วิเคราะห์ : ภารกิจ เร่งด่วน รบ. ปลดล็อก โควิด-ศก. ปลดล็อก การเมือง

วิเคราะห์ : ภารกิจ เร่งด่วน รบ. ปลดล็อก โควิด-ศก. ปลดล็อก การเมือง

วิเคราะห์ : ภารกิจ เร่งด่วน รบ. ปลดล็อก โควิด-ศก. ปลดล็อก การเมือง

ในที่สุด ศบค. เห็นชอบมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 2 ให้ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าเปิดได้ทั่วประเทศ ภายใต้มาตรการสาธารณสุข เพื่อมิให้โควิด-19 ระบาด
มาตรการสำคัญคือ สวมหน้ากากผ้า เว้นระยะห่าง วัดอุณหภูมิร่างกาย ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือล้างมือด้วยสบู่ เป็นต้น
และดูเหมือนว่ากิจการห้างร้านต่างๆ มีความพร้อมที่จะเปิดตามมาตรการที่รัฐบาลกำหนด
ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เริ่มผ่อนปรนความเข้มงวด
นอกจากยอมให้เปิดห้างร้านเพิ่มขึ้นแล้ว ยังยอมขยับเวลาเคอร์ฟิว จากเดิม 22.00-04.00 น. เป็น 23.00-24.00 น.
การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่หยุดนิ่งชะงักงัน
เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19
ดังนั้น การควบคุมการแพร่ระบาดไปพร้อมๆ กับการประคับประคองเศรษฐกิจให้เดินหน้าไปได้ จึงเป็นเรื่องเดียวกัน
เป็นเรื่องที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องระมัดระวัง
ค่อยๆ ปลดล็อกโควิด-19 จากประเทศไทย

ระยะเวลาของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ใช้เวลานาน เพราะต้องรอวัคซีนที่คาดว่าจะได้ใช้ก็ต้นปี 2564 จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา
ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำเกิดขึ้นทั่วโลก
เศรษฐกิจที่ตกวูบเร่งเร้าให้บริษัทที่มีสถานะไม่มั่นคงต้องยอมรับสภาพ
หลายแห่งปิดกิจการ หลายแห่งหยุดงานชั่วคราว หลายแห่งต้องให้พนักงานออก
อีกหลายแห่งเข้าขั้นวิกฤตรอการแก้ไข
ในจำนวนนี้รวมถึง “การบินไทย” ที่มีผลประกอบการขาดทุนเป็นหมื่นล้าน มีหนี้สินที่ต้องชดใช้เป็นแสนล้าน
ที่สำคัญคือมีกระแสเงินสดที่ใช้ได้แค่สิ้นเดือนพฤษภาคมนี้
การบินไทยพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการขอกู้เงิน 5.4 หมื่นล้านบาทมาเสริมสภาพคล่อง
แต่การกู้เงินจำนวนดังกล่าว การบินไทยต้องการให้รัฐบาลไทยค้ำประกัน
เมื่อเรื่องมาถึงรัฐบาล คำถามเกี่ยวกับภาษีประชาชนก็ปะทุขึ้น
ยิ่งเมื่อพลิกข้อมูลแบบเหลียวหลังแลหน้า พบว่าอาการทรุดของการบินไทยเข้าขั้นอุกฤษฎ์
การจะพิจารณาอะไรลงไป ครม. ย่อมต้องคิดหนัก
ยิ่งเป็นการบินไทยในห้วงเวลาโควิด-19 ระบาดที่ธุรกิจการบินทั่วโลกหยุดสนิท อนาคตยังมองไม่เห็นแสงสว่าง
ยิ่งสร้างความลำบากใจแก่รัฐบาลที่ต้องเข้ามาแอ๊กชั่น
การปลดล็อกหนี้สินและการขาดทุนของ “การบินไทย” จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ
กลายเป็นการบ้านอีกข้อของ พล.อ.ประยุทธ์

ขณะเดียวกัน แม้ประเทศไทยจะตกอยู่ในสถานการณ์โควิด-19 แต่การเมืองไทยก็ยังมีความเคลื่อนไหว
โดยเฉพาะการเมืองภายในพรรคพลังประชารัฐ
จากเดิมที่กลุ่มเชียร์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ประธานยุทธศาสตร์ พปชร. เดินหน้า “รุกฆาต” กดดันให้ นายอุตตม สาวนายน ลาออกจากหัวหน้าพรรค และให้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ลาออกจากเลขาธิการพรรค
มีเกมกดดันให้กรรมการบริหารพรรคลาออกเกินกึ่งหนึ่ง เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่
แต่เมื่อข่าวกระจายออกสื่อ และมีเสียงห้ามปรามจาก พล.อ.ประยุทธ์
ทุกอย่างจึงยุติแบบ “พักรบ”
เพราะความจริงแล้ว ภายใน พปชร. ยังมีความเคลื่อนไหว โดยเฉพาะกลุ่ม ส.ส.ของพรรคที่เคยได้รับสัญญาณว่าจะมีการปรับ ครม. เมื่อรัฐบาลอยู่มาได้ 1 ปี
หนทางที่จะทำได้คือ การผลักดันให้ พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรค และตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่
แล้วปรับ ครม. โดยเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล อาทิ นายอุตตม นายสนธิรัตน์ ซึ่งไม่ได้เป็น ส.ส
แล้วโยกเอาคนที่เป็น ส.ส. เข้าไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีแทน
เกมการกดดันนี้ปรากฏเป็นข่าวเป็นระยะๆ ตอกย้ำให้ทราบว่า ยังมีความเคลื่อนไหวภายใน
แม้แต่ พล.อ.ประวิตร ก็ออกมาส่งสัญญาณล่าสุด
ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ในพรรค
ขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ของ สมาชิก พปชร.

Advertisement

ขณะที่วันที่ 22 พฤษภาคม จะเปิดสมัยประชุมสภา และหลังจากเปิดสมัยประชุม ประธานสภาต้องนำเอา พ.ร.ก.ที่ประกาศใช้ในช่วงที่สภาปิดสมัยประชุมมาพิจารณาโดยทันที
ในจำนวนดังกล่าวมี พ.ร.ก.เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาในช่วงโควิด-19 รวมอยู่ด้วย
เป็น พ.ร.ก.กู้เงิน และ พ.ร.ก.อนุญาตให้ใช้เงิน รวม 1.9 ล้านล้านบาท
และยังมี พ.ร.บ.งบประมาณที่มีการโยกงบประมาณจากกระทรวงมาอยู่งบกลางเพื่อใช้แก้ปัญหาโควิด-19
กฎหมายดังกล่าวนี้ จำเป็นต้องใช้เสียงของ ส.ส.สนับสนุน และจำเป็นต้องใช้ศักยภาพของ ส.ส.ในการช่วยเหลือรัฐบาล
ช่วยรัฐบาลในการชี้แจงรายละเอียดของ พ.ร.ก.ฉบับต่างๆ ที่เริ่มใช้กันแล้ว
และยังช่วยรัฐบาลสกัดเกมของพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่สะสมข้อมูลเอาไว้เพื่อชำแหละ พ.ร.ก.ต่างๆ
ที่สำคัญที่สุดคือ รัฐบาลต้องการเสียงโหวตสนับสนุน พ.ร.ก.ต่างๆ ด้วย
ดังนั้น รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในห้วงการเปิดสมัยประชุมหน้า จึงต้องเผชิญหน้ากับ “เสียงในสภา”
ทั้งนี้เสียงฝ่ายค้านนั้น ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลอยู่แล้ว ช่วยได้อย่างมากก็ไม่ออกเสียง
แต่เสียงฝ่ายรัฐบาลที่ประกอบด้วยพรรคร่วม และพรรคพลังประชารัฐนี่สิ
จะต้องโหวตสนับสนุนรัฐบาลด้วย
แต่เมื่อย้อนดูความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐแล้ว พล.อ.ประยุทธ์คงต้องใช้บารมีอย่างมากเพื่อให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยความเรียบร้อย

เท่ากับว่า ขณะนี้รัฐบาลต้องดำเนินการปลดล็อกปัญหามากขึ้นเป็นลำดับ
เริ่มจากปลดล็อก “โควิด-19” ที่ใช้มาตรการทางสาธารณสุข และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเข้มข้น
แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป เกิดปัญหาเศรษฐกิจตามมา รัฐบาลก็ต้องดำเนินการปลดล็อกปัญหาเศรษฐกิจ
ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น มีผลกระทบต่อกำไร-ขาดทุนของ “การบินไทย” ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติอย่างสาหัส ทำให้รัฐบาลต้องแก้ปัญหา
ต้องปลดล็อก “การบินไทย” ให้ได้ภายในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน
นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังต้องลงไปจัดการปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นภายในพรรคพลังประชารัฐด้วย
แม้ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร จะเป็นคนเข้าไปจัดการดูแล แต่เมื่อขั้วขัดแย้ง มีชื่อ พล.อ.ประวิตร ไปอยู่อีกข้าง
พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องกระโจนลงมาจัดการเอง
หาก พล.อ.ประยุทธ์จัดการไม่ได้ การเมืองภายในพรรคก็จะลุกลามกลายเป็นการเมืองระดับชาติ

การแก้ปัญหาการเมืองที่ผ่านมา มักใช้กลไกของรัฐธรรมนูญค้ำชูรัฐบาล กระทั่งถูกมองว่า “ผิดธรรมชาติ”
ผิดธรรมชาติเนื่องจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
การประกอบร่างของพรรคพลังประชารัฐ การกำเนิดรัฐบาลผสม การทำลายคู่แข่งทางการเมืองของรัฐบาล
ล้วน “ผิดธรรมชาติ”
คนส่วนน้อย สำคัญกว่า คนส่วนใหญ่
ส.ว.แต่งตั้ง สำคัญกว่า ส.ส.เลือกตั้ง
เมื่อผิดธรรมชาติก็ขาดความชอบธรรม เมื่อขาดความชอบธรรมก็เกิดความปั่นป่วน
ดังนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ปัญหาโควิด-19 ปัญหาเศรษฐกิจ หรือปัญหาการบินไทย เท่านั้น ที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้อง “ปลดล็อก”
ปัญหา “การเมือง” ของรัฐบาลในขณะนี้ก็เข้าโซนวิกฤต
ต้องเร่งปลดล็อกก่อนที่จะบานปลาย

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image