จับตา‘พปชร.’ผลัดใบ ต่ออายุรัฐนาวา‘บิ๊กตู่’

จับตา‘พปชร.’ผลัดใบ ต่ออายุรัฐนาวา‘บิ๊กตู่’

จับตา‘พปชร.’ผลัดใบ
ต่ออายุรัฐนาวา‘บิ๊กตู่’

หมายเหตุความเห็นจากนักวิชาการกรณีพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เตรียมประชุมใหญ่ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ วันที่ 27 มิถุนายนนี้ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะมาเป็นหัวหน้าพรรค และกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศจะเป็นรัฐบาลนิว นอร์มอล ถือเป็นการปรับโครงสร้างครั้งสำคัญของ พปชร. จะมีผลต่ออายุรัฐบาลบิ๊กตู่หรือไม่ อย่างไร

วีระ เลิศสมพร
คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.พะเยา

เรื่อง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้รับการวางตัวให้เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) คนใหม่ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ เพราะมีข่าวอยู่ตลอด อันที่จริงก็มีข่าวมาตั้งแต่ก่อนโควิด-19 ด้วยซ้ำไป ขณะเดียวกันก็มีการเปลี่ยนแปลงทีมงานชุดใหม่ น่าสนใจว่าจะจัดวางอย่างไรให้ลงตัวทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้เกิดคลื่นใต้น้ำ

Advertisement

ความเปลี่ยนแปลงภายในพรรคพปชร.มองได้ทั้งการแย่งชิงอำนาจและเกมการเมือง 2 คำนี้ตรงไปตรงมา สอดคล้องกับการเมืองไทยมาตลอด นั่นคือการเล่นเกมการเมือง แต่นี่เป็นเกมการเมืองที่เกิดขึ้นภายในพรรคแกนนำรัฐบาล แสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นการเมืองเก่าหรือปัจจุบันก็ยังคงอยู่

หากมองในมุมวิชาการถือว่าเป็นโจทย์สำคัญที่ว่าคนทั่วไปอยากเห็นการเมืองไทยในมิติใหม่ หมายความว่าลดการแย่งชิงอำนาจภายในพรรค หากใช้คำด้านบวกคือการต่อสู้กันในทางการเมือง เป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ โดยแข่งขันกันตามกติกา แต่ถ้าทำจนเกินพอดี เกิดภาพลักษณ์ไม่ดีก็จะเข้าสู่โหมดของการแก่งแย่งชิงอำนาจ นี่เป็นเส้นคั่นบางๆ ถ้าข้ามพรมแดนไปแล้วก็จะเป็นการแก่งแย่งชิงอำนาจ หรือเป็นคำในเชิงลบทันที ขณะเดียวกัน หากถอยกลับไปแบบการแข่งขันอย่างยุติธรรม มีกติกา รู้จักมารยาททางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนอยู่พรรคเดียวกัน ก็จะเข้าสู่โหมดการแข่งขัน

ดังนั้น จึงมองว่าคำ 2 คำนี้เป็นคำที่อยากเห็นมาตลอด แต่ไม่เกิดขึ้นเลย เราจึงได้ยินแต่คำว่าแก่งแย่งชิงอำนาจ รวมทั้งคำว่าเล่นเกมการเมือง ดูเบาขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ในเรื่องคำเหล่านี้มีผลเป็นลูกโซ่ในการวิเคราะห์ทางวิชาการ เพราะเป็นคำที่นำมาสู่การสร้างภาพลักษณ์ให้ประชาชนได้เห็น ถ้าเขาเห็นคำในเชิงลบมากๆ ก็จะเกิดความเบื่อหน่าย หรือรู้สึกไม่ดีต่อการเมือง

Advertisement

ส่วนกรณีไม่นานมานี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมากล่าวถึงการทำงานแบบนิว นอร์มอลนั้น หากมองในมุมแรกคือท่านใช้คำที่สอดคล้องกับยุคสมัย พยายามสื่อสารกับคนในสังคมว่ารัฐบาลพร้อมและมีการวางแผนว่าจะปรับเปลี่ยนการทำงาน โครงสร้างต่างๆ ให้เกิดในยุคใหม่ หรือนิว นอร์มอล แต่จะนิว นอร์มอลอย่างไรก็ต้องดูในรายละเอียดอีกครั้ง ขณะนี้ยังไม่ชัดเจน

ประการต่อมา ถามว่าจะเป็นวาทกรรมสวยหรูหรือไม่ ก็สามารถมองได้ในแง่ที่ว่าประชาชนควรติดตามให้คะแนน หรือทำการประเมินว่าสิ่งที่ท่านพูดวันนี้นั้น ในวันพรุ่งนี้ หรือต่อๆ ไปจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ หากในอนาคตได้ประเมินแล้วว่าไม่เป็นไปอย่างที่กล่าวไว้ ก็แสดงว่าเป็นเพียงวาทกรรมสวยหรูเท่านั้นเอง

สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการรัฐศาสตร์

การปรับเปลี่ยนหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐมีเป้าประสงค์เพียงจะแสดงให้เห็นว่าการปรับ ครม.ครั้งต่อไป จะต้องทำให้นักการเมืองในพรรคมีความพอใจ เพราะเดิมกลุ่มที่เคลื่อนไหวไม่สามารถต่อสายคุยโดยตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ และเชื่อว่า พล.อ.ประวิตร น่าจะนำความเห็นหรือสิ่งที่ต้องการไปเจรจาให้ประสบความสำเร็จได้ หรือทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ยอมรับว่าพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มากกว่าการมองว่าพรรคนี้เข้ามาอาศัยบุญบารมีทางการเมืองจากท่าน

ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่าการปรับ ครม.เป็นการตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว แต่ในทางการเมืองใครเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องพูดแบบนี้ แต่การทำงานในระบบก็ต้องฟังความเห็นรอบด้าน และคราวนี้ต้องดูว่าอำนาจต่อรองของนายกรัฐมนตรีมีมากแค่ไหน หลังจาก 3 ป.ถูกมองว่าเป็นระดับ 3 ทหารเสือ กลับกลายเป็นว่าวันนี้ พล.อ.ประวิตร พลิกบทบาทเป็นผู้บุกเบิกมาเป็นนักการเมืองเต็มตัว ทั้งที่ไม่ได้เป็น ส.ส.อย่างที่ไม่เคยมีใครกล้าทำมาก่อน และคนภายนอกอาจจะมองว่าเป็นการลดชั้น แต่ พล.อ.ประวิตร อาจจะมีเหตุผลอื่นที่บอกไม่ได้ แต่การทำหน้าที่หัวหน้าพรรคหลังโดนทาบทาม ต้องผ่านความเห็นหรือมีไฟเขียวจาก พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ แล้ว

หลังจาก พล.อ.ประวิตร มาทำหน้าที่หัวหน้า หากพรรคยังไม่สงบ ทั้งที่ให้บางสิ่งที่ต้องการไปแล้ว ก็ไม่มีหนทางอื่น เพราะ 3 ป.เชื่อว่านักการเมืองหลายกลุ่มในพรรคก็คงไม่มีใครต้องการปลีกตัวออกไป เนื่องจากเชื่อว่านักการเมืองทุกคนต้องการทำหน้าที่ในสายปฏิบัติการในฐานะพรรครัฐบาล ไม่มีใครอยากเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือการมาของ พล.อ.ประวิตร จะส่งผลกระทบกับบรรดา 4 กุมาร จะต้องดูว่าในอนาคตจะถูกตัดบัวไม่เหลือเยื่อใยหรือไม่ หรือว่าอาจตัดสินใจจะดึงบางคนไว้ทำงาน

ขณะที่การกำหนดทิศทางหรือนโยบายในการทำงานด้านเศรษฐกิจจะมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่มีใครเหมาะสมกับทุกสถานการณ์หรือปัญหาที่รอให้แก้ไขทั้งระยะสั้น ระยะยาว แต่คนมีอำนาจต้องเลือกใช้คนให้ถูกกับงาน เหมาะกับสถานการณ์เฉพาะหน้า ไม่ทราบว่าการปรับ ครม.ที่จะเกิดขึ้นมองจุดนี้หรือไม่ ที่น่าสนใจที่สุดต้องดูว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ เชื่อมโยงกับกลุ่มธุรกิจได้ ยังมีโอกาสทำงานต่อไปหรือไม่ หรือจะใช้บริการเทคโนแครต

ชัยธวัช เสาวพนธ์
นักวิชาการอิสระ

กรณี ส.ส.พรรค พปชร.สนับสนุน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ พปชร.เป็นพรรคมาจากนักการเมืองหลายกลุ่ม ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งง่าย หลังร่วมรัฐบาลมากว่า 5 ปี ปรากฏว่าทีมเศรษฐกิจแก้ปัญหาไม่ได้ ใช้มุขเดิม คือแจกเงินอย่างเดียว ตามแนวทางประชานิยม แต่ไม่ตรงเป้าหมาย เพราะผู้มีรายได้น้อย หรือคนจน ส่วนใหญ่ไม่ได้รับการช่วยเหลือหรือเยียวยามากนัก จึงเกิดปัญหาการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ไม่สามารถเดินไปสู่เป้าหมาย คือฟื้นเศรษฐกิจฐานรากได้

การเปลี่ยน พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้า พปชร. เชื่อว่ามีเป้าหมายนำไปสู่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจ เพราะสภาได้ผ่านพิจารณากู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทแล้ว เพื่อฟื้นเศรษฐกิจในระยะยาว หากไม่เปลี่ยนทีมเศรษฐกิจอาจส่งผลให้รัฐบาลล้มเหลวได้ จำเป็นต้องมีทีมเศรษฐกิจใหม่ที่เข้มแข็ง และคิดนอกกรอบ หาวิธีการใหม่ๆ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้า และให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลก หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงแล้ว

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีแนวคิดปรับการทำงาน ครม.เป็นนิว นอร์มอล หรือชีวิตวิถีใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่การปฏิบัติไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด เพราะการเมืองไทยเป็นอำนาจนิยมที่ปลูกฝังมายาวนาน ยึดผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องเป็นหลัก ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ต้องทำเป็นตัวอย่างก่อน ลดทิฐิและอคติกับคนเห็นต่างเป็นอันดับแรก ถ้าทำไม่ได้ อย่าหวังการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ได้ปฏิเสธแนวคิดนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ 1 ตำบล 1 ผลิตภัณฑ์ หรือโอท็อป และส่งเสริมธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) เพื่อให้ผู้ประกอบการสร้างงานและรายได้สู่ชุมชนแบบยั่งยืน หรือพึ่งพาตนเองได้ ไม่ต้องรอความช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว เพราะรัฐบาลไม่ต่อยอดแนวทางดังกล่าว ทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจไม่ต่อเนื่อง หากรัฐบาลสามารถฟื้นฟูท่องเที่ยวได้ พร้อมต่อยอดโอท็อปและเอสเอ็มอีเป็นแนวทางคู่ขนาน เชื่อว่าฟื้นเศรษฐกิจได้

หากฟื้นฟูท่องเที่ยว โอท็อป และเอสเอ็มอีได้ 30-40% ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว ขึ้นอยู่กับฝีมือทีมเศรษฐกิจใหม่ว่าอายุรัฐบาลจะยาวหรือสั้นกว่าเดิม จะได้ไปต่อหรือไม่ ถือเป็นโจทย์และท้าทายความสามารถ ครม.ชุดใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย

ยุทธพร อิสรชัย
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

เชื่อว่าการนำ พล.อ.ประวิตร เข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้มีส่วนในการเสริมเสถียรภาพในการทำงานของรัฐบาลโดยตรง นอกจากนั้นมีความเป็นไปได้ที่มีโอกาสจะเป็นสายล่อฟ้า ขึ้นอยู่กับการปรับ ครม.ว่า พล.อ.ประวิตร จะไปนั่งในตำแหน่งใด หรือเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเหมือนเดิม ก็อาจจะไม่มีผลกระทบมากนัก

ถ้ามองในแง่เสถียรภาพของรัฐบาล อาจมีผลทางอ้อมภายหลัง พล.อ.ประวิตร มานั่งในตำแหน่งหัวหน้าพรรค จะทำให้ทิศทางภายในพรรคหลายส่วนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น อาจทำให้กลุ่มต่างๆ ที่ก่อนหน้านี้มีการเคลื่อนไหว แสดงท่าทีมีความขัดแย้ง อาจจะสงบนิ่ง รวมไปถึงสถานการณ์ภายในพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่นๆ จากการมีสายสัมพันธ์ที่ดี มีบารมีทางการเมืองของ พล.อ.ประวิตร โดยมีการพูดคุยผ่านเครือข่ายหรือตัวแทนของแต่ละพรรคได้ จุดนี้ทำให้มีผลดีกับเสถียรภาพรัฐบาล แต่ไม่ได้เสริมศักยภาพการทำงานให้รัฐบาลได้มากนัก

หากมีการประเมินหลัง พล.อ.ประวิตร เข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าพรรค เชื่อว่าในพรรคพลังประชารัฐคงไม่มีทางสงบลงได้ เนื่องจากพรรคมีโครงสร้างที่เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มทางการเมือง โอกาสจะมีความสงบอย่างถาวรยั่งยืนเป็นไปได้น้อยมาก ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ก็ยังคงมีให้เห็นต่อไปอีกยาวนาน จนกว่าพรรคนี้จะก้าวเข้าสู่การเป็นสถาบันทางการเมือง ต้องใช้ระยะเวลา ประสบการณ์ การเรียนรู้ สมาชิกต้องผ่านร้อนผ่านหนาวบนเส้นทางทางการเมืองร่วมกันอีกยาวไกล หลังจากก่อตั้งไม่เกิน 2 ปี ดังนั้น ก็จะได้เห็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในลักษณะที่มีผู้มีบารมีทางการเมืองเข้ามาเจรจา

สำหรับสถานะของกลุ่ม 4 กุมารภายในพรรค คงไม่มีการถอนรากถอนโคนกลุ่มนี้ออกจากพรรค แต่จะมีการลดบทบาท ลดตำแหน่ง หรือให้มีพื้นที่ทำงานในพรรคในฐานะกรรมการบริหารพรรค และเก้าอี้ใน ครม. 1 ที่นั่ง หรือไม่เกิน 2 ที่นั่ง เพราะในอดีตต้องยอมรับคนกลุ่มนี้เป็นมือทำงานของพรรคและเป็นตัวแทนกลุ่ม 3 ป.ดูแลการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เพราะฉะนั้นหากมองสายสัมพันธ์หรือในแง่ของความเป็นเทคโนแครตก็จะมีงานบางส่วนให้ 4 กุมารทำต่อ

การปรับ ครม.ต้องยอมรับว่าไม่ได้อยู่ที่สถานการณ์ในพรรคพลังประชารัฐ แต่จุดใหญ่อยู่ที่ความลงตัวของทีมเศรษฐกิจ ถ้ามีตัวบุคคลเพื่อวางระบบในการเข้ามาทำงานที่ชัดเจน การปรับ ครม.จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นแน่นอน ส่วนสถานการณ์ในพรรคพลังประชารัฐเป็นเพียงเงื่อนไขรอง เพราะวันนี้การปรับ ครม.ต้องคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจหลังโควิด-19 หลังผ่านขั้นตอนการกู้เงินเรียบร้อยแล้ว จากนั้นมีการวางตัวบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญจากภายนอกมาทำหน้าที่ แต่ยังไม่มีการตอบรับจากบุคคลที่ไปทาบทาม เพราะประการสำคัญต้องดูว่าจะทำงานร่วมกับ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้จริงหรือไม่ ขณะเดียวกันยังมีเงื่อนไขในการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความโปร่งใสในการใช้งบประมาณจำนวนมาก

หลังจากนี้ต้องดูว่า พล.อ.ประวิตร จะมาทำหน้าที่จัดสรรโควต้ารัฐมนตรีในพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมลงตัวทั้งหมดหรือไม่ แต่ไม่สำคัญเท่ากับการวางตัวของทีมเศรษฐกิจ กว่าจะลงตัวคาดว่าไม่เร็วกว่า 1 เดือน นับจากนี้ไป นอกจากนั้นจะต้องดูสถานการณ์การเมืองทั้งในสภาและนอกสภา ซึ่งในสภา รัฐบาลไม่มีภาวะความกังวลจากเสียงปริ่มน้ำ หรือผลสะท้อนจากการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.ลำปาง หรือกระทั่งปัจจัยจากความอ่อนแรงของพรรคแกนนำฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทย ก็ไม่แน่ใจว่าได้เทเสียงให้ผู้สมัครจากพรรคเสรีรวมไทยในการเลือกตั้งซ่อมหรือไม่

แต่การเมืองนอกสภายังเป็นสิ่งที่น่ากังวล เพราะต้องดูว่าการจัดแฟลชม็อบจะกลับมาอีกหรือไม่ ปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเป็นปัญหา ที่ทำให้มีการเชื่อมโยงกับเรื่องการเมืองหรือไม่ เพราะสิ่งเหล่านี้อาจทำให้การทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ราบรื่นหรือโรยด้วยกลีบกุหลาบตามที่คาดหวังไว้ หลัง พล.อ.ประวิตร เข้ามาทำหน้าที่หัวหน้าพรรคแกนนำรัฐบาล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image