วิเคราะห์ : ยืดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตอบโจทย์ โควิด-19 เพิ่มโจทย์ การเมือง-ศก.

วิเคราะห์ : ยืดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตอบโจทย์ โควิด-19 เพิ่มโจทย์ การเมือง-ศก.

วิเคราะห์ : ยืดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตอบโจทย์ โควิด-19 เพิ่มโจทย์ การเมือง-ศก.

วันที่ 22 พฤษภาคม รัฐสภาจะเปิดสมัยการประชุมใหม่ ทั้งสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา มีกำหนดต้องประชุม
สำหรับสภาผู้แทนราษฎรมีวาระสำคัญคือการพิจารณาร่าง พ.ร.ก.ที่รัฐบาลระดมทุนจำนวน 1.9 ล้านล้านบาท
ระดมทุนมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19
ล่าสุด นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ประชุมวิปฝ่ายรัฐบาลและค้าน กำหนดวันอภิปราย พ.ร.ก.ดังกล่าว โดยจะใช้เวลาตั้งแต่วันที่ 27-31 พฤษภาคม
รวมระยะเวลา 5 วัน
เท่ากับว่าตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคมเป็นต้นไป เสียงจาก “ฝ่ายการเมือง” จะเริ่มกลับมากระหึ่มอีกครั้ง หลังจากที่รัฐบาลใช้เวลาหลังประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตั้งแต่โควิด-19ระบาด
แต่สถานการณ์เมื่อขณะที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กับสถานการณ์ในขณะนี้ แตกต่างกัน
ยิ่งสถานการณ์ในช่วงรัฐสภาเปิดสมัยประชุม
ยิ่งแตกต่างจากวันที่ประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ขณะที่เสียงจากฝ่ายการเมืองเริ่มดังกระหึ่มอีกครั้ง รัฐบาลก็ต้องควบคุมความสมดุลระหว่าง “เศรษฐกิจ” กับ “สุขภาพ” ให้ดี
ทั้งนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ
ทุกประการล้วนแล้วแต่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ในจังหวะเวลาที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และประกาศเคอร์ฟิว จะเป็นวันที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศ แต่เมื่อการใช้ “กฎเหล็ก” ดังกล่าวทำให้มีคนป่วยน้อยลงจนผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 0 หลายครั้งหลายวัน
ขณะเดียวกัน การใช้ “กฎเหล็ก” กลับทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจมีอุปสรรค
คำถามเกี่ยวกับความจำเป็นในการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินต่อไปก็ดังขึ้นเรื่อยๆ
แม้ล่าสุด ศบค.โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จะเห็นชอบตามที่ สมช.เสนอให้ยืดการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ออกไปอีก 1 เดือน
คือจากสิ้นสุดวันที่ 30 พฤษภาคม ไปเป็นสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน
แต่ ศบค.ก็เริ่มเห็นด้วยกับการขยับเวลาเคอร์ฟิวจากเวลา 5 ทุ่มไปยังเที่ยงคืน
และเห็นด้วยกับการเปิดธุรกิจเฟส 3 ในวันที่ 1 กรกฎาคม
ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับตัวเลขผู้ติดเชื้อ

น่าสังเกตว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการประกาศเคอร์ฟิว ในระยะหลังมีเสียงคัดค้านมากขึ้น
นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ให้ความเห็นเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก่อนที่ผลการพิจารณาของ ศบค.จะออกมา
นายบุณยสิทธิ์ระบุว่า มองว่ายิ่งเลิกใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ได้เร็วเท่าไหร่ยิ่งดี แต่ต้องดูว่าสามารถควบคุมโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ เพราะหาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินยังอยู่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็จะกลับมาได้ช้า
แต่หากเลิกใช้แล้ว เศรษฐกิจจะมีการขับเคลื่อนและฟื้นกลับมาได้เร็ว
ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับการควบคุมไวรัส และการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันไวรัสอย่างเข้มข้น
นายบุณยสิทธิ์ไม่ได้มองเฉพาะเรื่องดังกล่าว แต่ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วย
“วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคประชาชน ทำให้ความเสียหายและผลกระทบมีมากกว่าต้มยำกุ้งมาก หากประเมินว่าเสียหาย เชื่อว่าโควิด-19 น่าจะสร้างผลกระทบมากกว่าต้มยำกุ้งกว่า 10 เท่า”
ส่วนสภาพเศรษฐกิจในอนาคต นายบุณยสิทธิ์มองว่า ในระยะถัดไป ประเมินภาพรวมธุรกิจที่กำไรอยู่ในภาวะขาดทุน จะกลับมามีกำไรอีกครั้งหลังจากโควิด-19 คลี่คลาย และภาครัฐปลดล็อกมาตรการล็อกดาวน์
โดยการกลับมาของธุรกิจที่กำไรติดลบขึ้นอยู่กับสายป่านของบริษัทเหล่านั้น หากพิจารณาจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ขณะนั้นแทบทุกบริษัทมีสายป่านน้อย ทำให้ต้องอาศัยเงินกู้จากต่างประเทศเข้ามาพยุงเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจต่อไป
แต่ปัจจุบันมีธุรกิจที่สายป่านยาวและดีมากขึ้น ทำให้ภาพรวมสายป่านธุรกิจของประเทศไทยยังดีอยู่

ประเด็นเรื่องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในรอบนี้ จึงกลายเป็นเรื่องที่ต้องตอบฝ่ายการเมืองและฝ่ายธุรกิจให้ได้
จากเหตุผลของ สมช.รวมไปถึง ศบค.ถึงการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ต่อไปจนถึงสิ้นมิถุนายน คือต้องการควบคุมสถานการณ์ในช่วงเปิดธุรกิจเฟส 3 และเฟส 4 ซึ่งคาดหมายกันว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน
แต่สำหรับฝ่ายการเมืองแล้วมองว่า การใช้ พ.ร.บ.อื่น เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อมาทดแทน น่าจะเหมาะสมกว่า
ขณะที่ฝ่ายเศรษฐกิจก็มองว่า การใช้ พ.ร.บ.อื่นจะเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยได้น้อยกว่า
ความเห็นเช่นนี้เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นข้อสงสัย
กลายเป็นคำถามที่ต้องการให้รัฐบาลชี้แจง

Advertisement

ขณะที่รัฐบาลต้องมีเรื่องอื่นๆ อีกมากที่จะต้องทำ เพราะสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น
รัฐบาลยังมี “การบ้าน” ที่ต้องคลี่คลาย ทั้งในเรื่อง “สุขภาพ” และเรื่อง “เศรษฐกิจ” ต่อไป
ดังนั้น หากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการประกาศเคอร์ฟิว กลายเป็น “สิ่งฟุ่มเฟือย” ในการบริหาร
พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะกลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้รัฐบาลตกอยู่ในสถานะ “ตั้งรับ”
ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายเศรษฐกิจ จะถูกตั้งคำถามครั้งแล้วครั้งเล่าในเรื่องนี้
และเรื่องนี้ก็พร้อมจะจุดปะทุกลายเป็นประเด็นทางการเมืองได้ตลอดเวลา
การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในขณะนี้ จึงแตกต่างจากการประกาศใช้เมื่อวันที่ 26 มีนาคม
เมื่อวันก่อน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะเป็นการตอบโจทย์โควิด-19
เมื่อมาถึงวันนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังจะต้องตอบโจทย์การเมืองและเศรษฐกิจด้วย
เพียงแต่จริงๆ แล้ว การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงเวลานี้ เป็นการ “ตอบโจทย์” ให้รัฐบาล
หรือจะเป็นการ “เพิ่มโจทย์” ให้รัฐบาลกันแน่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image