วิเคราะห์ : มอง พท. แตกพรรค การเมือง นิว นอร์มอล ‘เล็ก’ ดีกว่า ‘ใหญ่’

วิเคราะห์ : มอง พท. แตกพรรค การเมือง นิว นอร์มอล ‘เล็ก’ ดีกว่า ‘ใหญ่’

วิเคราะห์ : มอง พท. แตกพรรค การเมือง นิว นอร์มอล ‘เล็ก’ ดีกว่า ‘ใหญ่’

สมัยการประชุมรัฐสภาเปิดขึ้นแล้ว บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทำหน้าที่ในการพิจารณา พ.ร.ก. 4 ฉบับ ที่ออกมาใช้กับสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด
สมัยการประชุมนี้ มีการตรวจเช็กจำนวน ส.ส. จากจำนวนเต็มตามรัฐธรรมนูญ 500 คน พบว่า ณ วันที่ 27 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรกของการพิจารณา พ.ร.ก. 4 ฉบับ สภาผู้แทนฯ มี ส.ส. 487 คนแบ่งเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 274 เสียง
ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 118 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 52 เสียง พรรคภูมิใจไทย 61 เสียง พรรคชาติไทยพัฒนา 11 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย 2 เสียง
พรรคพรรคพลังชาติไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชานิยม พรรคประชาธรรมไทย พรรคพลเมืองไทย พรรคพลังธรรมใหม่ พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคไทรักธรรม พรรคละ 1 เสียง
พรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง และพรรคประชาชาติ 1 เสียง
ส่วนพรรคฝ่ายค้าน มี 213 เสียง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 134 เสียง พรรคก้าวไกล56 เสียง
พรรคเสรีรวมไทย 10 เสียง พรรคประชาชาติ 6 เสียง พรรคเพื่อชาติ 5 เสียง พรรคพลังปวงชนไทย 1 เสียง
และพรรคเศรษฐกิจใหม่ 1 เสียง
เสียงของรัฐบาลมากกว่าฝ่ายค้าน 61 เสียง

การเปลี่ยนแปลงจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรคมีทั้งการเลือกตั้งทดแทน การต้องคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ การย้ายพรรคเนื่องจากพรรคเดิมถูกยุบ รวมไปถึงกรณี “งูเห่า”
ล่าสุด อิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ ส.ส.จากพรรคเพื่อไทยเสียชีวิต และจะมีการเลือกตั้งซ่อม เขตเลือกตั้งที่ 4 จังหวัดลำปาง ในวันที่ 20 มิถุนายน
การเลือกตั้งวันดังกล่าว กกต.ได้เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 22-26 พฤษภาคม
ผลจากการรับสมัครเกิดประเด็นเซอร์ไพรส์ขึ้นมา เมื่อ นายพินิจ จันทรสุรินทร์ บิดาของนายอิทธิรัตน์ ปฏิเสธที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งซ่อม โดยระบุเหตุผลว่ายังโศกเศร้าเสียใจ
ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแชมป์ในพื้นที่เขต 4 ลำปางก็ไม่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง
เปิดทางให้ ร.ต.ท.สมบูรณ์ กล้าผจญ ผู้สมัครจากพรรคเสรีรวมไทย ลงสู้ศึกแทนพรรคร่วมฝ่ายค้าน
กระทั่งเกิดเป็นคำถามถึงสาเหตุที่แท้จริง
ทำไมทั้งพรรคและคนของเพื่อไทยจึงไม่ลงสนาม

เมื่อวกกลับมาจับจ้องมองความเป็นไปของพรรคเพื่อไทยก็พบว่าระยะหลังมีปัญหาภายใน
หลังจากเกิด “ผิดคิว” จากกรณีพรรคไทยรักษาชาติ ดูเหมือนว่าพรรคเพื่อไทยจะตกเป็นรองพรรคฝ่ายรัฐบาล
สมัยการประชุมแรกของรัฐสภา การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล กลายเป็นประเด็นที่กระทบต่อความน่าเชื่อถือของพรรคเพื่อไทยไม่ใช่น้อย
กระทั่งการอภิปรายพลาดเป้า ไม่สามารถพาดพิงถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีได้
กลายเป็นข้อครหาเรื่อง “ฮั้ว” ยังคงกึกก้องมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ในช่วงเวลาปิดสมัยการประชุม พรรคเพื่อไทยก็ปรากฏข่าวการ “แตกพรรค”
นั่นคือ มีข่าวว่า กลุ่ม นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล นายภูมิธรรม เวชยชัย นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี จะแยกมาตั้งพรรคการเมืองพรรคใหม่
มีข่าวพาดพิงไปถึงกลุ่มที่ชื่อ “กลุ่มแคร์”
ขณะเดียวกัน มีข่าวว่า นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตที่ปรึกษาของพรรคไทยรักษาชาติ ก็จะตั้งพรรคการเมืองใหม่เช่นกัน
ทั้งนี้นายจาตุรนต์ยืนยันแล้วว่าข่าวที่จะตั้งพรรคการเมืองเป็นจริง
ส่วนนายภูมิธรรมยังไม่ยืนยัน แต่ก็ไม่ปฏิเสธ

Advertisement

ปรากฏการณ์ดังกล่าวหากเป็นจริง เท่ากับพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย กำลังจะซอยย่อยเป็นพรรคที่เล็กลง
การแบ่งพรรคเช่นนี้ มุมหนึ่งมองว่า เป็นการลดความขัดแย้งภายในพรรคใหญ่
เป็นการแก้ไขปัญหาภายใน
หรือจะมองอีกมุมหนึ่งก็ได้ว่า เป็นการเพิ่ม “ทางเลือก” ทางการเมืองให้แก่พรรคใหญ่
เป็นการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของพรรคภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน
เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่เอื้อให้มีพรรคการเมืองใหญ่ 2 ขั้วเหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2540
รัฐธรรมนูญปัจจุบันนี้ ไม่เอื้อให้รัฐบาลมีพรรคการเมืองเดียว อย่างเช่นพรรคไทยรักไทยในครั้งอดีต
รัฐบาลปัจจุบันจึงเป็นรัฐบาลผสม 20 พรรค
นี่จึงเป็นอานุภาพจากรัฐธรรมนูญปี 2560

เช่นเดียวกับพรรคการเมืองฝ่ายค้าน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยซึ่งยืนอยู่ตรงข้ามขั้วกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาตั้งแต่ถูกรัฐประหารเมื่อปี 2557
การดำรงพรรคเพื่อไทยให้เป็นพรรคใหญ่ เริ่มปรากฏปัญหาความยุ่งยากและความขัดแย้ง
ขณะที่พรรคการเมืองที่มีขนาดเล็ก มีโอกาสทางการเมืองมากกว่าพรรคขนาดใหญ่
หลังจากการเลือกตั้งใหญ่ครั้งล่าสุด และการจัดตั้งรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นมา เป็นเครื่องพิสูจน์
คำวินิจฉัยของ กกต. หลายครั้งเป็นเครื่องยืนยัน
ยืนยันให้เห็นว่าผู้สมัคร ส.ส.บางคน แม้จะมีคะแนนเลือกตั้งน้อยแค่หลักพัน ก็มีโอกาสเข้าสภาผู้แทนฯได้เหมือนๆ กับ ส.ส.ที่ได้รับคะแนนเลือกตั้งหลักหมื่น
ยืนยันให้เห็นว่า พรรคการเมืองขนาดเล็กก็มีโอกาสได้ ส.ส. และเมื่อมี ส.ส.แล้ว ก็มีโอกาสต่อรองกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ในสภา
เช่นเดียวกับการยืนยันให้เห็นว่า ส.ส.ที่ก่อนเลือกตั้ง สังกัดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่พอได้เป็น ส.ส.แล้ว มีสิทธิที่จะเปลี่ยนสังกัดพรรคการเมืองไปอยู่อีกพรรคการเมืองหนึ่งได้
สามารถที่จะเปลี่ยนจากฝ่ายค้านไปนั่งอยู่ฟากฝั่งของฝ่ายรัฐบาลได้โดยไร้ความผิดทั้งกฎหมาย และไม่ผิดจริยธรรม
ด้วยกระบวนการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลที่แรกเริ่มอาจจะไม่ค่อยมีเสถียรภาพ
เมื่อสมัยการประชุมที่แล้วมีการกล่าวถึงปัญหา “เสียงปริ่มน้ำ”
ผ่านไป 1 สมัยประชุม เสียงที่เคยปริ่มน้ำค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น จนเหนือกว่าฝ่ายค้าน
กระทั่งรัฐบาลมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้าน 61 เสียง

การเคลื่อนตัวของพรรคการเมืองขนาดใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย จึงเป็นสัญญาณการปรับตัวของการเมือง
เมื่อกฎกติกาเปลี่ยนแปลง หลายอย่างที่เคยผิด กลับกลายเป็นถูก
หลายอย่างที่เคย “ไม่ใช่” กลับกลายเป็น “ใช่”
กฎกติกาเช่นนี้ หากการเมืองตั้งใจจะเอาตัวรอดให้ได้ จำเป็นต้องปรับตัว
ความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย เป็นสัญญาณของการเมือง
เริ่มขยับ เริ่มปรับตัว

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image