จังหวะก้าวฟื้นฟู‘บินไทย’ ก่อนถึงวันไต่สวน

จังหวะก้าวฟื้นฟู‘บินไทย’ ก่อนถึงวันไต่สวน

จังหวะก้าวฟื้นฟู‘บินไทย’
ก่อนถึงวันไต่สวน

หมายเหตุ – ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ให้ความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับขั้นตอนการปฏิบัติและการดำเนินการ ภายหลังศาลล้มละลายกลางรับคำร้องฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ซึ่งศาลนัดไต่สวนในวันที่ 17 สิงหาคมนี้

1.หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการการบินไทยแล้ว ตามที่ พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 90/9 กำหนดให้ศาลดำเนินการไต่สวนเป็นการด่วน และให้ศาลประกาศคำสั่งรับคำร้องขอและวันเวลานัดไต่สวนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อย 1 ฉบับ ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง และจะต้องส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ทั้งหลายเท่าที่ทราบ รวมถึงนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือนายทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้อง ก่อนวันนัดไต่สวนไม่น้อยกว่า 7 วัน

ในการส่งสำเนาคำร้องขอแก่เจ้าหนี้ควรตรวจสอบให้ได้ความแน่ชัดถึงความถูกต้องของที่อยู่และภูมิลำเนาของบรรดาเจ้าหนี้ด้วย เพื่อไม่ให้มีเจ้าหนี้มาโต้แย้งคัดค้านในภายหลังว่า การส่งสำเนาคำร้องขอไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะกระทบกับกระบวนพิจารณาคำร้องขอฟื้นฟูกิจการให้ต้องล่าช้าออกไป

Advertisement

2.แม้การที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของการบินไทยจะมีผลให้เกิดสภาวะการพักชำระหนี้ (Automatic Stay) ที่ห้ามเจ้าหนี้ฟ้องร้องและบังคับชำระหนี้จากลูกหนี้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. ล้มละลาย มาตรา 90/12 อันเป็นการจำกัดสิทธิของเจ้าหนี้และบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้เป็นไปได้โดยสะดวกและบรรลุผลสำเร็จตามแผนฟื้นฟูกิจการ

แต่ก็ยังมีข้อยกเว้นตามมาตรา 90/13 ว่า เจ้าหนี้และบุคคลซึ่งถูกจำกัดสิทธิตามมาตรา 90/12 อาจยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อให้มีคำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกข้อจำกัดสิทธิของตนตามมาตรา 90/12 ได้ หากการจำกัดสิทธินั้นไม่มีความจำเป็นต่อการฟื้นฟูกิจการ หรือไม่ได้ให้ความคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอ เช่น เจ้าหนี้มีประกันอาจอ้างว่ามูลค่าของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันได้ลดลงไปอย่างมาก เมื่อศาลได้รับคำร้องในกรณีนี้แล้ว ศาลจะต้องดำเนินการพิจารณาเป็นการด่วน

หากปรากฏเหตุดังกล่าว ศาลมีอำนาจสั่งตามที่เห็นสมควรเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้อง และหากเป็นกรณีไม่ได้ให้ความคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอ ศาลมีอำนาจสั่งให้ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้เจ้าหนี้มีประกันได้รับความคุ้มครองอย่างเพียงพอได้ โดยมาตรา 90/14 ได้กำหนดการดำเนินการที่จะถือว่าเป็นการให้ความคุ้มครองแก่เจ้าหนี้มีประกันอย่างเพียงพอไว้ เช่น มีการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้มีประกันในจำนวนเท่ากับมูลค่าที่ลดลงไปของทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน เป็นต้น

Advertisement

3.หลังจากศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาแล้ว มาตรา 90/9 กำหนดให้ศาลต้องดำเนินการไต่สวนเป็นการด่วน และมาตรา 90/10 กำหนดให้ศาลต้องไต่สวนให้ได้ความจริงและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 90/3 จึงจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการได้ ดังนั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการได้ ศาลจะต้องไต่สวนให้ได้ความดังต่อไปนี้

(1) ได้ความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 90/3 ว่า คำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทย เป็นไปตามหลักเกณฑ์การร้องขอฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ว่า การบินไทยในฐานะลูกหนี้ มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่สามารถที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้ เป็นหนี้เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันเป็นจำนวนแน่นอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท

(2) มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของการบินไทยได้
ศาลฎีกาได้เคยวางแนวทางคำวินิจฉัยกรณีไม่มีเหตุอันสมควรและช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไว้ว่า ลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าสินทรัพย์และมีผลขาดทุนสุทธิจำนวนมาก ทำให้มีผลขาดทุนสุทธิเกินทุนจำนวนมาก โดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตแสดงความเห็นว่าบริษัทมีผลขาดทุนจากการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นจำนวนเงินสูง เป็นเหตุให้สงสัยว่าบริษัทอาจไม่สามารถดำรงอยู่ได้ และเมื่อฟังได้ว่าลูกหนี้ไม่ได้ประกอบธุรกิจแล้ว ลูกหนี้จึงไม่มีโอกาสฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้กิจการของลูกหนี้กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนินกิจการตามปกติต่อไปได้ กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย มาตรา 90/10 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1933/2548)

(3) การบินไทยยื่นคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการโดยสุจริต เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนี้แสวงหาประโยชน์จากมาตรการคุ้มครองกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้โดยอาศัยช่องทางสภาวะการพักชำระหนี้ (Automatic Stay) ตามมาตรา 90/12 ซึ่งกระทบต่อสิทธิของเจ้าหนี้และบุคคลผู้เกี่ยวข้อง โดยไม่สุจริต

ศาลต้องไต่สวนให้ได้ความจริงครบถ้วนทั้ง 3 ข้อนี้ ถึงจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของการบินไทยได้

หากการไต่สวนของศาลปรากฏว่าไม่ได้ความจริงครบถ้วนในข้อใดข้อหนึ่ง ศาลจะมีคำสั่งยกคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของการบินไทย และกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว มาตรา 90/8 กำหนดว่า การบินไทย ผู้ร้องขอฟื้นฟูกิจการจะถอนคำร้องขอไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต

4.ในการไต่สวนคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการของการบินไทย เจ้าหนี้อาจโต้แย้งคัดค้านว่า คำร้องขอฟื้นฟูกิจการของการบินไทยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 90/3 ดังกล่าวข้างต้น หรืออาจจะโต้แย้งคัดค้านว่าผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอมาตามที่ระบุไว้ในคำร้องขอให้ฟื้นฟูกิจการไม่สมควรเป็นผู้ทำแผนก็ได้ ในการคัดค้านผู้ทำแผนนี้ เจ้าหนี้จะเสนอชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วยหรือไม่ก็ได้ โดยเจ้าหนี้ต้องโต้แย้งคัดค้านก่อนวันนัดไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่า 3 วัน ตามมาตรา 90/9 วรรคสาม

ในส่วนความหมายของเจ้าหนี้ ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้ว่ากฎหมายล้มละลายส่วนการฟื้นฟูกิจการให้สิทธิเจ้าหนี้ทุกประเภทยื่นคำคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเพื่อปกป้องสิทธิของตน ส่วนคำว่า “เจ้าหนี้” นั้น คือ ผู้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ ผู้คัดค้านในฐานะผู้เช่าชอบที่จะได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในโรงงานอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาการเช่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 537 และมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะผู้ให้เช่า จึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำคัดค้านการขอฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องขอดังกล่าวตามมาตรา 90/9 วรรคสาม (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8428/2544)

5.หลังจากการไต่สวน เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว หากเจ้าหนี้ไม่คัดค้านผู้ทำแผนที่การบินไทยผู้ร้องขอฟื้นฟูกิจการเสนอ ศาลจะมีคำสั่งตั้งบุคคลที่การบินไทยเสนอเป็นผู้ทำแผน แต่หากเจ้าหนี้คัดค้านผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอและเสนอบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผน หรือศาลเห็นว่าบุคคลที่การบินไทยเสนอไม่สมควรเป็นผู้ทำแผน ศาลจะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้ทั้งหลายโดยเร็วที่สุด เพื่อพิจารณาเลือกบุคคลที่สมควรเป็นผู้ทำแผน ตามมาตรา 90/17 วรรคหนึ่ง

ในกรณีศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแต่ยังไม่มีการตั้งผู้ทำแผน เนื่องจากเกิดเหตุขัดข้องที่มีการคัดค้านผู้ทำแผนตามมาตรา 90/17 วรรคหนึ่งดังกล่าว ศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้บริหารชั่วคราว ให้มีอำนาจหน้าที่จัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ ภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จนกว่าจะมีการตั้งผู้ทำแผน และหากยังไม่สามารถมีคำสั่งตั้งผู้บริหารชั่วคราวได้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเป็นผู้มีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ชั่วคราว ตามมาตรา 90/20 วรรคหนึ่ง

6.ในกรณีมีการคัดค้านผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอ ทำให้ต้องมีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อเลือกผู้ทำแผนดังกล่าว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณากำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่จะประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผนในหนังสือพิมพ์รายวันที่แพร่หลายอย่างน้อย 1 ฉบับล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 7 วัน และต้องแจ้งไปยังลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลายตามบัญชีรายชื่อที่ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้เสนอต่อศาลและเจ้าหนี้อื่นเท่าที่ทราบด้วย และให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นประธานในการประชุมเจ้าหนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 90/18 และเจ้าหนี้มีสิทธิเลือกบุคคลอื่นให้เป็นผู้ทำแผนและเสนอให้ศาลเห็นชอบได้ ด้วยการลงมติของเจ้าหนี้ฝ่ายที่มีจำนวนหนี้ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนหนี้ทั้งหมดของเจ้าหนี้ซึ่งได้ออกเสียงลงคะแนนในมตินั้น ตามมาตรา 90/17 วรรคสอง

หากที่ประชุมเจ้าหนี้ยังลงมติเลือกผู้ทำแผนไม่ได้ มาตรา 90/17 วรรคสี่ กำหนดให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรียกประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาเลือกผู้ทำแผนอีกครั้งหนึ่ง เว้นแต่ในกรณีที่เห็นสมควรศาลมีอำนาจสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการได้ เช่น ศาลเห็นว่าแม้จะมีการประชุมเจ้าหนี้ในครั้งต่อไปก็คงจะเลือกผู้ทำแผนไม่ได้

ดังนั้น การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีฟื้นฟูกิจการของการบินไทยจะต้องมีเหตุให้ล่าช้าออกไป หากมีการคัดค้านผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอ

หากต้องการให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีฟื้นฟูกิจการของการบินไทย เป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็วไม่มีข้อขัดข้อง การบินไทยควรที่จะทำให้บรรดาเจ้าหนี้มีความเชื่อมั่นและความไว้วางใจบุคคลที่การบินไทยเสนอให้เป็นผู้ทำแผนด้วย เพื่อให้เจ้าหนี้เห็นชอบด้วยกับผู้ทำแผนที่การบินไทยเสนอโดยไม่มีการคัดค้าน

ประการที่สำคัญ กระบวนการฟื้นฟูกิจการจะประสบผลสำเร็จและบรรลุเจตนารมณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการฟื้นฟูกิจการได้ ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้เป็นสำคัญ โดยกิจการของการบินไทยยังสามารถดำรงอยู่และฟื้นกิจการกลับมามีกำไรตามปกติได้ไม่ล้มละลาย และเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้อย่างเป็นธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image