มุมมองเจ้าสัว‘บุณยสิทธิ์’ วิกฤต-โอกาสจาก‘โควิด’ เผย3ปัจจัยฟื้นตัวเร็ว-ช้า

มุมมองเจ้าสัว‘บุณยสิทธิ์’ วิกฤต-โอกาสจาก‘โควิด’ เผย3ปัจจัยฟื้นตัวเร็ว-ช้า

หมายเหตุนายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวเข้าสัมภาษณ์ถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจ แนวโน้ม และทิศทางประเทศไทยในอนาคต ในภาวะวิกฤตโควิด-19 ที่บริษัท ไอซีซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม

บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา
ประธานเครือสหพัฒน์

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หากนำมาเทียบกับวิกฤตการณ์การเงินในเอเชีย พ.ศ.2540 หรือต้มยำกุ้ง การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ถือเป็นวิกฤตที่สร้างผลกระทบและมีความรุนแรงมากกว่าตอนเกิดต้มยำกุ้งเยอะมาก เพราะวิกฤตต้มยำกุ้งสร้างผลกระทบให้กับบริษัทและผู้ประกอบการเป็นส่วนใหญ่ แต่โควิด-19 สร้างผลกระทบทั้งในภาคธุรกิจและภาคประชาชน

Advertisement

หากควบคุมผลกระทบได้ไม่ดีนัก ทุกอย่างจะพังหมด เนื่องจากตอนเกิดต้มยำกุ้ง มีความกังวลสูงมากในการฟื้นเศรษฐกิจ แต่ก็สามารถผ่านมาได้ เพราะผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นกับประชาชนฐานราก แต่อยู่กับผู้ประกอบการ และภาคเอกชนในส่วนบนมากกว่า แต่วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ทำให้ความเสียหายและผลกระทบมีมากกว่าต้มยำกุ้งมาก หากประเมินว่าเสียหายเชื่อว่า โควิด-19 น่าจะสร้างผลกระทบมากกว่าต้มยำกุ้งกว่า 10 เท่า

การระบาดของโควิด-19 เบื้องต้นความเสียหายมีมาก แต่ขณะนี้มองในมุมโอกาสที่เกิดขึ้นมากกว่า เพราะเมื่อโควิด-19 เกิดการแพร่ระบาดในหลายประเทศทั่วโลก จะทำให้เศรษฐกิจกลับสู่จุดเริ่มต้นใหม่ เป็นการเซตซีโร่ในระบบเศรษฐกิจ จากอดีตที่ผ่านมา เคยมองว่าประเทศสหรัฐ เป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจ สหภาพยุโรป (อียู) เป็นผู้นำด้านวัฒนธรรม หากโควิด-19จบลงได้ เข้าใจว่าภูมิภาคเอเชียอาจเทียบเท่าทุกประเทศทั่วโลก เนื่องจากจะมีการกลับไปเริ่มต้นระบบเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง เศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกจะเท่ากัน

หากประเทศไทยสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสในการหาธุรกิจที่เหมาะสม และเดินหน้าพัฒนาให้มีศักยภาพมากขึ้น อาทิ สินค้าเกษตร ไทยก็จะมีธุรกิจโดดเด่นเป็นของตัวเอง เหมือนในอดีตที่สหรัฐ หรือยุโรปมีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมเครื่องบิน และไทยก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของประเทศเหล่านั้น โดยเศรษฐกิจมีความได้เปรียบและเสียเปรียบในด้านความสามารถของธุรกิจในแต่ละประเทศ

Advertisement

สำหรับการปรับตัวของธุรกิจ ต้องมองว่าการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในขณะนี้ ไม่ใช่วิกฤตที่สร้างความเสียหายเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมองว่ายังสามารถสร้างโอกาสได้ด้วย โดยเป็นโอกาสที่มีตัวแปรจำนวนมาก หากทำถูกต้องก็เป็นโอกาสเดินหน้าไปได้ แต่หากทำผิดก็มีความเสียหายเกิดขึ้นกลับมา หลังจากโควิด-19 คลายตัวหรือจบลงแล้ว ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก และการบริโภคภายในประเทศ จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ภาพลักษณ์ของประเทศไทย จะยกระดับสูงขึ้น

ในระยะถัดไป ประเมินภาพรวมธุรกิจที่กำไรอยู่ในภาวะขาดทุน จะกลับมามีกำไรอีกครั้งหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย และภาครัฐปลดล็อกมาตรการล็อกดาวน์ โดยการกลับมาของธุรกิจที่กำไรติดลบ ขึ้นอยู่กับสายป่านของบริษัทเหล่านั้น หากพิจารณาจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ขณะนั้นแทบทุกบริษัทมีสายป่านน้อย ทำให้ต้องอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศ เข้ามาพยุงเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจต่อไป แต่ปัจจุบันมีธุรกิจที่สายป่านยาวและดี มากขึ้น ทำให้ภาพรวมสายป่านธุรกิจของประเทศไทยยังดีอยู่

การระบาดของโควิด-19 ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยถูกยกระดับขึ้น เนื่องจากในอดีตภาพลักษณ์ของประเทศไทยดูล้าสมัย แต่พอเกิดโควิด-19 ขึ้น ประเทศไทยสามารถรับมือและควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี ในส่วนมาตรการด้านสาธารณสุข ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยถูกยกระดับขึ้น อาจทำให้ในอนาคตศูนย์กลางของอาเซียนอาจอยู่ในไทย จากเดิมที่มองว่าศูนย์กลางอาเซียนคือ สิงคโปร์

การที่เศรษฐกิจจะฟื้นกลับมาเป็นปกติได้ดีหรือช้า ขึ้นอยู่กับหลายตัวแปร อาทิ ต้องดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่ามากขึ้น เพราะช่วงวิกฤตแบบนี้ควรใช้ค่าเงินบาทอ่อนมากกว่า หากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ระดับปัจจุบันที่ 31.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2-3 ปี แต่หากค่าเงินบาทอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อาจใช้เวลา 2 ปี และหากค่าเงินบาทอยู่ที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ใช้เวลาเพียง 1 ปี เศรษฐกิจจะสามารถกลับมาฟื้นได้ตามเดิม แม้หากโควิด-19 จบลงแล้ว ก็ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป

ความกังวลในขณะนี้ กลัวในเรื่องความขัดแย้งของประเทศมหาอำนาจจะรุนแรงขึ้น และเกิดสงครามอีกครั้งในโลกนี้ แม้จะไม่ใช่สงครามจากการใช้อาวุธ แต่จะเป็นสงครามความคิด และสงครามยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร (ไอโอ) มากกว่า เรื่องนี้อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ และการเตรียมรับมือกับสงครามที่จะเกิดขึ้น ก็ไม่สามารถเตรียมตัวได้ ต้องประเมินจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอีกครั้ง

สำหรับการบริหารของรัฐบาล หากมองย้อนหลังไปในช่วงที่รัฐบาลขึ้นมาบริหารใหม่ๆ ได้ชูนโยบาย 4.0 ขึ้น หากตอนนั้นไม่มีการใช้นโยบายนี้ แล้วเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น จะมีวิธีใดในการนำเงินเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบเดือนละ 5,000 บาท ในเวลาเพียง 2 เดือนเหมือนที่ทำได้ ความสำเร็จของรัฐบาลชุดนี้ ก็คือการนำนโยบาย 4.0 เข้ามาเป็นแนวบริหาร รวมถึงการนำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า มาใช้ในการแจกจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือประชาชน

จากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่รัฐบาลจัดเก็บไว้ หากพัฒนาด้านไอทีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะสามารถพัฒนาประเทศไทยขยับขึ้นมาแข่งขันกับสิงคโปร์ได้ มาตรการที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลือช่วงที่ผ่านมา ก็ถือว่าทำได้ดีแล้ว ที่มองว่าในวิกฤตยังเป็นโอกาสก็นำเรื่องนี้มาประเมินด้วย หากรัฐบาลไม่ได้มีมาตรการช่วยเหลือออกมา ประเทศไทยจะไม่มีโอกาสในวิกฤตครั้งนี้เลย

ด้านของการฟื้นความเชื่อมั่นให้กลับมา รัฐบาลจะต้องนำเม็ดเงินที่มีอยู่อัดเข้าสู่เศรษฐกิจฐานรากให้เร็วที่สุด เพราะสมัยก่อนไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องของขั้นตอนการนำเม็ดเงินผ่านกระทรวงต่างๆ เพื่อให้ถึงมือประชาชนระดับล่าง แต่ขณะนี้ด้วยระบบที่มีอยู่สามารถทำได้ง่ายมากขึ้นแล้ว จึงควรเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

ตัวแปรอีกเรื่องเป็นเรื่องการเมือง ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นเร็วหรือฟื้นช้า หากต้องการให้ฟื้นตัวเร็วๆ ต้องอย่าพยายามปรับเปลี่ยนอะไร แต่ต้องลุยตรงนี้ให้ไปสุดทาง มองว่ารัฐบาลชุดนี้ทำได้ดีแล้ว หากมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาลอีกครั้ง อาจทำให้เกิดเซตซีโร่ขึ้น หรืออาจเป็นเซตซีโร่ติดลบได้ โดยประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทย มีความเป็นไปได้ที่จะติดลบ 5.3% หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับตัวแปรทั้งค่าเงินบาท การเมือง และโควิด-19

จากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้ไทยอาจเข้าสู่ภาวะเงินฝืด และความสามารถในการใช้จ่ายของคนไทยหดตัวลง ตรงนี้อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดูแลค่าเงินบาทให้อยู่ถูกที่ถูกทาง โดยประเมินความเหมาะสมของเงินบาทควรจะเคลื่อนไหวที่ระดับใด ขึ้นอยู่กับว่าอยากให้เศรษฐกิจฟื้นภายในกี่ปี หากอยากให้ฟื้นเร็วภายใน 1 ปี ต้องทำให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้สินค้าเกษตรเติบโตได้เร็ว เพราะการบุกเบิกตลาดต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับความแตกต่างของอัตราแลกเปลี่ยน

ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะสิ้นสุดในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ มองว่ายิ่งเลิกใช้ได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี แต่ต้องดูว่าสามารถควบคุมโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ เพราะหาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังอยู่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะกลับมาได้ช้า แต่หากเลิกใช้แล้ว เศรษฐกิจจะมีการขับเคลื่อนและฟื้นกลับมาได้เร็ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับการควบคุมไวรัส และการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันไวรัสอย่างเข้มข้น

จากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้บริษัทตัดสินใจเลื่อนการจัดงานสหกรุ๊ปแฟร์ออกไป เพราะคาดว่าผู้ร่วมงานจะน้อยลง และประเมินว่าการจัดงานแสดงสินค้าในรูปแบบเดิม จะไม่ทันสมัยกับสถานการณ์ปัจจุบัน จึงจะเปลี่ยนไปเป็นการจัดงานแฟร์ออนไลน์แทน ส่วนรูปแบบการจัดงานจะหารือกันอีกครั้ง เพื่อให้ยิ่งใหญ่เท่าเดิม

ส่วนแผนการลงทุนของเครือสหพัฒน์ เป็นรูปแบบการลงทุนในหลากหลายประเภทธุรกิจ อาทิ อาหาร ของใช้ประจำบ้าน การที่คนไม่ออกจากบ้าน ทำให้ยอดขายสินค้าประจำบ้านมียอดขายดีขึ้น แต่สินค้ากลุ่มแฟชั่น อาทิ รองเท้า กระเป๋า ได้รับผลกระทบจากการปิดห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า ทำให้ยอดขายลดลงภาพรวมของธุรกิจในเครือสหพัฒน์ มียอดขายลดลงประมาณ 10-20%

ส่วนกำไรลดลงประมาณ 20% ถือว่าได้รับผลกระทบไม่มากนัก เนื่องจากสหพัฒน์ลงทุนในหลายประเภทธุรกิจ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจึงไม่ตึงตัวมากนัก ตัวเลขยอดขายที่ติดลบในวิกฤตครั้งนี้ ถือเป็นการติดลบสูงสุดตั้งแต่มีวิกฤตเศรษฐกิจ จากเดิมที่ตั้งเป้าเติบโตทั้งกลุ่ม 5-7% แต่ขณะนี้ลืมการเติบโตไปเลย ต้องหันมาพยุงธุรกิจในเครือให้อยู่รอดก่อน

ภาพรวมการเติบโตของสหกรุ๊ป ประเมินว่าคงติดลบเกือบหมด ไม่ได้หวังว่าจะบวกในจำนวนยอดขายเพียงอย่างเดียว แต่จะเน้นไปที่การเพิ่มความมั่นคงให้กับธุรกิจมากกว่า โดยธุรกิจที่ยังสามารถเดินหน้าต่อไป จะเป็นอาหาร และของใช้จำเป็นประจำวัน หรือประจำบ้านต่างๆ ควรต้องกระตุ้นให้เติบโตทั้งในประเทศและการส่งออกด้วย

ส่วนธุรกิจที่ต้องปรับลดขนาดลง เป็นธุรกิจแฟชั่น อาทิ รองเท้า เสื้อผ้า กระเป๋าต่างๆ ยืนยันว่าบริษัทพยายามจะไม่มีนโยบายเลิกจ้างพนักงาน เป็นการค่อยๆ ทำตามนโยบายของบริษัทคือ คนดี สินค้าดี สังคมดี การเลิกจ้างพนักงานจำนวนมาก จะทำให้เกิดปัญหาในสังคม จึงต้องช่วยกันไป

ด้านการทำสัญญาการค้าพิเศษใหม่ๆ ในปีนี้ ยังไม่มีเพิ่มเติม เนื่องจากพันธมิตรการค้ายังชะลอการลงทุน เพื่อรอดูทิศทางที่ชัดเจนก่อน รวมถึงติดตามการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และการระบาดของโควิด-19 ในประเทศของคู่ค้าเหล่านั้นก่อน จึงบอกว่าเป็นโอกาสของประเทศไทย หากสามารถรับมือและจัดการกับโควิด-19 ในประเทศได้เร็วเท่าใด การกลับมาของเศรษฐกิจก็จะเร็วมากขึ้นเท่านั้น โดยประเทศไทยจะเปลี่ยนจากการรับเป็นการรุกแทน

ส่วนแผนการลงทุนในขณะนี้และระยะถัดไป ขึ้นอยู่กับการมองเห็นโอกาสการเติบโตในอนาคต ไม่ได้มีการวางแผนระยะยาวไว้ เนื่องจากสถานการณ์มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็วแทบทุกวัน การลงทุนเพิ่มเติมจะประเมินเป็นรายวัน เพื่อให้ทันสถานการณ์ แต่ขณะนี้แทบจะยังไม่มีการลงทุนใหม่เพิ่มเติม เพราะเป็นช่วงของการพยุงธุรกิจให้นานที่สุดก่อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image