แนวโน้มโควิด-19คลี่คลาย ‘พรก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว’ยังจำเป็น?

แนวโน้มโควิด-19คลี่คลาย ‘พรก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว’ยังจำเป็น?

แนวโน้มโควิด-19คลี่คลาย ‘พรก.ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว’ยังจำเป็น?

หมายเหตุเป็นความเห็นนักวิชาการในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความจำเป็นที่ต้องคงการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และการกำหนดเวลาเข้าออกเคหสถานหรือเคอร์ฟิว อยู่อีกหรือไม่

ยอดพล เทพสิทธา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

Advertisement

ความจริงแล้วควรจะมีการทำดัชนีชี้วัด (เคพีไอ) ตั้งแต่แรกว่า การประกาศเคอร์ฟิวที่ผ่านมามีผลบวกหรือลบต่อจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ เท่าไร อย่างไร หากไม่มีข้อมูลส่วนนี้ก็มองว่า การทดลองยกเลิกเคอร์ฟิว 15 วันจะไม่มีประโยชน์ เพราะเวลานี้สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว เมื่อไม่มีตัวชี้วัดให้เห็นเป็นรูปธรรมว่าสถานการณ์ดีขึ้นเพราะอะไร ฉะนั้นการที่จะมาทำเคพีไอตอนที่ตัวเลขการติดเชื้อน้อยแล้ว จึงไม่มีประโยชน์

แตกต่างจากในต่างประเทศ เช่น ประเทศแถบยุโรป ค่อนข้างชัดเจน สามารถบอกได้ว่ามาตรการล็อกดาวน์ลดสถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้อย่างไร สถิติมีความละเอียดกว่าของไทย เพราะไทยเมื่อมีการล็อกดาวน์ก็ไม่มีการเก็บสถิติอื่นใดทั้งสิ้น มีเพียงการเก็บสถิติยอดผู้ติดเชื้อว่า วันนี้เพิ่มขึ้นหรือลดลง ติดเพิ่มกี่คน แต่ไม่มีการบอกว่าที่ไม่ติดเชื้อนั้น เป็นเพราะมาตรการล็อกดาวน์หรือเป็นเพราะการปิดกิจการบางอย่าง

ความจริงมีหลายภาคส่วนที่ออกมาเรียกร้องกับรัฐบาลก่อนหน้านี้ว่า ควรยกเลิกเคอร์ฟิวได้แล้ว เพราะคนทำมาหากินเวลากลางคืนทำงานไม่ได้ อีกทั้งข้อสำคัญคือ มีกิจการหลายอย่างตอนกลางคืนที่ส่วนตัวมองว่าใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ก็เพียงพอ และไม่จำเป็นต้องเคอร์ฟิว

Advertisement

จึงยังยืนยันเหมือนเดิมตั้งแต่แรกว่า ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะมาตรการต่างๆ ใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพียงพอในการควบคุมโรคอยู่แล้ว

ดังนั้น การที่จะขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปอีก 1 เดือน โดยไม่ห้ามการชุมนุม เพื่อให้เห็นว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ได้หวังผลทางการเมืองนั้น ส่วนตัวมองว่า ไม่จริง เพราะมาตรการควบคุมโรคติดต่อมีครบทุกอย่าง รวมทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคมด้วย ซึ่งเพียงพอแล้ว หากจะยกเลิกเคอร์ฟิวแล้วจะคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้เพื่ออะไร ก็เพราะการเคอร์ฟิวเป็นมาตรการเดียวต้องออกโดย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อไม่มีอำนาจตรงนี้

หรือกรณีจะอ้างว่าต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะจำเป็นต้องใช้อำนาจสั่งกักตัว 14 วันทั้งคนไทยและต่างชาติที่บินเข้ามา ก็มองว่าไม่เกี่ยวเช่นกัน เพราะ พ.ร.บ.ควบคุมโรคติดต่อก็ทำได้ ส่วนเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินให้อำนาจปิดน่านฟ้า ก็ใช้ พ.ร.บ.เดินอากาศได้ ทุกอย่างมีมาตรการหมด ส่วนที่ว่าเป็นช่วงเปิดเทอมต้องคงไว้ก่อน ข้อนี้ยิ่งไร้สาระ เพราะสามารถออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

หรือจะใช้วิธีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปก่อน หากสถานการณ์แย่ลงค่อยกลับมาประกาศใช้ ก็ย่อมได้อีก เพราะกฎหมายประเภทพระราชกำหนด เป็นอะไรที่ประกาศใช้ง่ายอยู่แล้ว ดังนั้น จุดประสงค์ที่แท้จริงก็เพื่อป้องกันในหลายเรื่อง รวมถึงการกู้เงินที่กำลังอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้ด้วย

พ.ร.ก.ฉุกเฉินเสมือนเพียงข้ออ้าง จะเห็นจากกรณีเด็กไปผูกโบขาวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเด็กไปกัน 4 คน ไม่ถึง 5 คน ความผิดจึงไปโดนเรื่อง พ.ร.บ.รักษาความสะอาด เป็นโทษปรับ กลายเป็นว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินคือ “ยาวิเศษ” ที่ทำได้ทุกอย่างให้คนกลัวเท่านั้นเอง ความจริงล้วนเป็นผลทางการเมืองทั้งสิ้น

 

พัฒนะ เรือนใจดี
อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

ต้องเปรียบเทียบระหว่าง พ.ร.บ.โรคติดต่อ กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ว่าอันไหนที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อทำได้ ซึ่งกฎหมายนี้ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด หรือคณะกรรมการประจำจังหวัด ดังนั้น หากเรื่องไหนที่เกินอำนาจผู้ว่าฯกับคณะกรรมการประจำจังหวัด จะต้องอาศัยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งพบว่ามีหลายส่วนที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อทำไม่ได้ เช่น การตรวจค้น การขอความร่วมมือจากประชาชน การสั่งหยุดกิจการ สิ่งเหล่านี้ พ.ร.บ.โรคติดต่อได้ลำบาก เพราะจะไปกระทบกับสิทธิเสรีภาพ แต่ถ้าเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่สามารถตรวจค้นจับกุม ดำเนินคดีได้ ดังนั้น หากตั้งหลักได้ว่าเป็นเรื่องนอกจากอำนาจของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ก็ต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินไว้

โควิด-19 ไม่ได้เลือกว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ หรืออยู่ในจังหวัดที่เป็นพื้นที่สีแดง ดังนั้น ถ้าคงการควบคุมก็ต้องคงไว้ทั้งประเทศ เพราะหากคงไว้ในกรุงเทพฯ แต่ถ้าคนกรุงเทพฯเดินทางไปต่างจังหวัดก็ไม่มีประโยชน์ หนำซ้ำยังกระทบเศรษฐกิจ ส่วนที่กล่าวว่าเคอร์ฟิว 5 ทุ่มถึงตี 3 หรือเที่ยงคืนถึงตี 4 ก็ค่อยว่ากัน รวมถึงเรื่องอาชีพใดควรเอาออกอีกบ้าง อาชีพใดคงไว้ ก็คงต้องดูในรายละเอียดอีกครั้ง

ส่วนตัวจึงเห็นด้วยกับแนวคิดทดลองยกเลิกเคอร์ฟิว 15 วัน เพราะของเหล่านี้ไม่มีใครรู้มาก่อนว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น เหมือนกับ State Quarantine ซึ่งไม่รู้ว่าได้ผลหรือไม่ แต่พอทำ State Quarantine นำคนที่เพิ่งลงจากสนามบินไปกักตัว ปรากฏว่าได้ผล เรื่องนี้ก็เหมือนกัน เป็นเรื่องโรคระบาด เราไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร ดังนั้น การทดลองก่อนจึงน่าจะดี

การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกรอบหรืออีก 2 รอบไม่น่ากังวล เพราะสิ่งสำคัญที่รัฐบาลกังวลมาก คือถ้าเกิดการระบาดแล้วจะเอาไม่อยู่ ซึ่งต้องขีดเส้นใต้เลยว่าหากวันนี้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อีก 15 วันประกาศใหม่ และอีก 10 วันยกเลิก แล้วประกาศใหม่ แบบนี้ไม่มีปัญหา เหมือนที่ ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าทุบด้วยค้อนแล้วฟ้อนรำ ดังนั้น จึงเทียบได้ว่าเปิดแล้วปิด ปิดแล้วเปิด ประกาศแล้วยกเลิกจึงไม่มีปัญหา แต่ปัญหาคือจะมีตัวชี้วัดอะไรที่บอกว่า บัดนี้เราต้องกลับมาปิดอีกครั้งหนึ่ง ต้องกลับมาออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องทางการแพทย์ที่แหลมคมมาก เพราะหากไม่สามารถยกเลิกหรือออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ทันเวลา การระบาดรอบ 2 จะทำให้ระบบสาธารณสุขทั้งหลายเอาไม่อยู่ ตอนนี้จะเห็นได้ว่าตัวเลขผู้ป่วยน้อย โรงพยาบาลรับมือไหว ยังไปได้ แต่การระบาดรอบใหม่นั้นหมอย้ำมาตลอดว่า มันไม่เพียงคูณ 2 แต่มันยกกำลัง 2

อย่ากังวลเรื่องการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน วันนี้เรายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าในอนาคตเกิดปัญหาอะไรอีกก็เอา พ.ร.ก.ใหม่มาใช้ได้อีก ไม่ใช่เรื่องเสียหน้าของรัฐบาลว่าถ้ายกเลิกแล้วจะโดนคนต่อว่า อย่าลืมว่าสุขภาพต้องไปคู่กับเศรษฐกิจ หากเอาสุขภาพดี แต่คนทำมาหากินไม่ได้ก็เป็นไปไม่ได้

ธนวรรธน์ พลวิชัย
อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีไว้เพื่อดูแลควบคุมสถานการณ์โควิด-19 แบบครบวงจรและรวดเร็ว สามารถออกกฎระเบียบในกรณีปกติทำไม่ได้ รวมถึงทำให้รัฐบาลมีอำนาจในการกำหนดเคอร์ฟิวเพื่อควบคุมสถานการณ์ได้ การที่รัฐบาลออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินสามารถทำให้ควบคุมการแพร่กระจายของโรคได้ดีขึ้น หลายประเทศมองว่าไทยสามารถแก้ไขปัญหาได้ดี เพราะการจำกัดช่วงเวลาเคอร์ฟิว ทำให้คนเคลื่อนตัวออกมาตอนกลางคืนน้อย

การกำหนดกรอบเวลาเคอร์ฟิว รัฐบาลได้ปรับคลายล็อกมาเรื่อยๆ จากเวลา 22.00-04.00 น. เป็น 23.00-04.00 น. และล่าสุดเป็น 23.00-03.00 น. ถือว่าเป็นการปรับเวลาให้ประชาชนได้ปรับตัวโดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้า ที่มีเวลาในการเตรียมตัวขายของได้มากขึ้น ส่งผลให้พัฒนาของเศรษฐกิจค่อยปรับตัวดีขึ้น

สถานการณ์โควิด-19 แม้มีแนวโน้มดีขึ้นแล้ว แต่ยังมีคนไทยหลายคนเป็นห่วง และกังวลว่าจะเกิดการแพร่กระจายในรอบที่ 2 เพราะฉะนั้น การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์ที่ยังต้องเฝ้าระวังโควิด-19 สามารถคงไว้ได้

ส่วนการจะมีเคอร์ฟิวหรือไม่มี อาจไม่ได้มีการยกเลิกในทันที แต่จะมีการคลายล็อกมากขึ้น เพื่อเอื้อต่อธุรกิจที่ต้องทำงานตอนกลางคืน อาทิ คนขับแท็กซี่ เป็นต้น โดยจะใช้วิธีการทดลองก่อนว่า หากยกเลิกเคอร์ฟิวแล้วอาชีพเหล่านี้จะได้รับรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ และรัฐบาลสามารถควบคุมภาพรวมเศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน ก่อนนำไปสู่การผ่อนปรนในระยะที่ 5 ซึ่งมีการเปิดผับและอาบอบนวด มองว่าตอนนี้อยู่ในช่วงของการทดลอง ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน เพื่อไม่ให้เกิดการถูกปิดธุรกิจซ้ำต่อไป

จุดสำคัญที่ต้องมีเคอร์ฟิว เพราะแม้จะปิดผับบาร์ แต่ยังพบว่ามีการนัดชุมนุมเพื่อดื่มสุรา เมื่อมีอาการมึนเมาจะทำให้มีการแพร่กระจายโรคได้ง่ายขึ้น จึงต้องมีการเคอร์ฟิว เพื่อลดผลกระทบที่ตามมาให้ได้มากที่สุด ตอนนี้จากการที่ไทยปลอดเชื้อโควิด-19 ภายในประเทศมาได้ประมาณ 17 วัน ทำให้รัฐบาลมองว่าการติดเชื้อของไทยในรอบที่ 2 อยู่ในกรอบที่ควบคุมได้ จึงเริ่มมีการคลายล็อกให้ธุรกิจกลับมาเป็นปกติมากขึ้น เพิ่มระยะเวลาในการเปิดร้านอาหาร ทำให้พนักงานเสิร์ฟกลับมามีอาชีพและรายได้ รวมถึงจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาใกล้เคียงปกติอีกครั้ง แต่กลุ่มที่ยังได้รับผล
กระทบอยู่ คือ คนที่ทำงานในผับ และอาบอบนวด อาจมีการคลายล็อกธุรกิจดังกล่าวเดือนกรกฎาคม ซึ่งจะล้อไปกับการทดลองยกเลิกเคอร์ฟิว เพื่อเตรียมพร้อมกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติพอดี ส่วนตัวเชื่อว่าแนวคิดนี้เป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ ทำให้คนที่ต้องทำอาชีพในตอนกลางคืนกลับมามีอาชีพอีกครั้ง

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเรื่องการนำนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับมาเที่ยวไทย โดยภาครัฐมีการเสนอให้จับคู่ประเทศที่สามารถจัดการสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี (ทราเวล บับเบิล) เพื่อแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว เปิดให้ไปมาหาสู่กันได้โดยไม่ต้องถูกกักตัว ซึ่งต้องดูท่าทีของรัฐบาลอีกครั้งว่าจะดำเนินการด้วยวิธีใด

หากไทยสามารถควบคุมไม่ให้เกิดการติดเชื้อภายในประเทศได้ 28 วัน ถือว่าในประเทศไม่พบการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว แต่ต้องเฝ้าระวังต่อไป ซึ่งเหตุการณ์ที่ถือเป็นข้อพิสูจน์ว่า ไทยมีแนวโน้มควบคุมการระบาดได้แล้ว คือเหตุการณ์ที่หาดบางแสนที่มีประชาชนออกไปเที่ยวเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากผ่านมาหนึ่งสัปดาห์ยังไม่พบการรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อจากสถานที่ดังกล่าวเลย ถือเป็นแนวโน้มที่ดีเป็นอย่างมาก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image