รายงาน : ทางรอด‘โรงแรมไทย’ ซมพิษโควิด-หวั่นทุนนอก‘ฮุบ’

รายงาน : ทางรอด‘โรงแรมไทย’ ซมพิษโควิด-หวั่นทุนนอก‘ฮุบ’

หมายเหตุความเห็นผู้ประกอบการโรงแรมเสนอต่อรัฐบาลเพื่อพยุงกิจการ ที่ต่างได้ต่อผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยหวั่นทุนต่างชาติเข้าเทกโอเวอร์

ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ
นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ)

Advertisement

กรณีผู้ประกอบการโรงแรมไทยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ทำให้ขาดสภาพคล่องและขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปไม่ไหว อาจมีต่างชาติสนใจเข้าซื้อธุรกิจโรงแรมไทยเพื่อนำไปบริหารต่อนั้น ทางทีเอชเออยากเสนอให้รัฐบาลจัดตั้ง “กองทุนรวมตราสารทุน” ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าลงทุนในธุรกิจโรงแรมไทยโดยเฉพาะ เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติ หรือไทยที่สนใจลงทุนในธุรกิจโรงแรมเข้าไปลงทุนได้ ประเมินว่าหากจัดตั้งกองทุนได้จริง จะมีประโยชน์มากในแง่ของผู้ประกอบการ เพราะมีเงินทุนเข้ามาหมุนเวียนในธุรกิจ หากมีความพร้อมก็ซื้อธุรกิจกลับคืนมาได้อีกครั้ง แต่ในกรณีการขายขาดให้ผู้ประกอบการรายใหม่ การจะซื้อกลับคืนเป็นไปได้ยากมาก ถูกเพิ่มต้นทุนและกำไร ต้องใช้เม็ดเงินสูงมากกว่าที่ขายไปครั้งแรก การจัดตั้งกองทุนจะการันตีได้ว่า โรงแรมจะไม่เปลี่ยนมือแบบถาวร

การจัดตั้งกองทุนเพื่อลงทุนในธุรกิจโรงแรม ยังตัดปัญหาการเข้ามาฮุบกิจการของต่างชาติ หรือนักลงทุนรายใหม่ได้ด้วย หากจัดตั้งจริง อยากให้ร่วมกันตั้งเงื่อนไข และรายละเอียดทั้งหมดระหว่างรัฐและเอกชนให้เป็นไปตามจุดประสงค์การจัดตั้งกองทุนอย่างแท้จริง

ในส่วนสถานการณ์ของธุรกิจโรงแรมไทยในขณะนี้ประเมินว่าไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ย่ำแย่มากนัก โรงแรมไทยส่วนใหญ่มีขนาดกลางขึ้นไป แต่โรงแรมขนาดเล็กห้องพักน้อยกว่า 100 ห้อง อาจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สูงมาก กระแสเงินสดในการหมุนเวียนธุรกิจจะมีน้อยกว่าธุรกิจขนาดกลางขึ้นไปอยู่แล้ว อาจมีผู้ประกอบการหลายรายต้องการขายธุรกิจเพื่อนำเงินไปพยุงในส่วนต่างๆ ซึ่งสภาพคล่องในธุรกิจโรงแรมก็มีทั้งที่ยังอยู่ได้ และอาจได้รับผลกระทบจนยืนไม่ไหวบ้าง

Advertisement

ความต้องการในการขายต่อธุรกิจคงไม่ได้มีมากมายนัก เชื่อว่าหากจัดตั้งเป็นกองทุนออกมา คงไม่ได้เห็นภาพการเทขาย หรือการทะลักเข้ามาของธุรกิจโรงแรม แต่จะมีในส่วนของผู้ประกอบการที่ไปไม่ไหวแบบจริงๆ ต้องการขายธุรกิจเข้าไปในกองทุนแบบชั่วคราว เงินเพื่อนำมาหมุนเวียนในธุรกิจ แบบกำหนดระยะเวลา โดยพิจารณาว่าธุรกิจโรงแรมในสัดส่วน 100% อาจมีเพียง 5-10% ที่ต้องการขายเข้ากองทุน หรือขายขาดธุรกิจไป

ที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจซื้อธุรกิจโรงแรมไทยสูงมาก แต่ไม่มีคนขาย พอช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ก็มีคนอยากขาย แต่ขาดคนซื้อ เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ได้ดีมากนัก การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนจึงชะลอการลงทุน และในขณะนี้ที่เกิดวิกฤตขึ้น เชื่อว่ามีคนอยากขายอยู่แต่คนซื้อคงไม่มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกไม่ดี ปกติโรงแรมไม่ได้เป็นธุรกิจที่ซื้อมาขายไป ไม่สามารถหวังกำไรในระยะสั้นได้ ต้องมองระยะยาว และมีเงินเย็นมากพอที่จะซื้อและบริหารให้มีกำไรเติบโตต่อเนื่อง

การขายโรงแรมจะมีกำไรได้ หากขายแล้วมีการเติบโตของตัวอสังหาริมทรัพย์มากกว่า อาทิ ในอดีตซื้อมา 100 ล้านบาท ผ่านไป 20 ปี ราคาอาจขึ้นมา 700-800 ล้านบาทได้ เพราะมูลค่าของอสังหาฯ ปรับเพิ่มขึ้น แต่ถามว่าในแง่กำไรในการทำธุรกิจคงไม่ได้มีมากขนาดนั้น

วสันต์ กิตติกุล
นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันตก (เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์)

ขณะนี้โรงแรมขนาดเล็กในพื้นที่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ที่บริหารเป็นส่วนบุคคลได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่การประกาศขายกิจการ เพราะขาดสภาพคล่องยังมีตัวเลขไม่ชัดเจน ส่วนใหญ่ต้องประคองธุรกิจไว้ ด้วยการกู้เงินเพิ่มจากธนาคารเอสเอ็มอี สำหรับหัวหิน-ชะอำ แหล่งท่องเที่ยวตากอากาศเก่าแก่ที่มีความหลากหลาย จะแตกต่างจากปัญหาของโรงแรมขนาดเล็กใน จ.เชียงใหม่ ที่ประกาศขายกิจการค่อนข้างมาก

โรงแรมขนาดใหญ่ที่มีสายป่านยาวยังประคองตัวอยู่ได้อีกระยะในสถานการณ์โควิด-19 แม้ว่าจะไม่มีรายได้มานานกว่า 2 เดือน ต้องมีการประเมินความอยู่รอดจากช่วงไฮซีซั่นปลายปี 2563 ต่อเนื่องต้นปี 2564 หลายฝ่ายของสมาคมกังวลว่าจะทำตลาดอย่างไร เพื่อพลิกฟื้นบรรยากาศการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการโรงแรมที่เป็นสมาชิกของสมาคมในหัวหิน-เพชรบุรีต้องร่วมกันหาตลาดใหม่ๆ ตลาดในประเทศคงหมดหวัง ต้องพึ่งพาตลาดระดับกลางและระดับไฮเอนด์ขึ้นไป เชื่อว่าหัวหิน-ชะอำยังพอมีโอกาสอยู่บ้าง ส่วนระยะสั้นๆ ขอให้รัฐบาลผลักดันให้ภาครัฐมีการใช้งบศึกษาดูงาน ประชุมสัมมนาให้มากขึ้น

ก่อนมีสถานการณ์โควิด-19 ทุนจีนก็เข้ามาพื้นที่หัวหินเป็นส่วนใหญ่ ผ่านบริษัทของคนไทยที่เป็นนอมินีขอเข้าไปซื้อกิจการ ดังนั้นภาครัฐต้องให้ความร่วมมือ สำหรับทุนต่างชาติถ้าเข้ามาลงทุนร่วมกับทุนไทยไม่น่ามีปัญหา แต่เป็นห่วงกรณีบริษัทนอกให้นอมินีคนไทยถือหุ้น ทำให้เงินรายได้บางส่วนถูกถ่ายโอนออกไปนอกประเทศ

ละเอียด บุ้งศรีทอง
นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ (ตอนบน)

ต้องถามก่อนว่าขายกิจการแล้วใครจะซื้อ เพราะขนาดซอฟต์โลนธนาคารยังไม่ปล่อยเลย ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ ว่า โรงแรมรติล้านนามีประวัติการเงินดี ไม่เคยขาดทุน ติดต่อขอดอกเบี้ยพิเศษยังไม่ได้เลย อยากรู้เหมือนกันว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อนุมัติงบประมาณ 135,000 ล้านบาท โดยปล่อยกู้ผ่านธนาคารออมสิน อัตราดอกเบี้ย 2% ให้ติดต่อผ่านธนาคารที่เป็นคู่ค้า เราติดต่อไปแล้วก็ไม่ให้กู้ ถามว่ามีโรงแรมไหนได้กู้ไปบ้าง

มั่นใจเลยว่า 99% จากเงินที่ ธปท.อนุมัติมาแล้ว 2 ครั้งไม่รวมรอบที่ 3 ลองไปถามดูว่าธนาคารไหนปล่อยกู้บ้าง เอาเฉพาะเชียงใหม่ก็ได้ ขนาดโรงแรมรติล้านนา ริเวอร์ไซด์สปา รีสอร์ท เชียงใหม่ ที่ดูแลอยู่ไม่มีหนี้สิน เพิ่งทำโรงแรมใหม่ ตอนนี้รายได้เป็นศูนย์ เราลงทุนไปแล้วแต่ไม่มีรายได้เลย ติดต่อธนาคารคู่ค้าไปคำตอบที่ได้คือ หมดแล้ว ถามว่ามีใครได้ไปบ้าง ไม่เข้าใจ มีความโปร่งใสอย่างไร เปิดเผยรายชื่อได้ไหม แล้วยิ่งเราไม่เคยใช้บริการของธนาคารออมสิน เราต้องยื่นหลักฐานย้อนหลังไป 3 ปีโรงแรมรติล้านนามีมูลค่ากว่าพันล้านบาทจะเอาไปค้ำเงินกู้ 20 ล้านบาทมันก็ไม่ใช่

ตอนนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีขาดสภาพคล่องกันหมดยังไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ และธนาคารคู่ค้า และซ้ำเติมด้วยประกันสังคมที่ไม่ช่วยเยียวยาลูกจ้าง ยกตัวอย่างง่ายๆ ใกล้ตัว พนักงานโรงแรมรติล้านนามี 100 กว่าคน จากธุรกิจที่ถูกสั่งปิด คือ ฟิสเนส สปา ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 จนป่านนี้ยังไม่ได้รับเงินประกันเลย แล้วเขาจะเอาอะไรกิน นายจ้างขอดอกเบี้ยราคาพิเศษยังไม่ได้ นายจ้างอยู่ไม่ได้แล้วลูกจ้างจะอยู่ได้อย่างไร ขนาดแบ่งกันกินแบ่งกันใช้ยังอยู่ไม่ได้เลย สำนักงานประกันสังคมก็แย่มาก ถามว่าเดือนเมษายนจ่ายไปกี่รายแล้ว เอาแต่พูดว่าไม่ต้องมายื่นเรื่อง ทำไม่ทัน คนไม่พอ ระบบแย่มาก อยากให้ประกันสังคมตั้งสติแล้วทำงานให้เร็วจะทำล่วงเวลา หรือดึงเจ้าหน้าที่จากจังหวัดที่ไม่มีปัญหาอีกกว่า 72-73 จังหวัด มาช่วยทำไม่ได้หรือ เพื่อช่วยกันประคับประคองคนให้เร็ว ไม่ใช่ดีแต่ปฏิเสธอยู่อย่างนี้

ได้ยินข่าวเรื่องต่างชาติจะเข้ามาซื้อโรงแรม น่าจะเป็นการจุดประเด็นมากกว่า เพราะเชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร และภูเก็ต เป็นเมืองใหญ่ มีโลเกชั่นที่ดี โรงแรมที่จะถูกช้อนซื้อต้องเป็นบริษัทต่างชาติ เพราะโรงแรมขนาดหลักพันล้านคนจะซื้อได้ต้องเป็นเงินจากต่างประเทศ แต่ในภาวะวิกฤตแบบนี้ต่างชาติที่จะซื้อได้ต้องรายใหญ่มากๆ และคงไม่ซื้อแห่งเดียว แต่ด้วยข้อกฎหมาย หรืออะไรของบ้านเรา เชื่อว่ายังอีกไกลและยังไม่ถึงเวลา

สมชาติ พิมพ์ธนะพูนพร
เจ้าของโรงแรมในเครือ ซากุระ หาดใหญ่

ขณะนี้โรงแรมหยุดให้บริการชั่วคราวต่อเนื่องมานานนับเดือนและคงจะปิดต่อไป จนกว่าทางมาเลเซียจะเปิดประเทศ เนื่องจากธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องอิงนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเป็นหลัก ทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หากทางมาเลเซียเปิดประเทศอีกครั้ง คาดว่าธุรกิจก็จะเริ่มขยับตัวได้ แต่ถ้ายังไม่ก็คงจะต้องปิดต่อไป

ส่วนกรณีการกว้านซื้อธุรกิจโรงแรม โดยนักธุรกิจชาวต่างชาติผ่านนอมินีนั้น ขณะนี้ยังไม่เกิดขึ้น แม้ธุรกิจโรงแรมหลายแห่งพร้อมที่จะขาย เพราะไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็ยังไม่มีผู้ที่จะมาซื้อโรงแรม เพราะแต่ละคนย่ำแย่เหมือนกันหมด มองว่าแม้จะเริ่มเปิดโรงแรมแล้ว แต่ก็คงอีกสักระยะกว่าจะสามารถฟื้นตัวได้ คาดว่าปีนี้ทั้งปี ก็ยังคงซบเซาอยู่เช่นเดิม

ส่วนจะให้รัฐบาลช่วยอะไรในขณะนี้ก็คงจะพูดยาก รัฐเองก็คงต้องหาทางช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบก่อน ส่วนผู้ประกอบการนั้น ก็มีปัญหาเรื่องของเงินกู้และดอกเบี้ยธนาคาร หากเป็นไปได้ก็อาจจะพักชำระหนี้ หรือให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เหล่านี้เป็นต้น

ก้องศักดิ์ คู่พงศกร
นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้

ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าลงทุนธุรกิจโรงแรมไทย ส่วนใหญ่มีเงินทุน มีศักยภาพในการปรับปรุงธุรกิจ นิยมเข้าลงทุนในกิจการขนาดกลาง จำนวนห้องพัก 150-200 ห้อง เหมาะสมและคุ้มค่าในการลงทุน ขณะนี้ประเมินว่า ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กน่าจะมีปัญหาในเรื่องสภาพคล่องมากที่สุด ในอดีตที่ผ่านมา หากมีวิกฤตเกิดขึ้นจะมีต่างชาติสนใจเสนอซื้อกิจการ เพื่อนำมาบริหารต่อมากเป็นพิเศษ และต่อให้ไม่มีวิกฤตอะไรเกิดขึ้นก็มีต่างชาติให้ความสนใจ จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เมื่อมีวิกฤตอะไรที่รุนแรง และส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงแรมหนักๆ เรื่องนี้จะกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง ต่างชาติอาจใช้ช่วงเวลานี้เข้ามาซื้อต่อกิจการที่ขาดสภาพคล่องหนัก

ในช่วงปกติมีโรงแรมที่ต้องการขายขาดอยู่ตลอด หากตั้งในทำเลที่ดี ขนาดธุรกิจไม่เล็กมากนัก จะขายในราคาที่สูง ทำให้ไม่สามารถขายได้ตามที่ต้องการ ไม่มีนักลงทุนสู้ราคามากนัก แต่เมื่อเกิดวิกฤตขึ้นจะมีผู้ประกอบการที่ต้องการขายตัดสินใจลดราคา ขายออกให้ได้ก่อน หากประเมินภาพรวมธุรกิจโรงแรมในภูเก็ต ที่ผ่านมาก็มีนักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติ เข้ามาซื้อต่อเปลี่ยนมืออยู่ตลอดเวลาเป็นปกติอยู่แล้ว

มีการเสนอแนวคิดจัดตั้งเป็นกองทุนตราสารทุน เพื่อให้นักลงทุนทั้งไทย และต่างชาติลงทุนในโรงแรมไทยได้ โดยเฉพาะ หากทำได้จะดีมาก น่าจะคล้ายกับการตั้งกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) ขึ้นมา จะเป็นโอกาสที่ดีในการสนับสนุนธุรกิจโรงแรมไทยให้เดินหน้าต่อไปได้ ธุรกิจยังอยู่ในมือผู้ประกอบการรายเดิม

ข้อเสนอเพิ่มเติมที่อยากให้ช่วยคือ 1.การเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) รัฐบาลแยกธุรกิจเป็นขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ โดยขนาดเล็กวัดวงเงินกู้ไม่เกิน 500 ล้านบาท มีช่องว่างในส่วนของผู้ประกอบการบางรายมีวงเงินกู้เกิน 500 ล้านบาท แต่ตัวหนี้สินคงค้างในปัจจุบันไม่เกิน 500 ล้านบาทแล้ว ขนาดของเงินกู้ดังกล่าวยังถือว่าเป็นเอสเอ็มอีอยู่ในภูเก็ต เพราะเศรษฐกิจในภูเก็ตมีขนาดใหญ่และเติบโตดีมาตลอด ทำให้ค่าที่ดิน การลงทุนมีราคาสูงกว่าปกติ อยากให้รัฐบาลผ่อนปรนเงื่อนไขให้การเข้าถึงแหล่งเงินกู้มากขึ้น อาทิ กำหนดวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท ปรับเพดานขึ้นไปเป็น 750-1,000 ล้านบาทแทน 2.กู้ได้ไม่เกิน 20% ของหนี้คงค้าง มองว่าเหมาะสมดี สมมุติว่ามีหนี้คงค้างที่ 300 ล้านบาท ก็กู้ได้ 60 ล้านบาท ธนาคารพาณิชย์ก็มักไม่ปล่อยให้เต็มจำนวนเงินที่กู้ได้อยู่แล้ว จะพิจารณาตามความเหมาะสม และจะมีผู้ประกอบการบางรายที่อาจกู้ในวงเงินเล็กกว่า อาทิ กู้ไป 30 ล้านบาท ปัจจุบันผ่อนชำระเหลือเพียง 1-2 ล้านบาทเท่านั้น หากกู้ได้เพียง 20% ของหนี้คงเหลือ หากเหลือเงินกู้ที่ต้องชำระเพียง 2 ล้าน เท่ากับว่ากู้ได้เพิ่มอีกแค่ 4 แสนบาทเท่านั้น ซึ่งรายจ่ายปกติมีมากกว่าอยู่แล้ว อยากให้พิจารณาเพิ่มวงเงินกู้เพิ่มเติม

และ 3.ประกันสังคมชดเชยเงินเยียวยาแรงงาน 62% เป็นเวลา 90 วัน อยากให้พิจารณาเพิ่มเติมเป็น 180 วัน เพราะภายใน 90 วัน การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้น การเยียวยาเพียง 3 เดือนจึงไม่เพียงพอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image