วิเคราะห์ : รัฐบาล เผชิญหน้า ฐานราก ซับซ้อน ปัญหา ใหญ่-หนัก

วิเคราะห์ : รัฐบาล เผชิญหน้า ฐานราก ซับซ้อน ปัญหา ใหญ่-หนัก

วิเคราะห์ : รัฐบาล เผชิญหน้า ฐานราก ซับซ้อน ปัญหา ใหญ่-หนัก

ณ บัดนี้ ท่าทีของรัฐบาลและ ศบค. เรื่องการควบคุมผู้ติดโรคโควิด-19 ดูเหมือนจะคลี่คลาย
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ส่งสัญญาณว่าวันที่ 17 พฤษภาคม การผ่อนปรนน่าจะเข้าสู่ระยะ 2
ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และห้างร้านภายในสามารถเปิดให้บริการได้
ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ก็ออกมาบอกว่า การพิจารณาผ่อนปรนการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน อาจจะพิจารณาเร็วกว่าวันที่ 30 พฤษภาคม
เช่นเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ที่อธิบายโรดแมปการผ่อนปรนระยะ 2 ว่า รับฟังความเห็น ระหว่างวันที่ 8-12 พฤษภาคม จากนั้นจะซักซ้อมความเข้าใจ วันที่ 13 พฤษภาคม โดยวันที่14 พฤษภาคม จะยกร่างมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2
แล้วประกาศผ่อนปรนระยะ 2 วันที่ 17 พฤษภาคม
แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับตัวเลขผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ที่ต้องเป็นเหมือนกับตัวเลขผู้ติดเชื้อในระยะที่ 1 ของการผ่อนปรน
นั่นคือ ติดเชื้อเป็นเลขตัวเดียว

ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยดีขึ้น แต่ดูเหมือนว่าปัญหาใหญ่ของรัฐบาลจะยังคงเป็นปัญหาเศรษฐกิจ
ในเดือนนี้การจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือลูกจ้าง กลุ่มอาชีพอิสระ ครอบครัวเกษตรกร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กลุ่มผู้พิการ ค่อยๆ ประกาศออกมา
บางส่วนมีการโอนเงินไปให้แล้ว แต่ก็มีอีกหลายคนที่ยังไม่ได้รับ และต้องออกมาเรียกร้องขอให้ทบทวน
เฉพาะกรณีการรับเงิน 5 พันบาทต่อเดือนในกลุ่มอาชีพอิสระ และแรงงานนอกระบบประกันสังคม ก็ยังไปร้องทุกข์ที่กรมประชาสัมพันธ์กันจนต้องขยายเวลาการรับเรื่อง
ยังมีกลุ่มครัวเรือนเกษตรกรที่เพิ่งเริ่มโอนเงินให้ก็เกิดปัญหาขึ้น
เช่นเดียวกับกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เริ่มมีเสียงสะท้อนว่าไม่ทั่วถึง
ทั้งนี้การเคลียร์จำนวนผู้รับการเยียวยามีเป้าหมายเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคม ซึ่งการเยียวยาลูกจ้างและกลุ่มอาชีพอิสระ แรงงานนอกระบบประกันสังคมได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนเมษายน
เท่ากับว่าพอเข้าสู่เดือนมิถุนายนก็จะครบ 3 เดือน ที่รัฐบาลจ่ายเยียวยาให้คนกลุ่มนี้
คำถามที่ตามมาคือ แล้วหลังจากนี้รัฐบาลจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร
เพราะขณะนี้ประเมินกันว่า เศรษฐกิจไตรมาสแรก จีดีพติดลบ 5
ไตรมาส 2 ติดลบ 10 ก็ถือว่าเก่งแล้ว

จากการแก้ปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ทราบว่าปัญหาของคนระดับฐานรากนั้นเป็นปัญหาที่ลึกมาก
ลึกเหมือน “หลุมดำ” ที่ใส่อะไรเข้าไปก็หายวับ
จากเดิมที่รัฐบาลประมาณการเยียวยากลุ่มอาชีพอิสระ และแรงงานนอกระบบประกันสังคม จำนวน 3 ล้านคน แต่เมื่อปฏิบัติจริงผลการตรวจสอบพบว่ามีประมาณ 8 ล้านคน
พอเริ่มต้นลงทะเบียนและตรวจสอบการลงทะเบียน
จำนวนผู้เข้าข่ายที่ต้องเยียวยาพุ่งทะลุ 11 ล้านคน
นี่เฉพาะกลุ่มอาชีพอิสระ และแรงงานนอกระบบประกันสังคม ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเกษตรกร กลุ่มแรงงานตามมาตรา 33 ประกันสังคม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เป็นต้น ที่มีจำนวนตามที่คาดไว้หรือไม่
ขณะที่กาลเวลาเคลื่อนไปข้างหน้า การเยียวยาก้าวไม่ทันความหิว
เงินที่ทุ่มลงไปเยียวยาเหมือนกับใส่เข้าไปใน “หลุมดำ”
ปัญหาใหญ่ในขณะนี้ของรัฐบาลคือเรื่องนี้

Advertisement

ในจังหวะที่รัฐบาลต้องแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากที่มีความซับซ้อน สถานการณ์ของรัฐบาลกลับเกิดความปั่นป่วนภายใน
เมื่อพลพรรคภายใน “พลังประชารัฐ” มีความเคลื่อนไหว ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับแกนนำ
แกนนำของพรรคพลังประชารัฐคือแกนนำทีมเศรษฐกิจที่กำลังทำงานอยู่ในขณะนี้
หนึ่งคือ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
หนึ่งคือ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
กลุ่มกดดันเคลื่อนไหวอ้างบารมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานยุทธศาสตร์พรรค ในการขับเคลื่อน
แม้ พล.อ.ประวิตรจะยืนยันว่าทุกอย่างเคลียร์กันแล้ว
แต่ “คนวงใน” ย่อมรู้ว่า “เรื่องยังไม่จบ”

เมื่อมองความพยายามของฝ่ายรัฐบาลที่ต้องแก้บรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ
เห็นความพยายามของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วม
ประกาศออกอากาศทางโทรทัศน์ บอกกล่าวว่าส่งจดหมายเปิดผนึกไปยัง 20 มหาเศรษฐีไทยให้ส่งโครงการที่จะช่วยประชาชนมาให้รัฐบาล
บรรดามหาเศรษฐีให้การตอบรับข้อเสนอของ พล.อ.ประยุทธ์ด้วยดี ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงาน “ซีเอสอาร์” ของเครือบริษัทตัวเองหรือเป็นโครงการที่จะทำเพื่อสังคมอยู่แล้ว
นอกจากนี้รัฐบาลยังตั้งคณะกรรมการ คณะทำงาน คณะที่ปรึกษาอีกหลายคณะ เพื่อดึงให้นักวิชาการ นักธุรกิจ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของประเทศ
และยังมีความพยายามดึงการมีส่วนร่วมด้วยการออกพันธบัตร “เราไม่ทิ้งกัน” 5 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้นายอุตตมเปิดแถลงที่กระทรวงการคลังสรุปว่า กระทรวงการคลังเปิดขายบอนด์ออมทรัพย์ “เราไม่ทิ้งกัน” 5 หมื่นล้านบาท
เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมใน พ.ร.ก.กู้ 1 ล้านล้านบาท โดยเปิดขาย 2 รุ่น อายุ 5 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.4 อายุ 10 ปี ดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 3
เงินที่ได้มาจะนำไปจ่ายเยียวยาอาชีพอิสระ และเกษตรกร เริ่มขาย 14 พฤษภาคมนี้
แต่ทั้งหมดนี้ เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะดึงเอา “คนที่รัฐบาลต้องการ” มามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา
ส่วน “คนที่รัฐบาลไม่ต้องการ” อาทิ พรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ต้องการเปิดสภาสมัยวิสามัญ เพื่ออภิปรายเรื่องเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท และการแก้ไขปัญหาโควิด-19
รัฐบาลไม่เปิดทางให้เข้ามามีส่วนร่วม

ความจริงแล้ว ปัญหาในท้องถิ่นนั้น บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมรู้ดีกว่าคนอื่น
ยิ่งในยามที่ชาวบ้านเดือดร้อนแสนสาหัส ข้อมูลข่าวสารของประชาชนย่อมส่งผ่านมาถึง ส.ส.
หากมองในมุมที่เป็นประโยชน์ การเปิดทางให้ ส.ส.ได้พูด ย่อมเป็นตัวช่วยให้มองเห็นปัญหาฐานราก
การแก้ปัญหาฐานราก จะช่วยให้รัฐบาลมี “บารมี” ต่อ ส.ส.มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลยังไม่พร้อมจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจาก ส.ส. รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบการแก้ปัญหาเศรษฐกิจซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศตามความเชื่อของรัฐบาล
เป็นการแก้ปัญหาท่ามกลางความขัดแย้งภายใน และความซับซ้อนของปัญหาเศรษฐกิจฐานราก
เป็นปัญหาที่รัฐบาลคิดว่ารู้ครบถ้วนแล้วด้วยกลไกของ “ระบบราชการ”
แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ยืนยันให้เห็นว่า ยังมีความจริงอีกมากที่รัฐบาลยังไม่รู้
โดยเฉพาะความซับซ้อนระดับฐานราก
นี่คือปัญหาใหญ่และหนักสำหรับรัฐบาล

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image