โครงร่างตำนานคน : พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ‘หัวหน้าพรรค’จาก‘ป้อมปันสุข’ : โดย การ์ตอง

คนที่สนใจติดตามการเมือง ในกลุ่มเลียบค่ายอยู่วงนอก หรือแม้จะคลุกวงในในบางมุม มองไม่เห็นทั้งภาพรวมของความเป็นไป ย่อมงุนงงสงสัยอย่างใหญ่หลวงว่า “หัวหน้าคนใหม่” ของ “พลังประชารัฐ” จึงจะเป็น “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”

แต่คนที่เข้าถึงแก่นการเมือง ย่อมไม่เพียงไม่สงสัยว่าทำไมเป็นเช่นนั้น แต่อาจจะเกิดคำถามในใจว่าทำไมถึงเพิ่งมาเป็นเช่นนี้

ความแตกต่างของความคิดความเห็น ไม่ได้สัมผัสความเป็น “พี่ป้อม” ที่ยืนยงคงกระพันมายาวนานก่อนที่จะมาเป็น “พี่ใหญ่” ของ “บูรพาพยัคฆ์” ด้วยซ้ำ

คนที่รู้จักจะรับรู้รับทราบกันดีว่า สภาวะอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตความเป็นอยู่ของ “ประวิตร วงษ์สุวรรณ” คือมีธรรมชาติของศูนย์กลางของเพื่อนพ้องน้องพี่

Advertisement

เล่ากันว่าบ้านของ “พี่ป้อม” ตั้งแต่หนุ่ม จนถึงวันนี้ไม่เคยเปลี่ยนแปลง

นั่นคือเป็นสถานที่ที่ใครต่อใครแวะเวียนมาหา เป็นสถานที่พบปะเจอะเจอ

เช้าขึ้นมา มี “หม้อข้าว” และ “สำรับกับข้าว” ตั้งไว้ ต่างคนต่างมาตักกิน ล้อมวงโอภาปราศรัยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ ใครเดือดร้อนเรื่องอะไร ใครจะช่วยใครได้

Advertisement

อาหารนั้น “เจ้าของบ้านจัดหามายืนพื้นเป็นหลักไว้” จากนั้นไปไหนต่อไหนมาก็ซื้อมาสมทบ กองรวม

หิ้วกันมาเติมสำรับกันคนละถุงสองถุง ห่อสองห่อ หรือเข่งสองเข่ง

แบ่งปัน กินกันอยู่ในบ้านนี้

เล่ากันว่าความเป็นพี่ใหญ่เกิดขึ้นจากธรรมชาติของวิถีชีวิตเช่นนี้

หากคิดไม่ออกคนที่เล่าให้ฟังบอกให้นึกถึงธรรมชาติของ “ตู้ปันสุข” ที่กำลังฮิต

“บ้านของ พล.อ.ประวิตร” เป็นตู้

ส่วนของที่ใส่ตู้นั้นอาจจะเริ่มโดยเจ้าของบ้าน แต่หลังจากนั้นใครมีใครก็เอามาใส่ ใครขาดแคลนอะไรก็มาหยิบเอาไป

นั่นเป็นวัยหนุ่ม และวัยรับราชการ

พอถึง “วัยการเมือง” เรื่องที่เจือจานกันไม่ใช่แต่อาหารการกิน

บ้าน “พล.อ.ประวิตร” กลายเป็นที่รวมของสารพัดอย่าง

ผู้มีอำนาจ ผู้มีทุน ผู้มีเครือข่ายฐานเสียง ผู้มีความสามารถเชี่ยวชาญต่างแวะเวียนกันมา แลกเปลี่ยนแบ่งปัน

เอาสิ่งที่ตัวมีลงกองกลาง เพื่อให้คนอื่นหยิบฉวยเอาไปใช้ ขณะที่หยิบเอาสิ่งที่ตัวขาดแต่คนอื่นมาแบ่งกลับไป

โดย “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เป็นแก่นกลางของการประสานทุกสิ่งอย่างดังกล่าว

เมื่อเป็นเช่นนี้ย่อมเป็นธรรมดาที่บารมีจะเกิดกับ “พล.อ.ประวิตร”

เมื่อถึงคราวที่ประเทศเจอวิกฤตโควิด-19 ที่ประชาชนในทุกพื้นที่ชะเง้อหาผู้แทนฯ หรือ ส.ส.เพื่อร้องขอความช่วยเหลือ

ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ วิกฤตที่รุนแรงขนาดนี้ ความเดือดร้อนของประชาชนหนักหนาสาหัส ทำให้ ส.ส.ต้องมีพลังที่เพียงพอ ข้าวของ ทุนรอนต้องใช้มากมาย

พลังประชารัฐเป็นพรรคแกนนำรัฐบาล จะอ้างว่าไม่มีพลังเหล่านั้มย่อมไม่ได้

แต่ในความเป็นจริง งบประมาณของ ส.ส.ไม่เกี่ยวกับการอยู่พรรคแกนนำรัฐบาล

ใครมีของตัวเองก็พอขยับไปรับหน้าชาวบ้านได้ ใครไม่มีจะทำอย่างไรไม่ให้ถูกมองว่า “ทอดทิ้งประชาชนที่เดือดร้อน”

ในนาทีนี้เอง “ป้อมปันสุข” เป็นที่พึ่งที่จำเป็นสำหรับ ส.ส.ในภารกิจดังกล่าว

ศูนย์กลางการเติมปัจจัย ที่ใครขาดมาเอาไปเท่าที่จำเป็นต้องใช้

เป็นทางออกของ “ส.ส.” ที่หาไม่ได้ หรือได้ไม่ทันกับการใช้งานจากบ้านคนอื่น

“กระแสเปลี่ยนหัวหน้าจึงเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ” คือเรื่องที่คนคลุกวงในสรุปให้ฟัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image