้ว แต่ในกลุ่มของร้านอาหารและร้านตัดผมที่เปิดบริการแล้ว กลุ่มนี้อาจไม่ได้กลับมาเปิด 100% หรือมีลูกค้าเข้าร้านปกติ โดยเฉพาะร้านอาหารที่ยังมีข้อจำกัด ทำให้บางร้านเลือกที่จะขายแบบหิ้วกลับบ้านมากกว่านั่งที่ร้าน เจ้าของพื้นที่ให้เช่าควรคงส่วนลด ให้ผู้เช่าจ่ายค่าเช่า 30-40% ต่อไป ควรลดราคาให้นาน 6 เดือน เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดต้องใช้เวลาอีกพอสมควรจึงจะกลับมาปกติ เพื่อให้การกลับมาประกอบธุรกิจเป็นการเริ่มต้นที่ดีของทุกภาคส่วน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image