รายงาน : อปท.ขอแจม-4แสนล. ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก

รายงาน : อปท.ขอแจม-4แสนล. ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก

หมายเหตุ ความเห็นนักวิชาการและผู้บริหารท้องถิ่นกรณีรัฐบาลกำหนดกรอบการใช้เงินฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจของประเทศหลังผ่านวิกฤตโควิด-19 วงเงิน 4 แสนล้านบาท จากงบ 1 ล้านล้านบาท ของ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน โดยให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานต่างๆ เสนอโครงการพัฒนาท้องถิ่น มุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานราก ด้วยโครงการที่ยั่งยืน เพื่ออนาคตของประเทศไทย

ธีรศักดิ์ พานิชวิทย์
แกนนำเครือข่ายองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แห่งประเทศไทย

Advertisement

การใช้งบประมาณเพื่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง รัฐบาลควรมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เข้าไปบริหารจัดการ โดยมีระบบการจ้างงานระยะสั้นในระดับพื้นที่ เพื่อให้ตัวแทนประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นในระดับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย จากกรณีถูกเลิกจ้างงาน หรือถูกลดค่าจ้าง เนื่องจาก อปท.มีข้อมูลพื้นฐานที่ชัดเจน นอกจากนั้นขอให้มีการใช้งบประมาณเพื่อส่งเสริมกลไกการตลาด การแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้าการเกษตร การประมง สินค้าโอท็อปในท้องถิ่น สนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างท้องถิ่น โดย อปท.ทั่วประเทศอาจทำแอพพลิเคชั่นเพื่อเชื่อมโยงในการขายสินค้าออนไลน์ รวมทั้งส่งเสริมศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยว

งบ 4 แสนล้าน ไม่ควรนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน แต่ควรใช้เม็ดเงินเพื่อปากท้องของประชาชนเป็นหลัก แต่ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานใดของระบบราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาคสอบถามว่า อปท.จะทำโครงการอะไรบ้างในเชิงนโยบาย เพียงแต่ทราบเป็นการภายในว่ากระทรวงมหาดไทย (มท.) หรือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) อาจจะคิดเนื้องานสำเร็จรูปเพื่อให้ อปท.จัดทำให้สำเร็จตามเป้าหมายเหมือนที่ผ่านมา โดยไม่เปิดช่องให้ อปท.สามารถเสนอโครงการได้เองตามศักยภาพ และส่วนตัวไม่เห็นด้วยหากให้ อปท.คิดเนื้องาน แล้วต้องเสนอให้หน่วยงานระดับอำเภอหรือจังหวัดทำการกลั่นกรองอีกครั้งเหมือนในอดีต

แต่ต้องยอมรับว่าหากเปิดช่องให้ใช้งบอิสระมากเกินไป น่ากังวลว่าอาจมีบาง อปท.ใช้งบในทางที่ผิด เหมือนการทำร้ายตัวเองให้ขาดความน่าเชื่อถือหรือทำลายศรัทธาของประชาชนทำให้ภาพรวมเสียหายไปด้วย ดังนั้น การใช้งบครั้งนี้ควรเปิดโอกาสให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้ามามีส่วนร่วมเสนอแนวคิดเพื่อเดินหน้าไปด้วยกัน

Advertisement

ขณะที่ภาคประชาสังคมควรมีความเข้มแข็ง สร้างการมีส่วนร่วมให้มีโอกาสตรวจสอบอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้มีการฉกฉวยโอกาส เพื่อซ้ำเติมความทุกข์ยากของประชาชน จากการใช้งบประมาณเพื่อพรรคพวกของตัวเองหรือทำตามใบสั่ง และการใช้งบควรกระจายให้ทั่วถึง ควรเน้นไปที่การจ้างงานบุคคลในครัวเรือนเป็นหลักเพื่อส่งเสริมให้เกิดสภาพคล่องในระดับพื้นที่

ชัยมงคล ไชยรบ
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สกลนคร

สําหรับ อบจ.สกลนคร ขณะนี้ได้หารือกับ อบจ.มุกดาหาร ใช้งบประมาณทำโครงการร่วมกันในภาคอีสานตอนบน เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์สร้างความยั่งยืนหลายด้านทั้งการส่งเสริมให้มีการปลูกพืชหลายชนิดให้พื้นที่มีความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงจากการประกอบอาชีพ และการแก้ไขปัญหาการขาดรายได้ หลังจากมีการระบาดของโควิด-19 ทำให้ประชาชนเดินทางกลับถิ่นฐานเดิม ประชาชนบางส่วนไม่มีงานทำ

ดังนั้น จึงส่งเสริมให้ประชาชนใช้พื้นที่ว่างปลูกผลไม้หลายชนิดเพื่อความยั่งยืน โดยเฉพาะทุเรียนและมังคุดสามารถผลิตและส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศได้ถึงประเทศจีนและเวียดนาม ส่วนระยะสั้นได้ใช้งบส่งเสริมให้ปลูกผักเพื่อมีรายได้ และในอนาคตหากมีกา รสนับสนุนงบ 4 แสนล้าน ให้ อปท.ดำเนินการ ก็จะนำมาพัฒนาต่อยอด โดย อบจ.อาสาเป็นหน่วยงานเจ้าภาพเพื่อระดมแนวคิดจาก อปท.ทั้งหมดเพื่อกำหนดแนวทางพัฒนาร่วมกันเพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงทางอาหารและการประกอบอาชีพของเกษตรกรเป็นหลัก เน้นการพึ่งพาตนเองและต้องปรับตัวจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวไปปลูกไม้ผลให้มากขึ้น

สำหรับการใช้งบดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมฯ ป.ป.ช. ปปท. สตง. ควรร่วมกันกำหนดกรอบภารกิจ กำหนดระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณให้ชัดเจน เพื่อให้ อปท.ใช้โอกาสคิดค้นโครงการที่เหมาะสมกับศักยภาพในแต่ละพื้นที่ เนื่องจาก อปท.สามารถวิเคราะห์ปัญหาได้ดีกว่า เพราะทำงานใกล้ชิดกับประชาชน และการใช้งบนี้ หน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไม่ควรกำหนดมาเป็นแพคเกจสำเร็จรูปเหมือนที่ผ่านมา แต่ควรให้ อปท.คิดค้นและเสนอโครงการได้เองจากการทำประชาคม การกำหนดแผนงานป้องกันการทำโครงการซ้ำซ้อน ขณะที่การทำโครงการเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารของ อบจ.สกลนคร มีการหารือนอกรอบกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด เพื่อให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จ โดยร่วมกันสะท้อนปัญหาที่แท้จริงเพื่อกำหนดกรอบการใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม ล่าสุดได้เริ่มทำโครงการ 1 อปท. 1 สวนผลไม้

ส่วนตัวเชื่อว่าการทำโครงการของ อปท.ทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนได้อานิสงส์ ได้ประโยชน์จากการใช้งบ 4 แสนล้าน ขอให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เสนอแนวคิด ความต้องการหรือสะท้อนปัญหาผ่าน อปท. เพราะเชื่อว่าถ้าโครงการมาจากรากฐานความคิดของประชาชนจริงๆ ทำให้ประชาชนรู้สึกว่าทุกคนมีส่วนร่วมในฐานะเจ้าของงบประมาณแผ่นดิน เชื่อว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว

อย่ากลับไปทำรูปแบบเดิมในลักษณะคนคิดไม่ได้ทำ คนทำไม่ได้คิด เมื่อมีโครงการสำเร็จรูปส่งมาให้ทำ หรือใช้ อปท.แค่เป็นทางผ่านของงบ ก็ไม่ได้ตอบโจทย์ความต้องการเพื่อแก้ปัญหาที่แท้จริง

ศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล
ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย

การใช้งบ 4 แสนล้าน ควรให้หน่วยงาน อปท.ระดับพื้นที่ที่มีความพร้อมดำเนินการ หากยึดตามกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เงินกู้ถือว่าเป็นเงินแผ่นดิน จะต้องดำเนินการตามระเบียบดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และเข้าสู่ระบบ e-GP (e-Government Procurement) หรือจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์จะต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือนิติบุคคลที่มีอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างได้ เพราะจะต้องมีข้อมูลบุคคล ทุกขั้นตอนต้องทำในระบบ e-GP ซึ่งใช้ในระบบราชการส่วนภูมิภาคในระดับจังหวัดเท่านั้น ดังนั้น หน่วยงานที่ทราบและเข้าใจปัญหาของประชาชนในพื้นที่ชุมชนเมืองหรือชนบท มีแผนพัฒนาที่ชัดเจนในปัจจุบันคือ อปท. เนื่องจากมีทั้งกองช่าง กองคลัง และสามารถส่งเงินจากกรมบัญชีกลางเข้าบัญชีหน่วยงานของ อปท.ได้ทันที

หากโครงการที่ใช้งบ 4 แสนล้าน เป็นประโยชน์ท้องถิ่นจริง ในระยะยาวท้องถิ่นสามารถต่อยอดโครงการได้อีกเพราะมีงบประมาณ มีความพร้อมด้านบุคลากรและภาคประชาชนมีส่วนร่วม ผ่านผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนตัวเชื่อว่าในสถานการณ์แบบนี้ ที่ประชาชนได้รับผลกระทบและขาดรายได้ ท้องถิ่นถือเป็นหน่วยงานที่ถูกออกแบบมาเพื่อดูแลแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่อย่างแท้จริง เหมาะสมในการที่ช่วยรัฐบาลให้ดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจสำเร็จได้ ที่ผ่านมา หน่วยงานส่วนกลาง ภูมิภาค บางแห่งเล่นแร่แปรธาตุ อ้างชุมชน โดยให้ตัวแทนชุมชนไปเปิดบัญชี รอรับเงินจากกรมบัญชีกลางหรือส่วนกลาง พอใช้เงินหมดแล้วปิดบัญชีหนีการตรวจสอบ ซึ่งถือเป็นการใช้วิธีของเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่ม จับประชาชนเป็นตัวประกัน

ส่วนการทุจริต ถ้าเกิดขึ้นไม่น่าจะยุ่งยากในการตรวจสอบ เพราะภาคประชาชนและหน่วยงานตรวจสอบทำได้ง่ายมาก และที่สำคัญ ท้องถิ่นมีข้าราชการประจำท้องถิ่นของ อปท.ที่เป็นผู้รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง และแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนอยู่แล้ว

บรรณ แก้วฉ่ำ
นักวิชาการด้านกฎหมายท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ

กรณีการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สำหรับความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น เกิดจากระดับพื้นที่ไม่ได้เกิดจากหน่วยงานส่วนกลาง มีหน่วยงานในระดับท้องถิ่นเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนการแก้ไขและป้องกันที่ตรงกับปัญหาในแต่ละพื้นที่ แต่ปรากฏว่า อปท.ที่เป็นแกนหลักในการแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ยังถูกจำกัดใน 2 เรื่อง 1.ระเบียบปฏิบัติ ที่ไม่มีความชัดเจนเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจใช้จ่ายงบประมาณ เนื่องจากส่วนกลางยังคงหวงอำนาจในการกำหนดระเบียบและกำหนดแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณ

2.งบประมาณที่จะนำมาใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา ไม่เพียงพอไม่สอดคล้องกับภารกิจที่จะต้องใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหา ช่วงเวลานับตั้งแต่มีโรคระบาด รัฐบาลได้มอบนโยบาย และภารกิจต่างๆ เป็นจำนวนมาก ให้แต่ละจังหวัดรับไปดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา แต่ปรากฏว่านโยบายและภารกิจดังกล่าวถูกส่งต่อไปยัง อปท.เกือบทั้งหมด โดยที่งบประมาณในส่วนที่จัดสรรให้แต่ละจังหวัด ไม่ได้ถูกใช้ เพื่อแก้ปัญหา แต่ใช้งบประมาณของท้องถิ่นแทน

งบประมาณที่จัดสรรให้แก่ อปท.ในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จัดสรรให้ไม่ถึงร้อยละ 30 ของรายได้สุทธิรัฐบาล ในขณะที่กฎหมายกำหนดให้พยายามจัดสรรให้ถึงร้อยละ 35 แต่เมื่อรัฐบาลกู้เงินมาใช้จ่ายเพิ่มเติม มีข้อสังเกตว่าเมื่อรัฐบาลกู้เงินมาจ่ายเพิ่มเติม กลับไม่ได้นำเงินที่กู้มาคิดเป็นสัดส่วนให้แก่ อปท.ด้วย กลับยังคงรวมศูนย์อำนาจในการตัดสินใจใช้จ่ายงบประมาณที่กู้ไว้ที่ส่วนกลางแห่งเดียว ทั้งที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา การใช้จ่ายงบประมาณที่แก้ไขได้ตรงต่อปัญหาในแต่ละพื้นที่นั้น จะต้องอาศัยการตัดสินใจและขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาในระดับท้องถิ่น

ดังนั้น การใช้จ่ายงบประมาณที่รัฐบาลกู้ยืมเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ รัฐบาลไม่ควรคิดนโยบาย คิดโครงการที่ส่วนกลาง แต่ควรอุดหนุนงบประมาณให้ อปท.เป็นองค์กรหลักในการดำเนินการ โดยจะต้องแก้ไขระเบียบปฏิบัติเปิดกว้างให้ อปท.ในระดับพื้นที่สามารถคิดโครงการเพื่อฟื้นฟูแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ จึงจะเป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่กู้มาได้ตรงกับปัญหาในแต่ละพื้นที่อย่างแท้จริง และลักษณะโครงการที่ใช้จ่ายงบประมาณของ อปท.ควรเน้นเรื่องแนวเศรษฐกิจพอเพียง มีลักษณะที่ยั่งยืน ให้ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเอง สำหรับวิธีแจกเงินควรเป็นมาตรการระยะสั้น ไม่สมควรทำอีกต่อไป

ผศ.ดร.ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่สภาพัฒน์ชงกระทรวงการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในประเทศ โดยจะเน้น “ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก” นั้น มองว่ายังต้องระวังในด้านของประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณ เพราะขึ้นกับ 3 ปัจจัย คือ ถูกจุด ถูกเวลา และขนาดของงบประมาณ โดย 1.ถูกจุด การส่งเสริมเรื่องการใช้ digital economy น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยทำให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะยังสามารถเป็นช่องทางใหม่ที่ทำเกิดรายได้ในช่วงที่ต้องรักษาระยะห่างทางสังคม และหลังจากการระบาดหมดไป โดยจากการคำนวณในแบบจำลอง ค่าตัวทวีคูณสูงสุด (multiplier) ที่เป็นไปได้สูงสุดที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ คือ การกระตุ้นที่สาขาการผลิตอาหาร จึงน่าจะสอดคล้องกับนโยบายที่การส่งเสริมให้ท้องถิ่นแปรรูปอาหารแล้วขายผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มต่างๆ

2.ถูกเวลา รัฐบาลต้องระมัดระวังเรื่องการระบาดรอบที่ 2-3 หรือการที่ยังไม่สามารถพัฒนาวัคซีนได้ในระยะเวลาสั้น ทำให้ไม่สามารถนำงบประมาณไปสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มาก เพราะยังต้องรักษาระยะห่างทางสังคม นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการผลิตสินค้าในชุมชนที่ใช้วัตถุดิบทางการเกษตรซึ่งต้องรอรอบการปลูกตามฤดูกาลด้วย และ 3.ขนาดของงบประมาณ ในแบบจำลองเศรษฐกิจ ค่าตัวทวีคูณสูงสุด (multiplier) ที่เป็นไปได้สูงสุดอยู่ที่ประมาณ 3.0 ดังนั้น กรณีสูงสุดที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นไปได้คือการเกิดการหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในระบบเศรษฐกิจประมาณ 6 แสนล้านบาท ซึ่งต้องเปรียบเทียบมูลค่านี้กับเป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลคาดหวังไว้

ในส่วนภาคการท่องเที่ยวมองว่าปัจจัยเรื่องความเชื่อมั่นในความสะอาดเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งเป็นทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้พัฒนาแนวทาง SHA ขึ้นมา และบทความในหนังสือพิมพ์ Southern China morning post ฉบับวันที่ 24 พฤษภาคม ก็นำเสนอเรื่อง SHA นี้ในเชิงบวกเช่นกัน ดังนั้นการใช้ application เพื่อแชร์ข้อมูลด้านความสะอาดของที่พัก ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว น่าจะมีผลมากกว่า และการพัฒนาระบบแอพพลิเคชั่น ให้สามารถรองรับได้ทั้งนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ รัฐบาลจึงควรให้ความสำคัญในด้านนี้ เพื่อควบคุมกับการใช้มาตรการคูปอง

ทั้งนี้ เงินเยียวยาด้านเศรษฐกิจและสังคม จากกรอบโครงการทั้ง 4 ด้าน เห็นว่าผลดีคือจะช่วยในการช่วยพยุงเศรษฐกิจได้บ้างในช่วงเวลาที่ยังต้องรักษาระยะห่าง แต่ระยะยาว ภาระหนี้ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เป็นภาระทางการคลัง ในอนาคตยังมีปัจจัยลบในระยะยาวสำหรับประเทศไทยอีกหลายประเด็น จึงต้องระมัดระวังให้เกิดประสิทธิภาพของการใช้งบประมาณนี้มากที่สุด

ส่วนตัวค่อนข้างเห็นใจในทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน รวมถึงเกษตรกร เพราะก่อนจะเกิดการระบาดของโควิด-19 เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญปัจจัยลบทั้งจากภัยแล้ง และการชะลอตัวของการค้าโลกจากสงครามการค้า เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 ก็ยิ่งซ้ำเติมให้ภาวเศรษฐกิจแย่ไปอีก ทำให้ทั้งเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของไทย ทั้งเกษตร อุตสาหกรรมการส่งออก และภาคบริการ (ท่องเที่ยว) ได้รับผลกระทบพร้อมกัน อีกทั้งการแพทย์และเศรษฐศาสตร์ต้องทำงานร่วมกันและแก้ปัญหาให้รวดเร็วที่สุด

บทเรียนจากการระบาดทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของความรู้ด้านพฤติกรรมของแต่ละบุคคล ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่ผลกระทบส่วนรวม จะเห็นได้ว่าประเทศในเอเชียควบคุมการระบาดได้ดีกว่า และประชาชนในประเทศเอเชียตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาลแตกต่างกับประเทศตะวันตก ซึ่งเหตุการณ์นี้จะเป็นกรณีศึกษาต่อการทำนโยบายอื่นๆ ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image