รายงานหน้า2 : เปิดรายงาน‘กกร.’ ศก.ไทย‘หดตัวลึก’

หมายเหตุ รายงานของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย สรุปภาวะเศรษฐกิจไทย 2563 รวบรวมข้อมูลโดยสมาคมธนาคารไทย

ประเด็นสำคัญของเศรษฐกิจไทย ภายใต้สมมุติฐานสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิดสามารถควบคุมได้ในไตรมาสที่ 2 และไม่มีการแพร่ระบาดซ้ำ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะหดตัวลึกในปี 2563 แม้ว่าหลายประเทศทั่วโลกจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ก็ตาม ในขณะเดียวกันก็มองว่า เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวแรงในปี 2564

สำหรับเศรษฐกิจไทย แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในปัจจุบันจะสามารถควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ได้ และมีการทยอยผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์ แต่การดำเนินมาตรการรักษาระยะห่างจะทำให้การดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิตประจำวันของคนทั่วไปต้องปรับไปสู่รูปแบบใหม่ (นิว นอร์มอล) ซึ่งจะมีผลทำให้เศรษฐกิจไทยมีขนาดเล็กลงเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีโรคระบาด โดยตัวแปรยังอยู่ที่วัคซีนรักษาโรคที่อาจจะต้องใช้ระยะเวลา 2-3 ปี ในการเข้าถึงประชากรจำนวนมาก

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคในปัจจุบันที่ควบคุมได้เอื้อให้มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ได้บางส่วน ประกอบกับมีมาตรการเยียวยาจากภาครัฐที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ กกร.จึงพิจารณากรอบการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยใหม่ที่ -5.0% ถึง -3.0% (จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 1.5-2.0%) โดยในเดือนเมษายน ได้มีการปรับลดคาดการณ์ส่งออกมาอยู่ที่ -10.0% ถึง -5.0% และปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อลงมาเป็น -1.5% ถึง 0.0% ไปแล้ว

Advertisement

อย่างไรก็ตามพบว่า ในไตรมาส 1 ของปี 2563 ประเทศต่างๆ ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา เศรษฐกิจขยายตัวเพียง 0.3% จีน -6.8% เกาหลีใต้ 1.3% และสิงคโปร์ -2.2% และคาดไทยจะอยู่ที่ -5% คาดการณ์โลกปี 2563 จะหดตัวลึกอยู่ที่ -3.0% และฟื้นตัวแรงในปี 2564 อยู่ที่ 5.8% โดยปี 2563 สหรัฐจะอยู่ที่ -5.9% ปี 2564 อยู่ที่ 4.7% สหภาพยุโรปจะอยู่ที่ -7.5% ปี 2564 จะอยู่ที่ 4.7% อังกฤษจะอยู่ที่ -6.5% ปี 2564 จะอยู่ที่ 4.0% ญี่ปุ่น -5.2% และปี 2564 จะอยู่ที่ 3.0% จีน 1.2% และปี 2564 จะอยู่ที่ 9.2%

จากสภาพดังกล่าวทำให้ทั่วโลกต่างออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ทั้งมาตรการทางการคลัง และมาตรการทางการเงิน อาทิ อังกฤษ มีมาตรการทางการคลัง 4.6 แสนล้านปอนด์ คิดเป็น 21% ของจีดีพี มาตรการทางการเงิน 5.3 แสนล้านปอนด์ คิดเป็น 24% ของ
จีดีพี สหรัฐ มีมาตรการทางการคลัง 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 13% ของจีดีพี และมาตรการทางการเงิน 6.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 30% ของจีดีพี ญี่ปุ่น มีมาตรการทางการคลัง 110.5 ล้านล้านเยน คิดเป็น 20% ของจีดีพี และมาตรการทางการเงิน 88.1 ล้านล้านเยน คิดเป็น 16% ของจีดีพี สิงคโปร์ มีมาตรการทางการคลัง 6.0 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ คิดเป็น 12% ของจีดีพี และมาตรการทางการเงิน 8.6 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ คิดเป็น 17% ของจีดีพี

ขณะที่ไทย มีมาตรการทางการคลัง 1.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น 9% ของจีดีพี และมาตรการทางการเงิน 2.0 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12% ของจีดีพี

Advertisement

สำหรับประเทศไทย ผลกระทบด้านการท่องเที่ยว พบว่าเดือนมีนาคม 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย หดตัว 76.4% หรือมีจำนวน 8.19 แสนคน โดยนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางหดตัวแรงกว่า 94.3% ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนเมษายน 2563 ภายหลังจากที่มีการใช้แนวทางควบคุมการเดินทางเข้าประเทศทางอากาศ และการปิดด่านชายแดนทั่วประเทศ ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2563 รวมถึงการปิดน่านฟ้าในเดือนเมษายน 2563 ส่งผลทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย

ขณะที่ภาพรวมการท่องเที่ยว 3 เดือนแรกของปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัว 38.0% หรือมีจำนวน 6.69 ล้านคน การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของนักท่องเที่ยวจีนหดตัวลงทุกประเทศ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหลายประเทศทั่วโลก ส่งผลทำให้นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวเองชะลอการเดินทางไปต่างประเทศ รวมถึงหลายประเทศมีมาตรการการระงับนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศเป็นการชั่วคราว

ด้านการส่งออกเดือนมีนาคม 2563 ของไทยขยายตัว 4.2% และคาดการณ์ 3 เดือน (มกราคม-มีนาคม 2563) อยู่ที่ 0.9% โดยมีแรงหนุนจากการส่งออกทองคำ แต่หากไม่รวมทองคำ สินค้าที่เกี่ยวกับน้ำมัน การส่งออกจะอยู่ที่ 2.1% ช่วง 3 เดือนจะอยู่ที่ 1.1% แบ่งประเภทสินค้า อาทิ เกษตร เดือนมีนาคม -5.8% ช่วง 3 เดือนอยู่ที่ -8.7% อุตสาหกรรมเกษตรขยายตัว 4.7% ช่วง 3 เดือนอยู่ที่ 3.3% รถยนต์ -37.5% และช่วง 3 เดือนอยู่ที่ -18.6% อิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว 8.6% ช่วง 3 เดือนอยู่ที่ 4.5% เครื่องใช้ไฟฟ้า -2.9% ช่วง 3 เดือนอยู่ที่ -0.9%

ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 พบการบริโภคภาคเอกชน อยู่ที่ 2% การลงทุนภาคเอกชน -6.6% จีดีพีภาคเกษตร -6.3% และจีดีพีภาคอุตสาหกรรม -6.6% อย่างไรก็ตาม สมมุติฐานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2563 หากไม่มีการระบาดซ้ำของโควิด-19 ในไทย มาตรการทางการเงินและการคลังที่อยู่ระหว่างการดำเนินการจะช่วยประคองกลไกทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคการเงินให้สามารถดำเนินการต่อไปได้

โดยปัจจุบันประเทศไทยโดยภาครัฐ มีมาตรการภาครัฐวงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็น 11.3% ของจีดีพี แบ่งเป็น พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท จำนวนนี้จะแบ่งเป็น แผนงานด้านสาธารณสุขและแผนงานเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ โดยเยียวยาประชาชน 6 เดือน เยียวยาเกษตรกร และดูแลด้านสาธารณสุข วงเงิน 6 แสนล้านบาท อีกส่วนคือแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม โดยครอบคลุมโครงการและการดูแลสนับสนุน
เศรษฐกิจในพื้นที่ สนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจชุมชน สนับสนุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับพื้นที่ วงเงิน 4 แสนล้านบาท

พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย ออกสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) เพื่อดูแลภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี วงเงิน 5 แสนล้านบาท โดยสินเชื่อนี้ คิดอัตราดอกเบี้ย 2% สำหรับเอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท และให้พักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือนให้เอสเอ็มอีที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท และ พ.ร.ก.ดูแลเสถียรภาพภาคการเงิน 4 แสนล้านบาท ตั้งกองทุนรวม Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund หรือ BSF และให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว

นอกจากนี้ กกร.ยังติดตามความคืบหน้ามาตรการเยียวยาประชาชนที่ใช้วงเงินรวม 3.9 แสนล้านบาท คิดเป็นจำนวนแรงงานไทย 38.2 ล้านคน ผ่าน 2 ส่วน คือ โครงการเราไม่ทิ้งกัน 5,000 บาท 3 เดือน จ่ายให้กับอาชีพอิสระ 16 ล้านคน และเกษตรกร 9 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 10 ล้านคน อีกส่วนคือจ่ายผ่านประกันสังคม มีกองทุนประกันสังคม ภาคบังคับ ม.33 จำนวน 11.7 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม มุมมองของสมาคมธนาคารไทย ได้สรุปภาวะเศรษฐกิจว่า ภาวะเศรษฐกิจโลก ไอเอ็มเอฟ คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะหดตัว -3.0% ในปีนี้หลังไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทย การเติบโตของเศรษฐกิจไทยน่าจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงในไตรมาส 2 (เมษายน-มิถุนายน 2563) ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากมาตการควบคุมโรคที่เข้มงวด อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีขนาดกว่า 10% ของจีดีพี ตลอดจนการทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวขึ้นในช่วงหลังของปี

พร้อมกันนี้ยังคาดการณ์ผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างแรง ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เหลือ 0.50% เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และคาดว่าสินเชื่อและเงินฝากจะขยายตัวในระดับต่ำ ขณะที่คุณภาพหนี้มีแนวโน้มขยับขึ้นจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ซ้ำเติมการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image