รายงาน : รูปทาง การเมือง # ตามหา ความจริง ปักธง ความคิด

ความตื่นตัวจากกระทรวงกลาโหม จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อปฏิบัติการ โฟโต ซีรีส์ # ตามหา
ความจริง กำลังกลายเป็น “คำถาม”

ทำไมต้อง “ตื่นตัว”

หากปฏิบัติการ โฟโต ซีรีส์ # ตามหาความจริง ไม่มีเป้าหมายแวดล้อมโดยรอบกับเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553

กลาโหมและตำรวจจะ “ตื่นตัว” หรือไม่

Advertisement

หากว่าปฏิบัติการ โฟโต ซีรีส์ # ตามหาความจริง เกิดขึ้นเนื่องแต่เดือนตุลาคม 2516 และเดือนตุลาคม 2519 หรือเดือนพฤษภาคม 2535

กลาโหมและตำรวจจะเอาการเอางานหรือไม่

คำถามที่แหลมคมมากยิ่งกว่านั้นในเมื่อปฏิบัติการโฟโต ซีรีส์ # ตามหาความจริง ต้องการความจริงอันเกี่ยวกับสถานการณ์เมื่อปี 2553 จะกลายเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ไม่สมควร

Advertisement

แล้วที่สมควรควร “ตามหา”อะไร

แท้จริงแล้ว ปฏิบัติการโฟโต ซีรีส์ # ตามหาความจริง ก็เหมือนความพยายามอื่นๆ ที่อยู่ในความสนใจในทางสังคม

เหมือนๆ กับการหาความจริงของ “การบินไทย”

ทำไมเมื่อ นายบรรยง พงษ์พานิช ตั้งคำถาม ทำไมเมื่อ นายกอบศักดิ์ สภาวสุ ตั้งคำถาม ทำไมเมื่อ นายกรณ์ จาติกวณิช ตั้งคำถาม

จึงไม่กลายเป็น “ประเด็น” จึงไม่กลายเป็นเรื่อง “อ-ปกติ”

เพราะในความเป็นจริง สังคมมีสิทธิที่จะตั้ง “คำถาม” ไม่เพียงแต่ในกรณีที่รัฐบาลจะเทเงินงบประมาณมากกว่า 50,000 ล้านบาทไปให้กับ “การบินไทย”

หากแม้กระทั่งเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 ก็ไม่ควรละเลย

หรือเพราะว่าตัวละครอันก่อให้เกิดการใช้ “กระสุนจริง” อันทำให้มี “คนตาย” มีคนเจ็บ ยังดำรงอยู่ในสังคม ยังเป็นปริศนาอยู่ในสังคม

กลาโหม และ ตำรวจ จึงปล่อยให้ผ่านเลยไปไม่ได้

ปฏิบัติการโฟโต ซีรีส์ # ตามหาความจริง คือ พัฒนาการของการเคลื่อนไหวและตั้งคำถามผ่านป้ายที่ชูขึ้น ณ แยกราชประสงค์

“ที่นี่ มีคนตาย”

เป็นคำถามสั้นๆ แต่อมความหมาย สะท้อนความรู้สึกเจ็บปวดลึกๆ จากสถานการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

เป็นพัฒนาการจากการชูป้าย มาเป็นโฟโต ซีรีส์

เป็นพัฒนาการอันสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลและผลสะเทือนการเข้ามาของเทคโนโลยีและรูปแบบใหม่ของการเคลื่อนไหวในทางความคิด

เห็นได้จากปรากฏการณ์ของ #

เพียงจากเมื่อปี 2553 ยังเสมอเป็นเพียงการชูป้ายเขียนด้วยลายมือ มาเป็นการฉายผ่านโปรเจ็กเตอร์ มาเป็น # ตามหาความจริง

สำแดงบทบาทที่ “ความจริง” กำลัง “ไล่ล่า”

ทั้งหมดนี้ดำรงอยู่ในพื้นที่ทาง “ความคิด” เพียงแต่อาศัยเทคโนโลยี อาศัยรูปแบบอันสะท้อนพัฒนาการ แต่เป้าหมายยังดำรงอยู่ในลักษณาการ

แห่งการ “ปักธง” ทาง “ความคิด”

ต้องการกระตุก ต้องการเร้าความสนใจไปยังรายละเอียดอันเกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 และทวงถามความยุติธรรม

บนพื้นฐานแห่ง “ความจริง” ที่เกิดขึ้นและยังดำรงอยู่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image